ร่างพ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมสัตว์: เครื่องมือจำเป็นในการคุ้มครองชีวิตสัตว์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทนำ

ผู้เขียนได้รับข่าวจาก facebook ชื่อว่า “เพื่อนกัน_ไม่ทิ้ง(น้องหมา)กัน” เกี่ยวกับการช่วยเหลือสุนัขที่ถูกทอดทิ้งอยู่เนืองๆ และเผอิญได้ทราบข่าวว่าสัตวแพทยสภาได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ หรือชื่อเต็มว่า ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ… (ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีและสนับสนุนอย่างยิ่ง)[1] ก็เลยอยากแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ดังนี้

1. อะไรคือเหตุผลที่ควรคุ้มครองสัตว์

นักปรัชญาคนสำคัญอย่าง ปีเตอร์ ซิงเกอร์ (Peter Singer) ที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิให้แก่สัตว์และเป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มเคลื่อนไหว NGOs นั้น ได้เสนอในงานชิ้นสำคัญชื่อว่า “การปลดปล่อยสัตว์”  (Animal Liberation) ซิงเกอร์ได้อธิบายว่า สัตว์นั้นควรได้รับการปฎิบัติอย่างมีมนุษยธรรมเพราะว่าสัตว์มีความสามารถรับรู้ความเจ็บปวดทรมานอย่างมนุษย์ ในแง่นี้ มนุษย์กับสัตว์ต่างมิได้มีอะไรที่แตกต่างกันเลย แม้ว่าความเฉลียวฉลาดของมนุษย์จะเหนือกว่าสัตว์มากมายแต่ในแง่ของความรู้สึกเจ็บปวดทางกายภาพ มนุษย์กับสัตว์ล้วนมีความรู้สึกเท่าเทียมกัน สัตว์เหล่านี้จึงมีสิทธิของมันเองที่จะไม่ถูกมนุษย์ทำทารุณกรรมหรือทรมานในรูปแบบต่างๆ ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์จะเปลี่ยนทัศนะคติว่าจะทำอย่างไรกับสัตว์ก็ได้ เพราะสัตว์เองก็มิสิทธิแม้จะไม่เท่ากับคนก็ตาม

 

2.เรื่องทารุณกรรมสัตว์ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย

หลายคนอาจจะคิดว่า ทำไมต้องมีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์ เรื่องของสัตว์มันสำคัญขนาดนั้นหรือ คำตอบก็คือ ใช่ เรื่องของสัตว์สำคัญ ปัจจุบันแนวคิดเรื่องการคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์กำลังเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจอย่างมากในระดับระหว่างประเทศ โดยมีการโยงเรื่องการทรมานสัตว์หรือสวัสดิภาพของสัตว์ (Animal welfare) เข้ากับการค้าระหว่างประเทศแล้ว โดยทางสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกกฎหมายห้ามมิให้มีการล่าแมวน้ำโดยอาวุธหรือวิธีการที่ทารุณโหดร้าย และประเทศใดฝ่าฝืนประเทศนั้นก็จะส่งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแมวน้ำมาขายในกลุ่มประเทศอียูไม่ได้[2] ส่งผลให้แคนาดากับนอร์เวย์ได้เสนอให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก[3] หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง อียูได้ออกกฎหมายห้ามมิให้มีการใช้เครื่องมือดักจับสัตว์ที่เรียกว่า leg-hold trap[4] โดยอียูจะห้ามมีให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ขนสัตว์ เพราะ leg-hold trap นี้ได้สร้างความทรมานเจ็บปวดให้แก่สัตว์มาก และไม่แน่ว่าข้อพิพาทเรื่องนี้จะขึ้นสู่องค์กรระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการเสนอว่าควรจะห้ามมิให้มีการส่งออกสุนัขพันธุ์ Greyhound แก่บางประเทศเพราะมีการนำสุนัขพันธุนี้ไปใช้แข่งกีฬาวิ่งแข่งซึ่งเป็นการทรมานสัตว์

 

3.ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ…..

ผู้เขียนมีข้อสังเกตบางประการต่อร่างกฎหมายดังนี้

ประการแรก ร่างกฎหมายได้ให้คำจำกัดความของคำว่า การทารุณกรรมสัตว์ หมายถึง “การกระทำ หรืองดเว้นการกระทำใดๆที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดทุพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์น้ำตาย” คำนิยามนี้ มีลักษณะกว้างเป็นนามธรรมไม่ค่อยเป็นรูปธรรมเมื่อเทียบกับร่างของสมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย) แล้วร่างของสมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย) จะมีการระบุประเภทลักษณะการกระทำที่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ เช่น เฆี่ยน ทุบตี ฟันแทง เผา ลวก หรือกระทำการอย่างอื่นอันมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ให้สัตว์เจ็บปวด เก็บหรือกักขังสัตว์ในที่คับแคบให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน พันธนาการสัตว์เป็นเวลานานเกินความจำเป็น หรือด้วยเครื่องพันธนาการที่หนักหรือสั้นหรือเล็กเกินไปจนสัตว์ต้องได้รับความทุกข์ทรมาน

