Skip to main content
sharethis

วงเสวนากระบวนการสันติภาพปาตานี “ฝันที่เป็นจริง” ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และสุรัตน์ โหราชัยกุล เห็นพ้องการพูดคุยสันติภาพต้องเดินหน้าแม้เป็นเรื่องยาก อาจารย์ ม.อ.ชี้เป็นโอกาสให้คนไทยเข้าห้องเรียน ศึกษาการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

สมาพันธ์นักศึกษารักสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนสต.) จัดเวทีกระบวนการสันติภาพปาตานี “ฝันที่เป็นจริง” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี โดยมี ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อับดุลรอนิง สือแต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี เป็นวิทยากร โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 300 คน

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวถึงกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างตัวแทนขบวนการ บีอาร์เอ็นกับตัวแทนรัฐไทยว่าเป็น ‘สันติสนทนา’ ซึ่งเป็นแนวทางการไขปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธและเป็นความขัดแย้งที่ถึงตาย ซึ่งปัจจุบันพบว่า 40% ของความขัดแย้งทั่วโลก กำลังมีกระบวนการสันติสนทนาเพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง ในมีกรณีความขัดแย้งกว่า 60% ที่กระบวนการสันติสนทนามีคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการพูดคุย

นอกจากนี้ จากการศึกษากรณีความขัดแย้งในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาจำนวนกว่า 268 กรณี พบว่ามีเพียง 7% เท่านั้นที่รัฐสามารถเอาชนะได้ด้วยความรุนแรง และกลุ่มที่ต่อสู่ในความขัดแย้งเหล่านี้ท้ายสุด 43% ได้แปลงตัวเองเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทในระบบการเมืองปกติ

ชัยวัฒน์กล่าวว่า ความขัดแย้งมีวงจรชีวิตของมันเอง มีระยะเวลาในการแก้ไขสั้นยาวไม่เท่ากัน และความขัดแย้งที่แก้ยากคือความขัดแย้งที่เกี่ยวกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอัตลักษณ์ ศาสนา เป็นต้น เช่น ความขัดแย้งในปาเลสไตน์ที่กินเวลา 96 ปี หรือแคชเมียร์ที่ใช้เวลา 63 ปีจนถึงปัจจุบัน

อุปสรรคที่มีต่อกระบวนการสันติสนทนาที่สำคัญประการแรก คือ ความแตกแยกในกลุ่มติดอาวุธ ความไม่เป็นเอกภาพในกลุ่มที่เจรจา จะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพ

ประการต่อมา คือ มีความต่างในข้อตกลงมากเกินไป ซึ่งความเห็นที่ต่างกันมากนำไปสู่การไม่ยอมรับในข้อตกลงนั้น

และประการสุดท้าย คือ การแปลงความขัดแย้งไปสู่การทหาร มีการใช้กำลังอาวุธมากขึ้นในระหว่างการพูดคุย อีกทั้งพบว่า ข้อเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งโดยสิ้นเชิงเป็นอุปสรรคสำคัญในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

ชัยวัฒน์มองว่า ข้อเสนอของขบวนบีอาร์เอ็นโดยเฉพาะเรื่องการถอนทหารมีความสำคัญ เพราะเป็นการตอบรับข้อเสนอในการยุติความรุนแรงในเดือนรอมฎอนที่มีการพูดคุยกันก่อนหน้านี้ ส่วนรายละเอียดต่างๆ ในข้อเสนอนั้น ล้วนเป็นเงื่อนไขสำหรับการพิจารณาสำหรับรัฐบาล และมองว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องที่เสนอต่อสาธารณะ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องเดียวกันกับที่พูดคุยบนโต๊ะในระหว่างการเจรจาสันติภาพ

ข้อเสนอเรื่องให้ถอนทหารเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลการทำวิจัยของนักวิชาการ และประชาชน มีการพูดคุยเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2549 แล้ว และในความเป็นจริง รัฐบาลเองก็ต้องการให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเป็นปกติ ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายร่วมกันของทั้งสองฝ่ายและเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยเรื่องกรณีถอนทหารกันต่อไป

ผศ.ดร.สุรัตน์ โหราชัยกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อับดุลรอนิง สือแต รอง ผอ.วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี

ทางด้าน สุรัตน์ โหราชัยกุล กล่าวถึงกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพว่า ในความเป็นจริงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องยาก และเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ซึ่งสามารถศึกษาจากกรณีความขัดแย้งได้จากทั่วโลก และในประเทศไทยเองก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในเวลานี้หลายกรณี เช่น กรณีความขัดแย้งสีเหลืองแดง เป็นต้น

“ในการคลี่คลายความขัดแย้งนั้น เป้าหมายสูงสุดควรจะเป็นเป้าหมายอยู่ที่ความมั่นคงของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดูที่ความมั่นคงของรัฐด้วย

“จะเห็นว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ที่เห็นว่าฝ่ายรัฐไม่ค่อยมีเอกภาพนั้น ก็เนื่องจากฝ่ายรัฐเองมีปัญหาภายในที่ต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเมือง ที่รัฐบาลต้องรักษาความมั่นคงของตัวเองในการรักษาฐานอำนาจการเมืองการปกครอง หรือปัญหาด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ เป็นต้น”

ในด้านรูปแบบการปกครองพิเศษที่มีการเรียกร้องจากประชาชนในพื้นที่นั้น สุรัตน์กล่าวว่า จะเห็นว่าฝ่ายรัฐไม่ค่อยจะตอบสนองต่อข้อเรียกร้องนี้มากนัก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วรูปแบบการปกครองพิเศษที่ประชาชนในพื้นที่สามารถบริหารจัดการตนเองได้นั้น มีอยู่หลากหลายรูปแบบมาก ไม่จำเป็นว่าต้องมีชื่อเรียกว่าเขตปกครองพิเศษ หรือเรียกว่าออโตโนมี่ที่เป็นคำแสลงสำหรับรัฐบาลไทย แต่สามารถเรียกชื่ออย่างอื่นได้ โดยที่มีเป้าหมายคือประชาชนในพื้นที่มีอำนาจกำหนดชะตากรรมตนเอง ซึ่งสามารถใช้คำอื่นได้

พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นทรัพย์สินที่สำคัญในประชาคมอาเซียน ทั้งที่เป็นทรัพย์สินในฐานะของพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อของกลุ่มประเทศในอาเซียน และเป็นทรัพย์สินในฐานะที่เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมร่วมของเชื้อชาติมลายู ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประชาคมอาเซียน

อับดุลรอนิง สือแต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้นว่า เป็นกระบวนการที่ให้บทเรียนอย่างสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ และเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประเทศไทยในการเรียนรู้กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

“กระบวนการเจรจาหรือการพูดคุยสันติภาพเป็นห้องเรียนห้องใหญ่ของประเทศไทย ที่จะเรียนรู้ได้ว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นห้องเรียนสำคัญสำหรับประชาชนในพื้นที่ที่เมื่อก่อนไม่ส่ามารถหรือไม่กล้าพูดแม้คำว่าบีอาร์เอ็น เพราะอาจจะถูกเพ่งเล็งได้ แต่วันนี้สามารถพูดได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ในทุกพื้นที่”

รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพเป็นภารกิจของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ทุกคนที่จะต้องประคับประคอง เพราะนี่คือความหวังที่จะเกิดความสงบในพื้นที่ และขอเรียกร้องให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ขอให้ออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สว่าง เพื่อที่จะสามารถแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ เพราะหากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ต้องกลับไปสู่จุดเดิมนับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดสำหรับทุกคน

ทั้งนี้ ในวงเสวนามีความเห็นร่วมกันว่า ขณะนี้ประชาชนเริ่มที่จะเรียนรู้และเข้าใจในกระบวนการสันติภาพมากขึ้น มีความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิและการกำหนดอนาคตของตนเองมากขึ้น และเห็นว่าบทบาทของนักศึกษาคือพลังบริสุทธิ์ และมีความพร้อมสูงในการนำองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนในระดับรากหญ้า และต้องนำประชาชนในระดับล่างเข้ามาสู่แทรค 2 อันเป็นระดับของกลุ่มองค์กรเพื่อเป็นตาข่ายนิรภัย (Safety net) รองรับการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่
 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net