Skip to main content
sharethis

สำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนของอังกฤษเปิดเผยเอกสารลับจากทางการปากีสถานที่กล่าวถึงปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรนในช่วงปี 2006-2009 โดยมีผู้เสียชีวิต 746 ราย เป็นพลเรือน 147 ราย และในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ถึง 94 ราย

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนของอังกฤษ (Bureau of Investigation Journalism) กล่าวว่าพวกเขาได้รับสำเนาเอกสารลับ ที่ชื่อ "รายละเอียดการโจมตีด้วยโดรนของนาโต้ในพื้นที่ชนพื้นเมืองที่ส่วนกลางบริหาร"  (Details of Attacks by NATO Forces/Predators in FATA (Federally Administered Tribal Areas)) ซึ่งระบุถึงปฏิบัติการจู่โจมด้วยอากาศยานไร้คนบังคับหรือโดรน 75 ครั้ง ในช่วงปี 2006-2009 มีการกล่าวถึงจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิต

สำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนของอังกฤษได้รับเอกสารลับดังกล่าวมาจากเจ้าหน้าที่ทางการปากีสถาน ในเอกสารระบุว่ามีพลเรือนเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยโดรนจำนวนมาก ซึ่งไม่ตรงกับที่ทางการสหรัฐฯ เคยอ้างไว้ว่ามีความเสียหายจากปฏิบัติการน้อยมาก

เอกสารระบุว่าจากปฏิบัติการโจมตี 75 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 746 ราย โดยมี 147 รายเป็นพลเรือนและจากจำนวน 147 รายนี้มีอยู่ 94 รายที่เป็นเด็ก ซึ่งคิดตามหลักสถิติแล้วนับว่า 1 ใน 5 ของเหยื่อการโจมตีของสหรัฐฯ เป็นพลเรือน และมากกว่าร้อยละ 12 เป็นเด็ก

รัฟ ข่าน คัตตัก รักษาการรัฐมนตรีการคลังของปากีสถานกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ทางการต้องปลอมแปลงข้อมูลเหล่านี้ เพราะเดิมทีทางการไม่มีเจตนาเผยแพร่เอกสารเหล่านี้นอกจากในฝ่ายบริหารอยู่แล้ว

ทางการสหรัฐฯ ไม่เคยมีการเปิดเผยตัวเลขประมาณการผู้เสียจากโดรนอย่างเป็นทางการ เนื่องจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ และหน่วยงานข่าวกรองกลางหรือซีไอเอ ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลปิดลับของโครงการโดรนต่อวุฒิสมาชิกหรือต่อสาธารณชน

ผู้อำนวยการของซีไอเอผู้ออกแบบโครงการโดรนเคยกล่าวไว้ว่า พวกเขาจะสั่งการให้มีการโจมตีเป้าหมายหากมีความมั่นใจสูงมากว่าจะไม่มีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เว้นแต่ในสถานการณ์บังคับที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากเท่านั้นอ นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่าการเสียชีวิตของพลเรือนเกิดขึ้นน้อยมาก โดยรายงานของทางการที่รั่วไหลออกมาในช่วงต้นปีเปิดเผยว่าทางซีไอเอคิดว่าในตัวเลขผู้ถูกสังหารมีจำนวน 1 ใน 482 เท่านั้นที่เป็นพลเรือน

แต่ รัฟ ข่าน ผู้ต่อต้านการโจมตีด้วยโดรนก็เชื่อว่าแหล่งข้อมูลล่าสุดนี้น่าเชื่อถือมากกว่าเพราะมาจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่เป็นเวลาหลายปี และผู้เก็บข้อมูลก็แค่สนใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม รุสตัน ชาห์ โมห์หมาด อดีตเจ้าหน้าที่ของพื้นที่ชนพื้นเมืองที่ส่วนกลางบริหาร (FATA) กล่าวว่าเอกสารดังกล่าวอาจนำเสนอข้อมูลในมุมกว้าง แต่ความแม่นตรงของข้อมูลขึ้นอยู่กับว่าทางกองทัพเลือกจะนำเสนอหรือยับยั้งการนำเสนอต่อฝ่ายการเมืองในเรื่องใดบ้าง โดยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาไม่มีการนำเสนอข้อมูลตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างชัดเจนต่อสภาของปกีสถานเลย

แหล่งข่าวอิสระประเมินว่ามีประชาชนในปากีสถานถูกสังหารจากปฏิบัติการจู่โจมโดยอากาศยานไร้คนบังคับนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา และโอบาม่าก็เพิ่มการสนับสนุนโครงการโดรนนับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

การโจมตีด้วยโดรนยังมีความยุ่งยากในแง่การแยกแยะระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับพลเรือน ซึ่งในบางกรณีการที่พลเรือนเป็นผู้จับอาวุธขึ้นต่อต้านรัฐบาลก็ถูกว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธ และน้อยครั้งมากที่ญาติของผู้เสียหายจะบอกว่าเหยื่อเป็นกลุ่มติดอาวุธ

ในอีกแง่หนึ่งทางการสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่าพวกเขาวางเป้าหมายการโจมตีโดยดูจากพฤติกรรมของบุคคล เช่นการเคลื่อนไหวที่น่าสงสัย การติดต่อสัมพันธ์กับเป้าหมาย การเข้าร่วมศูนย์ฝึกการรบ และข้อบ่งชี้ทางอ้อมอื่นๆ บางครั้งโดรนก็ติดตามเป้าหมายโดยการเสาะหาเป้าหมายดั้งเดิมเช่นในงานศพของเหยื่อผู้ถูกโจมตีจากโดรนในอดีต

ก่อนหน้านี้เคยมีเอกสารที่รั่วไหลออกมาระบุว่า จากปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 482 ราย มีเพียง 6 รายเท่านั้นที่เป็นผู้บัญชาการของกลุ่มอัล-เคด้า

 

 

เรียบเรียงจาก

At least 1 in 5 drone strike victims a confirmed civilian – leaked Pakistani records, Russia Today, 22-07-2013

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net