Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
นายโทรุ ฮาชิโมโตะ นายกเทศมนตรีเมืองโอซากาได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกบังคับให้บำเรอกามแก่กองทัพญี่ปุ่น (Comfort women) ถึง 2 ครั้งอันสร้างเกิดความโกรธกริ้วแก่จีน เกาหลีใต้รวมไปถึงสหรัฐฯ ในครั้งแรกเขาปฏิเสธถึงการมีตัวตนของผู้หญิงเหล่านั้น ครั้งที่ 2 เขายอมถอยไปบ้างโดยบอกว่าทาสบำเรอกามเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกองทัพที่เต็มไปด้วยทหารที่ต้องเผชิญอยู่กับความตายตลอดเวลา แม้ว่าเขาจะถูกคนชาติเดียวกันโจมตีโดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Democratic Party of Japan) และจะมีการออกมาขอโทษของนักการเมืองผู้นี้ แต่การกระทำดังกล่าวย่อมสามารถสะท้อนความคิดบางส่วนซึ่งซ่อนเร้นอยู่กับคนญี่ปุ่นในเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมาสอดคล้องกับชัยชนะของพรรคแกนนำรัฐบาลคือพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party) อย่างท่วมท้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาอย่างประจวบเหมาะ
 
นายฮาชิโมโตะเป็นหนึ่งในหัวหน้าพรรคบูรณะญี่ปุ่น(Japan Restoration Party) ซึ่งมีอุดมการณ์คือชาตินิยมและขวาตกขอบ (Far Right) ซึ่งได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งในสภาล่างเมื่อปี 2012 เป็นอันดับ 3 ในอนาคตเป็นการทายได้ยากว่าพรรคบูรณะญี่ปุ่นจะสามารถยิ่งใหญ่จนเป็นรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะโดยปกติพรรคแบบขวาหรือซ้ายตกขอบในสังคมประชาธิปไตยมักได้คะแนนเสียงไม่มากนักเพราะประชาชนในประเทศนั้นมีความคิดเห็นที่ค่อนข้างแตกต่างกัน พรรคที่มีอุดมการณ์อยู่ตรงกลางซึ่งสามารถนำเอาอุดมการณ์ด้านใดมาผสมกันมักจะได้คะแนนเสียงจากทั้ง 2 สภามากที่สุด อย่างเช่น พรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งเคยผูกขาดการเป็นรัฐบาลมาหลายทศวรรษและสามารถกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแบบเหล้าเก่าในขวดใหม่ อย่างชินโซะ อาเบะ อย่างไรก็ตาม พรรคเสรีประชาธิปไตยมีอุดมการณ์คือกลางค่อนขวาซึ่งก็ไม่ยากที่จะมีความคิดหลายอย่างสอดคล้องกับ พรรคบูรณะญี่ปุ่นโดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่ 96 ซึ่งเป็นมาตราที่เปิดไปสู่การกำหนดรูปแบบและมาตรฐานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียใหม่ อันอาจนำไปสู่การแก้ไขมาตราซึ่งเป็นที่อื้อฉาวมากที่สุดคือมาตรา 9 เพื่อให้ มีนัยสอดคล้องความคิดเห็นดังข้างบนของนายฮาชิโมโตะได้อย่างดี
 
มาตราที่ 9 ของรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นมีใจความโดยย่อคือ ห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสงครามคือไปรุกรานประเทศอื่น จึงไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพเป็นของตัวเองไม่ว่าทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศซึ่งมีการตีความครอบคลุมถึงการมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเขียนโดยสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายพล ดักลาส แมคอาเธอร์ และถูกนำมาประกาศใช้เมื่อปี 1947 โดยต้องการไม่ให้ญี่ปุ่นกลับมาเป็นภัยคุกคามต่อชาวโลกอีก อย่างไรก็ตามภายหลังจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี 1949 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามเกาหลี (1950-1953) ซึ่งสหรัฐฯ จำเป็นต้องถอนกองกำลังไปรบในเกาหลี ปล่อยให้ญี่ปุ่นอยู่เพียงเดียวดาย ทางสหรัฐฯ จึงพยายามตีความรัฐธรรมนูญใหม่โดยการให้ญี่ปุ่นมีกองกำลังเป็นของตัวเองซึ่งพัฒนากลายเป็นกองกำลังป้องกันตัวเองหรือ Japan Self-Defense Force ถึงแม้ชื่อจะไม่ใช่กองทัพ (Army) แต่กองกำลังป้องกันตัวเองซึ่งเป็นกองกำลังที่มีความเข้มแข็งและมีอาวุธทันสมัยเหนือกว่าประเทศจำนวนมากที่ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่ากองทัพเสียอีก
 
นอกจากนี้งบประมาณของกองกำลังป้องกันตัวเองมีสูงมากเช่นในปี 2009 ญี่ปุ่นมีงบประมาณกว่า 46,000,000,000 เหรียญหรือร้อยละ 9 ของจีดีพีของทั้งประเทศ จัดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก แต่ลักษณะประการหนึ่งที่กองกำลังป้องกันตัวเองแตกต่างจากกองทัพของประเทศอื่นคือไม่สามารถออกไปปฏิบัติการนอกประเทศ แต่ในทศวรรษที่ 90 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่นำไปสู่นโยบายสงครามต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ กองกำลังป้องกันตัวเองได้ร่วมกับสหประชาชาติในการส่งหน่วยรักษาสันติภาพเข้าไปในประเทศต่างๆ ที่มีปัญหาเรื่องความมั่นคง เช่น ไฮติ และโซมาเลีย ส่งกองเรือเข้าไปลาดตะเวรย่านมหาสมุทรอินเดีย หรือส่งกองกำลังไปช่วยเหลือสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานและอิรัก
 
การปล่อยให้กองกำลังป้องกันตัวเองของญี่ปุ่นเริ่มมีบทบาทนอกประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ของสหรัฐฯ เกิดจากความคาดหวังให้ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรต่อการร่วมกันรักษาดุลแห่งอำนาจและความมั่นคงในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่สหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและการวางแผนในการโอบล้อมจีน จึงคาดหวังให้ญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้นในยุคของบุช และโอบามา ประจวบกับความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่นในเรื่องหมู่เกาะเซนกะกุหรือเตียวหยู ทั้ง 2 ชาติจึงได้ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งนี้อย่างเต็มที่ เช่นจีนได้ปลุกกระแสชาตินิยมให้แก่คนจีนในการประท้วงญี่ปุ่นเพื่อเบี่ยงเบนความไม่พอใจของสาธารณชนต่อพรรคคอมมิวนิสต์
 
ส่วนญี่ปุ่นก็ใช้ประโยชน์จากประเด็นเดียวกัน เพื่อเบี่ยงเบนความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหาเศรษฐกิจ และยังเป็นข้ออ้างในการเพิ่มงบประมาณทางทหารเพื่อตอบรับกับภัยคุกคามจากจีนและเกาหลีเหนือซึ่งมีท่าทีคุ้มดีคุ้มร้ายอันทำให้สาธารณชนญี่ปุ่นวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนยิ่งขึ้น อันจะส่งผลถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ปี 1947 นั้นมีมานานหลายครั้งโดยเฉพาะมาตรา 9 เพื่อให้ญี่ปุ่นมีกองทัพเต็มรูปแบบเพื่อตอบรับสงครามเย็น แต่แล้วก็ไม่สำเร็จสักที แม้ฝ่ายต้องการแก้จะอ้างเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญปราศจากความเป็นญี่ปุ่น แต่ก็ได้รับการต้านจากฝ่ายซ้ายที่ระแวงว่าฝ่ายขวาจะทำเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ เพราะในอนาคตญี่ปุ่นอาจจะมีหัวรบนิวเคลียร์และทำการรุกรานประเทศอื่นเหมือนที่เคยทำมาในช่วงสงครามโลกก็ได้ ความกลัวเช่นนี้ไม่ได้เกินจริง เพราะการที่ญี่ปุ่นปฏิเสธการก่อกรรมทำเข็ญแก่ชาวเอเชียของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหลายคนจะกล่าวขอโทษต่อประเทศที่เคยเป็นเจ้าทุกข์ในหลายวาระ แต่ก็ถูกมองว่าไม่มีการขอโทษอย่างเป็นทางการแม้แต่ครั้งเดียว อันแตกต่างกับเยอรมันรวมไปถึงแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ถูกตอกย้ำอยู่เสมอว่าญี่ปุ่นไม่ได้เป็นผู้ร้าย จึงกลายเป็นตัวเข้ามาแทนที่ความทรงจำของคนรุ่นใหม่ที่เลือนลางต่อหายนะที่ญี่ปุ่นได้รับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่อมสะท้อนถึงลัทธิฟาสซิสต์หรือลัทธิขวาตกขอบที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมญี่ปุ่นแม้ว่าจะสิ้นสุดสงครามไปแล้วก็ตาม
 
