Skip to main content
sharethis

ปอท.ย้ำต้องตรวจสอบการใช้-ให้บริการโลกออนไลน์ เหตุสุ่มเสี่ยงความมั่นคง-ผิดกม.-ขัดศีลธรรม เล็งสุ่มตรวจด้วยอุปกรณ์จัดกลุ่มเเละตรวจสอบการโพสต์ เช่น คำว่า ปืน สถาบัน รัฐประหาร


(13 ส.ค.56) พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวถึงการตรวจสอบข้อมูลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงทางสื่อสังคมออนไลน์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยเเลนด์ เอฟเอ็ม 97 เมกะเฮิร์ทซ์ ว่า ได้ส่งทีมไปคุยกับโปรเเกรมเมอร์ไลน์ในญี่ปุ่น เพราะมองเห็นการกระทำความผิดบนโซเชียลมีเดียที่สูงขึ้น เเต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการเลย กรณีนี้หากไม่คุยเเละเกิดปัญหาอาชญากรรมเเละความมั่นคงจะระงับได้ไม่ทัน ตนประสานกับผู้บริหารเฟซบุ๊ก วอทเเอพ เเละทวิตเตอร์ เพื่อตรวจสอบเเต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร เเละต้นปีได้ประสานกับ บ.ไลน์ คอร์เปอเรชั่น ซึ่งเจ้าของเป็นชาวเกาหลีเเละตั้งเซิร์ฟเวอร์ไว้ที่ญี่ปุ่น ได้คุยเเละขอข้อมูลกัน เเละนัดกันเพื่อหารือในสัปดาห์ที่เเล้ว ซึ่งตนจะเดินทางไปญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ โดยไทยร้องขอด้านความมั่นคง ผิดกฎหมาย การขัดศีลธรรมเเละความสงบเรียบร้อย โดย บ.ไลน์ ร่วมมือด้วยดี
              
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวต่อว่า ตนมีวิธีที่จะตรวจสอบ โดยจะดูเเลเฉพาะคนที่ใช้โซเชียลมีเดียที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีบัญชีรายชื่อผู้ที่กระทำความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย โดยจะสุ่มตรวจด้วยอุปกรณ์บางอย่างในการจัดกลุ่มเเละตรวจสอบการโพสต์ เช่นคำว่า ปืน สถาบัน รัฐประหาร เป็นต้น โดยจะขอรายละเอียดว่ากลุ่มนั้นมีใครบ้างที่โพสต์เรื่องเหล่านี้ บางฝ่ายจะอ้างสิทธิพื้นฐานทางพลเมืองตามรัฐธรรมนูญนั้นได้ หากทำผิดกฎหมาย ตนต้องควบคุมตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งยังมีโครงการสายตรวจอินเทอร์เน็ตที่ร่วมตรวจสอบกับ ปอท.
              
"คนกดไลค์ในเฟซบุ๊กไม่ใช่เป้าหมายหลัก เเต่ขอเตือนว่าอย่ากดสนับสนุน ไม่อย่างนั้นข้อความนั้นๆ จะมีความน่าเชื่อถือขึ้น เช่น โพสต์การรัฐประหาร หากมีคนกดไลค์ 2-3 หมื่นคน โพสต์นี้ก็จะมีน้ำหนัก รวมทั้งการกดเเชร์ด้วยที่มีการกดเเชร์เเละเพิ่มเติมข้อความ เพราะมันคล้ายการระบายสีให้ภาพวาดนั้นสมบูรณ์ขึ้น โดยทั้งหมดจะพิจารณาจากการกระทำของผู้ที่กดไลค์เเละกดเเชร์" พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว
         

กรรมการสิทธิ ชี้ส่องโปรแกรมแชท เสี่ยงละเมิดสิทธิบุคคล
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แสดงความเห็นว่า การสนทนาผ่านโปรแกรมแชทนั้น ถือเป็นการสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องส่วนตัวผ่านพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหาก บก.ปอท.จะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการสนทนาจริง ต้องระวังไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตราฐานสากลทั่วโลก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสากล ไม่ใช่เฉพาะการสนทนาในประเทศเท่านั้น อีกทั้งมองว่าการตรวจสอบดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิบุคคลอื่นได้ง่าย เพราะการสนทนากันส่วนใหญ่ เป็นการสนทนากันในเรื่องเฉพาะตัว การเข้ามาตรวจสอบข้อมูลการสนทนาก็คล้ายกับการดักฟังโทรศัพท์ ดังนั้นหากจะทำจริง ก็ต้องวางกรอบแนวทางในการตรวจสอบให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้อื่นด้วย
 

 

ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึกเนชั่นทันข่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net