Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในที่สุด พรรคเพื่อไทยก็มีมติผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย เหมะ เข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นวาระแรกในในการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่คนเสื้อแดงและในพรรคเพื่อไทยถึงองค์ประกอบและขอบข่ายของการนิรโทษกรรม

ประเด็นถกเถียงยิ่งสับสนเมื่อญาติผู้เสียชีวิตกลุ่มของนางพะเยาว์ อัคฮาด ได้ออกมาออกมาคัดค้านร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ โดยกล่าวหาว่า มีการสอดแทรกยกเว้นความผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ปราบปรามประชาชน จากเหตุผลดังกล่าว นางพะเยาว์และกลุ่มจึงได้ผลักดันร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับของพวกตน ซึ่งมีข้อความระบุไม่ยกเว้นความผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่ “กระทำเกินกว่าเหตุ”

ความจริงแล้ว ร่างพรบ.ฉบับนายวรชัย เหมะกล่าวครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ “เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง” รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้ชุมนุม “แต่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณา ... ให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ ...” ซึ่งก็คือ ไม่ครอบคลุมถึงบุคคลอื่นใดอีก รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระดับสั่งการและระดับปฏิบัติการ

ผู้ที่กล่าวหาว่า ฉบับนายวรชัย เหมะว่า ยกเว้นความผิดให้เจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นการเข้าใจผิด แม้แต่นายวรชัย เหมะก็ยังเข้าใจผิดในร่างพรบ.ของตัวเอง!

การที่ร่างพรบ.นิรโทษกรรมยังไม่กล่าวถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งนั้นเป็นการถูกต้อง ซึ่งก็หมายความว่า ยังไม่มีการยกเว้นความผิดเจ้าหน้าที่รัฐใดๆ ในร่างพรบ.นี้

ความเห็นที่ตรงกันจากทุกฝ่าย ณ เวลานี้คือ ให้เร่งนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองเฉพาะที่เป็นมวลชนร่วมเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและฝ่ายเสื้อแดง ครอบคลุมการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดตั้งแต่รัฐประหาร 2549 โดยไม่รวมแกนนำของทั้งสองฝ่าย ไม่รวมนักการเมือง แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีประเด็นถกเถียงกันอีกถึงขอบเขตการนิรโทษกรรมว่า จะให้ครอบคลุมเพียงใด ทั้งในแง่คดีที่เกี่ยวข้อง บุคคล และลักษณะความเสียหายต่อคู่กรณีหรือต่อบุคคลที่สาม

สำหรับมวลชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองและต้องคดีความผิดภายใต้ พรก.ฉุกเฉินและพรบ.มั่นคงนั้น ร่างพรบ.นิรโทษกรรมทุกฉบับเห็นตรงกันว่า ให้ผู้ต้องคดีพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ปัญหาที่ยังถกเถียงกันอยู่คือ แล้วความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายอาญา จะยกเว้นความผิดด้วยหรือไม่ ในประเด็นนี้ ร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทยก็ให้ผู้ต้องคดีพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิงเช่นกัน ยกเว้นฉบับนายณัฐวุฒิ ใสเกื้อที่ไม่ครอบคลุมคดีก่อการร้ายและคดีความผิดต่อชีวิต

ประเด็นถกเถียงต่อมาคือ ผู้ต้องคดีตาม ป.อาญา ม.112 จะอยู่ภายใต้พรบ.นิรโทษกรรมด้วยหรือไม่เพียงใด

เนื่องจากร่างพรบ.ทั้งหมดระบุครอบคลุมให้ยกเว้นเฉพาะความผิดอันเนื่องมาจาก “การแสดงออกทางการเมือง” ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ฉะนั้น คดี ม.112 จะได้รับการยกเลิกความผิดด้วยหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ในศาลว่า “การกระทำตามข้อกล่าวหา” ของผู้ที่ต้องคดี ม. 112 แต่ละคนนั้น เข้าข่ายเป็น “การแสดงออกทางการเมือง” หรือไม่

คดี ม.112 แต่ละคดีจะต้องพิสูจน์ว่า เป็น “คดีการเมือง” ก่อน จึงจะได้รับการยกเว้นความผิด ผู้ต้องคดีที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ตนมีเหตุจูงใจทางการเมืองจากรัฐประหาร 2549 จะไม่ได้รับการยกเว้นความผิด

แต่ถ้าเรามองดูบรรดาคดี ม.112 ในระยะหลายปีมานี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้คนเห็นร่วมกันคือ “ความไม่ปกติ” ของกระบวนการยุติธรรม จากขั้นตอนพนักงานสอบสวน อัยการไปถึงศาล ตั้งแต่ความคลุมเคลือไม่ชัดเจนในการตีความ ม.112 ครอบคลุมเพียงใด การวินิจฉัยเจตนาที่อยู่ในความคิดจิตใจของผู้ถูกกล่าวหาว่า “เจตนาดูหมิ่นจริง” รวมทั้ง การไม่ให้ประกันตัวออกจากที่คุมขัง ปฏิบัติต่อผู้ต้องคดีเสมือนว่า มีความผิดแล้ว ทั้งที่ยังมิได้พิพากษา รวมทั้งการตัดสินโทษจำคุกอย่างรุนแรงยิ่งกว่าคดีอาญาอื่น ๆ เป็นต้น

จึงมีคำถามว่า จากคดี ม.112 จำนวนมากในปัจจุบัน จะมีสักกี่คดีที่จะได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นคดีที่ “เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง” และได้รับการยกเว้นความผิดทั้งหมดจริง?

ไม่เป็นการเกินเลยที่จะสรุปได้ล่วงหน้าว่า ผู้ต้องคดี ม.112 จะไม่ได้รับประโยชน์จากร่างพรบ.นิรโทษกรรมเหล่านี้ ก็เพราะ “ความไม่ปกติ” ของกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวข้างต้น

ในการถกเถียงกันนี้ ดูเหมือนว่า ผู้คนจะลืมนึกถึง “ต้นฉบับแรก” ของแนวคิดนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองที่เสนอโดยคณะนิติราษฎร์ ในรูปแบบของ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง” เมื่อเดือนมกราคม 2556 และได้ยื่นต่อรัฐบาลโดยแกนนำกลุ่ม 29 มกราฯ ข้อคิดของคณะนิติราษฎร์มีความสำคัญที่ใช้เป็นหลักอ้างอิงได้ เพราะเป็นแนวทางนิรโทษกรรมที่เป็นผลจากการระดมสมองกลุ่มนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญหลักกฎหมายมหาชนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของประเทศ

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์คือ ให้ยกเลิกความผิดจาก พรก.ฉุกเฉิน พรบ.มั่นคง และความผิดลหุโทษตาม ป.อาญา ความผิดที่มีโทษปรับหรือโทษจำคุกไม่เกินสองปีตามกฎหมายอื่น ส่วนความผิดนอกเหนือจากนั้น รวมทั้งความผิดตาม ม.112 ก็ให้พ้นผิดถ้าผู้นั้นกระทำโดย “มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง”

ที่สำคัญคือ ในข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ผู้ที่จะวินิจฉัยว่า ความผิดใด “มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” หรือไม่นั้น ไม่ใช่ศาล แต่เป็น “คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง” จำนวน 5 คนที่แต่งตั้งโดยประธานรัฐสภา ประกอบด้วยผู้ที่เสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรีหนึ่งคน สมาชิกสภาผู้ราษฎรสองคน ผู้พิพากษาหรือดีตผู้พิพากษาที่เลือกโดยรัฐสภาหนึ่งคน และพนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการที่เลือกโดยรัฐสภาหนึ่งคน

นัยหนึ่ง คณะนิติราษฎร์เสนอให้เอากระบวนการนิรโทษกรรมทั้งหมดออกไปจากศาล เพราะการนิรโทษกรรมเป็นการตัดสินใจทางการเมือง จึงต้องใช้กระบวนการทางการเมือง หากยังคงให้ศาลวินิจฉัย ก็เท่ากับให้ศาลเข้ามาวินิจฉัยประเด็นทางการเมืองโดยตรง และอาจถูกครหาไปในทางใดทางหนึ่งได้

ผู้ที่อ้างว่า ผู้ต้องคดี ม.112 จะได้รับประโยชน์จากร่างพรบ.นิรโทษกรรมด้วยนั้น จึงเป็นการเข้าใจผิด

ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระดับสั่งการและระดับปฏิบัตินั้น ได้รับการคุ้มครองจากพรก.ฉุกเฉินและพรบ.มั่นคงที่มีผลในขณะเกิดเหตุอยู่แล้ว การจะเอาผิดคนเหล่านี้ในกรณี “กระทำเกินกว่าเหตุ” จึงเป็นเรื่องซับซ้อนทางกฎหมายและความยากลำบากทางการเมือง ที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องต่อสู้ต่อไปอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม และมิให้เป็นเยี่ยงอย่างให้เกิดการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนซ้ำซากโดยอ้างกฎหมายใด ๆ อีกต่อไป

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”  2 สิงหาคม 2556

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net