Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากกรณีสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม หรือ CAT กับ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย.นี้ โดย กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล ที่มีหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ ระบุว่าไม่สามารถจัดการประมูลได้ทัน และเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซิมดับ จึงร่างประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ...  โดยประกาศดังกล่าว มีการรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา

วันนี้ (30 ก.ค.56) ในเวทีเสวนาสาธารณะ NBTC Public Forum ประจำปี 2556 ครั้งที่ 3 เรื่อง "ทางเลือกการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อสัญญาสัมปทานบริการมือถือสิ้นสุด" ที่อาคารหอประชุม สำนักงาน กสทช.

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. กล่าวว่า ร่างประกาศดังกล่าวนี้ยังไม่ผ่าน กสทช.ในชั้นสุดท้าย ฉะนั้น การจะใช้ดุลพินิจต้องแสวงหาข้อเท็จจริงครบถ้วน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ร่างประกาศครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่จัดประชาพิจารณ์แล้วมีคำถามเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่หากไม่ชัด ก็ควรจะแก้ไขก่อนออกเป็นร่าง นอกจากนี้ยังมีวิธีที่ดีกว่า คือการหารือกับอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ แต่เมื่อมีการดำเนินการร่างประกาศเช่นนี้แล้ว จึงเห็นว่าควรให้นักกฎหมายในวงกว้างให้ความเห็น ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้จะขัดขวางทำลายองค์กรหรือบริษัทเอกชนใด แต่เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากมีการกระทำใดที่ขัดต่อกฎหมายก็ย่อมมีความรับผิดทางกฎหมายตามมา ปัจจุบัน แม้ประกาศยังไม่ออก เมื่อวานก็มีข่าวแล้วว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเตรียมถอนถอด กสทช. โดยประเด็นหนึ่งคือ การออกร่างประกาศดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย

นพ.ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า ที่่ผ่านมาหลายเวที ทั้งที่จัดโดยตนเองและหน่วยงานอื่น นักกฎหมายต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การร่างประกาศดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งรวมถึงรองประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ของวุฒิสภา ซึ่งเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของ กทช. และ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของประเทศท่านหนึ่งก็เห็นว่าน่าจะขัดต่อกฎหมายด้วย

"ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้การทำงานใดๆ สะดดหยุดลง เพียงแต่ต้องการให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกิดบรรทัดฐานโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะการวางร่างประกาศนี้เหมือนการติดกระดุมเม็ดแรกของการรับมือการสิ้นสุดอายุใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทาน ถ้าติดผิด ต่อไปคลื่น 2.1 MHz อีก 14 ปีก็ติดผิดไปด้วย ดังนั้น หากเราสามารถวางกรอบแนวทางที่ถูกต้องได้ก็จะเป็นประโยชน์"

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวว่า ในวันที่ 14  ส.ค.นี้ จะมีการประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. ประจำเดือน ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ซึ่งแม้จะเหลือเวลาเพียง 2 เดือน แต่ยังไม่สายเกินไป ที่บอร์ดทั้ง 11 คนจะใช้ดุลพินิจให้สอดคล้องกับกฎหมาย และคุ้มครองผู้บริโภคได้ด้วย

สุภิญญา กล่าวว่า กสทช.เกิดขึ้นมาโดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยมีหัวใจสำคัญคือ การจัดสรรคลื่นความถี่ บนฐานของการแข่งขันเสรี เป็นธรรม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด นี่เป็นหน้าที่สำคัญเดียวของ กสทช.  และเป็นงานที่ไม่มีหน่วยงานรัฐอื่นมีอำนาจหน้าที่ ถ้าเราปฏิเสธอำนาจนี้และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มันก็หนีความรับผิดชอบไม่พ้น เรื่องนี้จึงถือเป็นเรื่องใหญ่กว่าหลายๆ เรื่องและมันถึงร้อนแรง เพราะไม่ใช่กำหนดอนาคต กสทช.เท่านั้น แต่ว่าจะกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ การจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมด


เชื่อร่างประกาศ "คุ้มครองซิมดับ" ป้องผู้ให้บริการ-กสทช. 
ในการเสวนาสาธารณะ: มุมมองหลากมิติต่อประกาศมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสิ้นสุดสัมปทานบริการมือถือของ กสทช. จุดแข็ง จุดอ่อนคืออะไร บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่ออ่านร่างประกาศฯ แล้ว พบว่า แม้จะเขียนว่าจะคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการอย่างต่อเนื่องคือ ซิมไม่ดับ ซึ่งที่จริงก็เป็นหน้าที่ของ กสทช.อยู่แล้ว แต่กลับไม่มีเนื้อหาที่ชัดเจนว่าจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร เช่น ไม่มีรายละเอียดว่าจะอำนวยความสะดวกในการโอนย้ายสิทธิเลขหมายอย่างไร จะขอเงินคืนได้ทางไหน รวมถึงไม่มีการกำหนดแผนเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณีที่ผู้ให้บริการไม่ทำตามประกาศนี้

ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน พบว่า ร่างประกาศดังกล่าว เป็นประกันการขาดทุนของผู้ให้บริการ คล้ายเป็นการเซ็นเช็คเปล่า โดยเปิดให้ผู้ให้บริการนำค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มศักยภาพในการโอนย้าย ค่าใช้จ่ายในการให้บริการและภาระที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการลดลง ไปลดหย่อนการจ่ายเงินเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ขณะที่ กสทช.จะได้รับการคุ้มครองทันที หากเกิดกรณีซิมดับ กสทช.ก็จะไม่โดนฟ้อง เพราะถือว่าได้จัดทำประกาศนี้แล้ว


เผยความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการไม่ประมูล 1.5 แสนล้าน
เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคม ระบบเซลลูลาร์ ดิจิทัล 1800  ซึ่งตนเองเป็นหนึ่งในอนุกรรมการ ได้พิจารณาเรื่องการสิ้นสุุดสัมปทานคลื่น 1800 โดยยึดตามคำตัดสินของอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช.ว่าจะต้องคืนคลื่น พร้อมทั้งได้เสนอแผนคุ้มครองผู้บริโภคแล้วตั้งแต่เมื่อ ม.ค.ปีนี้ โดยเสนอให้มีการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบโดยเร่งด่วน โดยส่งเอสเอ็มเอส ห้ามไม่ให้ทำสัญญา ที่เกินกว่า 15 ก.ย. และให้เพิ่มความสามารถในการโอนย้ายค่าย พร้อมทั้งได้เสนอระยะเวลาในการดำเนินการเตรียมการจัดการประมูลด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ตามที่เสนอ

เดือนเด่น กล่าวว่า จนขณะนี้ แม้จะทราบว่าทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะเหลือเวลาแค่ 2 เดือน แต่อยากชี้ว่าปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเตรียมการดี จะไม่มีปัญหา ปัญหาที่มีอยู่เกิดจากความล่าช้าของ กสทช.เอง ต้องถามว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบหากเกิดซิมดับขึ้นมา คณะอนุกรรมการที่จะมาดูเรื่องประมูลคลื่นก็เพิ่งตั้งเมื่อเดือนเม.ย. ถามว่าจะทันได้อย่างไร ทั้งนี้ ห่วงด้วยว่า ร่างประกาศดังกล่าวเขียนไว้เหมือนกับจะใช้เป็นการทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะกรณี 1800 ราวกับจะเกิดอีกในอนาคต พร้อมย้ำว่า ถ้าจะออกประกาศนี้ ต้องใช้เฉพาะกรณีนี้กรณีเดียวเท่านั้น

"ตอนนี้ทุกคนมามุ่งดูกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยผู้บริโภค แต่สิ่งที่เราไม่เคยพูดกันเลยคือ มันมีความเสียหายจากการไม่เอาคลื่นมาประมูล" เดือนเด่นกล่าวและว่า มีการประเมินความเสียหายของความล่าช้าในการประมูล ที่ผู้บริโภคควรจะได้ใช้ 4G แล้วไม่ได้ใช้ ว่าจะมีค่าประมาณ 5-7 เท่าของราคาคลื่นที่ประมูลได้ ดังนั้น ถ้าตีค่าเท่ากับราคา 3G คือ 4,000 กว่าล้านบาท ความเสียหายจะตกราว 100,000-150,000 ล้านบาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net