"พิธีกรรม"เสันขนานแห่งเสรีภาพในระบบการศึกษาไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"การทำลายเสรีภาพของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงเท่ากับเป็นการลดทอนบุคคลนั้นให้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นมนุษย์ไปเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง "   

                                                             (จากหนังสือ ปรัชญาชีวิตของ ฌอง ปอล ซาร์ตร์ : พินิจ รัตนกุล)

เมื่ออ่านประโยคข้างต้นแล้วทำให้ผม อึ้ง! กับตัวอักษรแต่ละตัวที่ร้อยเรียงมาเป็นคำ เป็นประโยค แสดงให้เห็นถึงอณูของความหมาย คำว่าเสรีภาพของมนุษย์ได้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นมา และด้วยประโยคเดียวกันนี้ทำให้ผมนึกถึงครั้นเมื่อตอนรับน้องในมหาวิทยาลัย ซึ่งราวกับเสมือนกับว่าตนถูกพันธนาการด้วยสิ่งที่เรียกว่าระบบ เต็มร่างกายไปหมด พื้นที่บนเนื้อตัว ความรู้สึกนึกคิด  สิทธิเสรีภาพ ถูกรุ่นพี่สรรสร้างและแต่งแต้ม ให้อยู่ในเบ้าหลอมแห่งอำนาจแทบทั้งสิ้น ราวกับตนเป็นหุ่นยนต์ที่ประกอบไปด้วยเครื่องประดับที่มีป้ายชื่อแขวนที่คอ และมีรหัสกำกับสายพันธุ์ ทั้งหมดที่ผมประสบพบเจอมานี้ในการรับน้อง หากนำมาเปรียบเทียบกับความคิดของนักปรัชญาสายเสรีนิยม เช่น ฌอง ปอล ซาร์ตร์ แล้วนั้น จะเห็นได้ว่าล้วนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงราวกับเส้นขนานเลยก็ว่าได้

ความที่เป็นน้องใหม่ ภายในใจต้องการเรียนรู้อะไรที่ใหม่ ๆ ในมหาวิทยาลัย ผนวกกับการที่มาจากโรงเรียนมัธยมอันไกลโพ้น ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และความกลัวซึ่งมักซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจและจิตใต้สำนึกของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาและมีอยู่กันทุกคน อีกทั้งความเห็นแก่ตัว เกรงว่าจะถูกตัดรุ่น และอาจจะประสบปัญหาในการหางานทำในอนาคต ด้วยความคิดทั้งหมดนี้เข้ามารุมเร้าอยู่ในภวังค์แห่งจิตใต้สำนึก และได้ปะทุขึ้น มุ่งสู่การยอมรับพิธีกรรมรับน้องอย่างไร้ข้อคำถาม

ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงเป็นสิ่งที่ง่ายมากต่อการถูกชักจูง และระบบหมู่ที่เข้าครอบงำความคิด ผมจึงตัดสินใจอย่างไม่รีรอในการเข้าร่วมระบบ และพิธีกรรมที่คนส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดในชีวิตปีหนึ่งไปโดยปริยาย ด้วยการตัดสินใจของตนเองผนวกกับเพื่อน ๆ ในชั้นปีเดียวกัน ที่จะสยบสมยอมต่ออำนาจจากผู้ที่อาวุโสกว่า หลังจากนั้นมา กิจกรรมต่าง ๆ จากหลายทิศหลายทางก็พุ่งตรงเข้ามาบรรจบกับน้องปีหนึ่ง ซื่อ ๆ เซ่อ ๆ ใส ๆ เช่นผม

กิจกรรมหนึ่งในพิธีกรรมรับน้องที่ส่วนตัวมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด มากกว่าการแขวนป้าย มากกว่าการแต่งกาย นั่นคือ การว๊าก หรือการเข้าวินัย นั่นเอง ซึ่งมีการด่าทอ และบังคับให้ทำตามคำสั่ง หากไม่ได้ดังใจผู้สั่งก็จะมีการลงโทษต่าง ๆ นานา ผมจึงขอยกตัวอย่างจากบทความหนึ่งที่ผมเคยอ่านมาประกอบ มีใจความว่า

