การจัดตั้งแรงงานนอกระบบ: เกร็ดเบื้องต้นเกี่ยวกับ ‘SEWA’ การรวมตัวของคนงานหญิงในอินเดีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“สหภาพแรงงานคือการมารวมตัวกัน ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านใคร เพียงแค่มารวมตัวกันเพื่อตัวเองเท่านั้น”

 

Ela Bhatt
ผู้ก่อตั้งสมาคมคนงานหญิงที่ทำงานแบบเหมาช่วง
(Self-Employed Women's Association of India - SEWA)

 

เช่นเดียวกับในหลายภูมิภาคของโลก “แรงงานนอกระบบ” ในอินเดียต้องเผชิญกับปัญหาค่าจ้างต่ำ ไม่มีสัญญาจ้าง ไร้สวัสดิการ และไม่มีนายจ้างชัดเจนที่จะเรียกร้องให้ปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะแรงงานหญิงที่ยากจน ถูกกีดกันจากการบริการทางสังคม และด้วยสถานะแรงงานนอกระบบในฐานะคนทำงาน “รับเหมา” ที่มักจะถูกเรียกอย่างสวยหรูว่าการเป็น “นายของตัวเอง” แต่กลับไร้ตัวตนในกฎหมายแรงงาน ซึ่งแรงงานหญิงเหล่านี้ถือว่าเป็นแรงงานที่อ่อนแอที่สุด (เมื่ออยู่อย่างปัจเจก) ไม่มีศักยภาพต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง นายหน้ารับเหมา หรือรัฐได้

เอลา ภัทร (Ela Bhatt) ผู้ก่อตั้ง SEWA

ปัญหาเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นให้ เอลา ภัทร (Ela Bhatt) นักกฎหมายประจำสมาคมแรงงานสิ่งทออินเดีย (Textile Labour Association - TLA) ได้เชิญชวนคนงานและผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เป็นผู้หญิงมารวมกลุ่มกันจัดตั้งสมาคมคนงานหญิงที่ทำงานแบบเหมาช่วง (Self-Employed Women's Association of India - SEWA) ขึ้นมา

SEWA เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1972 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Ahmedabad รัฐ Gujarat ถึงแม้จะมีลักษณะการจัดการองค์กรแบบสหภาพแรงงาน แต่ก็ยังมีการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น สหกรณ์คนงาน ธนาคารสำหรับคนงาน (จากนั้นจึงแตกตัวออกมาเป็นองค์กรพี่น้องในภายหลัง) ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจยกระดับมาตรฐานชีวิตของคนงาน โดย SEWA ได้พัฒนามาถึงจุดที่มีสมาชิกที่จ่ายค่าบำรุงสมาคมถึง 966,139 คน เลยทีเดียว (ในปี ค.ศ. 2008) 

นอกจากนี้ SEWA ยังมีกิจกรรมการสอนหนังสือให้กับสมาชิก ฝึกอบรมทักษะในด้านต่างๆ หาช่องทางทำการตลาด การให้บริการด้านอื่นๆ รวมทั้งเป็นองค์กรที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับการผลักดันนโยบายคุ้มครองคนงานทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติอีกด้วย

เป้าหมายของ SEWA ไปไกลกว่าการส่งเสริม “การจ้างงานเต็มที่” และการ “พึ่งพาตนเอง” ของคนงาน แต่ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร, ที่พักอาศัย, การเลี้ยงดูบุตร, สวัสดิการด้านสุขภา, การประกันสังคม และที่สำคัญที่สุดที่ SEWA เล็งเห็นก็คือการ “เพิ่มอำนาจต่อรอง” ให้กับคนงานหญิง

ดังคำกล่าวของเอลา ภัทร ที่ว่า“สหภาพแรงงานคือการมารวมตัวกัน ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านใคร เพียงแค่มารวมตัวกันเพื่อตัวเองเท่านั้น” โดยปัญหาสำคัญของการรวมตัวแบบ “สหภาพแรงงาน” เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นจะต้องมีคู่เจรจา แต่สำหรับคนงานเหมาช่วงก็มักจะมีคำถามว่าต้องเจรจากับใคร เพราะส่วนใหญ่มักจะต้องทำงานภายใต้ลักษณะที่ไม่มีนายจ้างอย่างชัดเจน

ดังนั้นการมารวมตัวกันเฉยๆ ก็ยังไม่อาจจะทำให้ค่าแรงและสวัสดิการของคนงานเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ SEWA จึงต้องหาทางเจรจากับใครสักคนหรือมากกว่านั้น โดยในช่องทางกรอบกฎหมายนั้น SEWA พยายามชี้ให้เห็นถึงประเด็น “การอยู่ใต้บังคับ” (subordination) ให้คนงานพยายามพิสูจน์ต่อความเชื่อมโยงในการทำงานของตนกับนายหน้าและนายจ้างเจ้าของสินค้าที่จ้างคนงานผลิต

รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ให้ความสะดวกและเป็นธรรมแก่คนงานทั้งในและต่างประเทศ (SEWA ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก) นอกจากนี้ SEWA ยังได้ส่งตัวแทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการไตรภาคีในการปฏิรูปกฎหมายแรงงานเพื่อให้ความคุ้มครองแก่แรงงานนอกระบบอีกด้วย

SEWA ยังได้ใช้ช่องทางมากกว่ากรอบกฎหมาย (ที่ไม่เอื้อแรงงานนอกระบบเปิดโต๊ะเจรจาต่อรอง) ควบคู่กันไปด้วย ในการสร้างช่องทางเจรจาต่อรองโดยมุ่งเป้าไปที่ฐานอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น การกดดันให้นักการเมืองท้องถิ่นใช้ระบบไตรภาคีเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อต่อรองกับรัฐบาลและนายจ้าง (ผู้จ้างผลิตสินค้า)

ทั้งนี้ในการรณรงค์ของ SEWA นอกจากจะเพิ่มความตระหนักรู้ให้มวลสมาชิกแล้ว ยังมีเป้าหมายในการหาสมาชิกใหม่ๆ รวมทั้งกดดันให้นักการเมืองรัฐบาลและนายจ้างมาเจรจาต่อรอง เพื่อกำหนดในเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และการเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ

แผนภูมิภาพความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรพี่น้อง (SEWA’s Sister Organizations)

ตัวอย่างของการขยายงานแตกตัวออกมาเป็นองค์กรพี่น้องของ SEWA (SEWA’s Sister Organizations) เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของคนงานและผู้ประกอบการรายย่อย ก็มีอาทิเช่น ธนาคาร SEWA (SEWA Bank) แหล่ง "ออมเงินและเงินทุน" สำหรับสมาชิก เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยแพง ก่อตั้งเริ่มแรกจากการเก็บเงินสมาชิกคนละ 10 รูปี ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนในธนาคารมากกว่า 350 ล้านรูปี สถาบันฝึกฝน SEWA (SEWA Academy) แหล่งบ่มเพาะให้สมาชิกกลายเป็น “นักกิจกรรม” ให้ทั้งการศึกษาและฝึกฝนความเป็นผู้นำในชุมชน หน่วยวิจัย SEWA (SEWA Research) ผลิตงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการทำงานให้กับ SEWA เป็นต้น

SEWA กลายเป็นแรงบันดาลให้กับองค์กรที่ทำงานกับแรงงานนอกระบบอีกหลายองค์กร อาทิ เครือข่ายจัดตั้งผู้หญิงในเศรษฐกิจนอกระบบ (Women in Informal Employment: Globalizing and Organizing - WIEGO) ซึ่ง SEWA เองก็มีส่วนในการก่อตั้ง WIEGO ด้วย ทั้งนี้องค์กรที่ทำงานใกล้ชิดกับ WIEGO ได้แก่ Home Net อันเป็นการรวมตัวกันของแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน และ Street Net อันเป็นองค์กรที่คนค้าขายหาบเร่แผงลอยและอาชีพอิสระอื่นๆ มารวมตัวกัน

 

สรุปประเด็นสำคัญในการจัดตั้งของ SEWA

- มีการเก็บค่าสมาชิกอย่างจริงจัง

- ดำเนินกิจกรรมในหลายมิติ โดยสร้างองค์กรพี่น้องรับผิดชอบเกี่ยวกับประเด็นเฉพาะในแต่ละเรื่อง

- เชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนงานเหมาช่วงกับผู้ว่าจ้างผลิต เพื่อนำไปสู่การหาคู่เจรจาต่อรอง

- ใช้ช่องทางการเรียกร้องทั้งตามกรอบกฎหมาย และนอกกรอบที่ระบุไว้ตามกฎหมาย

- สร้างโอกาสเจรจาต่อรองกับผู้มีอำนาจทางการเมือง

 

 

เรียบเรียงจาก:

ความยุติธรรมถ้วนหน้า แนวปฏิบัติเพื่อสิทธิคนงานยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ (โซลิแดริตี้ เซ็นเตอร์, 2006)

http://en.wikipedia.org/wiki/Ela_Bhatt (เข้าดูเมื่อ 22/7/2013)

http://en.wikipedia.org/wiki/Self-Employed_Women's_Association_of_India (เข้าดูเมื่อ 22/7/2013)

http://www.sewa.org/ (เข้าดูเมื่อ 22/7/2013)

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท