Skip to main content
sharethis

เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า ผู้หญิงไทยได้สิทธิการเลือกตั้งมาพร้อมๆ กับชายไทย เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่จากการอ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของ "แคเธอรีน บาววี่" แสดงให้เห็นว่ารัฐไทย ให้สิทธิเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน แก่ชายหญิงพร้อมกันอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2440 ซึ่งเร็วกว่าประเทศตะวันตกที่ต้องผ่านการต่อสู้ของขบวนการสตรีอย่างหนัก ราว 30-40 ปี

ศาสตราจารย์ แคเธอรีน บาววี อภิปรายในหัวข้อ  "Thailand's Unique Challenge to the Historiography of Women's Suffrage" ที่ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา

"พระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่ ร.ศ.116" (พ.ศ. 2440)" ในมาตรา 9 กำหนดให้ทั้งชายและหญิงมีสิทธิเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน (ที่มา: เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา) และต่อมา ผู้หญิงจะสามารถรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านได้เมื่อมีการแก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ใน พ.ศ. 2525

ชมวิดีโอเสวนา คลิกที่นี่

000

เมื่อพูดถึงสิทธิการเลือกตั้งพลเมืองสตรีไทย เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า ผู้หญิงไทยได้สิทธินั้นมาพร้อมๆ กับพลเมืองชาย เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราษฎร์ มาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อปี 2475

อย่างไรก็ตาม การค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของ แคเธอรีน บาววี่ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยให้สิทธิการเลือกตั้งชายหญิงอย่างเท่าเทียมกันแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 ต่างกับประเทศในตะวันตกที่การได้มาซึ่งสิทธิการเลือกตั้งแก่ผู้หญิง ช้ากว่าผู้ชายอย่างน้อยราว 30-40 ปี หลังการต่อสู้ของขบวนการสตรีอย่างหนักหน่วง

การค้นพบหลักฐานคือ "พระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่ ร.ศ.116" (พ.ศ. 2440) ที่ระบุให้สิทธิทั้งชายและหญิงในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัชกาลที่ 5 ปฏิรูปการปกครอง ทำให้อาจารย์บาววี่สนใจจะศึกษาต่อไปว่า เหตุใดรัฐไทย จึงให้ความสำคัญกับสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงมาก่อนนานแล้ว ต่างกับในประเทศตะวันตกทั้งในยุโรป และอเมริกา ที่สิทธิการเลือกตั้งสตรีเริ่มมีเพียงราว ค.ศ. 1950 หรือ ราว พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา จึงเป็นที่มาของงานวิจัยในหัวข้อ “สิทธิการเลือกตั้งของสตรีในประเทศไทย: ความท้าทายด้านประวัติศาสตร์นิพนธ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ( "Thailand's Unique Challenge to the Historiography of Women's Suffrage") ซึ่งอาจารย์แคเธอริน ได้มาบรรยายให้นิสิตนักศึกษาและผู้สนใจได้ฟังไปเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์แคเธอริน บาววี่ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในหมู่ลูกศิษย์ของเธอว่า ‘อาจารย์แคท’ อธิบายที่มาของความสนใจการศึกษาประเด็นนี้ว่า ด้วยความที่เธอมีแม่เป็นคนสวิส ทำให้ได้เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวฝ่ายแม่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์บ่อยๆ ครั้งหนึ่งเธอได้เดินทางกลับไปช่วงราวทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่สวิตเซอร์แลนด์กำลังถกเถียงกันว่าควรจะให้สิทธิการเลือกตั้งแก่สตรีดีหรือไม่ หนึ่งในความคิดเห็นที่มาจากญาติผู้หญิงของเธอที่คิดว่า ผู้หญิงไม่ควรได้รับสิทธิการเลือกตั้ง เพราะควรทำงานบ้าน ดูแลสามีมากกว่า ทำให้เธอรู้สึกแปลกใจอย่างมาก และเริ่มคิดถึงเรื่องผู้หญิงในพื้นที่การเมืองตั้งแต่นั้นมา

การค้นพบเอกสาร "พระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่ ร.ศ.116" (พ.ศ. 2440)" ที่ระบุให้สิทธิชายหญิงในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้การบันทึกประวัติศาสตร์เลือกสิทธิการเลือกตั้งสตรีเปลี่ยนไป เนื่องจากหลักฐานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกๆ ในโลก ที่ให้สิทธิการเลือกตั้งแก่ผู้หญิง ทำให้อาจารย์แคทตั้งคำถามต่อไปว่า ผู้ปกครองไทยในสมัยนั้น เป็นเฟมินิสต์ หรือได้รับอิทธิพลจากอะไร จึงทำให้สตรีสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ก่อนยาวนานแล้ว

แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จประภาสไปยังประเทศรอบข้างที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่บ่อยๆ และนำเอาตัวอย่างการปกครองของอังกฤษหลายด้านมาใช้ แต่บาววี่ก็ชี้ว่า รัฐไทยไม่น่าจะได้รับแบบกฎหมายดังกล่าวจากพม่าและอังกฤษ เนื่องจากสมัยนั้นสตรีในประเทศดังกล่าวยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

 

บทบาทของมิชชันนารีหัวก้าวหน้าในไทย

บาววี่ได้ศึกษาบทบาทของมิชชันารีที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย และพบว่ามิชชันนารีสตรีที่เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาและสอนหนังสือในไทย ต่างมาจากกลุ่มที่มีความคิดหัวก้าวหน้า เช่น Mary Clement Leavitt ที่เดินทางมาไทยปี พ.ศ. 2430 เธอเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Women Christian Temprance Union (WCTU) ซึ่งรณรงค์เรื่องการงดเหล้าและยาเสพติดเป็นหลัก แต่ก็สนับสนุนการให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีด้วย หรือแม้แต่ภรรยาของหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีที่เป็นที่รู้กันว่ามีบทบาทในการบุกเบิกการแพทย์สาธารณสุขและหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย ก็เป็นสมาชิกของกลุ่ม WCTU รวมถึงสตรีที่เข้าไปสอนภาษาอังกฤษในวังอย่าง ‘แหม่มมัตตูน’ สตีเฟ่น เมตตูน หรือแอนนา เลียวโนเวนส์ ก็ต่างเป็นสตรีที่เชื่อเรื่องสิทธิสตรีและสิทธการเลือกตั้งของผู้หญิง และเคยไปรณรงค์เรื่องนี้ในประเทศต่างๆ แล้วก่อนที่จะมาประเทศไทย

บาววี่เสนอว่า ด้วยความใกล้ชิดระหว่างมิชชันนารีกลุ่มนี้กับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น) รวมถึงรัชกาลที่ 5 ทำให้ผู้ปกครองไทยได้รับอิทธิพลเรื่องสิทธิการเลือกตั้งของสตรี โดยเฉพาะข้อถกเถียงในประชาคมโลก จึงอาจเป็นไปได้ว่า รัชกาลที่ 5 และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงตัดสินใจให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิงไปด้วยเลย

อย่างไรก็ตาม การค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็ไม่ได้ปรากฎการถกเถียงสิทธิการเลือกตั้งของสตรีมากมายใหญ่โต จึงคาดเดาไปได้อีกว่า สิทธิของสตรีเป็นเรื่องปรกติธรรมดาสามัญในสังคมไทย รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเพณีแต่โบราณให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ โดยบาววี่พิจารณาเรื่องนี้จากการสืบทอดเชื้อสาย การส่งต่อมรดก สิทธิในทรัพย์สินและที่ดินของสตรี และการที่ผู้ชายย้ายเข้าบ้านผู้หญิงเมื่อแต่งงาน

นอกจากประเพณีดังกล่าว บาววี่ยังศึกษาบทบาทของสตรีที่อยู่ในวัง ทั้งที่เป็นพระมเหสี ราชินี รวมถึงนางในที่รับใช้ราชวงศ์ และพบว่า บทบาทของสตรี ไม่ว่าจะระดับใดในวัง ก็มีความรู้ความสามารถมาก จากการได้รับการศึกษาทั้งทางด้านวิชาการและทักษะในครัวเรือน นอกจากนี้ บาววี่ยังชี้ว่า การที่รัชกาลที่ 5 ทรงให้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) พระอัครราชเทวี ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็แสดงให้เห็นด้วยว่า ฐานะสตรีทรงมีอำนาจและถูกให้ความสำคัญพอสมควร

 

การบันทึกประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเลือกตั้งสิทธิสตรีที่ต้องเปลี่ยนโฉมหน้า

ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์นิพนธ์เรื่องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงส่วนใหญ่ จะถูกบันทึกโดยมีประเทศในตะวันตกอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยถูกยกให้เป็นตัวอย่างของการได้มาซึ่งความเป็นพลเมือง แล้วค่อยๆ กระจายออกไปที่อื่นๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม บาววี่ชี้ว่า การเขียนประวัติศาสตร์ที่เอาตะวันตกเป็นศูนย์กลาง ทำให้ละเลยความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่างให้สิทธิการเลือกตั้งของสตรีที่ล่าช้ากว่าของผู้ชายถึง 30-40 ปี เช่นในฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) เบลเยี่ยม ปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) กรีซ ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) และสวิตเซอร์แลนด์ ปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) นอกจากนี้ ยังละเลยการศึกษาสถานะของสตรีที่มีอำนาจมากในเอเชียอาคเนย์ด้วย

นอกจากนี้ การศึกษาระบอบการปกครองอาณานิคมหลายชิ้น ก็ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า แทนที่ระบอบอาณานิคม จะส่งเสริมสิทธิสตรี แต่กลับเข้ามาบั่นทอนอำนาจของสตรีที่มีอยู่ในสังคมอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นในเกาะไมโครนีเซีย ในหมู่เกาะแปซิฟิก หลังจากที่ชาวเยอรมันเข้ามาปกครองเป็นอาณานิคม ก็พบว่าได้เปลี่ยนสายการส่งทอดมรดก จากที่สตรีเป็นใหญ่ ก็เปลี่ยนมาสืบทอดทางผู้ชายแทน หรือในประเทศตองกา ทางแอฟริกา การปฏิรูปที่ดินที่ได้อิทธิพลจากตะวันตก ก็ได้ทำให้สตรีต้องสูญเสียสิทธิในการถือครองที่ดินไปมากมาย นอกจากนี้ในพม่าเอง ยังมีหลักฐานด้วยว่า ชาวพม่าได้พยายามผลักดันเรื่องสิทธิการเลือกตั้งที่เท่าเทียมระหว่างชายหญิง แต่ถูกเจ้าอาณานิคมคืออังกฤษต่อต้าน

งานวิจัยของบาววี่จึงชี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาบทบาทของผู้หญิงในการเมือง ที่มีความซับซ้อน ซึ่งสามารถฉายภาพของมิติใหม่ๆ ให้เราเห็นได้อย่างน่าสนใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net