Skip to main content
sharethis

14 ส.ค.56  การประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2,525,000 ล้านบาท ในวาระ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว โดยกรรมาธิการมีการเสนอปรับลดงบประมาณลง จำนวน 31,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่ปรับลดเป็นงบท้องถิ่น กว่า 8,500 ล้านบาท งบของกระทรวง ทบวง กรมกว่า 12,000 ล้านบาท และงบพัฒนายุทธศาสตร์ กว่า 7,500 ล้านบาท

สำหรับกรอบเวลาการอภิปรายกำหนดไว้ 2 วัน ระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.30 - 24.00 น. มีผู้สงวนคำแปรญัตติ จำนวน 163 คน โดยฝ่ายค้าน มีผู้แปรญัตติ 137 คน ทั้งนี้ จะมีการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ตามปกติ

เวลา 09.30 น. เริ่มการประชุม โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญฯได้นำเสนอรายสรุปสาระสำคัญต่อที่ ประชุมว่า กมธ.เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. -30 ก.ค.56  รวมเวลา39 วัน พิจารณารายละเอียดของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ   หน่วยงานอื่น กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ที่ได้รับงบประมาณรวม 463 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้รับงบประมาณ รวม 12 หน่วยงาน ปรับลดงบประมาณลง  31,899,360,300 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของประเทศ เป้าหมายการดำเนินการ ผลการดำเนินการจริง ระยะเวลาและความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ  กมธ.ให้ความสำคัญกับการนำผลการใช้จ่ายจริงในปีงบประมาณที่ผ่านมาเป็นข้อมูล ประกอบการพิจารณาอย่างเข้มงวด ตลอดความพร้อมในการดำเนินงาน อาทิ 1.โครงการ/รายการ ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  หรือโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยใช้จ่ายโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ หรือเป็นโครงการที่กันเงินไว้กว่า 1 ปี  2.โครงการที่มีเป้าหมายไม่ชัดเจน มีความจำเป็นน้อย มีการดำเนินการที่ไม่ประหยัด เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้ประหยัด  โดยยังคงเป้ามายเดิมไว้ได้ เช่บ งบอบรมสัมมนา การจ้างเหมาบริการ การจ้างที่ปรึกษา และการวิจัยเป็นต้น 3.โครงการที่มีผลการดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด และคาดว่าไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ทันในปี 2557  หรือรายการผูกพันงบประมาณเดิมที่ผลการจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่าวงเงินงบประมาณ ที่เสนอไว้ 4.รายการงบประมาณที่สามารถประหยัดงบประมาณได้ เช่น การปรับครุภัณฑ์บางประเภท ตามแนวโน้มตลาดที่มีราคาลดลง 5.รายการ/โครงการที่สามารถใช้เงินจากแหล่งอื่นได้ นอกเหนือจากเงินงบประมาณได้ เช่นเงินรายได้ เงินสะสม เงินทุนหมุนเวียน หรือการได้รับการจัดสรรเงินกู้ เป็นต้น 

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเพิ่มงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ตามที่ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบ และรายการที่หน่วยงานของรัฐสภา ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ เสนอคำขอแปรญัตติขอเพิ่มงบประมาณต่อ กมธ.โดยตรง  ในวงเงินเท่ากับที่ปรับลดคือจำนวน  31,899,360,300 บาท โดยจำแนกดังนี้ จัดสรรเพิ่มให้ 1.หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน วงเงิน 22,459,512,000 บาท เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาเมือง พัฒนาศักยภาพด้านสวัสดิการสังคม ความเข้มแข็งของชุมชน แก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ป้องกันปัญหายาเสพติด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การท่องเที่ยว  ศึกษา และการสาธารณสุข 2.จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)จำนวน 8,553,022,300 บาท  เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการองค์บริหารส่วนท้องถิ่น ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน  3.หน่วยงานของรัฐสภา ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ 886,825,000 บาท เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนการปรับลดและเพิ่มงบประมาณ กมธ.ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเป้าหมายการดำเนินงาน  ผลการดำเนินการที่ผ่านมา รายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย  2,525,000,000,000 บาท

จากนั้นเวลา 10.00น. ที่ประชุมได้เริ่มพิจารณาเรียงตามรายมาตรา ซึ่งมีจำนวน 35 มาตรา โดยสมาชิกเริ่มอภิปรายที่ มาตรา 3 ภาพรวมงบประมาณปี57

นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปรายนานกว่า 2 ชม. โดยเน้นไปที่การปฎิบัติตนสองมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ (สตช.)และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งทางสตช. ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาทในการสลายม็อบองค์การพิทักษ์สยาม  มีการเกณฑ์ตำรวจมา 2-3 หมื่นราย เพื่อปราบม็อบที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ในขณะที่กลุ่มเสื้อแดงกลับปล่อยให้ชุมนุมอย่างอิสระ แม้แต่บริเวณหน้ารัฐสภา ถ้าอย่างนั้นก็อยากให้ม็อบสวนลุมฯ มาชุมนุมหน้าสภาบ้าง  อีกทั้งในยุคนี้ประชาชนไม่มีความปลอดภัยในชีวิต เช่น คดีอุ้มฆ่านายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดัง มีการปิดคดีอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ยังอยู่ในความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชน  นอกจากนี้ในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ )โดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี ก็จ้องแต่จะบังคับใช้กฎหมายกับพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียว   ตรงนี้สองมาตรฐานหรือไม่

นายวัชระ ยังได้อภิปรายถึงความไม่โปร่งใส่ในการจัดซื้อจัดจ้างภายในสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ในโครงการต่างๆ เช่น นาฬิกาแขวนผนังจำนวน 200 เรือนๆละ 7.5 หมื่นบาท การเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อปรับปรุงพื้นที่รัฐสภา เช่น ห้องจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน รถประจำทาง รถไฟ และยังใช้งบ 5 ล้านบาทในการปรับปรุงห้องสื่อมวลชนที่ถือว่าแพงที่สุดในโลก การปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณ 36 ล้านบาท รวมทั้งโครงการพาชมทุ่งดอกกระเจียว จ.ชัยภูมิ จำนวน 3.3 ล้านบาท นอกจากนี้ตามร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี57 ยังมีการตั้งงบประมาณไว้ 80 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อไมโครโฟนติดตั้งในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยจัดงบ 30 ล้านบาท เพื่อติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่รัฐสภาและในห้องเลขาธิการสภาผู้ แทนราษฎร จำนวน 40 ล้านบาท และยังพบว่ามีการใช้งบ  2.3 ล้านบาทต่อปี เพื่อจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการจัดเก็บขยะในรัฐสภา จากเดิมที่จ้างหน่วยงานของกรุงเทพมหานครในราคา 1 หมื่นบาทต่อปี

“ในชั้นการพิจารณาของกมธ. เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอ้างว่าเป็นไปตามดำริ ของประธานสภาผู้แทนราษฎร และที่กมธ. ร้องขอเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง ก็ไม่ได้รับเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้เหตุที่ตนขอปรับลดงบประมาณเพราะไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งมีการเปิดช่องให้มีการทุจริตโครงการต่างๆ”นายวัชระ กล่าว

นายสมศักดิ์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า ในเรื่องของนาฬิกาแขวนผนังตนไม่รู้เรื่อง มาทราบเมื่อปรากฏเป็นข่าวแล้ว ซึ่งตนขอสาบานต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อยู่ในห้องประชุมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดระยะเวลาการอภิปรายกว่า 2 ชม.ได้มีส.ส.พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงเป็นระยะๆ อาทิ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ ส.ส.สุรินทร์ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ เป็นต้น เนื่องจากเห็นว่านายวัชระ อภิปรายเหมือนในวาระที่ 1 ที่ผ่านมา

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ  ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงถึงงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมมอาคารรัฐสภา โดยเฉพาะห้องประชุมงบประมาณ จำนวน 36 ล้านบาท ว่าเป็นงบในปี 55 ไม่เกี่ยวกับงบปี 57

จากนั้นส.ส.ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง  ส่วนใหญ่ท้วงติงถึงการจัดงบประมาณที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกร ที่มีผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ รัฐบาลจัดสรรงบน้อยเกินไป

เวลาประมาณ 11.30 น. วันที่ 14 สิงหาคม น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำประมาณ พ.ศ.2557 เสียงข้างน้อย อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายชื่อประจำปี 2557 ขอสงวนความเห็นให้มีการปรับลดงบประมาณลง 5 % เพราะพบว่า การเสนอของบประมาณตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2557 พบมีการหมกเม็ดและยัดไส้เพิ่มหน่วยงาน อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์โครงการจากการเสนอของบประมาณ ในชั้นรับหลักการ อาทิ กองทุนส่งเสริมจดหมายเหตุแห่งชาติ ที่พบว่ามีการนำเสนอเข้ามาช่วงที่ กมธ.พิจารณาชั้นแปรญัตติ โดยไม่มีรายละเอียด

สำหรับโครงการที่มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์โครงการ คือการจัดซื้อรถตู้รับ-ส่งนักเรียนขอกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรองรับนักเรียนโรงเรียนที่ถูกยุบ 1,000 คัน แต่เมื่อได้รับการท้วงติงจากสภาได้เปลี่ยนนโยบายเป็นการจัดซื้อรถตู้จำนวน 300 คัน เพื่อใช้ในโครงการโรงเรียนดีศรีตำบล

นอกจากนั้น ในเอกสารงบประมาณ ระบุว่ารถตู้ 12 ที่นั่ง แต่จัดซื้อราคาสูงพบว่าต้องซื้อรถ 16 ที่นั่งแล้วถอดเก้าอี้ออก เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบคือ รถโรงเรียนมี 12 ที่นั่ง พร้อมกับมีการปรับเปลี่ยนตกแต่งภายในด้วย

น.ส.ผ่องศรีกล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือเออีซี รวบรวมตัวเลขทุกหน่วยงานพบว่ามีจำนวน 1.45 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการศึกษาดูงานเท่านั้น นอกจากนั้น แล้วมีบางโครงการที่มีการของบประมาณในปีที่ผ่านๆ มา เพื่อศึกษาออกแบบโครงการแล้วเสร็จ แต่ในปีงบประมาณ 2557 ได้เปลี่ยนแปลงเช่น โครงการรถไฟรางคู่ ลพบุรี-ปากน้ำโพ ใช้งบประมาณศึกษา ปี 2553-2556 หลักร้อยล้านบาทและปี 2557 ระบุไม่ศึกษาต่อและจะมีการเปลี่ยนโครงการใหม่

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล พบว่าในส่วนของการจ่ายค่าเช่าโกดังสินค้าขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) งบที่ขอไว้แต่ละปีเพิ่มขึ้น เช่น อ.ต.ก. ปี 2556 ขอใช้งบประมาณเพื่อเช่าโกดัง เพื่อรับรองสินค้าเกษตร จำนวน 1,400 ล้านบาท แต่ในปี 2557 เสนอของบฯจำนวน 3,063 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานส่วนดังกล่าวที่ผ่านมา พบว่ามีงบประมาณค้างท่อ เบิกจ่ายไปแล้วเพียง 10-20% เท่านั้น และในปี 2557 มีการเสนอของบประมาณโดยมีช่วงเวลาใช้งบประมาณ คือ 11 เดือน หรือตลอดฤดูกาล นอกจากนั้น พบอีกว่ารายการของบประมาณเพื่อใช้โครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2551 เป็นแบบผลุบๆ โผล่ๆ เช่น อคส.งบปี 2555 ไม่ขอเพื่อใช้เช่าโกดัง แต่ขอในปี 2557

กรรมาธิการเสียงข้างน้อยกล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการเกี่ยวกับการวางจำหน่ายสินค้าโอท็อบ จำนวน 500 ล้านบาท ในกระทรวงพาณิชย์พบว่า ในชั้นแปรญัตติได้รับเงินเพิ่มอีก 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ ค่าดำเนินการติดตั้งอินเตอร์เน็ตไร้สาย (ไวไฟ) เพื่อสนับสนุนโครงการแท็บเล็ตของกระทรวงศึกษาจำนวน 43,000 โรงเรียน โดยแบ่งเป็นการเสนอของบจำนวนมากถึง 89,000 บาทต่อโรงเรียน 1 แห่ง ทั้งนี้ ปกติจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 8,000 บาทต่อแห่งเท่านั้น

"ในส่วนขององค์กรมหาชนพบว่า มีการจัดงบประมาณที่ซ้ำซ้อน เช่น องค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) ได้ตั้งองค์การมหาชนใหม่ คือสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ที่ได้รับงบประมาณจำนวน 744 ล้านบาท ตั้งขึ้นเพื่อทำเรื่องการท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่น ศูนย์ประชุมเชียงใหม่และไนท์ซาฟารี โดยเฉพาะโครงการไนท์ซาฟารีได้รับงบประมาณ 688 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าองค์การสวนสัตว์ที่ดูแลสวนสัตว์ทั่วประเทศ ที่ได้รับงบประมาณเพียง 888 ล้านบาท การเสนอของบประมาณหลายโครงการไม่มีรายละเอียดให้ตรวจสอบ มีโครงการแปรญัตติเข้ามาในวันสุดท้ายของการพิจารณาเช่น โครงการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชน ที่เสนอขอประมาณ จำนวน 1,000 ล้านบาท, โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย โดยเป็นโครงการบรรทัดเดียว" กมธ.เสียงข้างน้อยกล่าว

จากนั้นนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย (ปชป.) ในฐานะรองประธาน กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การเสนอของบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ไม่มีการหมกเม็ด โดยที่ผ่านการขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ผ่านชั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยเฉพาะกองทุนจดหมายเหตุ ที่ ครม.ได้มีการพิจารณาแล้ว อีกทั้งไม่ใช่เป็นการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาแต่อย่างใด

 

ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์(1),เว็บไซต์เดลินิวส์(2), เว็บไซต์มติชน, เว็บไซต์เนชั่นชาแนล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net