Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เสียงซุบซิบทางไลน์ดังไปยันข่าวพาดหัวถึงบุคคลไฮไลท์ทั้ง 3 เรื่อง กับความ “เกินงาม” ในบางประเด็น ร้อนถึงแท่นปกครอง จนถึงกระทรวงอ่านเขียน ออกมาวิพากษ์กันทั่วหน้า
    
พี่มากบอกความในตอนไปรบว่า “ไม่เคยคิดถึง “สยามประเทศ” คิดถึงแต่ตะเอง (นางนาก)” ถูกโจมตีเรื่องความไม่รักชาติ จนหูชา หลังโกยรายได้ไปกว่าพันล้าน

หนังฮอร์โมน วัยว้าวุ่น กับฉากสาวสไปร์ทไฟแรงสูงตะโกนใส่เพื่อนชาย “อารมณ์น่ะมี แต่ถ้าไม่มีถุงยางก็อดโว้ย” แล้วผละตัวออกจากใต้โต๊ะห้องเรียนในเครื่องแบบ ม.5 ที่หลุดรุ่ย สร้างแรงสะเทือนไปถึงห้องประชุมรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ ที่มองเป็นการชี้นำเรื่องเพศ ขณะที่ channel one โกยเรทติ้งของยอดผู้ชมหลักล้าน

เนติวิทย์ นักคิดแนวเสรีนิยมชั้น ม.5 สวมวิญญาณหลาน ดร.ป๋วย แฉ “ปฏิวัติการศึกษาไทย เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่แก้ปากท้องด้านเศรษฐกิจคนไทย เพราะเด็กๆ ยังต้องช่วยพ่อแม่ทำงานแทนที่จะอ่านหนังสือ ยกแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ฉีกกฎแรงโน้มถ่วงของผู้ใหญ่ จนเป็นเป้าสายตาในอีกหลายประเด็น

ทุกอารมณ์ในวัยรุ่น สามารถปะทุขึ้นได้

อารมณ์โดนๆ ที่จงใจกระแทกผู้ใหญ่ให้มองไปที่ “ความจริง” มากกว่า “สิ่งที่รับได้” เป็นโจทย์ให้ใครหลายคนฉุกคิด

หนึ่งในผลจากสังคมแห่งโซเชียลยุคที่ว่า ไม่มีอะไรที่จับต้องไม่ได้ และไม่มีสิ่งใดที่ใครจะมองไม่เห็น ตั้งแต่การเมืองไปจนเรื่องในมุ้งของชาวบ้านล้วนถูกเปิดเผย ล้วงลึก แหวก “ขนบ” ออกมาให้โลกได้ประจักษ์ กรอบอำนาจที่ตกทอดกันมา เช่น กฎระเบียบในโรงเรียน ทรงผม การแต่งเครื่องแบบ กำลังถูกเด็กย้อนถามถึงเหตุผล ซึ่งอยู่ในหนังฮอร์โมนตอนแรก หรือการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของเนติวิทย์ ผู้นำที่ทำให้เกิดการรวมตัวของนักเรียนหลายแห่งเป็น “แฟนเพจสมาพันธ์นักเรียนไทย” ร่วมขับเคลื่อนให้ยกเลิกระเบียบบังคับนักเรียนชายตัดผมเกรียน หญิงสั้นเสมอติ่งหู หรือประเด็นหนัง “พี่มาก พระโขนง” ที่ทำให้พระเอกของเรื่อง (พี่มาก) กลายเป็นชายชาติทหารที่มีบุคลิกแบ๊วๆ ง๊องแง๊ง ปะทะกับคติความเชื่อเดิมที่ปลูกฝังว่า ชาย (ไทย) ต้องแข็งแกร่ง และรักชาติ ต้องผ่านการฝึกให้พร้อมรบเมื่อเกิดภาวะสงคราม ขณะที่ในสังคม หลายคนยังไม่ศรัทธา “หน้าที่พลเมือง” ดีพอ จึงเต็มไปด้วยการหมกเม็ดคดีหนีทหารที่มีมานาน แต่ไม่ถูกกล่าวถึง

ทว่า “ความจริง” มักปรากฏเป็นคลื่นใต้น้ำจนเรื่องแดงขึ้นมา สัญญาณเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยคงไม่มีแค่ลู่เดิมๆ อีกต่อไปแล้ว นอกเส้นที่ขีดกรอบ ยังมีทางเลือกใหม่ๆ ต่างเหตุ ต่างผล คำว่า “ถูก” “ผิด” “เหมาะ” “ควร” อาจใช้ไม่ได้ในยุคสมัยหนึ่ง เพราะทุกความคิด ล้วนมีค่าและมีความหมายในตัวมันเองทั้งสิ้น

กลับมาที่ 3 ความดังทะลุฟ้า พี่มาก ฮอร์โมน เนติวิทย์

จะดีกว่าไหม ถ้าเรานำ “จุดแข็ง” ของกระแสเหล่านี้ มาเป็นเครื่องมือดีๆ เพื่อไม่ให้มีอะไร “เสียของ”

ป้ามล หรือทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษกเป็นตัวอย่างของผู้ที่พยายามนำเรื่องรอบตัวมาประยุกต์เป็นเครื่องมือจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กก้าวพลาดที่ต้องโทษคดี มากว่าสิบปี ที่ทดลองกับโจทย์อันแสนยาก ป้ามักหยิบหนัง หรือข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มาให้เด็กๆ ช่วยกันคิด แสดงความเห็นกัน ตั้งบอร์ดกระทู้ รับฟังปัญหาบ้าง เขียนเป็นจดหมายบ้าง และอีกหลายวิธี ซึ่งป้าบอกเสมอว่า แรงกดดันทางสังคมทำให้เยาวชนเสียรูปทรงไปบ้าง แต่ป้าก็เชื่อว่า “เด็กน้อยย่อมโตเข้าหาแสง” หากผู้ใหญ่ช่วยสร้างกระบวนการให้เด็กเยาวชนได้คิดวิเคราะห์ และตัดสินใจด้วยตัวเอง รื้อฟื้นเกราะป้องกันในจิตวิญญาณของพวกเขา หรือที่เรียกว่า self-control ดึงแสงสว่างในตัวเด็กออกมา แล้วใส่การชื่นชมลงไปให้พวกเขาเห็นศักยภาพในตัวเขาเอง นั่นเป็นหลักการสำคัญของการพัฒนา “เยาวชนเชิงบวก” ให้เด็กคืนรูปสู่ตัวตนแท้จริง ซึ่งป้าได้ทดลองกับเด็กมาแล้วหลายรุ่นอย่างอย่างได้ผล

ในกรณีหนังฮอร์โมนว้าวุ่น หากเราฉวยโอกาสกับกระแสนี้ ดึงบางตอนของหนังมา

ตั้งโจทย์ให้วิเคราะห์ในห้องเรียน ฉากที่ “สไปร์ทจะมีอะไรกับเพื่อน” นำขึ้นมาเป็นกระทู้ถกกัน

ว่า “มีเพศสัมพันธ์ตอนอายุเท่านี้ได้หรือไม่” โดยเปิดรับคำตอบทั้ง “ได้” “ใช่เลย” “มีก็ดี” “ห้าม”

“ไม่ควร” “แอบมีได้” “ยังไม่ถึงเวลา” ฯลฯ และเด็กอาจถามต่อว่า พวกเรามีประจำเดือนกันแล้วก็เป็นวัยที่พร้อมเจริญพันธุ์ซึ่งครูควรนิ่งฟัง อย่าเพิ่งดันเรื่อง “รักนวลสงวนตัว” ที่จับต้องไม่ได้เข้าไปให้พวกเขา ไม่ตำหนิ ตีกรอบ หรือชี้นำ ครูมีหน้าที่ให้ข้อมูลว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วบ้าง บอกผลลัพท์ของทุกทางเลือก ทุกคำตอบ แล้วช่วยเสริมประเด็นที่เด็กขาด และต้องไม่ลืมจัดบรรยากาศในห้องเรียน ให้เด็กกล้าพูด กล้าถกกันด้วยเหตุผล “ใจครู” ต้องกล้าพอที่จะยอมรับคำตอบที่อาจไม่ตรงกับความรู้สึก อาจขัดกับความเชื่อเดิมของตัวเอง เช่น เด็กอาจตอบว่า มีเพศสัมพันธ์สนุกดี เพราะได้ปลดปล่อยอารมณ์เพศดีกว่าช่วยตัวเอง ฯลฯ แต่ต้องพาเด็กคิดต่อ ชวนคุยให้ลึกขึ้น เช่น ถ้าพ่อแม่ฝ่ายหญิงรู้เข้าจะเกิดอะไร เราต้องแต่งงานกับใครสักคนตอนนี้มีความพร้อมไหม ต้องเตรียมตัวเป็นพ่อ-แม่มือใหม่อย่างไร หรือการที่แฟนคนนี้อาจยังไม่ใช่เนื้อคู่ที่ต้องการในอนาคตจะทำอย่างไร เป็นต้น

เพราะวัยรุ่นมีโอกาสถลำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงเมื่อใดก็ได้ การเรียนรู้จากการ “ตอบคำถาม” และ “จินตนาการถึงประสบการณ์ที่ท้าทาย” จะช่วยสร้างทักษะการคิดให้พวกเขานำไปใช้ได้จริง เพราะเขาจะรอดได้อย่างไรหากไม่ซ้อม เช่น เมื่อเขาได้อยู่กับแฟนในบรรยากาศที่พร้อมจะมีอะไรกัน ถูกหลอกให้เจอผู้ชายที่ฉวยโอกาส ถูกล่วงละเมิด ฯลฯ เด็กต้องการการเตรียมพร้อมในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเครื่องมือในอดีตที่ครูมักสรุปแทนว่า “เด็กยังไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กันในตอนนี้” ควรเปลี่ยนเป็นคำถามทัศนะว่ามองเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นแบบใด หากมีเพศสัมพันธ์ตอน (วัย) นี้ มีข้อดีอะไร ข้อเสียยังไง (ซึ่งเด็กอาจตอบตามแนวผู้ใหญ่ เช่น เสี่ยงท้องหรือติดโรค) แล้วจึงค่อยถามต่อว่า “หนูจะยอมรับโอกาสเสี่ยงได้แค่ไหน” “เชื่อมั่นว่าควบคุมตัวเองได้ 100% ทุกครั้งหรือเปล่า” คำถามแบบนี้จะช่วยสะกิดใจเด็กที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือยังลังเลให้หันมาชั่งน้ำหนักว่าเขาจะควบคุมความเสี่ยงนั้นได้ทุกครั้งจริงหรือ ส่วนเด็กที่มีประสบการณ์ทางเพศแล้วก็จะคิดทบทวนดูว่าการป้องกันที่มีอยู่เพียงพอหรือยัง รวมทั้งจัดให้เด็กได้เรียนรู้เรื่อง “ถุงยางอนามัย” การคุมกำเนิดในแบบต่างๆ ทางเลือกเมื่อเกิดพลาดตั้งครรภ์ขึ้น พวกเขาจะรับมือกับเรื่องเหล่านี้ในโจทย์ของตัวเองอย่างไร

“ไม่ใช่ว่า..เราจะให้เลิกสอนวิชาคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ แต่เรื่องทักษะชีวิต ควรจัดเข้าไปในส่วนใดส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญกับเด็กจริงๆ เพราะก่อนที่จะเก่งวิชาใดๆ พวกเขาต้องมีชีวิตรอดอย่างปลอดภัยให้ได้ก่อน” ป้ามลกล่าวบนเวทีวิชาการเพศศึกษาเพื่อเยาวชนภาคอีสาน “เพศวิถีศึกษากับการเรียนรู้และทักษะสำหรับโลกศตวรรษที่ 21” เมื่อวันที่  20-21 มิถุนายน 2556 จ.ร้อยเอ็ด ที่ผ่านมา

จุดเน้นคือกระบวนการถ่ายทอดที่ต่างไปจากวิธีเดิม เพราะปัจจุบันทางเลือกมีได้หลายทางมากขึ้น มีลู่วิ่งที่เพิ่มขึ้นตามยุคสมัย ครูจึงไม่จำเป็นต้องชี้นำว่า สิ่งใดควรหรือไม่ควรกระทำอีกแล้ว ไม่ตอกย้ำ “คุณค่าแห่งพรหมจรรย์”  (ที่อาจทำให้เด็กที่มีประสบการณ์ทางเพศแล้วถูกตีตรา) หรือขู่ว่า “เธออาจติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์” เพราะเด็กยังมองไม่เห็นว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตนเองได้อย่างไร หรือการบอกว่า “รอให้โตกว่านี้ก่อน แล้วค่อยคิดเรื่องเพศ” ยิ่งสวนทางกับพัฒนาการทางร่างกายของพวกเขา มิหนำซ้ำเด็กบางคนเลี่ยงครูไปหันเข้าหาแหล่งข้อมูลเสี่ยง หรือความเชื่อแบบผิดๆ เมื่อขาดทักษะ โอกาสพลาดก็มีมากขึ้น และยังต้องฝ่าภัยมืดที่มากับสื่อออนไลน์รุกคืบผ่านสมาร์ทโฟนของพวกเขาอีกด้วย

การออกแบบการเรียนรู้ของ “เพศวิถีศึกษา” เป็นหลักการเดียวในข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด และนี่เองเป็นเหตุผลของความพยายามในการผลักดัน “เพศวิถีศึกษา” เข้าไปในโรงเรียน โดยสำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การแพธ กำลังทำงานร่วมกันอยู่ ซึ่งประเทศไทยขณะนี้มีโรงเรียนราว 2,400 แห่งรวมทั้งอาชีวศึกษาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ที่เหลืออีกกว่า 20,000 แห่ง ยังคงรอการสนับสนุนจากแหล่งทุนที่เห็นความสำคัญ

“เพราะเราไม่ได้บอกถูก บอกผิด เวลาสอน บางทียังได้ความรู้จากเด็กอีก เด็กก็สามารถตอบโต้กับเราได้ ในเรื่องการใส่ถุงยางอนามัย การป้องกัน เด็กตอบได้ทันที เราคิดว่าเด็กมีความรู้จริง แต่ทำยังไงให้เด็กนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ สามารถวิเคราะห์ แยกแยะได้ ซึ่งที่ผ่านมา โรงเรียนสหศึกษาอย่างเรา พอนักเรียนชายหญิงชอบกัน ผู้ชายบอกเลิก ผู้หญิงมักไม่ยอมรับ มีเรื่องกันในโรงอาหาร เอาก๋วยเตี๋ยวราดกันบ้าง แต่เมื่อนำเพศวิถีศึกษาเข้าไป ก็ไม่เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทด้านชู้สาวอีกเลย หมดเลย หมายถึงพอใครเลิกกับใคร ก็ไม่มีใครเป็นใครตาย” อาจารย์นิภาดา ดำริห์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย จ.นครปฐม ผู้ดูแลงานกิจการนักเรียน เล่าถึงผลจากการนำ “เพศวิถีศึกษา” เข้าไปในโรงเรียนมากว่า 8 ปีแล้ว จนทำให้สถานการณ์ของเด็กๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องท้องในวัยรุ่น ยังรวมถึงปัญหาความรุนแรง และยาเสพติด ให้คลี่คลายลงได้ด้วย*

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการหยิบบางประเด็นมาชี้ให้เห็นว่า กระแสข่าวแรงๆ ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้เยาวชนได้ แต่ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ทุกฝ่ายควรช่วยกันจัดสภาพสังคมที่เอื้อให้เด็กแสดงออกได้มากขึ้น ขยายพื้นที่สร้างสรรค์ดึงความสนใจจากพลังอันเหลือเฟือของพวกเขา ใช้ “ทักษะชีวิตและการคิดวิเคราะห์” มากอบกู้จิตวิญญาณความเป็น “หนุ่มสาวรุ่นใหม่” ให้มีภูมิคุ้มชีวิตท่ามกลางกระแสโลกเสรีในขณะนี้ อย่าลืมว่าผู้นั่งแท่นบริหารประเทศต้องอ่านเกมให้ออก ไม่หันเข้าสู่ กับดักเดิมๆ ด้วยความหวังดีแบบ “คิดแทน” คงไม่ต้องดึงเนติวิทย์มาจัดค่ายปลุกพลังวัยรุ่น ไม่เลือกใช้วิธีตามอุด ด้วยมุข “กำกับ” “ระงับ” หรือ “คาดโทษ” หรือปล่อยปละจนเรื่องซาไปเอง เพราะสุดท้ายก็จะต้องวนอยู่กับปัญหาเดิมที่แก้ไม่ตก ขัดกับความหมายของการเป็นกำลังพัฒนาอย่างยิ่ง

ง่ายกว่าไหม ถ้าหันมาตั้งคำถามด้วยกัน แล้วเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเยาวชน..!!

 


หมายเหตุ  *เพราะการเรียนรู้พัฒนาการร่างกายที่มีในวิชาสุขศึกษา เป็นทฤษฎีบอกถึงการรักษาสุขภาพ ซึ่งไม่ครอบคลุมในหลายประเด็น เช่น สัมพันธภาพ พฤติกรรมทางเพศ ฯลฯ ต่างกับกระบวนการเรียนรู้ “เพศวิถีศึกษา” ที่เน้นสร้างการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ทั้งกายและใจที่ถูกต้องและรอบด้าน ฝึกทักษะจำเป็นในการดำเนินชีวิตที่ช่วยวัยรุ่นปลอดภัย ผ่านเกม กิจกรรม การตั้งคำถาม และกระบวนการอื่นๆ ที่เยาวชนจะคิดวิเคราะห์ และเรียนรู้ตามช่วงวัย พร้อมสื่อเรียนรู้ที่ตรงความสนใจของวัยรุ่น (ดาวน์โหลด คู่มือการจัดกระบวนการเรียนรู้และสื่อที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ www.teenpath.net)

 

ที่มา: โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ http://www.teenpath.net/content.asp?ID=17051#.UgEdUpJgfwh

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net