ที่สำคัญรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอำนาจของพรรคเสรีประชาธิปไตยยังสานต่อแนวคิดแบบขวาตกขอบ เช่นการไปคารวะสุสานยะซุกุนิของนายกรัฐมนตรีอย่างนายยาซึจิโร โคซึมิ และนักการเมืองคนอื่นๆ อยู่เรื่อยมา เพื่อยั่วยุให้ประเทศเพื่อนบ้านเกิดความไม่พอใจ เพราะสุสานยะซุกุนิมีส่วนหนึ่งเป็นที่เก็บกระดูกหรือใช้ภาษาอันสวยงามคือเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณของอาชญากรสงคราม รวมทั้งนายพลฮิเดะ โตโจซึ่งถูกศาลของฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคอภายหลังสงคราม รวมไปถึงการที่รัฐบาลพยายามจำกัดสิทธิของประชาชนและการเน้นการบังคับให้ประชาชนเคารพต่อสัญลักษณ์ชาตินิยมเช่นธงชาติและเพลงชาติ ดังกรณีอื้อฉาวเช่นมีครูชาวญี่ปุ่นถูกลงโทษเพราะไม่ยืนเคารพธงชาติ
 
การปฏิเสธหญิงบำเรอกามของนายฮาชิโมโตะนั้นก็จัดว่าเป็นการสำแดงตนของพวกขวาตกขอบอีกแบบหนึ่ง คำพูดของเขานอกจากจะเป็นการสร้างความชอบธรรมของการรุกรานเอเชียโดยกองทัพญี่ปุ่นแบบอ้อมๆ แล้ว ยังเป็นภาพสะท้อนของพวกขวาจัดแบบให้ผู้ชายเป็นใหญ่ (Male Chauvinism) ที่มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุสนองความใคร่ หรือเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองการเมืองและการทหาร ดังนั้นจึงไม่ต้องประหลาดใจว่า เหตุใดดัชนีความเสมอภาคทางเพศของญี่ปุ่นจึงต่ำที่สุดในประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมและโลกที่ 1 ต่ำยิ่งกว่าประเทศโลกที่ 3 อย่างเช่น เคนยา ไทย หรือแม้แต่จีนที่วัฒนธรรมเหยียดเพศหญิงเสียอีก
 
ส่วนสหรัฐฯ นั้นแม้ว่าจะโกรธเคืองต่อความผิดของนายฮาชิโมโตะ ซึ่งหันมาแนะนำทหารสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ในญี่ปุ่นโดยเฉพาะเกาะโอะกินะวะให้ใช้บริการทางเพศเพื่อทำให้ไม่กระเจิดกระเจิงในเรื่องทางเพศมากนัก แต่ก็เป็นพวกปากว่าตาขยิบ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาทหารสหรัฐฯ ได้ก่ออาชญากรรมทางเพศกับผู้หญิงญี่ปุ่นและได้รับการลงโทษจากทางการสหรัฐฯ ที่ดูไม่หนักหนานัก จนเป็นเหตุให้ชาวเกาะโอะกินะวะออกมาประท้วงขับไล่ฐานทัพสหรัฐฯ อยู่เป็นเนืองๆ อันแสดงว่าสหรัฐฯ ก็เป็นพวก Male Chauvinism ไม่ต่างอะไรกับนักการเมืองญี่ปุ่นเลย เพราะนึกถึงแต่ดุลอำนาจในเอเชียตะวันออกเสียมากกว่าสิทธิมนุษยชน
 
