Skip to main content
sharethis
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ระบุว่าการประหารชีวิตครั้งแรกในเวียดนามในรอบ18 เดือน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เป็นสิ่งที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง และเป็นเหตุให้นักโทษในแดนประหารอีกหลายร้อยคนต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกประหารเช่นกัน 
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ระบุว่าการประหารชีวิตครั้งแรกในเวียดนามในรอบ18 เดือน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เป็นสิ่งที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง และเป็นเหตุให้นักโทษในแดนประหารอีกหลายร้อยคนต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกประหารเช่นกัน 
                
เหงียนอานตวน (Nguyen Anh Tuan) ต้องโทษประหารชีวิตจากคดีฆาตกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2553 มีรายงานข่าวว่าเขาได้ถูกประหารชีวิตที่เรือนจำตำรวจกรุงฮานอย โดยใช้วิธีฉีดยา เป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในประเทศนับแต่เดือนมกราคม 2555
                
จากระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการส่งออกยาที่ใช้ฉีดเพื่อประหารชีวิต เป็นเหตุให้ในช่วงที่ผ่านมาไม่มีการประหารชีวิตในเวียดนาม แต่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 กฎหมายใหม่ของเวียดนามมีผลบังคับใช้ เป็นเหตุให้ในปัจจุบันเวียดนามสามารถใช้ยาที่ผลิตนอกสหภาพยุโรปหรือผลิตในประเทศเพื่อฉีดนักโทษประหารชีวิตได้
                
อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจที่เวียดนามรื้อฟื้นการประหารชีวิต และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่โหดร้ายของทางการที่จะยังคงใช้โทษประหารต่อไป
                
“การประหารชีวิตที่เป็นการลงโทษจากรัฐต้องยุติลง รัฐบาลเวียดนามควรใช้ช่วงเวลาที่พักการประหารชีวิต (ไม่มีการประหารชีวิต) อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระเบียบการส่งออกของสหภาพยุโรป เพื่อทบทวนการใช้โทษประหารชีวิต และหาทางยกเลิกให้ได้ในที่สุด” 
                
ตามรายงานข่าวของสื่อมวลชน ปัจจุบันมีนักโทษประหารชีวิตในเวียดนาม 586 คน และมีอย่างน้อย 116 คนที่ผ่านขั้นตอนการอุทธรณ์คดีในขั้นสุดท้ายมาแล้ว  ในขณะที่มีนักโทษจำนวนไม่น้อยที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงและอาจถูกประหารชีวิตในเร็ว ๆ นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลเวียดนามต้องยุติแผนการที่จะประหารชีวิตนักโทษเหล่านั้นทันที
                
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นใจเหยื่ออาชญากรรมร้ายแรงเป็นอย่างมาก พวกเขาจะต้องได้รับความยุติธรรมเช่นกัน แต่ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นมาตรการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุเช่นนั้นขึ้นอีก อีกทั้งโทษประหารชีวิตเป็นรูปแบบการลงโทษที่โหดร้ายและไร้ซึ่งมนุษยธรรมมากที่สุด และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน”
                
“เวียดนามกำลังปฏิบัติตนแตกต่างไปจากประเทศส่วนใหญ่ในโลก ในกรณีที่นำการประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะในปี พ.ศ. 2555 มีเพียง 21 ประเทศที่ยังคงประหารชีวิตบุคคล และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พากันทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการประหารชีวิต และจำกัดการใช้โทษประหารชีวิต เวียดนามจึงควรพิจารณาทางเลือกเหล่านี้ แทนที่จะมุ่งประหารชีวิตชายและหญิงอีกหลายร้อยคน” อิสเบล อาร์ราดอนกล่าว
                
แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใดก็ตาม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net