Skip to main content
sharethis
คปก.เปิดรับฟังความเห็น “ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เสนอแนวทางปรับปรุงกม. โปร่งใส ปชช.มีส่วนร่วม ตั้ง 5 ประเด็นอำนาจจัดการร่วม – ประกาศเขตคุ้มครองพื้นที่สิ่งแวดล้อมคำนึงทุกมิติ คาด 3 เดือนเสนอความเห็นต่อรัฐบาล
 
12 ก.ค. 56 – คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ณ โรงแรมไมด้า ซิตี้ รีสอร์ท เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานงานภาครัฐ เอกชน และตัวแทนประชาชนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมร่วมให้ความเห็น 
 
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นกฎหมายสําคัญของประเทศ มีสาระสําคัญครอบคลุมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน ทั้งการกําหนดให้มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กองทุนสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ มาตรการส่งเสริม ความรับผิดทางแพ่งและบทกําหนดโทษ อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี ขณะที่สถานการณ์ สภาพปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงและมีความซับซ้อนมากขึ้น ทําให้บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯได้พิจารณาเนื้อหาทั้งหมดเห็นว่า ควรเพิ่มหลักการเข้าถึงข้อมูล หลักความโปร่งใส และหลักของการมีส่วนร่วมเข้าไปในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
 
“กฎหมายฉบับนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตของผู้คน และสิ่งแวดล้อม การประชุมรับฟังความเห็นครั้งนี้เป็นการทบทวนมาตรการทางกฎหมายสามารถรับมือได้จริงหรือไม่และจำเป็นต้องมีการทบทวนกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ โดยแนวคิดหลักคือ เรื่องทรัพยากรทางธรรมชาติไม่ควรจะเป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ควรเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน” นายไพโรจน์ กล่าว  
 
นายไพโรจน์ กล่าวถึงแนวทางการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่า คณะอนุกรรมการฯมีแนวทางปรับปรุงและพัฒนากฎหมายฉบับนี้อย่างน้อย 5 ประเด็นสำคัญคือ 1.การเปลี่ยนแปลงแนวคิดสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ จากเดิมที่ให้หน่วยงานของรัฐเป็นบทบาทหลักที่ทำหน้าที่จัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ควรมีการเปลี่ยนแปลงให้ประชาชน องค์กร ชุมชนและ ท้องถิ่น เข้ามาใช้อำนาจทางกฎหมายร่วมกับรัฐ  2.ในแง่กลไกการบริหาร ควรเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบใหม่ โดยเพิ่มองค์ประกอบตัวแทนชุมชน ท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ 3.การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จากปัจจุบันที่มีการประเมินในระดับโครงการและกิจกรรม ควรให้มีการประเมินในระดับยุทธศาสตร์ด้วย ขณะเดียวกันการประเมินผลกระทบในระดับโครงการหรือกิจกรรม ควรเพิ่มมิติการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน อีกทั้งควรพิจารณาประเด็นปัญหาด้วยว่าใครจะเป็นผู้กำกับให้เป็นไปตามการประเมินและรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้น ซึ่งส่วนตัวคิดว่า ควรเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม  
 
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ประเด็นต่อมา กรณีการประกาศเขตคุมครองพื้นที่สิ่งแวดล้อม ควรให้ประชาชน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และคำนึงถึงเรื่องแหล่งผลิตอาหารและความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้การประกาศเขตคุมครองพื้นที่สิ่งแวดล้อมดังกล่าวตอบสนองวัตถุประสงค์ ไม่เฉพาะเพียงแค่มิติเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุนเท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน เศรษฐกิจภาคเกษตร และแหล่งผลิตอาหารด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ประเด็นเรื่องการควบคุมมลพิษ มีความเห็นว่า ควรให้เปิดช่องทางประชาชนสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหามาตรการให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริง
นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯจะนำข้อมูลมาพิจารณาทบทวนว่าจะมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงหรือไม่ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ก่อนที่คปก.จะเสนอแนะในทางเนื้อหาต่อรัฐบาล ,สภาผู้แทนราษฎร,วุฒิสภา โดยคาดว่าจะจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลได้ภายใน 2-3 เดือนหลังจากนี้
 
นายไพโรจน์ กล่าวภายหลังการรับฟังความเห็นฯว่า ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงกฎหมายในหลักการสำคัญหลายเรื่อง คณะอนุกรรมการฯจะนำความเห็นดังกล่าวไปทบทบวนและปรับปรุง ทั้งนี้คาดว่า จะปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในเดือนกรกฎาคมนี้ หากต้องการเสนอความเห็นประการหนึ่งประการใดก็สามารถเสนอความเห็นมาได้ในระหว่างนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net