ความเรียงวันแม่ จากคนที่กำพร้าแม่แต่เด็ก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

Anna Jarvis ชาวสหรัฐ ผู้ให้กำเนิดวันแม่คนแรกของโลก พูดไว้ก่อนลาโลกนี้ไปในปี 1948 ว่าเธอรู้สึกเสียใจที่รณรงค์เริ่มต้นให้มีประเพณีวันแม่ เพราะวันแม่ได้เปลี่ยนคุณค่าจากเดิมเมื่อแรกที่เธอได้พยายามสถาปนามันขึ้นมาโดยสิ้นเชิง จากวันแห่งความเสียสละ เป็นวันแห่งความละโมบโลภมากและการแสวงกำไร

Jarvis รณรงค์ให้สหรัฐมีวันแม่แห่งชาติเพิ่มระลึกถึงงานที่แม่ของเธอ (ชื่อเดียวกัน) ที่ได้อุทิศเพื่อยกระดับสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนที่ครอบครัวเธออาศัยอยู่ ในสมัยแรกๆนั้นแอนนาผู้แม่กำหนดวันที่เรียกว่า Mother's Work Day เพื่อให้ความสำคัญกับสิ่งที่แม่ทำ มากกว่าเรื่องของความเป็นแม่ แต่ Anna ผู้เป็นธิดาได้รณรงค์ให้เวลาต่อมาให้ระลึกถึงผู้เป็นแม่ของเธอ หลังจากรณรงค์อยู่นานในที่สุดก็ประสบความสำเร็จประธานาธิบดี วูดโร วิลสัน ได้ลงนามในกฎหมายประกาศวันแม่แห่งชาติกำหนดให้เป็นวันหยุด

ความจริงวันแม่ของโลกนี้เคยมีมาก่อนสหรัฐนานโขทีเดียวตั้งแต่สม้ยกรีก แต่แม่ที่คนระลึกในสมัยนั้นเป็นแม่ของเทพและพระเจ้า

การระลึกถึงแม่ของคนธรรมดามีอย่างกว้างขวางหลังจากความพยายามของแอนนาประสบผล ทุกๆวันอาทิตย์ทีสองของเดือนพฤษภาคมผู้คนก็จะพากันไปโบถส์ต่อมาก็พากันส่งการ์ดไปอวยพรแม่ โทรศัพท์ไปบอกรักแม่ ดอกไม้ (โดยเฉพาะดอกคาร์เนชั่นสีขาว) และของขวัญขายดิบขายดี ร้านอาหารเต็มไปด้วยคนรักแม่ พาแม่ออกไปกินอาหาร สุดท้ายวันแม่กลายเป็นวันแห่งการแสวงหาผลกำไรและความละโมบโลภมากในระบบทุนนิยมไปเสีย

อย่างไรก็ตามหลายประเทศในโลกก็มีวันแม่ หลายประเทศกำหนดวันแม่ด้วยแนวคิดหลายอย่าง บ้างก็อาศัยหลักศาสนา แต่ส่วนใหญ่นิยมเอาวันสตรีสากลเป็นวันแม่ไปด้วย

ในประเทศไทยก็เพิ่งจะมีวันแม่กับเขาเมื่อไม่นานนี้เอง ทั้งๆที่พวกเราก็มีแม่กันตั้งแต่เกิดทุกคน ข้อมูลจากสำนักหอสมุดกลาง รามคำแหง ระบุว่า ประเทศนี้จัดงานวันแม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 โดยกระทรวงสาธารณสุข เข้าใจว่าตอนนั้นน่าจะเน้นเรื่องสุขภาพของแม่และเด็กมากกว่าอย่างอื่น แต่จัดได้ปีเดียวเกิดสงครามก็เลยงดในปีต่อๆมาก็ไม่มี มีหน่วยงานต่างๆพยายามจัดงานวันแม่ และกำหนดวันแตกต่างกันไปไม่แน่นอนอีกทั้งไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายด้วยซ้ำไป รัฐบาลได้เคยประกาศให้วันที่ 15 เมษายน ของทุกปีเป็นว้นแม่แห่งชาติ ในปี 2493 กระทรวงวัฒนธรรมในสมัยนั้นรับเป็นแม่งานจัดงานวันแม่ แต่มากระทรวงนั้นถูกยุบก็ไม่มีคนจัดงานวันแม่อีก ปรากฎว่ามีสภาครูคาทอลิกจัดงานวันแม่บ้างหลังจากนั้น แต่ถือเอาวันที่ 4 ตุลาคม จัดครั้งแรกปี 2515 แต่ก็จัดได้ปีเดียวก็เลิก

ปี 2519 เป็นที่เข้าใจดีว่าอยู่ในกระแสการต่อต้านคอมมิวนิสต์และอุดมการณ์ราชาชาตินิยมขึ้นสูง สภาสังคมสงเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้กำหนดวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้เอาดอกมะลิสีขาวเป็นสัญลักษณ์วันแม่ นับแต่นั้นมาคนไทยก็เริ่มรักแม่ของตัวเองมากขึ้น ชาวสวนมะลิก็มีรายได้เป็นกอบเป็นกำปีละครั้ง ครั้นต่อมาการสื่อสารก้าวหน้ามากขึ้น การบอกรักแม่ใน facebook และ social media อื่นๆก็ท่วมท้น โดยที่แม่หลายคนไม่มีโอกาสจะได้เห็น และทุกๆวันแม่ พ่อก็จะรู้สึกโดดเดี่ยว รอแต่ว่าเมื่อไหร่จะถึงวันที่ 5 ธันวาคมเสียทีจะได้เป็นโอกาสของพ่อบ้างดูเหมือนจะเป็นอย่างนี้มาสักพักหนึ่งแล้ว

แม่ของข้าพเจ้านั้นเสียชีวิตเสียแต่ข้าพเจ้ายังอยู่ในวัยเยาว์ ไม่มีโอกาสทำอะไรให้ท่านในวันแม่ แต่เท่าที่จำได้ระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เขาก็มีวันแม่กันแล้ว แต่แม่ข้าพเจ้าไม่ได้มานั่งทวงบุญคุณแห่งความเป็นแม่อะไรเลยในวันแม่หรือวันไหนๆ

 

**************************************************

แม่ : A discourse 

เขียนต่ออีกสักหน่อย ที่ว่าแม่ข้าพเจ้ามิได้มานั่งทวงบุญคุณอะไรในวันแม่นั้นก็เป็นเรื่องจริง แม่ของหลายคนก็คงเช่นกัน แต่วันนี้ก็เห็นหลายคนโพสรูปพาแม่ไปกินข้าว ซื้อของให้แม่ หรือแสดงออกซึ่งความรักแบบต่างๆต่อแม่ หลายคนก็ประชดประชันต่างๆนานาสุดแท้แต่ว่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับแม่และวันแม่กันอย่างไร

พยายามจะค้นประวัติศาสตร์วันแม่ เท่าที่จะพอมีเวลาทุกๆ webpage ลอกกันมาเสมอหน้ากันหมดว่าเมื่อก่อนวันแม่ไม่ใช่วันที่ 12 สิงหาคม แต่เป็น 15 เมษายน แต่ไม่มีใครบอกว่าทำไมเปลี่ยนจากวันนั้นมาเป็นวันนี้ หาประกาศราชกิจจานุเบกษาไม่เจอ (ท่านผู้ใดมีเวลาช่วยหน่อยก็ดี) แต่ดูบริบททางการเมืองแล้ว การเปลี่ยนแปลงวันแม่นั้นรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบราชาชาตินิยมอย่างแน่นอน เพราะวันที่ 15 เมษายน มันไม่บอกอะไรในทางการเมืองเลย

การบอกให้ประชาชนรักแม่ในวันนี้จึงไม่ใช่แม่ของพวกเราท่านทั้งหลายที่พากันมาโพสต์ตามเฟสบุก จะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่รัฐไม่ชื่นชมนักดอก รัฐต้องการให้ประชาชนชืนชมแม่ในความหมายอื่น เราจะเห็นแม่ในความหมายที่รัฐปรารถนาปรากฎอยู่ในสื่อกระแสหลักมากกว่าใน social media ในความเห็นของรัฐนั้น ประชาชนจะรักแม่ของตัวเองหรือไม่อย่างไร ไม่สำคัญ ขอให้รักแม่แห่งชาติเป็นพอ

รัฐประสบความสำเร็จอย่างมากในระยะหลังในการประสานแม่ของปัจเจกเข้ากับแม่แห่งชาติ ด้วยการจัดประกวดแม่ลูกดีเด่นดัง บรรดาแม่ๆเหล่านั้นก็อาจจะเลี้ยงลูกแบบที่คนทั่วๆไปเขาเลี้ยงกันนั่นแหละ (หลายท่านดูๆไปแล้วไม่น่าจะเลี้่ยงลูกเป็นด้วยซ้ำไป) แต่ท่านจะกลายเป็นแม่ดีเด่นหากว่าลูกท่านโดดเด่นอะไรสักอย่างขึ้นมา อาจจะด้วยตัวเขาเองหรือแม่หรือใครส่งเสริมก็ตามที แต่แม่ดีเด่นจะหมดความดีไปในบัดดลหากว่าท่านเหล่านั้นเอ่ยวาจาใดที่ไม่แสดงถึงความภักดีต่ออุดมการณ์หลักของชาติ น้องเมย์ได้เป็นแชมป์โลกก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจสำหรับเพื่อนร่วมชาติ แต่ชัยชนะของเธอมีประโยชน์ทางการเมืองอย่างมาก เพราะมันมาในโอกาสวันแม่แห่งชาติ แม่ของเธอซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เป็นโคชแบดมินตันแต่อย่างใด ย่อมเป็นแม่ดีเด่นแห่งชาติ รางวัลที่เธอได้มาจะเอาไปตั้งโชว์ไว้ที่บ้านก็ไม่เป็นการสมควร แม้จะมีใครดักคอไว้ก่อนว่าให้เก็บรางวัลนั้นเป็นความภูมิใจของตัว แต่เธอก็ทำเช่นนั้นไม่ได้

นอกจากนี้การกำหนดความรักแม่ของปัจเจกเข้ากับอุดมการณ์หลักของชาติก็อาจจะมีผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งในทางเศรษฐกิจด้วยคือ ทำให้ประชาชนที่เป็นลูกต้องจับจ่ายใช้สอยเพื่อการแสดงออกถึงความรักแม่กันมากขึ้น ปกติเราก็อาจจะดูแลแม่อยู่แล้ว แต่การดูแลแม่เป็นพิเศษในวันพิเศษแห่งชาติเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลด้วยแล้วมันจะยิ่งได้อานิสงฆ์มากขึ้น (รัฐบอกกับเราอย่างนั้น) ธุรกิจร้านอาหาร ของขวัญ ดอกไม้ ของที่ระลึก การประกันภัยผู้สูงอายุ และการสื่อสาร ก็จะมีรายได้ในวันนี้ ยิ่งถ้าประชาชนแสดงออกถึงความรักแม่มากเท่าใด ธุรกิจเหล่านี้ก็จะเฟื่องฟูขึ้น

ความจริงแล้วรัฐอาจจะมองผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งเพิ่มเติมคือการที่ลูกๆถูกเรียกร้องให้กตัญญูและเลียงดูบุพาการีนั้นช่วยลดภาระของรัฐได้เป็นอย่างดี เพราะรัฐไม่ต้องจัดสวัสดิการสังคมให้ผู้สูงอายุมากนัก ที่จ่าย 600-700 บาทต่อเดืิอนอย่างในปัจจุบันนี้ไม่พอเลี้ยงชีพแน่ๆ แต่รัฐก็จะไม่ให้มากกว่านี้ ดังนั้นการผลักภาระให้คนหนุ่มสาวโดยอ้างจารีตประเพณีแห่งความกตัญญูกตเวทีเช่นนี้ได้ผลดีกว่า 

กล่าวในแง่นี้ทั้งรัฐและทุนต่างสมประโยชน์สมประสงค์ จึงพร้อมกันอำนวยอวยชัยให้แม่กันถ้วนหน้า ใครๆก็มีแม่ คนส่วนใหญ่คงรักแม่ แม้คนเป็นกำพร้ายังรักแม่ ความรักต่อแม่มันดีอย่างนี้นี่เอง

วันนี้เป็นวันจันทร์ เป็นวันช้างและวันไดโนเสาร์อีกด้วย แต่ใครจะสนใจเล่า ช้างนั้นเหลือภาระกิจทางการเมืองนิดหน่อย (เฉพาะช้างเผือกเท่านั้น) ส่วนไดโนเสาร์นั้นไม่เคยอยู่ร่วมสมัยกับมนุษย์วาทกรรมเกี่ยวกับพวกสัตว์โบราณนี้มีอยู่อย่างเดียวคือเอาไว้ด่ากันแถมด่าไม่เจ็บเท่าไหร่ด้วย

 

หมายเหตุ: เพิ่มเติมส่วน "แม่ : A discourse " เมื่อ 19.20น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท