Skip to main content
sharethis
เครือข่ายประชาชนในชายแดนใต้ยื่นจดหมายขอให้มาเลย์ ตั้งกลไกตรวจสอบและป้องกันเหตุลอบสังหารพลเรือนท่ามกลางพูดคุยสันติภาพ เผยรายชื่อ 4 กลุ่มเป้าหมายถูกลอบสังหาร เชื่อมีเจ้าหน้าที่ไทย-บีอาร์เอ็นเอี่ยวพร้อมตัวอย่าง 12 กรณี
 

 

 
ภาพประกอบจาก เพจ Student Voice
 
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ที่สถานกงสุลมาเลเซีย จ.สงขลา ตัวแทน เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ เครือข่ายครูตาดีกา เครือข่ายโต๊ะอิหม่าม และเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายมูฮัมหมัดไฟซอล ราซาลี กงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียเข้ามาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการลอบสังหารพลเรือนและกลุ่มผู้นำศาสนาหลายคนในพื้นที่ ที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN) ภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย
 
จดหมายดังกล่าวระบุว่า ที่ผ่านมามีพลเรือนที่เป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมในพื้นที่ เช่น ครูตาดีกา และผู้นำศาสนา รวมไปถึงสมาชิกของกลุ่มเครือข่ายหลายคนถูกลอบสังหารถี่ขึ้นหลังจากรัฐบาลไทยและแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานีหรือกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ริเริ่มการพูดคุยสันติภาพตั้งแต่ 28กุมภาพันธุ์ 2556
 
นอกจากนี้ ยังได้ยกกรณีการลอบสังหาร ได้แก่ เหตุการณ์ลอบยิงอิหม่ามอิสมาแอ ปาโอ๊ะมานิ เสียชีวิต เหตุลอบยิงนายมะรอเซะ กะยียุ เสียชีวิต และนายตอเหล็บ สะแปอิง ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งทั้งคู่เป็นอดีตจำเลยและเป็นสมาชิกเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ และยังมีครูตาดีกาถูกลอบสังหารเสียชีวิตอีก 2 รายคือ นางสาวคอรีเย๊าะ สาเล็ง อายุ 24 ปี และนายมะยาฮารี อาลี (อ่านรายละเอียด)
 
จดหมายระบุโดยสรุปว่า ด้วยประสบการณ์การรับรู้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆในอดีต เช่น เหตุการณ์ตากใบ ไอปาแยร์ ปูโละปูโย เหตุกราดยิงร้านน้ำชาในหลายๆที่ เหตุลอบยิงผู้นำศาสนา กลุ่มอดีตจำเลย และครูตาดีกา ทำให้ทั้ง 4 เครือข่ายมีความสงสัยและเคลือบแคลงใจต่อรัฐไทยและบีอาร์เอ็นในฐานะที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ส่วนกรณีการลอบสังหารกลุ่มอดีตจำเลยหรือผู้ที่อยู่ระหว่างประกันตัวหลายรายทำให้เกิดข้อกังขาว่า เป็นผลมาจากการตัดสินนอกระบบหรือ“ศาลเตี้ย”
 
จดหมายระบุอีกว่า ที่ผ่านมากลุ่มเครือข่ายฯ พยายามเรียกร้องต่อทางการไทยให้ตรวจสอบกรณีเหล่านี้หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความสนใจ มิหนำซ้ำยังถูกหวาดระแวงและเป็นที่จับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ทั้ง 4 เครือข่าย จึงขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นจัดตั้งกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพลเรือนถูกลอบสังหารท่ามกลางการพูดคุยสันติภาพ เพื่อช่วยคลี่คลายความวิตกกังวลของผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนทั่วไป เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันให้มากขึ้น ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความรู้สึกปลอดภัยในพื้นที่ อันจะเป็นผลดีต่อการเจรจาดังกล่าว
 
 
จดหมายเปิดผนึก
 
เรื่อง ขอให้รัฐมาเลเซียจัดตั้งกลไกการตรวจสอบความจริงกรณีพลเรือนถูกลอบสังหารท่ามกลางการพูดคุยสันติภาพ
 
เรียน นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย
 
สิ่งที่แนบมาด้วย 1.ข้อมูลสถิติการสูญเสียของพลเรือนเนื่องจากการถูกลอบสังหารในช่วงหลังการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556
 
เนื่องด้วยหลังจากการพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ระหว่างรัฐไทยกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี (BRN) ได้มีเหตุการณ์การลอบสังหารต่อกลุ่มเป้าหมายอ่อนซึ่งเป็นพลเรือนปาตานีในนิยามของBRN หรือพลเรือนไทยในนิยามของรัฐไทย ซึ่งทั้งพลเรือนที่มีเชื้อสายมลายูและเชื้อสายไทยต่างก็เป็นเป้าของการลอบสังหารทั้งคู่
 
ทั้งนี้ถ้าเทียบกับสถิติการลอบสังหารต่อเป้าหมายอ่อนระหว่างช่วงก่อนการพูดคุยสันติภาพกับช่วงหลังการพูดคุยสันติภาพ จะเห็นได้ว่าในช่วงหลังการพูดคุยสันติภาพนั้นมีความถี่ของการลอบสังหารอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีอิทธิพลต่อความคิดของสังคมปาตานี ได้แก่ กลุ่มครูตาดีกา กลุ่มโต๊ะอิหม่าม กลุ่มผู้นำศาสนา กลุ่มจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว(ประกันตัว)และกลุ่มจำเลยที่ศาลพิพากษายกฟ้อง
 
อนึ่งการได้เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารในช่วงระหว่างการพูดคุยสันติภาพของรัฐไทยกับBRN โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น ส่งผลให้ภาคประชาชนมีความสงสัยอย่างเคลือบแคลงใจต่อรัฐไทยและBRNในฐานะที่เป็นคู่ขัดแย้งหลัก ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอาจจะทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่ถูกลอบสังหารนั้นเป็นบุคคลที่มีบทบาทในการปกปักษ์รักษาอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของคนมลายูปาตานีด้วยแล้วนั้น ภาคประชาชนมลายูปาตานีจะมีข้อสรุปในใจอิงกับประสบการณ์ของการรับรู้ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บาดแผลต่างๆโดยปริยาย อาทิเช่น เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์ไอปาแยร์ เหตุการณ์ปูโละปูโย เหตุการณ์กราดยิงร้านน้ำชาในหลายๆที่ เหตุการณ์ลอบยิงผู้นำศาสนา เหตุการณ์ลอบยิงกลุ่มอดีตจำเลย และเหตุการณ์ลอบยิงครูตาดีกา
 
ซึ่งภาพของคู่กรณีที่อยู่ในใจของภาคประชาชนมลายูปาตานีต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บาดแผลต่างๆที่กล่าวข้างต้นกับภาพของคู่กรณีต่อเหตุการณ์บาดแผลร่วมสมัยช่วงหลังการพูดคุยสันติภาพนั้น คือกลุ่มคนเดียวกันที่ซ่อนอยู่ในคำที่เรียกว่า ศาลเตี้ย
 
อาจจะเป็นเรื่องปกติในภาวะสงครามอสมมาตรแบบกองโจรยุคโลกาภิวัฒน์ในศตวรรษที่21 เมื่อทิศทางบนโต๊ะการพูดคุยหรือเจรจาไม่สอดคล้องกับวาระซ่อนเร้นทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งหลัก จะเกิดปฏิกิริยาส่งผลกระทบในรูปแบบการตอบโต้ด้วยอาวุธ แต่คงไม่เป็นเรื่องปกติแน่นอน ถ้ากลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบนั้นคือ พลเรือน
 
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาเองของหลายๆกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มจำเลยที่ได้รับการประกันตัวและศาลพิพากษายกฟ้อง ได้พยายามเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อรัฐไทยมาโดยตลอด แต่ผลปรากฏว่า ทางรัฐไทยไม่มีปฏิกิริยาตอบรับใดๆต่อความทุกข์ร้อนใจของพลเรือน
 
เมื่อสภาพความเป็นจริงของท่าทีรัฐไทยคล้ายกับไม่สนใจดูแคลนความเดือดร้อนของพลเรือน ส่งผลให้พลเรือนปาตานีโดยรวมตกอยู่ในภาวะที่ขาดซึ่งหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประกอบกับสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือปาตานี อยู่ในสถานะของปัญหาที่มีผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่
 
เราในนามของเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ เครือข่ายครูตาดีกา เครือข่ายโต๊ะอิหม่าม และเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ จึงขอเรียกร้องให้ทางรัฐมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับBRN ในครั้งนี้ คือ
 
“ขอให้รัฐมาเลเซียจัดตั้งกลไกการตรวจสอบความจริงกรณีพลเรือนถูกลอบสังหารท่ามกลางการพูดคุยสันติภาพ”
 
ด้วยจิตรักสันติภาพ
 
เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ
เครือข่ายครูตาดีกา
เครือข่ายโต๊ะอิหม่าม
เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ
 
 
 
เอกสารแนบ :
 
ข้อมูลสถิติการสูญเสียของพลเรือนเนื่องจากการถูกลอบสังหารในช่วงหลังการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556
 
กลุ่มเป้าหมายที่ 1 : จำเลยคดีความมั่นคงที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว(ประกันตัว)และจำเลยคดีความมั่นคงที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนามเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ(JOP)
 
กรณีที่ 1 : นายมะรอเซะ กายียุ อายุ 36 ปี ถือเป็นรายแรกในช่วงการพูดคุยสันติภาพ แต่เป็นรายที่ 4 ของสมาชิกเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ(JOP) ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 เวลาประมาณ 09.00 น. ที่บ้านเลขที่ 34 หมู่1 ต.กาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา เสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา(ก่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกา 22 วัน)
 
กรณีที่ 2 : นายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 42 ปี เป็นรายที่สองในช่วงการพูดคุยสันติภาพ แต่เป็นรายที่ห้าของสมาชิกเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ(JOP) ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 13.00 น. ขณะที่นายตอเหล็บ สะแปอิง กำลังขับรถจักรยานยนต์ เดินทางจากยะลา กลับไปบันนังสตา (ระหว่างปากทางเข้าหมู่บ้านนิคมกือลอ) ได้มีคนร้ายลอบยิงนายตอเหล็บ สะแปอิง ได้รับบาดเจ็บสาหัส ปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา
 
 
กลุ่มเป้าหมายที่ 2 : ครูโรงเรียนตาดีกา
 
กรณีที่ 1 : นางสาวคอรีเย๊าะ สาเล็ง อายุ 24 ปี พร้อมลูกในครรภ์อายุ 7 เดือน ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2556 บนถนนสายชนบท บ้านตันหยง หมู่ 1 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ นางสาวคอรีเย๊าะ สาเล็ง เป็นครูสอนโรงเรียนตาดีกาบ้านบือแนสะแต หมู่ 5 ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา
 
กรณีที่ 2 : นายมะยาฮารี อาลี อายุ 40 ปี เป็นครูสอนที่โรงเรียนตาดีกาบ้านบันนังกูแว ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 06.15 น. เกิดเหตุที่บ้านบันนังกูแว หมู่ 4 ต.บังนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในขณะที่ผู้ตายกำลังเดินทางไปกรีดยาง
 
กรณีที่ 3 : นายอาหามะ ดอเลาะ อายุ 47 ปี เป็นครูสอนที่โรงเรียนตาดีกาดารุลอามาน ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 ที่หน้าบ้านเลขที่ 21/1 ม.4 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ
 
 
กลุ่มเป้าหมายที่ 3 :  โต๊ะอิหม่ามหรือผู้นำศาสนา
 
กรณีที่ 1 : นายอิสมาแอ ปาโอ๊ะมานิ๊ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 ม.4 ต.กอลำ ซึ่งเป็นโต๊ะครูเจ้าของปอเนาะปูลาฆาซิง ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ
 
 
กลุ่มเป้าหมายที่ 4 : พลเรือนทั่วไป
 
กรณีที่ 1 : เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ได้เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงชาวบ้านที่นั่งอยู่ในร้านน้ำชา ในพื้นที่หมู่ 5 ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 6 ศพ ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีเด็กอายุ 3 ขวบรวมอยู่ด้วย
 
กรณีที่ 2 : นางสุฮัยนี ลงซา อายุ 37 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์เยียวยาเทศบาลตำบลกายูบอเกาะ อ.รามัน จ.ยะลา ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 เหตุเกิดบริเวณทางไปตลาดนัดบุดี ถนนสายโกตาบารู-ไม้แก่น ม. 8 อ.เมือง จ.ยะลา เสียชีวิตทันทีในที่เกิดแหตุ
 
กรณีที่ 3 : นายมะซูดิง ดีบุ อายุ 62 ปี เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านเปาะลามะและเป็นพี่เขยของนายฮาซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพBRN ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืนเอ็ม16 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 เมื่อเวลา 19.50 น.วันที่ 28 มิถุนายน 2556 เหตุเกิดหน้าบ้านพักเลขที่ 132/1 บ้านเปาะลามะ หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ
 
กรณีที่ 4 : เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2556 พบศพผู้เสียชีวิตสองสามีภรรยาอยู่ในท่านั่งคุกเข่าคว่ำหน้า ชื่อนายทรงชัย พรหมจันทร์ อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 209/3 หมู่ 1 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกกระสุนปืนขนาด 9 มม.ยิงที่ศีรษะและใบหน้าจนพรุน และนางนิตยา ฝ่ายนารีผล อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 209/3 หมู่1 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกยิงที่ศีรษะและใบหน้าเช่นเดียวกัน บริเวณพื้นถนนพบปลอกกระสุนปืนขนาด 9 มม.ตกอยู่ 10 ปลอก
 
กรณีที่ 5 : เมื่อเวลา 19.43 น. วันที่ 23 กรกฎาคม 2556 มีเหตุคนร้ายยิงถล่มเข้าใส่ร้านน้ำชาเลขที่ 94/7 ม.4 บ.ลูโบ๊ะดาโต๊ะ ต.ลูโบ๊ะบือซา อ.ยี่งอ พบศพผู้เสียชีวิต 2 ราย นอนเสียชีวิตอยู่บริเวณพื้นโต๊ะน้ำชา โดยถูกกระสุนปืนของคนร้ายที่ลำตัวและสีข้าง ตรวจสอบทราบชื่อคือ นายอาแว นิสายู อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 44 ม.4 ต.ลูโบ๊ะบือซา อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส และนายต่วนมะเซ็ง โมง อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 125/2 ม.6 ต.ลูโบ๊ะบือซา อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นอดีตสมาชิก อบต.ลูโบ๊ะบือซา ส่วนผู้บาดเจ็บคือ นายมามุ สะนิ อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 104/1 ม.6 ต.ลูโบ๊ะบือซา อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส นอกจากนี้ ในที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืนสงครามอาก้าตกอยู่ จำนวน 8 ปลอก เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน
 
กรณีที่ 6 : เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 เกิดเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการลาดตระเวนตามเส้นทาง บริเวณหน้าโรงพยาบาลจะแนะ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ทางเจ้าหน้าที่รัฐสรุปว่าแรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต แต่ทางชาวบ้านทั่วไปสรุปว่าไม่ใช่มาจากแรงระเบิดแต่มาจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย ได้แก่ นางนูรยาฮาน อาแว อายุ 43 ปี และนางนายีหะห์ ยีระ อายุ 38 ปี ได้รับบาดเจ็บ 1ราย คือ นายอภิชาต เบ็ญจุฬามาศ อายุ 32 ปี ทั้ง 3 เป็นครูโรงเรียนพิทักษ์วิทยากุมุง ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net