Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีประกาศนโยบาย "งดเหล้า วันเข้าพรรษา" โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว และโรคร้ายต่างๆนานาชนิด ในช่วงวันเข้าพรรษา จึงเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชนจะงดเสพสุรา อันถือเป็นการละเมิดศีลข้อห้า เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

ความจริงแล้วนโยบายเช่นนี้มีวัตถุประสงค์ที่น่าชื่นชม แต่ประเด็นที่น่าขบคิดคือ การผูกโยงนโยบาย "งดเหล้า" กับ "วันเข้าพรรษา" ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนานั้น จะมีผลทางอ้อมเป็นการจำกัดสิทธิของผู้นับถือศาสนาอื่น ที่ยังอาจต้องการดื่มสุราในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาอยู่หรือไม่ เช่นเดียวกับชาวพุทธเองที่อาจมองเดือนรอมฎอน หรือ วันคริสต์มาส ว่าเป็นเพียง "เทศกาล"หนึ่งของพี่น้องต่างศาสนา ผู้นับถือศาสนาอื่นหรือผู้ที่ไม่มีศาสนาเลยก็อาจมองว่า เทศกาลเข้าพรรษา เป็นเพียงช่วงเวลาในปฏิทิน ที่ไม่ควรมีผลกระทบใดๆจากภาครัฐ ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเค้าเหล่านั้น

เสรีภาพในการนับถือศาสนานั้นมิเพียงแต่คุ้มครองบุคคลที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ทั้งในด้านความเชื่อ (forum internum) และการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ (forum externum) เท่านั้น แต่ยังคุ้มครองบุคคลอื่นที่ไม่นับถือศาสนา และต้องการหลีกเลี่ยงอิทธิพลต่างๆของศาสนาที่ตนไม่ได้นับถือ (negative Religionsfreiheit เช่น ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมันเคยมีคำสั่งให้ปลดไม้กางเขนที่แขวนไว้ในโรงเรียนออก เนื่องจากละเมิดสิทธินักเรียนและผู้ปกครองบางคนที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์ และไม่ต้องการได้รับอิทธิพลในรูปแบบต่างๆจากศาสนาคริสต์) ดังนั้น การนำศาสนาของคนส่วนใหญ่มาอ้างเพื่อใช้ในการสร้างความชอบธรรมในการห้ามบุคคล"ทุกคน"ในสังคมไม่ให้การประกอบกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในวันสำคัญทางศาสนาของคนส่วนใหญ่ จึงเป็นการละเมิดสิทธิในการนับถือศาสนาของบุคคลกลุ่มอื่น ซึ่งแม้จะเป็นบุคคลส่วนน้อยของสังคม แต่ก็เป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม การจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ย่อมกระทำได้หากมีเหตุผลที่เพียงพอมารองรับ เหตุผลหนึ่งที่สามารถนำมายันในกรณีนี้ได้ คือ รัฐธรรมนูญไทยบัญญัติว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ และศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ การบัญญัติเช่นนี้มีลักษณะเป็นการกำหนดภาระหน้าที่ให้รัฐต้องคุ้มครองศาสนาพุทธเป็นการพิเศษ (staatlicher Schutzauftrag) ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญบางประเทศที่กำหนดให้รัฐต้องมีความเป็นกลางทางศาสนาอย่างชัดเจน (Laizismus) เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส การบัญญัติเช่นนี้ในรัฐธรรมนูญจึงเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลเข้ามาออกมาตรการเพื่อทำนุบำรุงศาสนาพุทธ แม้ว่าในขณะเดียวกันมาตรการเหล่านี้จะมีผลทางอ้อมเป็นการกีดกันศาสนาอื่นก็ตาม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ รัฐนำเงินภาษีมาบริจาคเพื่อสร้างอุโบสถวัด แต่ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับสุเหร่า ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม หรือ เลือกปฏิบัติให้ผลประโยชน์แก่บางศาสนาขึ้น แต่ก็เป็นการกระทำตามหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ สภาพการณ์เช่นนี้เกิดกับสังคมทั่วไปที่มิได้มีการแยกศาสนาออกจากรัฐอย่างชัดเจน มิใช่ปรากฏการณ์ที่น่าแปลกใจ

รัฐธรรมนูญของเยอรมันเอง ก็มีบทนำทีกล่าวถึงพระเจ้า และการยอมรับความผูกพันของรัฐธรรมนูญต่อศาสนาคริสต์ ด้วยเหตุนี้ ในประเทศเยอรมนีจึงมีการออกกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาเพื่อคุ้มครองศาสนาคริสต์ อาทิ กฎหมายห้ามจัดงานรื่นเริงในวันสำคัญทางศาสนาบางวัน หรือการกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันสงบ กล่าวคือ ห้ามทำงานและร้านค้าจะต้องปิดกิจการ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นับถือศาสนาคริสต์ซึงป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าโบสถ์เพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนา แม้ว่าการห้ามร้านค้าทำการนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิในการประกอบอาชีพของผู้นับถือศาสนาอื่น อาทิ ชาวมุสลิมที่ไม่ประสงค์จะเข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์ก็ตาม

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net