เดอะการ์เดียนแฉ ไมโครซอฟท์ร่วมมือกับองค์กรสหรัฐฯ ดักจับข้อมูล

เอกสารชิ้นใหม่ที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เปิดเผยผ่านเดอะการ์เดียน ชี้ว่าบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ไมโครซอฟท์ ได้ให้ความร่วมมือกับองค์กร FBI และ NSA ในการดักข้อมูลการสื่อสารของ Outlook.com SkyDrive และสไกป์ ด้านไมโครซอฟท์และองค์กรสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์อธิบายว่าพวกเขายอมให้ข้อมูลตามคำร้องด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายเท่านั้น

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2013 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน เปิดเผยว่าบริษัทไมโครซอฟท์ ได้ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ โดยการอนุญาตให้มีการดักจับข้อมูลการสื่อสารของผู้ใช้ นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ในการถอดรหัสข้อมูลตามการเข้ารหัสของบริษัทไมโครซอฟท์เอง

เดอะการ์เดียนอ้างเอกสารลับล่าสุดที่ได้รับจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ที่เปิดเผยให้เห็นความร่วมมือของบริษัทไอทีในซิลิคอนวัลเลย์ ย่านสำนักงานธุรกิจไอทีในสหรัฐฯ และหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับโครงการ PRISM ซึ่งเป็นการสอดแนมลับของรัฐบาลสหรัฐฯ

เอกสารลับชุดล่าสุดระบุว่า ทางไมโครซอฟท์ได้ช่วยเหลือลดขั้นตอนการทำงานถอดรหัสของ NSA ในการบอกว่า ทาง NSA จะไม่สามารถรับข้อมูลจากเว็บแชทจาก Outlook.com โฉมใหม่ได้ โดยในตอนนี้หน่วยงาน NSA อยู่ในขั้นตอนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลอีเมลก่อนถอดรหัสสำหรับเว็บ Outlook.com รวมถึงฮอทเมล

เอกสารของสโนว์เดน เปิดเผยอีกว่า ทางไมโครซอฟท์ยังทำงานร่วมกับ FBI ในปีนี้ เพื่อให้ NSA สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นโดยการเข้าถึงการให้บริการเก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่ชื่อ SkyDrive ที่มีผู้ใช้มากกว่า 250 คนทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยดักจับข้อมูลของ FBI ในการสร้างความเข้าใจระบบของ Outlook.com ที่ให้ผู้ใช้สามารถสร้างนามแฝงอีเมล

และเมื่อเดือน ก.ค. 2012 ซึ่งเป็นเวลา 9 เดือนหลังจากที่ไมโครซอฟท์ซื้อโปรแกรมให้บริการวิดีโอแชทสไกป์ ทาง NSA ก็บอกว่าพวกเขาสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลการติดต่อสื่อสารทางวิดีโอผ่านโครงการ PRISM ได้มากกว่าเดิม 3 เท่า นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้รับผ่าน PRISM ยังมีการแชร์ให้กับทาง FBI และ CIA ด้วย

เดอะการ์เดียน ระบุว่าการเปิดเผยข้อมูล สร้างความตึงเครียดระหว่างซิลิคอนวัลเลย์กับรัฐบาลโอบาม่า โดยที่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งพยายามเรียกร้อง NSA ให้อนุญาตพวกเขาในการเปิดเผยกระบวนการทำงานร่วมกับ NSA เพื่อตอบสนองต่อความกังวลด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ ซึ่งทางผู้บริหารของบริษัทไอทีเหล่านี้ก็พยายามรักษาระยะห่างกับความร่วมมือและการทำงานร่วมกับ NSA อีกทั้งยืนยันว่าการทำงานร่วมกับ NSA มาจากข้อบังคับทางกฎหมาย

โดยก่อนหน้านี้ในเดือน มิ.ย. เดอะการ์เดียนได้เผยแพร่เอกสารที่ระบุว่า NSA สามารถใช้โครงการ PRISM ในการเข้าถึงระบบของบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่เช่น ไมโครซอฟท์ สไกป์ แอปเปิล กูเกิล เฟซบุ๊ก และยาฮู ได้โดยตรง อีกทั้งศาลสืบราชการลับยังอนุญาตให้มีการเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายค้นหากคณะทำงานเกินครึ่งหนึ่งของ NSA เชื่อว่าเป้าหมายไม่ใช่พลเมืองสหรัฐฯ และไม่อยู่บนผืนแผ่นดินสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้น

หลังการเปิดโปงดังกล่าว บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ พยายามออกมากล่าวปฏิเสธว่าพวกตนไม่เคยทราบถึงการมีอยู่ของ PRISM และไม่มีช่องทางที่องค์กรข่าวกรองจะลักลอบเจาะเข้ามาได้

แต่เอกสารล่าสุดจากหน่วยปฏิบัติการข้อมูลพิเศษ (SSO) ขององค์กร NSA ระบุว่าองค์กร NSA มีความกังวลเกี่ยวกับการเข้ารหัสข้อมูลแชทใน Outlook.com ของไมโครซอฟท์ ในช่วงที่ทำการทดลองดักจับข้อมูลเมื่อปีที่แล้ว จนกระทั่งภายใน 5 เดือนหลังจากนั้นทางไมโครซอฟท์และ FBI ก็สามารถหาทางออกโดยการช่วยเหลือให้ NSA ผ่านขั้นตอนการเข้ารหัสข้อมูลการแชทของ Outlook.com ได้

นอกจาก Outlook.com แล้ว รายงานของ NSA เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2013 ก็ระบุว่า ไมโครซอฟท์ได้ทำงานร่วมกับ FBI มาหลายเดือนเมื่อให้โครงการ PRISM สามารถเข้าถึงบริการเก็บข้อมูล SkyDrive ได้ โดย NSA บรรยายไว้ในเอกสารว่าความร่วมมือระหว่าง FBI และไมโครซอฟท์ ทำให้พวกเขาสามารถดักเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา NSA ยังได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ ในการเข้าถึงข้อมูลของสไกป์ที่มีผู้ใช้กว่า 663 ล้านคนทั่วโลก โดยเอกสารฉบับหนึ่งระบุว่า NSA สามารถเข้าถึงข้อมูลสไกป์ได้มากขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 2012 โดยสไกป์ได้เข่าร่วมโครงการ PRISM ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2011 ก่อนหน้าจะถูกซื้อโดยไมโครซอฟท์แล้ว โดย NSA เริ่มเก็บข้อมูลจากสไกป์ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2011 เป็นต้นมา โดยอาศัยความร่วมมือจาก FBI

คริส ซอเกียน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) กล่าวว่า การเปิดเผยเรื่องนี้จะทำให้ผู้ใช้สไกป์จำนวนมากรู้สึกแปลกใจ เนื่องจากในอดีต สไกป์ให้สัญญาต่อผู้ใช้ว่าโปรแกรมของพวกเขาไม่สามารถถูกดักข้อมูลได้

นอกจาก NSA และ FBI จะได้เห็นข้อมูลที่ถูกดักจับแล้ว ในจดหมายข่าวเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2012 ยังได้กล่าวอีกว่า ระบบของ PRISM มีความสามารถในการแชร์ข้อมูลอัตโนมัติ โดยอาศัยซอฟท์แวร์ที่ทำให้ผู้ร่วมงานของพวกเขามองเห็นตัวเลือกคำค้นที่ NSA นำไปไว้ใน PRISM ได้ โดยที่หน่วยงาน FBI และ CIA สามารถเรียกร้องข้อมูลจากตัวเลือกคำค้นใดๆ ก็ได้

"ปฏิบัติการสองอย่างนี้ เป็นการเน้นให้เห็นว่า PRISM เหมือนดั่งทีมกีฬา!" NSA กล่าวในเอกสาร

แถลงการณ์จากไมโครซอฟท์และ NSA กรณีเรื่องที่ถูกเปิดโปง
ด้านไมโครซอฟท์ออกแถลงการณ์โต้ตอบการเปิดโปงข้อมูลดังกล่าว โดยกล่าวว่า "พวกเรามีหลักการที่เป็นแนวทางการตอบสนองต่อคำร้องของรัฐที่ต้องการข้อมูลของผู้รับบริการทั้งจากหน่วยงานผู้บังคับกฎหมายและกรณีความมั่นคง หลักการประการแรกคือ พวกเรามีพันธกิจทั้งต่อผู้รับบริการและการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ดังนั้นพวกเราจึงให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการต่อเมื่อมีกระบวนการตามกฎหมายเท่านั้น"

"ประการที่สองคือ ทีมที่ปฏิบัติตามคำร้องทางกฎหมายคอยตรวจสอบคำร้องทุกอย่างอย่างใกล้ชิด และมีการปฏิเสธที่จะทำตามหากคำร้องเหล่านั้นไม่เหมาะสม ประการที่สามคือ พวกเรายอมทำตามคำร้องเฉพาะกับบัญชีผู้ใข้หรือผู้แสดงตัวตนบางคน และพวกเราไม่ตอบสนองต่อคำร้องที่มีความครอบคลุมดังเช่นที่มีการถกเถียงกันในข่าวเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่มีระบุไว้ในเอกสารที่ถูกเปิดโปง"

"ประการสุดท้ายคือ เมื่อเราอัปเกรดหรืออัปเดทบริการของเรา บางครั้งก็มีเงื่อนไขทางกฎหมายให้เราต้องปฏิบัติตามคือการที่เรายังคงสามารถให้ข้อมูลกับผู้บังคับกฎหมายหรือหน่วยงานความมั่นคงได้ มีบางด้านในประเด็นที่เราอยากจะอภิปรายกันอย่างอิสระมากกว่านี้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงโต้เถียงเพื่อเหตุผลเรื่องความโปร่งใส ซึ่งจะทำให้ทุกคนเข้าใจและสามารถอภิปรายในประเด็นสำคัญนี้ได้"

ทางด้าน ชอว์น เทอร์เนอร์ โฆษกของประธานหน่วยงานข่าวกรองแห่งชาติ และ จูดิธ เอมเมล โฆษกของ NSA ออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยในแถลงการณ์กล่าวว่า "การสืบราชการโดยคำสั่งศาล รวมถึงการพยายามให้ความร่วมมือของบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ถูกระบุไว้ในมาตรากฎหมาย และปฏิบัติการในเรื่องนี้มีการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดจากทางการสหรัฐฯ โดยมีการตรวจสอบจากศาล รัฐสภา และประธานหน่วยงานข่าวกรอง ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศจะมีการกำกับดูแลเคร่งครัดมากเท่านี้ อันเป็นสิ่งจำเป็นในการปกป้องเสรีภาพพลเมืองและสิทธิความเป็นส่วนตัว"

แถลงการณ์ของหน่วยงานสหรัฐฯ กล่าวอีกว่า "ในทางปฏิบัติแล้ว บริษัทเอกชนในสหรัฐฯ ทุ่มเทกับพันธกิจเรื่องการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการทั่วโลกอยู่เสมอ โดยที่ขณะเดียวกันก็ปฏิบัติงานภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่พวกเขามีสำนักงานอยู่"

 

 

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก
How Microsoft handed the NSA access to encrypted messages, The Guardian, 12-07-2013
http://www.guardian.co.uk/world/2013/jul/11/microsoft-nsa-collaboration-user-data

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท