Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประโยคดังที่คนในสังคมไทยได้ยินบ่อยครั้งแต่ก็ยังอดสะดุดคิดไม่ได้ที่ว่า “ถ้าจะกินสไปรท์ต้องใส่ถุง” กับ “คุณทำแท้งมาใช่ไหม”   ซึ่งมีที่มาจากรายการโทรทัศน์ชื่อดังสองรายการ คือ ละครฮอร์โมนวัยว้าวุ่น และคนอวดผี   นั้นสะท้อนความคิดสองชุดที่เกี่ยวข้องกับนโยบายประชากรของไทยอย่างชัดเจน นั่นคือ การพยายามควบคุมการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมผ่านวาทกรรมสองชุดที่แตกต่างในที่มาและวิธีคิดอย่างสิ้นเชิง

การตั้งคำถามของคุณริว จิตสัมผัส ว่า “คุณทำแท้งมาใช่ไหม” เป็นการควบคุมความคิดและพฤติกรรมของคนผ่านการสร้างความรู้สึก “ผิดบาป” และ ผลกรรมที่ตาม “หลอกหลอน” และพร้อมจะไล่ล่าเอาคืนโดยไม่มีวันชำระล้างบาปให้หมดไปได้ง่ายๆ จากบาปแห่งการทำแท้งนั้น ได้ถูกสืบทอดผ่าน คำบอกเล่าของ พระมาลัย หลากหลายรูปแบบตั้งแต่ หนังสือธรรมทานที่แจกเป็นเล่มมีการ์ตูนประกอบ การเทศนาของนักบวชทั้งหลายที่อาศัยวิธีการสร้างผลสืบเนื่องอันน่าสะพรึงกลัวเป็นเครื่องมือหลักในการ ควบคุมคนในสังคม มิให้ริอาจมีเพศสัมพันธ์อันจะนำไปสู่การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมแล้วต้องลักลอบทำแท้ง จนมีบาปติดตัวไปตลอดชีวิต

วิธีการนี้เป็นเทคโนโลยีการควบคุมเนื้อตัวร่างกายของบุคคลที่เป็นมรดกสืบทอดมาจากระบอบความคิดในสังคมแบบจารีตที่ยึดถือระบบศีลธรรมที่ผูกโยงกับ “เรื่องเล่า” ทางศีลธรรมที่สร้างจินตนาการร่วมให้กับคนในสังคมให้มีภาพของสวรรค์นรกไว้ในหัว ประกอบกับการบอกเล่าของ “นักเล่า” ผู้มีอิทธิพลทางความคิด เช่น ริวจิตสัมผัส ที่นำเสนอผ่านรายการโทรทัศน์และมีการพูดถึงวิญญาณและผลร้ายที่ตามจองเวรจองกรรมผู้ที่ทำแท้งเนื่องจากตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมนั้น ได้ผลในแง่ของการทำให้คนในสังคมที่รับชมสื่อดังกล่าวเกิดอาการหวาดกลัว และเกรงกลัวต่อการทำบาป   แต่สิ่งที่ขาดไป คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายแลหญิง หรือความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศของวัยเจริญพันธุ์ที่มีหลากหลาย และมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละคู่แตกต่างกันไป

ดังนั้นในบางสถานการณ์ สิ่งที่ ริว จิตสัมผัส สร้างจินตนาการขึ้นบนหัว ไม่อาจยับยั้งการทำแท้งหรือตั้งครรภ์แบบไม่พร้อม ในบางเงื่อนไข เช่น การต้องต่อสู้กับความพลุ่งพล่านของอารมณ์ความรู้สึกจากร่างกายของวัยเจริญพันธุ์ทั้งหลายที่อยู่สถานที่และเวลาซึ่งเอื้อต่อการมีเพศสัมพันธ์   ดังนั้นในหลายกรณีจึงเกิดการมีเพศสัมพันธ์โดยมิได้มีการวางแผนป้องกันใดๆ เมื่อเลยจุดของความกลัวไปแล้ว    ต่อเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมขึ้นแล้ว หญิงและชายคู่นั้นจำต้องเผชิญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา รวมถึงความรู้สึกผิดหางจำเป็นจะต้องทำแท้ง   โดยหญิงที่ทำแท้งอาจต้องได้รับผลกระทบทางสุขภาพกายและใจไปตลอดชีวิต

แนวทางของ ริว จิตสัมผัส เป็นแนวทางที่สังคมไทยคุ้นเคยเนื่องจากเป็นวิธีทางศีลธรรมสร้างความรู้สึกผิดบาปซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสังคมตะวันออกมาตั้งแต่ครั้งโบราณ   อย่างไรก็ดีแนวทางนี้กลับมีข้อบกพร่องดังที่ได้กล่าวไปแล้ว  

ในทางกลับกัน บทบาทของ “สไปรท์” ในละครชุดฮอร์โมน ที่มีลักษณะของผู้หญิงที่กล้าจะมีเพศสัมพันธ์กับชายตามที่ตนปรารถนาแต่ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขสำคัญนั่นคือ หากชายจะมีเพศสัมพันธ์กับตนจะต้องมีสวมถุงยางอนามัย และในตอนที่แม่ตนเองตั้งครรภ์ สไปร์ทก็ได้ถามถึงการป้องกันตนของแม่อีกด้วย   ภาพลักษณ์ของ “สไปรท์” อาจเป็นการยากที่จะยอมรับสายตาของผู้ใหญ่และคนในสังคมไทย   แต่กลับมีความสอดคล้องกับแนวทางของ กฎหมายคุ้มครองอนามัยวัยเจริญพันธุ์ทั้งในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระดับโลก และการยกร่างพระราชบัญญัติคุมครองสิทธิด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย  

เนื่องจาก “สิทธิทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์” มีสาระสำคัญอยู่ที่ การให้สิทธิแก่บุคคลเจ้าของเนื้อตัวร่างกายในการกำหนดอนาคตตนเองเพื่อเลือกในการมีเพศสัมพันธ์ตามวิถีแห่งตน   และการวางแผนในด้านดูแลสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของตน โดยที่รัฐต้องมีส่วนสนับสนุนในการให้ความรู้ และจัดกลไกมารองรับการดูแลสิทธิข้างต้น

หากสังคมไทยเห็นว่า การทำแท้งเป็นสิ่งที่บาปและต้องแก้ไข   แนวทางแก้ไขที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและไม่กดทับซ่อนเร้นปัญหา เห็นจะไม่พ้นการยอมรับความจริงเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ของบุคคลว่า เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้บุคคลจะพยายามหักห้ามใจและรู้สึกผิดที่จะทำแล้วก็ตาม    ดังนั้นการสร้างความรู้และกลไกต่างๆเพื่อทำให้เกิดเพศสัมพันธ์ที่รู้เท่าทันต่างหากที่จะเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และไม่นำไปสู่การทำแท้ง  

หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นแล้ว การสร้างตราบาปให้กับการทำแท้งไม่ช่วยให้คนยุติการทำแท้ง กลับกันการเพิ่มผลร้ายให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ต่างหากที่จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการทำแท้ง อาทิ การไล่ออกจากการเรียน การทำให้เป็นที่อับอาย หรือแม้กระทั่งการทำให้ครอบครัวไม่ยอมรับ เรื่อยไปจนถึงไม่มีสวัสดิการต่างๆมารองรับการเกิดครอบครัวใหม่ขึ้นในสังคม

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะอัตราการเกิดลด ผู้สูงอายุมากขึ้น รัฐไทยเสี่ยงต่อการขาดแรงงานและผู้ผลิตรายได้อันจะเป็นภาษีในการดูแลผู้เกษียณอายุที่จะมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี   ดังนั้นการจัดมาตรการรองรับการตั้งครรภ์ไม่ว่าจะ ตั้งครรภ์เมื่อพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม ย่อมมีผลดีเสียมากกว่าการปล่อยให้เกิดการทำแท้งเถื่อนที่ทำลายศักยภาพในการตั้งครรภ์ของบุคคลในอนาคต และทำลายโอกาสในการลืมตาสู่โลกของเด็กรุ่นใหม่ที่อาจเป็นกำลังสำคัญของสังคมต่อไป    การสร้างมาตรการทางสังคมที่มีส่วนช่วยให้ผู้ที่ตั้งครรภ์สามารถดูแลตนเอง เลี้ยงดูบุตร และพัฒนาศักยภาพต่อไปโดยไม่ชะงักงัน ย่อมมีความจำเป็นมาก  

เทียบกับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่เห็นพ่อแม่วัยรุ่นเดินเข็นเด็กเต็มเมืองอังกฤษและหลายประเทศในยุโรปเนื่องจากรัฐสวัสดิการทั้งหลายมีมาตรการในการดูแลครอบครัวเป็นอย่างดี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพแรงงานของตนให้เข้มแข็ง เนื่องจากการมีบุตรเมื่อสูงวัยย่อมมีความเสี่ยงต่อเด็กมากกว่า

ดังนั้นการสร้าง “ความรู้สึกผิดบาป” ไม่อาจช่วยแก้ไขปัญหาประชากรได้รอบด้าน เป็นเพียงการใส่โปรแกรมความกลัวลงไปในหัวคนที่คิดเยอะไม่ให้มีบุตรส่วนคนที่ไม่คิดอะไรก็ยังมีเพศสัมพันธ์ต่อไปโดยไร้ซึ่งความรู้สึกผิดและไม่มีความรู้เรื่องการจัดการกับสุขอนามัยเจริญพันธุ์ของตน   ซ้ำร้ายการสร้างความกลัวต่อการมีบุตรในคนรุ่นใหม่นี้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออัตราการเกิดในปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยกำลังเดินตามแนวของสิงคโปร์และญี่ปุ่น ที่ประชากรมีความเครียดและเกรงกลัวต่อการสร้างครอบครัวและมีบุตร เนื่องจากต้องแบกรับ “ความเสี่ยง” เป็นอย่างมาก 

แก่นของเรื่องจึงอยู่ที่การจัดการ “ความเสี่ยง” โดยอาศัยการเพิ่ม “ความรู้” และ “มาตรการประกันความเสี่ยง”   โดยมาตรการประกันความเสี่ยงในรูปของสวัสดิการต่างๆที่ทำให้ผู้ที่จะมีบุตรนั้นอยู่ในขอบอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะริเริ่มสร้างสรรค์มาตรการทั้งหลายออกมา ซึ่งสามารถดูแบบได้จากประสบการณ์ของหลายประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น   ส่วนเรื่อง “ความรู้” และการสร้าง “ความเข้าใจ” อย่างถูกต้องมิสร้างตราบาปให้กับคนในสังคมนั้น   ร่าง พรบ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ มีการออกแบบไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

1. สิทธิทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์– รับรองสิทธิที่จะตัดสินใจและรับผิดชอบร่วมกันในการวางแผนมีบุตร ซึ่งต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง รอบด้าน รวมทั้งรับรองว่าคนทุกคนมีสิทธิเลือกวิถีทางเพศของตนและ สัมพันธภาพทางเพศต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ปลอดภัย เคารพซึ่งกันและกันและมีความรับผิดชอบ

2. การจัดการศึกษา – กำหนดให้สถานศึกษาจัดการสอนเพศศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับวัยของผู้เรียนและ พัฒนาบุคลากรให้สอนเพศศึกษาและอนามัยการเจริญพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. การจัดบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์– กำหนดให้สถานบริการด้านสาธารณสุขให้การปรึกษาและบริการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอที่ผู้รับบริการจะสามารถตัดสินใจ เลือกได้อย่างอิสระและการบริการต้องละเอียดอ่อนต่อคนทุกเพศทุกวัย รักษาความลับ เคารพความเป็นส่วนตัว ไม่ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกอับอาย

4. การคุ้มครองผู้หญิงตั้งครรภ์ – กำหนดให้สถานศึกษา หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้การคุ้มครองนักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์และประสงค์จะศึกษาต่อให้สามารถศึกษาต่อได้หรือลาพักและกลับมาเรียนต่อได้และสถาน ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนต้องไม่ขัดขวางการลาคลอดตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่งเสริมการให้นมบุตรอย่างต่อเนื่อง และให้ความช่วยเหลือดูแลลูกจ้างที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและประสบปัญหาในการดูแล บุตร

5. การป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน – กำหนดว่าหน่วยงานรัฐและเอกชนต้องป้องกันไม่ให้มีการคุกคามหรือก่อความเดือดร้อนทางเพศในที่ทำงาน”

(อ้างอิงจากเว็บไซต์ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพหญิง สคส. http://www.whaf.or.th/)

6. กลไกระดับชาติ – กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ (กอช.) โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง มีบทบาทดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์

กล่าวโดยสรุป นโยบายเรื่องประชากรเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดต่ออนาคตของสังคมไทย เป็นปัญหาความมั่นคงแห่งรัฐไทยอย่างแท้จริง   การปล่อยให้มีการกำหนดควบคุมผ่าน สิ่งที่มองไม่เห็น และไร้ระบบความรู้ที่เท่าทันกับธรรมชาติของมนุษย์และความเปลี่ยนแปลงของสังคม   ย่อมไม่อาจสร้างแนวทางในการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีได้ตามการกำหนดอนาคตตนเองของคนสังคมอย่างแท้จริง   การนำ “ความรู้” มาประกอบการตัดสินใจต่างหากที่จะเป็นพลังให้คนที่พร้อมกายสามารถตัดสินใจได้เอง ส่วนรัฐและสังคมก็ต้องสร้างความพร้อมทางเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมารองรับ ครอบครัวใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาเพิ่มเติมเป็นกำลังสำคัญต่อไปในอนาคต

หากทำได้ บาปแห่งการทำแท้ ย่อมน้อยลงไปผกผันกับ “ความรู้” และ “มาตรการประกันความเสี่ยง” ที่เพิ่มมากขึ้น   ส่วนการให้ความรู้และมาตรการประกันความเสี่ยง เพื่อส่งเสริมการมีครอบครัวและเพิ่มอัตราการเกิดจะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร โปรดติดตามในบทความตอนต่อๆไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net