" ว้ากน้อง ร้องเพลงเชียร์ เต้นรำสนุกสนาน สั่งน้องให้เข้าแถว ยืนตรง นิ่ง นับจำนวนคนที่มาและคนที่ขาด สั่งให้วิ่ง หันซ้ายหันขวาอย่างพร้อมเพรียงกัน สั่งให้นั่งประชุมนิ่ง ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง สั่งให้ร้องเพลงดัง ๆ ที่สุด ตบมือให้ดัง ร้องเพลงหลาย ๆ รอบให้พร้อมกัน (ทำตามคำสั่ง order) ห้ามคุยกัน ห้ามแสดงความคิดเห็น หรือโต้ตอบการกระทำของรุ่นพี่ ห้ามมองหน้าพี่ ห้ามยิ้ม ห้ามเกา ถ้าไม่ทำตามก็จะมีมาตรการลงโทษเช่น นำตัวไปที่ห้องเรียน ปิดประตูหน้าต่าง ปิดพัดลมให้หมด เพื่อไม่ให้คนภายนอกรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในห้อง จากนั้นก็ด่าทอ ตะโกนใส่อย่างบ้าคลั่ง กักตัวไม่ให้ไปไหน กลับบ้านยังไม่ได้จนกว่าจะถึงเวลาสมควร หรือจนกว่าพี่จะพอใจ กลั่นแกล้งสารพัด โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริมความสามัคคี (unity) ในหมู่คณะและความภาคภูมิใจในสถาบัน กิจกรรมระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง (seniority) ข้างต้นจัดขึ้นในช่วงที่กำลังจะเปิดเรียนปีการศึกษาใหม่ถึงการสอบกลางภาคในรั้วมหาวิทยาลัย วิทยาลัยทุกปีจนเป็นประเพณี (tradition) ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นฤดูล่าหัวมนุษย์ (ธเนศวร์ เจริญเมือง 2543)

( จากบทความ "การใช้อำนาจข่มเหงเสรีภาพของหนุ่มสาว" ของ พัชณีย์ คำหนัก, ประชาไท)

จากบทความข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า สังคมในมหาวิทยาลัยไทยที่มีพิธีกรรมรับน้องและการว๊าก ที่ส่อให้เห็นถึงการฝักใฝ่ถึงอำนาจเผด็จการของผู้ที่มีความอาวุโสกว่า ซึ่งพร้อมจะขีดเส้น ตีกรอบ ล้อมคอก ให้กับผู้ที่เข้ามาศึกษาใหม่ และทั้งหมดนี้เองที่ย้อนแย้งอย่างมากกับรูปแบบการปกครองในประเทศ นั่นคือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์จากรายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกาที่วิเคราะห์และสรุปพิธกรรมรับน้องออกมาว่า

 “เบื้องหลังที่ทำให้กิจกรรมรับน้องดำรงอยู่มาได้ ในระดับจิตวิทยาเชื่อมโยงกับระดับวัฒนธรรม กล่าวคือการพิสูจน์ว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมอำนาจนิยมและสถาบันนิยม (หรือเรียกว่าระบบโซตัส) ที่อยู่เบื้องหลังของกิจกรรมรับน้อง ส่งผลต่อการสร้างบุคลิกภาพของเด็กเยาวชนให้เป็นผู้นิยมอำนาจเผด็จการ อันเป็นพฤติกรรมที่ช่วยให้โครงสร้างทางชนชั้นสูง-ต่ำยังคงอยู่ และทำให้การยึดถือในคุณค่าของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นปัจเจกภาพของคนหนุ่มสาวหดหายไป” 

(ประวัติศาสตร์การรับน้องและระบบ Sotus ในประเทศไทย, รายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา: Voice TV)

เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม การทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นกับรัฐไทยในแต่ละครั้งจึงได้ประสบผลสำเร็จแทบจะทุกครั้งไป ซึ่งมีความสอดคล้องกันมากเพราะผู้ที่เรียกตนว่าปัญญาชนยังหมกหมุ้นอยู่กับอำนาจเผด็จการที่จะจัดการกับนักศึกษาใหม่ จุดนี้เองจึงเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ก่อเกิดขึ้นก่อนการเป็นพลเมืองผู้น่ารัก และมีระเบียบตามกรอบอำนาจเผด็จการทุกประการ

กรอบทั้งหมดนี้เองที่เปรียบเสมือนเป็นเส้นกรอบที่ครอบงำทางความคิดให้นักศึกษาที่เข้าร่วมพิธีกรรม ถูกจำกัด อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์กับเพื่อนในชั้นปี รุ่นพี่ และครูบาอาจารย์ เพราะกรอบเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ถือเป็นอำนาจหนึ่งที่กดสถานะของนักศึกษาใหม่ให้มีสถานะและอำนาจที่ต่ำลง ส่งผลให้ ความกล้าในการที่จะเผชิญโลก การตั้งคำถาม และการยึดมั่นในคุณค่าความเป็นปัจเจกถูกบั่นทอน และส่งผลต่อการเสาะแสวงหาซึ่งความรู้จริงในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์แรก และหนึ่งเดียวที่นักศึกษาเลือกที่จะเข้ามาเสาะแสวงหา และผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีการปรับตัวที่ดีเยี่ยม และมีความสามารถในการกำหนดและตัดสินได้ด้วยตนเองตามหลักมนุษยนิยม โดยไม่ต้องอาศัยการเร่งเร้า การบีบบังคับ การลงโทษ เพราะมนุษย์มีความพิเศษและแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ตรงที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันและเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล นั่นเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท