Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากได้อ่านบทความของนิธิ เอียวศรีวงศ์เกี่ยวกับฮิตเลอร์ที่ลงในทั้งมติชนและประชาไทแล้ว  ผู้เขียนใคร่แสดงความอหังการที่จะหยิบยกบทความของเจ้าพ่อวงการประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยมาแย้งแบบหมูไม่กลัวน้ำร้อน อย่างไรก็ตามต้องเกริ่นเสียก่อนว่า ผู้เขียนนั้นเห็นด้วยกับความคิดของนิธิโดยเฉพาะประเด็นที่ว่าตามลำพังตัวตนของฮิตเลอร์หากไม่ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขทางการเมืองหรือประวัติศาสตร์ย่อมไม่สามารถมีบทบาทในการสังหารหมู่ชาวยิวหรือก่อให้เกิดสงครามอันล้างผลาญชีวิตหลายสิบล้านได้ แต่ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยกับนิธิในหลายประเด็นดังต่อไปนี้

1.นิธิมองข้ามความจำเป็นของการห้ามการแสดงสัญลักษณ์

นิธิเห็นว่าการห้ามไม่ให้มีการแสดงสัญลักษณ์เกี่ยวกับฮิตเลอร์และนาซีเกิดจากการที่ไม่ต้องการให้เยอรมันกลับมาเป็นฟาสซิสต์อีกครั้งรวมไปถึงบทบาทของพวกยิวในสหรัฐฯ ข้อแย้งของผู้เขียนคือนิธิไม่ได้กล่าวถึงอันตรายจากขบวนการลัทธินาซีใหม่   (Neo-Nazi) หรือพวกขวาตกขอบซึ่งพยายามสืบทอดมรดกฟาสซิสต์ของพรรคนาซี  ขบวนการนี้ไม่ได้มีเพียงในเยอรมันแต่ยังกระจายไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป หรือ แม้แต่รัสเซียภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย การห้ามไม่ให้แสดงสัญลักษณ์แบบนาซีจึงมีประโยชน์คือไม่ให้พวกหัวรุนแรงกลุ่มนี้ได้ใช้ประโยชน์ทางการเมืองนอกจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันสั่งยุบพรรคนาซีใหม่เมื่อปี 1952  การห้ามเข้มงวดแม้กระทั้งว่ารัฐบาลเยอรมันไม่ยอมให้มีการบูรณะบังเกอร์ที่  ฮิตเลอร์ใช้หลบภัยก่อนจะฆ่าตัวตายเมื่อเดือนเมษายน ปี 1945 เพราะไม่ต้องให้เป็นแท่นบูชาสำหรับพวกนาซีใหม่ 

แม้เป็นเรื่องยากที่เยอรมันจะกลับมาเป็นฟาสซิสต์อีกครั้งหนึ่ง แต่กฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเยอรมันและที่สำคัญรวมถึงประเทศอื่นทั่วโลกเพราะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้พวกขวาจัดใหม่เข้ามามีอิทธิพลอีกครั้งอันจะส่งผลเสียต่อสังคมโดยรวมเช่นเช่นการต่อต้านชาวต่างชาติที่มีเชื้อชาติหรือศาสนาที่แตกต่างจากชาวยุโรปรวมไปถึงการล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป และแม้จะสามารถโต้เถียงได้ว่าหากสถานการณ์เอื้ออำนวยเช่นปัญหาเศรษฐกิจได้ส่งผลให้เกิดพวกขวาตกขอบที่เต็มไปด้วยอคติทางเชื้อชาติและศาสนาเช่นการต่อต้านพวกอพยพที่เป็นชาวประเทศโลกที่ 3 ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การบังคับห้ามการแสดงออกด้านสัญลักษณ์เปรียบได้ดังการทำสงครามเชิงวัฒนธรรม (Culture War) ซึ่งจะเป็นตัวช่วยเหลือรัฐบาลของยุโรปไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย

2.นิธิเขียนเป็นทำนองว่ารัฐหรือสังคมพยายามให้มีการบังคับให้ลืมฮิตเลอร์ในทุกกรณี

ผู้เขียนคิดว่ารัฐหรือสังคมยุคใหม่เพียงแต่ต้องการไม่ให้นำเสนอสัญลักษณ์ของนาซีและฮิตเลอร์ในเชิงยกย่องหรือเกินความเหมาะสม กล่าวอีกนัยคือประชาชนสามารถนำเสนออย่างเป็นกลางเช่นทางวิชาการหรือทางศิลปะได้ อันเป็นสิ่งที่นิธิได้เรียกร้องในช่วงท้ายๆ ของบทความ ดังในรัฐธรรมของเยอรมันที่ถูกนำออกใช้ในปี 1949 ได้พยายามทำให้เยอรมันปลอดจากความเป็นนาซี (De-Nazification) ในหลังสงครามโลกเช่นสั่งห้ามการแสดงออกหลายอย่างเกี่ยวกับนาซีเพราะเป็นองค์กรที่ผิดรัฐธรรมนูญแต่ในมาตรา 5 บรรทัดที่ 3 ได้กล่าวว่า "ศิลปะและวิทยาศาสตร์ การวิจัยและการสอน (เกี่ยวกับนาซี)จะเป็นอิสระ อันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐและสังคมยุคใหม่ไม่ได้บังคับให้ลืมฮิตเลอร์และนาซีไปเสียทุกกรณีเสมอไป ถึงแม้หลายครั้งจะพยายามก็ตาม

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์ของฮิตเลอร์ที่ทรงพลังที่สุดแต่คนจำนวนมากกลับมองข้ามคือหนังสือของฮิตเลอร์ที่ชื่อ Mein Kampf (การต่อสู้ของข้าพเจ้า) ซึ่งถูกเขียนขึ้นในช่วงที่เขาถูกคุมขังในคุกที่แคว้นบาวาเรียเมื่อปี 1923 ภายหลังจากพยายามทำรัฐประหารที่โรงเบียร์  (Beer Hall Putsch) ไม่สำเร็จ หนังสือเล่มนี้เผยแพร่อุดมการณ์แบบฟาสซิสต์ของฮิตเลอร์โดยเฉพาะการต่อต้านยิวซึ่งลุ่มลึกและทรงพลังได้ดีกว่าสัญลักษณ์ทั้งหลาย แม้หนังสือจะไม่สามารถตีพิมพ์ได้ในเยอรมันแต่ได้รับการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาต่างๆ ในหลายประเทศได้โดยมีเงื่อนไขว่าเพื่อการศึกษา และเป็นที่น่าสนใจว่ามีการแปลเป็นไทยและจัดจำหน่ายในเมืองไทยด้วย อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่าสถาบันวิจัยประวัติศาสตร์เยอรมันร่วมสมัยพยายามจะนำเอาหนังสือเล่มนี้มาตีพิมพ์อีกครั้งในเยอรมันในปี 2016 เมื่อสิทธิในการตีพิมพ์หนังสือที่ถือครองโดยรัฐบาวาเรียหมดอายุโดยทางสถาบันอ้างถึงเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ กระนั้นก็เป็นเรื่องตลกที่ว่าในโลกออนไลน์นั้น เราสามารถโหลดเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ของฮิตเลอร์มาอ่านได้สบายๆ ทั้งหมด  แม้แต่ในเวลาที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่   วัตถุประสงค์ของผู้เผยแพร่อาจจะนำไปสู่การศึกษาความคิดของฮิตเลอร์เพื่อเข้าใจในตัวเขาและเยอรมันช่วงสงครามโลกดีขึ้นหรือเอาไปวิพากษ์การเมืองยุคใหม่หรืออาจจะเบี่ยงเบนจากเจตนาคือใช้เป็นตำราพิชัยยุทธ์สำหรับสร้างสรรค์การเมืองแบบขวาตกขอบ สิ่งนี้คนอ่าน  Mein Kampf จำนวนมากนับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมาคงได้ตัดสินใจไปแล้วว่าจะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไรดี

นอกจากนี้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา นวนิยาย ภาพยนตร์ สื่อต่างๆ มีการนำเสนอตัวตนของฮิตเลอร์อย่างแพร่หลายและมีมิติที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมในช่วงหลังสงครามอาจเพราะทั้งมีการตีความผสมกับการค้นพบหลักฐานทั้งบุคคลและวัตถุใหม่อยู่เรื่อยๆ หนังสือวิชาการเกี่ยวกับตัวฮิตเลอร์รวมไปถึงบรรดาลูกน้องคนสนิทไม่ว่าเฮอร์มานน์ เกอร์ริ่ง  อัลเบิร์ต สเปียร์ ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ฯลฯ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมาคงจะมีเป็นล้านๆ เล่ม หนังสือชื่อดังอย่างเช่นชีวประวัติ "ฮิตเลอร์" ของนักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับฮิตเลอร์มากที่สุดของอังกฤษคือเอียน เคอร์ชอว์จำนวน  3 เล่มใหญ่ที่ได้รับการยกย่องอย่างมากเพราะทำให้เราเห็นตัวตนของฮิตเลอร์ที่ปราณีตยิ่งไปกว่าคนบ้าที่เสียสติและไม่นานมานี้ก็มีการเปิดเผยห้องสมุดส่วนตัวของฮิตเลอร์ว่ามีหนังสือที่มีคุณค่าจำมากอันทำให้เราสามารถเห็นมุมมองความขัดแย้งในตัวเองของบุรุษซึ่งเคยสั่งให้เผาหนังสือต้องห้ามสำหรับรัฐนาซีแต่แอบมีความหลงใหลในหนังสือ แต่งานเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะนำมาตัดสินว่าเขาเป็นคนดีในที่สุด  สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำว่าโลกบังคับให้ “จำ”  ฮิตเลอร์ไปตามกรอบแนวคิดแบบเสรีนิยมและรักสันติผ่านการบังคับจากกฎหมายของหลายๆ  ประเทศ  สำหรับประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้าม ก็ต้องอาศัยแรงกดดันทางสังคมประสานกับบทบาทของศูนย์ไซมอน วีเซนทัลในสหรัฐฯ  

3.นิธิมองว่าการแสดงสัญลักษณ์เกี่ยวกับฮิตเลอร์และนาซีแบบไร้เดียงสาเกิดจากการบังคับให้ลืม

สำหรับที่มีการแสดงสัญลักษณ์ของฮิตเลอร์และนาซีที่ไร้เดียงสาเช่นเกิดจากความเลื่อมใสในลัทธิขวาจัดหรือความคึกคะนองหรือเพียงเพราะเห็นว่าเป็นความเท่ห์ได้เกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ของโลกสมัยใหม่ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยอยู่เรื่อย ๆ นั้น  ผู้เขียนไม่อยากสรุปเอาง่ายๆ เกิดจากความล้มเหลวของการศึกษาในปัจจุบันหรือการบังคับให้ลืมเพียงอย่างเดียวเพราะคิดว่าประเทศทั้งหลายในโลกคงจะถ่ายทอดความชั่วร้ายของฮิตเลอร์ให้กับเยาวชนผ่านตำราเรียนไปทั่วถ้วน แต่ปัญหาคือจะมีการนำเสนอในแบบเดียวกันหรือไม่นั้นก็คงมีปัจจัยของการเมือง สังคม อคติทางเชื้อชาติหรือแม้แต่ศาสนาของประเทศนั้นเข้ามาเป็นตัวแปรในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป ถ้าจะให้เดาประเทศประชาธิปไตยโดยเฉพาะอิสราเอลคงใส่ภาพของฮิตเลอร์มืดดำหน่อย (สำหรับญี่ปุ่นเป็นประเด็นน่าสนใจว่าจะนำเสนอภาพของอดีตเพื่อนร่วมฝ่ายอักษะของตนในสงครามอย่างไร)  ส่วนประเทศประชาธิปไตยเทียมหรืออำนาจนิยมเผด็จการก็อาจจะไม่เสนอเรื่องของฮิตเลอร์เลยหรืออาจเสนอภาพไม่แรงนักด้วยความกลัวว่าประชาชนจะใช้ความรู้เกี่ยวกับนาซีมาจับไต๋ของตัวเองอย่างเช่นประเทศในอเมริกาใต้ในช่วงทศวรรษที่ 70 ที่ผู้นำเป็นเผด็จการทหารและคอยให้การช่วยเหลือพวกนาซีที่แอบหนีเข้ามาในประเทศตน หรือในทางกลับกันประเทศเหล่านั้นอาจเสนอภาพของฮิตเลอร์ในด้านดีจนเกินจริงเพื่อสนับสนุนความเป็นบุรุษเหล็กของผู้นำเผด็จการตัวเอง

นอกจากนี้บทบาทของอิสราเอลในการเมืองโลกปัจจุบันและลัทธิเกลียดยิวก็เป็นปัจจัยที่ผลต่อมุมมองของประชาชนในประเทศต่างๆ  ต่อฮิตเลอร์ เช่นเมื่อศูนย์ไซมอน วีเซนทัลออกมาประท้วงการใช้สัญลักษณ์ของฮิตเลอร์และนาซีในประเทศต่างๆ ด้วยเหตุผลว่าฮิตเลอร์ฆ่าชาวยิวไปหลายล้านคน ก็คงมีคนย้อนกลับมาโจมตีบทบาทของอิสราเอลในการสังหารชาวปาเลสไตน์ไปเป็นจำนวนมาก แม้ว่าสัดส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตของทั้ง 2 เหตุการณ์จะต่างกันมากแต่ก็ทำให้อิสราเอลสูญเสียความชอบธรรมในการประณามจอมเผด็จการนาซีไปไม่ใช่น้อยและแน่นอนว่าคงมีคนจำนวนมากโดยเฉพาะชาวมุสลิมในตะวันกลางที่มองว่าการประณามฮิตเลอร์และนาซีคือความพยายามของอิสราเอลในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐอิสราเอลหรือลัทธิ  Zionism ต่อชาวโลกดังภาพยนตร์เรื่อง Schindler's List (1993) ของสตีเวนส์ สปีลเบิร์ก ที่พรรณนาการสังหารหมู่ของชาวยิวในค่ายกักกันนาซีอย่างน่าสะเทือนใจจึงถูกสั่งห้ามฉายหรือถูกเซนเซอร์อย่างหนักในประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศ ความเกลียดยิวยังส่งผลให้ชาวมุสลิมหรือชาวประเทศโลกที่ 3 จำนวนมากที่หันมาเชิดชูหรือยกย่องฮิตเลอร์เพื่อประชดหรือต่อต้านอิสราเอลด้วยความรู้สึกไม่พอใจแทนชาวปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลรุกรานรังแก ดังตัวอย่างเจ้าของบาร์ในอินโดนีเซียที่ติดรูปของฮิตเลอร์รวมไปถึงทหารกับสัญลักษณ์นาซีไว้บนผนังร้านเมื่อไม่นานมานี้

แม้แต่ในประเทศในยุโรปเองคงมีพลเมืองจำนวนมากที่เห็นว่าการควบคุมการนำเสนอภาพของนาซีและฮิตเลอร์เป็นการสร้างอำนาจของรัฐในการจำกัดเสรีภาพการแสดง  ดังนั้นจึงกลายเป็นประเพณีใหม่ของพวกหัวเสรีนิยมที่จะท้าทายในการนำเสนอภาพของปีศาจร้ายในสายตาของรัฐบาลในอีกมิติหนึ่งแม้จะถูกโจมตีว่าเสนอไม่ยอมภาพฆาตกรโหดตามรูปแบบที่คาดหวังไว้ก็ตาม หากติดตามข่าวจะพบว่ามีบ่อยครั้งมากที่ฝรั่งจะพยายามท้าทายกฎหมายในด้านศิลปะโดยนำเสนอฮิตเลอร์ในด้านอื่นที่ไม่ใช่ด้านลบเช่นศิลปินชาวเยอรมันหลายคนพยายามแสดงศิลปะที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ของนาซีแบบกำกวมหรือผลิตนวนิยายแนวขบขันที่มีฮิตเลอร์เป็นตัวเอก ส่วนที่ทำให้สาธารณชนเยอรมันตกใจเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็คืออุปรากรเรื่อง Tannhauser ของริชาร์ด วาคเนอร์ คตีกวีขวัญใจของฮิตเลอร์ในเมืองดุลเซลดอร์ฟที่ผู้จัดใช้ฉากพวกนาซีสังหารหมู่ชาวยิวโดยอ้างว่าเพื่อสะท้อนถึงปัญหาลัทธิเกลียดยิว แต่ก็ทำให้ถูกวิจารณ์โจมตีอย่างหนัก

สำหรับความคิดของผู้เขียนที่ไม่น่าเหมือนกับนิธิแล้วสิ่งเหล่านี้ย่อมนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับ"กระบวนการทำให้ลืมฮิตเลอร์" คือกระบวนการนำเสนอเรื่องราวของฮิตเลอร์ที่มากล้นเกินไป (Hyper-representation) คือยิ่งรัฐหรือสังคมสั่งห้าม ต่อต้านหรือประณามก็กลายเป็นการส่งเสริมให้เกิดภาพหรือวาทกรรมของฮิตเลอร์ทวีล้นพ้นขึ้นไปอีก สิ่งนี้ย่อมส่งผลถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่เกิดภาวะอิ่มตัวกับความล้นนี้ ที่สำคัญการนำเสนอมักได้รับอิทธิพลโดยวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) ที่ผลิตซ้ำภาพสัญลักษณ์ต่างๆ ของฮิตเลอร์และนาซีอันน่าตื่นตาตื่นใจอยู่จนถึงปัจจุบันแต่ไม่สามารถทำให้คนรับข่าวสารสามารถเชื่อมโยงหรือวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ได้มากไปกว่าความบันเทิง ซ้ำร้ายภาพอันล้นเกินของฮิตเลอร์ยังกลายเป็นภาพครอบงำหรือเป็นภาพหลอกหลอน  (Specter of Hitler) ทำให้คนรุ่นใหม่มองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรต่อการสังหารหมู่ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่  2 เช่นทุ่งสังหารของพอล พตในกัมพูชาสงครามกลางเมืองในอดีตยูโกสลาเวีย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ฯลฯ เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ดูกระจอกเล็กน้อยเสียเหลือเกินถ้าเทียบกับการฆ่าชาวยิวไปกว่า 6 ล้านคนหรือแม้แต่จอมเผด็จการคนอื่น ๆ ที่ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ดูให้ดีก็ได้มีส่วนหรือสั่งการโดยตรงให้ล้างผลาญชีวิตของเพื่อนร่วมชาติในจำนวนมากยิ่งกว่าฮิตเลอร์ (ซึ่งมุ่งฆ่าชาวยิวที่มาจากประเทศต่างๆนอกจากเยอรมัน) เช่นโจเซฟ สตาลินและเหมา เจ๋อตงก็ไม่สามารถจรัสแสงของการเป็นฆาตกรของมวลมนุษยชาติได้เท่ากับฮิตเลอร์เลย          

ผู้เขียนเคยถามนักศึกษาในห้องเรียนว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยขณะที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กลับมีคนตอบได้น้อยมาก แต่ถ้าถามว่าใครเป็นผู้นำของเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่สามารถตอบได้ แต่ถ้าจะถามต่อว่าค่ายกักกันของนาซีตั้งอยู่ที่ใดหรือเหตุใดฮิตเลอร์จึงสามารถขึ้นมาอำนาจเหนือเยอรมันได้ ก็จะมีจำนวนคนที่ตอบได้ลดน้อยลง  นักศึกษาเหล่านี้ถึงแม้จะอยู่มหาวิทยาลัยต่างกันแต่ความคิดคงไม่ต่างกับพวกที่วาดภาพฮิตเลอร์ปะปนกับบรรดาซูเปอร์ฮีโรทั้งหลายบนฝาผนังกระมัง

4.นิธิเห็นว่าฮิตเลอร์สามารถสร้างรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จได้สมบูรณ์กว่าสตาลิน

ผู้เขียนรู้สึกสงสัยว่านิธิได้ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินว่ารัฐของใครเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จมากกว่ากัน   เพราะความจริงสตาลินนั้นขึ้นมามีอำนาจในโซเวียตตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1920  เขาได้สานต่อการสร้างรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จจากเลนินโดยเริ่มลัทธิบูชาบุคคล (cult of personality)  ผ่านภาพและโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ชาวโซเวียตเคารพนับถือสตาลินดุจบิดาแห่งชาติที่จะรวมรัฐต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้สหภาพโซเวียต การมีตำรวจลับ เพื่อกำจัดศัตรูฝ่ายตรงกันข้ามโดยการสังหารหรือนำไปเข้าค่ายกักกัน (gulag)  กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนฮิตเลอร์จะขึ้นมามีอำนาจในปี 1933 เสียด้วยซ้ำ ผู้เขียนคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่าสตาลินมีความเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จที่สมบูรณ์กว่าฮิตเลอร์แม้ว่าจะยึดถืออุดมการณ์คนละฝั่งคือความสามารถของสตาลินในการนำอำนาจของรัฐทะลุทะลวงสู่ทุกอณูของสังคมโซเวียตผ่านความกลัวแบบไร้สาระเพื่อให้คนโซเวียตกลายเป็นเครื่องจักรที่ปฏิบัติตามสตาลินโดยปราศจากเงื่อนไข สำหรับเยอรมันนั้นหากใครไม่ใช่พวกรักร่วมเพศหรือพวกยิว และไม่วิจารณ์หรือต่อต้านฮิตเลอร์กับพรรคนาซีก็ปลอดภัยพอสมควร แต่รัฐของสตาลิน ทุกคนที่อยู่รอบตัวสตาลินไม่ว่าภรรยาของเขา กลุ่มผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยกอดคอสตาลินในการตั้งพรรคบอลเชวิกมาด้วยกันหรือนายทหารในกองทัพแดง ไม่นับประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้มีความสนใจทางการเมืองเลยก็สามารถถูกกำจัด (purge) ออกไปอย่างง่ายดายเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนายทุนแอบแฝงหรือพวกต่อต้านการปฏิวัติ  วิธีการนี้ต่อมาถูกเลียนแบบโดยเหมา เจ๋อตงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อกลางทศวรรษที่ 60 จนเป็นเหตุให้มีคนจีนเสียชีวิตเป็นล้านๆ

นอกจากนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อยว่าสำหรับกองทัพเยอรมันที่ไม่ใช่หน่วยเอสเอส ทหารไม่จำเป็นต้องทำท่าเคารพฮิตเลอร์อันสะท้อนว่าบารมีและความศรัทธาต่อตัวฮิตเลอร์ไม่ได้มีมากมายในกองทัพดังที่เข้าใจกันไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่มีกลุ่มนายทหารพยายามทำรัฐประหารโค่นล้มฮิตเลอร์ในเดือนกรกฎาคม ปี 1944  ตรงกันข้ามกับสตาลินดังฉากที่เขากล่าวคำปราศรัยแล้วคนในห้องปรบมือให้อย่างยาวนานโดยไม่มีใครกล้าเลิกปรบมือเป็นคนแรกเพราะกลัวจะถูกจับผิด จนสตาลินต้องกดกริ่งให้การปรบมือสิ้นสุดลง  ดังนั้นจึงพอตั้งสมมติฐานว่าการนำเสนอภาพของฮิตเลอร์ที่มากล้นเช่นการโฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์และนาซีซึ่งถูกผลิตซ้ำผ่านภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนมากอาจเป็นผลให้มีความเข้าใจว่าฮิตเลอร์สร้างรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จได้สมบูรณ์กว่าสตาลิน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net