ถ้าจะเปรียบเทียบคำพูดของนายกเทศมนตรีเมืองโอซากากับยุโรปก็คงคล้ายกับการปฏิเสธการมีอยู่ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust denier) ซึ่งในเยอรมันและหลายประเทศในยุโรปถึงกลับออกกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ที่มีแนวคิดเช่นนี้ แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วมีเพียงการประณามก่นด่า แต่สำหรับนายฮาชิโมโตะซึ่งเป็นนักการเมืองแล้ว การพูดเช่นนี้ย่อมเกิดจากการคาดหวังต่อคะแนนเสียงของคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเขาพอจะหยั่งความรู้สึกได้ว่าเต็มไปด้วยการดูถูกเหยียดหยามต่อเพื่อนบ้านซึ่งเป็นกระแสความคิดแบบขวาที่หยั่งลึกอยู่ในญี่ปุ่นมานาน ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะพยายามจัดโครงสร้างทางการเมืองและสังคมเสียใหม่ให้มีรูปแบบประชาธิปไตย แต่สหรัฐฯ เองซึ่งเป็นขวาตกขอบดูเหมือนจะพอใจในการ "เลี้ยง" ให้ความคิดแบบขวาตกขอบของญี่ปุ่นยังเจริญงอกงามภายใต้รูปแบบประชาธิปไตย เพื่อต่อสู้กับพวกฝ่ายซ้ายและประเทศอื่นที่เป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น
 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หากจะแก้ก็ต้องมุ่งไปที่มาตรา 96 ซึ่งต้องใช้จำนวนสมาชิกของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาถึง 2 ใน 3 ในการยกมือสนับสนุน หากนับจำนวนสมาชิกสภาไดเอทของพรรคเสรีประชาธิปไตยและพรรคพันธมิตรซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพุทธคือพรรคนิวโคไมโตะก็คงจะเกินพอดี แต่ว่าพรรคนิวโคโมโตะไม่มีนโยบายจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพรรคประชาธิปไตยเสรีจึงต้องอาศัยเสียงจากพรรคบูรณะญี่ปุ่น หรือโน้มน้าวพรรคฝ่ายค้านอื่นอีก สำหรับทัศนคติของประชาชนจะมีความแตกต่างกันมากในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่เป็นไปได้ว่าในอนาคต ความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่น (รวมไปถึงเกาหลีเหนือ) อาจขยายวงกว้างไปกว่านี้ไม่ว่าจะเกิดจากความบังเอิญหรือความตั้งใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เชื้อแห่งลัทธิขวาตกขอบซึ่งเจริญงอกงามในความคิดของสาธารณชนญี่ปุ่นมาช้านานอาจออกผลผลิตใบจนทำให้คนญี่ปุ่นหันมาสนับสนุนการแก้ไขมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญรวมทั้งมาตรา 9 ด้วยอันมีผลต่อการตัดสินของบรรดาสมาชิกสภาไดเอททั้งหลายแม้แต่ฝ่ายค้านก็ตาม และยังอาจส่งผลให้รัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ (Referendum) ได้อย่างท่วมท้น
 
ผู้เขียนคงไม่เพ้อเจ้อถึงกลับจะบอกว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำร้อยเดิมเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าปัจจัยสำคัญบางอย่างยังคงดำรงอยู่ เช่นญี่ปุ่นไม่มีทรัพยากรที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมของตัวเอง แต่จะบอกได้ว่าเป็นการหวนกลับมาเป็นกองทัพแบบเต็มรูปแบบของลูกพระอาทิตย์เพื่อลบความละอายใจที่มีต่อตนเองภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออีกนัยหนึ่งคือความพยายามในการกำหนดอัตลักษณ์ของตนให้มีความเสถียร หลังจากวุ่นวายสับสนมานานจากสงครามโลกเช่นตัวเองนั้นเป็นผู้รุกรานหรือวีรบุรุษ และคราวนี้ลัทธิทหารนิยมและขวาตกขอบดังที่ได้กล่าวมาอาจจะเฟื่องฟูอีกครั้งมาผสมกับระบบทุนนิยมเช่นบรรษัทข้ามชาติและลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่น่าจะมีคนคาดหวังว่าจะพาญี่ปุ่นกลับมาเป็นมหาอำนาจของโลกเป็นอันดับ 2 หลังจากถูกจีนผลักไสไปเป็นอันดับ 3 หรืออาจจะยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น
 
นอกจากการโอบล้อมจีนโดยสหรัฐฯ และการอาละวาดของเกาหลีเหนือแล้ว การกลับมาของกองทัพญี่ปุ่นก็คงทำให้ดุลอำนาจของการเมืองระหว่างประเทศและการทหารในเอเชียแปซิฟิกเปลี่ยนแปลงไปมากมาย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net