เป็นต้น จริงๆแล้วร่างของสมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) ได้ให้ตัวอย่างถึง 19 ข้อ ซึ่งอ่านดูแล้วจะเห็นภาพมากกว่าร่างของสัตว์แพทย์สภา การที่มีลักษณะประเภทของการทารุณกรรมสัตว์ที่เป็นรูปธรรมนั้นอย่างน้อยก็ช่วยศาลในการพิจารณาว่าการกระทำใดเข้าข่ายเป็นการกระทำทารุณกรรมสัตว์หรือไม่และในขณะเดียวกันประชาชนก็พอจะเห็นภาพว่าอย่างไรจึงจะเข้าข่ายเป็นการกระทำทารุณกรรมสัตว์ ประชาชนจะได้หลีกเลี่ยงการกระทำนั้นเสีย

ประการที่สองในร่างมาตรา 23 ที่กำหนดว่าในกรณีที่เจ้าหน้าที่พบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้งหรือไม่มีเจ้าของให้เจ้าพนักงานดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ตามความเหมาะสม ประเด็นมีว่า คำว่า “ตามความเหมาะสม” หมายความว่าอย่างไร กฎหมายน่าจะระบุให้ชัดเจนว่าให้จัดส่งสถานสงเคราะห์สัตว์หรือองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์เป็นผู้ดูแล ทั้งนี้กฎหมายนี้ควรกำหนดให้มีเงินอุดหนุนแก่สถานสงเคราะห์สัตว์หรือองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ด้วย เพราะปฎิเสธไม่ได้เลยว่า องค์กรเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายประจำวันที่ต้องดูแลเป็นจำนวนไม่น้อย รัฐจึงควรสนับสนุนด้านงบประมาณด้วย แต่ก็ต้องมีระบบตรวจสอบด้วยมิเพื่อป้องกันมิให้มีการทุจริตเกี่ยวกับเงินงบประมาณและควรมีอัตราโทษสำหรับผู้กระทำความผิด

ประการที่สาม เรื่องเกี่ยวกับโทษ มีการวิตกกันว่าร่างกฎหมายนี้อัตราโทษแรงไปเพราะมีอัตราโทษจำคุก 1 ปีสำหรับผู้ที่กระทำการทารุณกรรมสัตว์หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้เขียนคิดว่าโทษจำคุกต้องมีไว้เพื่อปรามผู้กระทำความผิดส่วนศาลจะลงโทษหนักเบาเพียงใดก็เป็นดุลพินิจของศาล

ประการที่สี่ มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่า ควรมีข้อยกเว้นเกี่ยวกับกีฬาประเพณีท้องถิ่นเกี่ยวกับสัตว์มิให้ถือว่าเป็นการกระทำทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าไม่ควรมีข้อยกเว้นนี้ เกมกีฬาใดที่อยู่บนความทุกข์ทรมานของสัตว์ การกระทำนั้นไม่ควรถือว่าเป็นเกมกีฬาและไม่สมควรอนุรักษ์ไว้ทั้งสิ้น ข้ออ้างที่ว่าเป็นประเพณีนั้น อ้างไม่ขึ้นไม่มีเหตุผลใดๆที่จะอนุรักษ์ประเพณีที่โหดร้ายป่าเถื่อนทารุณกรรมสัตว์เพียงเพื่อตอบสนองความเพลิดเพลินของคนดูเท่านั้น

 

บทส่งท้าย

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ เพราะปัจจุบันมีข่าวคราวการทารุณกรรมสัตว์เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน อย่างน้อยการมีมาตรการปรามทางกฎหมายก็น่าจะช่วยลดการทำทารุณกรรมได้พอควร อย่างไรก็ดี มาตรการป้องปรามอย่างเดียวคงไม่พอ ควรมีการรณรงค์เพื่อให้ปรับเปลี่ยนทัศนะคติที่ว่า “สัตว์ก็คือสัตว์” มาเป็น “สัตว์ก็มีสิทธิและหัวใจไม่ต่างจากคน” การเลี้ยงสัตว์ควรนำมาซึ่งความรับผิดชอบและเอาใจใส่  การทารุณกรรมทรมานสัตว์จะไม่เกิดขึ้นเลยหากมนุษย์รู้จักเพียงแค่เอาใจเขามาใส่ใจเราเท่านั้นเอง เท่านั้นเองจริงๆ……

 

 

 



[1] ขณะเขียนบทความนี้ ผู้เขียนได้ตรวจสอบว่าร่างกฎหมายนี้ใกล้จะประกาศใช้เป็นกฎหมายหรือยัง ตามข่าวที่ปรากฏบ้างก็บอกว่าร่างกฎหมายนี้จะเริ่มใช้เดือนกันยายนนี้ บางข่าวก็บอกว่ากำลังอยู่ในชั้นพิจารณาของวุฒิสภา ฉะนั้น  ผู้เขียนแสดงความเห็นบนพื้นฐานที่ว่ายังเป็นร่างกฎหมายอยู่

[2] โปรดดู REGULATION (EC) No 1007/2009 OF THE EUROPEAN PARLIAMENT AND OF THE COUNCIL of 16 September 2009 on trade in seal products

[3] ผู้สนใจประเด็นข้อพิพาทนี้โปรดดู  Robert Howse and Joanna Langille, Permitting Pluralism: The Seal Products Dispute and Why the WTO Should Accept Trade Restrictions Justified by Noninstrumental Moral Values, The Yale Journal of International Law, vol. 37, 2012, pp.367-432

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท