นักวิทย์ มหิดลชี้ปัญหาน้ำมันรั่วที่เสม็ดต้องการความโปร่งใส

วงเสวนาคณาจารย์คณะวิทย์ ชี้เส้นผมไม่เหมาะนำมาใช้ซับน้ำมันกรณีน้ำมันรั่วเสม็ด กระบวนการขั้นแรก คือ ดูด ซับ ตัดทิ้ง และใช้สารลดแรงตึงผิว แต่ต้องระวังผลระยะยาว ติง ปตท. จัดการไม่โปร่งใส รวบรัดอธิบาย ขณะที่โซเชียลมีเดียเน้นดรามาเกินไป


 

วันที่ 31 ก.ค. 2556 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.พหล โกสิยะจินดา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา และ ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ร่วมกันเปิดประเด็นเรื่องการจัดการปัญหาน้ำมันรั่วในอ่าวไทย บริเวณใกล้เกาะเสม็ด ระบุว่า แม้จะเป็นสเกลเล็กมากเมื่อเทียบกับการรั่วครั้งใหญ่ของบริษัทบีพี ออยล์ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาคือน้ำมันได้ลอยเข้าสู่ชายฝั่งทำให้การจัดการปัญหาซับซ้อนขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกว้างขวางขึ้น โดยระบุว่าปัญหาใหญ่ของการจัดการปัญหานี้คือการขาดความโปร่งใส ชี้แจงต่อสังคมอย่างรวบรัด ขณะเดียวกันก็ท้วงติงการก่อดราม่า แชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างรวดเร็วในอินเทอร์เน็ต

วงเสวนาได้ตั้งข้อสังเกตกระบวนการจัดการแก้ปัญหาน้ำมันรั่วที่เสม็ด มีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับทั้งด้านฟิสิกส์ เคมี และชีวะ ในขั้นตอนฟิสิกส์นั้นเป็นไปอย่างที่ ปตท. ดำเนินการอยู่ ในส่วนของเคมี มีการใช้สารเคมีลดแรงตึงผิว แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าใช้สารอะไร ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องการความโปร่งใส เปิดเผยได้เพื่อลดข้อสงสัยจากประชาชนและสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการจัดการแก้ปัญหา

ในขั้นตอนสุดท้ายคือ ชีววิทยา การศึกษาวิจัยชี้ว่าจุลชีพในทะเลลึกหลากหลายพันธุ์กินปิโตรเลียมเป็นอาหาร และแสดงบทบาทสำคัญในการย่อยสลายปิโตรเคมี ดังนั้นควรศึกษาว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีจุลชีพชนิดใดที่เอื้อต่อการกำจัดปิโตรเลียมได้ สำหรับจุลินทรีย์นั้น ไม่มีที่ไหนในโลกที่ไม่มีจุลินทรีย์ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าจะมีจุลินทรีย์ชนิดใดที่ใช้ประโยชน์ได้ มีข้อสังเกตอีกเช่นกันว่างานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายปิโตรเลียมได้เป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทน้ำมันบีพี และเป็นจุลินทรีย์ในทะเลลึก

ดร.พลังพล คงเสรี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล กล่าวถึงกรณีข่าวสารที่แชร์กันทางโซเชียลมีเดียว่าเส้นผมสามารถดูดซับน้ำมันว่า เส้นผมซับน้ำมันได้จริงแต่ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีน้ำมันรั่วที่เสม็ด โดยศีรษะคนปกติหนึ่งคนสามารถดูดซับน้ำมันได้ประมาณ  350 มล. หรือเปรียบเทียบง่ายๆ คือคนไทยต้องใช้ 150,000 คน หรือประมาณประชาชนในระยองประมาณ  1 ใน 5 คน แต่จริงๆ เราทำอย่างนั้นไม่ได้ ใช้ได้กรณีที่เป็น Liquid Waste (ของเสียในสภาพที่เป็นของเหลว) คือทำในกรณีที่เป็นน้ำมันลอยเหนือผิวน้ำและทำในห้องทดลอง แต่ปัจจุบันน้ำมันกลายเป็น Solid Waste (ของเสียที่มีสภาวะเป็นของแข็ง) ไปแล้ว ทำให้จัดการด้วยการใช้เส้นผมซับน้ำมันไม่ได้  วิธีที่ทำได้คือตักออก ดูด และซับ เช่นที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นกระบวนการทางกายภาพ นอกจากนี้ คือการใช้สารเคมีลดแรงตึงผิว แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ดร.พหล โกสิยะจินดา กล่าวว่า ในทางชีววิทยา การใช้สารเคมีลดแรงตึงผิวต้องระมัดระวังเรื่องผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม เพราะการใช้สารเคมีจะมีการสะสมของสารพิษ ที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูระยะยาว  เช่น บริเวณป่าพรุชายเลน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะเลี้ยงฟูมฟักตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ถ้าตัวอ่อนได้รับสารพิษและแพร่กระจายต่อไปในห่วงโซ่อาหาร ก็อาจเกิดกรณีที่สารพิษค่อยๆ สะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ใหญ่ที่เป็นสัตว์ที่นิยมนำมาบริโภค  อย่างไรก็ตามต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อไป

ดร.พลังพลกล่าวเสริมว่า ปัญหาในการจัดการขณะนี้คือ การใช้สารเคมีลดแรงตึงผิวซึ่งประชาชนและแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ทราบว่ามีคุณสมบัติอย่างไร และจะส่งผลกระทบอย่างไร โดยบริษัทผู้ผลิตอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า ระบุแต่เพียงว่าเป็นสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ

สำหรับกระบวนการจัดการของเสียจากน้ำมันรั่วไหลนั้น ดร.พลังพล กล่าวว่า จากกรณีของน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก มีการศึกษาพบว่า นอกเหนือจากคราบน้ำมันที่ใช้วิธีทางกายภาพดูด และซับออกแล้ว อีก 1 ใน 4 ที่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ระเหยได้ก็จะระเหยไปสู่บรรยากาศ ส่วนที่เหลือ 26 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นมวลสารจะจมลงสู่ทะเล โดยมวลสารสีดำของปิโตรเลียมที่รั่วไหลลงไปจะไปกระตุ้นจุลชีพต่างๆ ในทะเลลึก ที่กินน้ำมันเป็นอาหาร ทำหน้าที่ย่อยสลาย

ดร.พลังพลอธิบายว่า การสลายตัวทางชีวะวิทยาของน้ำมันนั้น อาจกล่าวได้ว่า สิ่งมีชีวิตชั้นสูงถูกผลกระทบจากน้ำมัน แต่จุลชีพสามารถบริโภคปิโตรเลียม ไฮโดรคาร์บอนต่างๆ เหล่านั้นได้  และเป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญมากที่ทำให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดีที่สุด เวลาจะเยียวยาทุกอย่าง ตัวแบคทีเรียเช่นนี้จะมีทั่วไป มีหลายร้อยชนิด รวมทั้งมีเชื้อรา

ดังนั้น กล่าวโดยสรุป กระบวนการที่จัดการอยู่ขณะนี้เป็นกระบวนการทางกายภาพซึ่งอยู่ในช่วงสัปดาห์แรกเมื่อเกิดกรณีน้ำมันไหลลงสู่ทะเล คือ เห็นทีไหนก็ตัก และซับ ดูด ตรงไหนจัดการไม่ได้ให้ใช้สารเคมีช่วย และสารเคมีที่ใช้เหมือนแฟ้บ คือสารลดแรงตึงผิว เพียงแต่ข้อสังเกตต่อการทำงานของบริษัทที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อกรณีน้ำมันรั่วที่เสม็ดคือลักษณะรวบรัด ขาดการอธิบายต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสเพื่อการเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

“ถ้ามีความโปร่งใส เราจะสามารถจำลองขั้นตอนการทำงานได้ทั้งขั้นตอนฟิสิกส์ เคมี และชีวะ ถ้าบอกว่าใช้เวลา 300 วันแล้วมีวิธีการอธิบายกับสังคมได้ พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ทุกคนจะเชื่อมั่นและเชื่อใจ ประเด็นนี้มันเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับปัญหาของที่อื่น ผมเชื่อว่าเวลาเยียวยาหัวใจได้ ธรรมชาติจะคืนสมดุลใหักับตัวเอง” ดร. พลังพลกล่าว

โดย ดร.พหลเสริมว่า ที่นำเสนอนี้ไม่ใช่การปล่อยให้เป็นไปตามมีตามเกิดหรือปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาตัวเองโดยไม่ทำอะไร หากแต่ควรศึกษาว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีจุลชีพชนิดใดที่เอื้อต่อการกำจัดปิโตรเลียมได้ สำหรับจุลินทรีย์นั้นไม่มีที่ไหนในโลกที่ไม่มีจุลินทรีย์ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าจะมีจุลินทรีย์ชนิดใดที่ใช้ประโยชน์ได้ และการศึกษาต้องใช้เวลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท