Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
หากคุณไปถามคนแก่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนรุ่นนี้หลายๆคนจะมีความรักและเทิดทูนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ มากๆ (แน่นอนว่าเทิดทูนสถาบันฯมากๆเช่นกัน) คนแก่บางคนที่ผมเคยนั่งคุยด้วยเรียกจอมพลสฤษดิ์ว่า "พ่อ" เขาเล่าให้ฟังว่าสมัยนั้นโจรผู้ร้ายไม่มี ท่านจอมพลเด็ดขาด ไว้ใจได้ บ้านเมืองสงบสุข ใครทำอะไรไม่ดีท่านใช้ "มาตรา 17" จัดการทุกคน ท่านรักประชาชนและรักสถาบัน
 
นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและมีร่องรอยให้เห็นผ่านประสบการณ์ของคนรุ่นนั้น...
 
ในขณะที่ปัจจุบันนี้ผมเคยได้ยินเสื้อแดงบางคนเทิดทูนทักษิณในลักษณะที่คน รุ่นเก่าเทิดทูนจอมพลสฤษดิ์อยู่บ่อยๆ ใช้ตรรกะคล้ายๆกันว่าตอนทักษิณเป็นนายก โจรผู้ร้ายน้อยลง ยาเสพติดน้อยลง จัดการอย่างเด็ดขาด นายกฯมีลักษณะอำนาจนิยมอยู่สูงมากทำให้ประชาชนสามารถฝากชีวิตเอาไว้ให้ได้ อะไรทำนองนี้
 
ผมกำลังคิดว่าสังคมไทย ในมุมหนึ่งนั้น "โหยหา" ผู้นำที่มีความเด็ดขาด เป็นนักเลง พึ่งพาได้อย่างในอุดมคติแท้ๆมากกว่าผู้นำที่จะมาจากประชาธิปไตยแต่ไม่เด็ด ขาดอะไร หรือผู้นำที่มาจากประชาธิปไตยก็จะต้องมีคุณลักษณะเป็นผู้นำตามแบบฉบับไทยๆ อย่างทักษิณ
 
สังคมไทยไม่ค่อยแคร์เรื่องอำนาจนิยมนะครับ แต่แคร์เรื่องการใช้อำนาจนิยมนั้นต้องทำให้รู้สึกว่าชีวิตปลอดภัย พึ่งพาได้ นำพาไปสู่เป้าหมายที่ดีได้ คนเสื้อแดงหลายคนก็มองแบบนี้ เชื่อว่าคุณทักษิณเป็น "เผด็จการที่ดี" นำพาชีวิตของตนเองไปสู่ความรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจได้ และเชื่อว่าทักษิณอยู่บ้านเมืองสงบสุขดี
 
--------------------------
 
ในแวดวงชุมชนนิยมเองผมก็เคยได้ยินปัญหาหนึ่งบ่อยมากๆๆๆๆ นั่นก็คือ "เราขาดผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง" ถ้าใครเคยทำงานชุมชนนี่จะร้องอ๋อเลยว่าเวลาระดมชาวบ้านมาพูดถึงปัญหาในชุมชน ก็มักจะมีการหยิบยกปัญหาเรื่องผู้นำไม่เข้มแข็งขึ้นมาพูดเสมอๆ ดังนั้น ผู้นำที่ดีในแบบฉบับไทยๆจะต้องเข้มแข็ง อำนาจนิยม นักเลง พึ่งพาได้ จะรักพวกพ้องมากกว่าชาวบ้านก็ไม่เป็นไร แต่ชาวบ้านจะต้องได้อะไรๆจากผู้นำด้วย
 
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องทำความเข้าใจ ภายใต้ประชาธิปไตยสมัยใหม่ กลไกการเลือกตั้งคือกลไกที่คัดสรรผู้นำประเภทนี้ขึ้นมาเป็นผู้นำในทางการ เมือง นอกเหนือจากกลไกการเลือกตั้งก็ก็ยังมีกลไกประเภทอื่นๆที่ยังสามารถใช้ได้ เช่น ผู้นำตามธรรมชาติที่มาจาก consent (ในบริบทบทความของผมมันจะหมายถึง "ข้อตกลงร่วมกันตามธรรมชาติ")ของคนในสังคมการเมืองเล็กๆสังคมนั้น ชนิดว่าไม่ต้องเลือกตั้งแต่ก็รับรู้กันเองว่าใครคือผู้นำ
 
ชาวบ้านนั้นเขาไม่คิดอะไรที่ซับซ้อนอย่างคนเมืองหรอกครับ เขามองง่ายๆแค่ว่าผู้นำคนไหนที่เขาสามารถฝากชีวิตเอาไว้ได้คนนั้นแหละคือผู้ นำของเขา ต่อให้ผู้นำโกงก็ไม่ว่าอะไร หรือเป็นเผด็จการขนาดไหนก็ไม่ว่าอะไร แต่ขอให้กระจายทรัพยากรต่างๆลงมาให้ด้วย
 
----------------------------
 
ประชาธิปไตยแบบไทยๆจึงมีเรื่องที่น่าสนใจว่าวัฒนธรรมแบบ "พ่อขุน" นั้นได้ลงรากฐานไปลึกเพียงใด แม้ว่าเราจะส่งเสริมเรื่องสิทธิเสรีภาพ การตรวจสอบถ่วงดุลผู้นำ การกำจัดความเลวร้ายในระบบการเมืองต่างๆมากเพียงไร วิธิคิดแบบ พ่อขุน ก็ยังใช้ได้ผลดีอยู่เสมอ และทำให้ผู้นำทางการเมืองสามารถสถาปนาอำนาจของตนเองผ่านวัฒนธรรมแบบพ่อขุน ได้อยู่เสมอ
 
ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะรักหรือเกลียดจอมพลสฤษดิ์ รักหรือเกลียดทักษิณ คุณก็ตกอยู่ภายใต้กลไกการเมืองแบบพ่อขุน คุณขับไล่ทักษิณด้วยการไปจับมือกับพ่อขุนในวัฒนธรรมเก่าจารีตนิยม คุณขับไล่อำมาตย์ด้วยการจับมือกับพ่อขุนใหม่ (นีโอพ่อขุน) ทุกอย่างมันก็ครือๆกันเพียงแต่อยู่คนละฝ่ายเท่านั้นเอง..
 
นี่คือ Patriarchy Politics แบบไทยๆครับ
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net