Skip to main content
sharethis
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ร่วมนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรม-นักศึกษา ประกาศจุดยืนต้านโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ยกบทเรียนความล้มเหลว โขง ชี มูล ชี้การสร้างเขื่อน 24 ปีที่ผ่านมาสร้างปัญหา จี้รัฐหยุด! ใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า ทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำ
 
 
วันที่ 14 ส.ค.56 เวลา 11.30 น.ที่ห้องประชุมชั้น 4 สถาบันวิจัยและพัฒนา (RDI) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน โดยนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) นำกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการจัดการน้ำภาคอีสาน ในพื้นที่การสร้างเขื่อนและฝายกั้นน้ำในลุ่มน้ำโขง ชี มูล ร่วมกับนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรม และกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวนกว่า 60 คน ตั้งโต๊ะแถลงข่าว “คัดค้านโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน บทเรียนจากความล้มเหลวและความไม่คุ้มค่าของโครงการโขง ชี มูล รัฐต้อง หยุด! การใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำ”
 
นายสุวิทย์ กล่าวว่า จากบทเรียนการจัดการน้ำของรัฐในพื้นที่ภาคอีสาน ภายใต้โครงการโขง ชี มูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเขื่อนบนลำน้ำมูล ชี และลำน้ำสาขา ตลอดช่วง 24 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐเพิกเฉยที่จะให้ความสำคัญกับกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสังคมและชุมชน ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นโครงการที่เพ้อฝันของนักการเมือง แล้วทุ่มงบประมาณลงไปอย่างมหาศาล ได้ปรากฏอย่างชัดเจนแล้วว่า การจัดการน้ำขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์ที่มีแผนแม่บทมาแล้ว และการออกแบบก่อสร้างไม่คำนึงถึงความสอดคล้องเหมาะสมกับภูมินิเวศท้องถิ่นแต่ละแห่ง ได้ทำลายลุ่มน้ำอีสาน
 
“ในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน ขอแสดงจุดยืนให้รัฐบาลและสังคมเห็นว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านที่จะทำลาย ระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำ โดยจะร่วมกันติดตาม และเดินหน้าล่ารายชื่อประชาชน 3.5 แสนคนคัดค้านอีกด้วย”
 
 
นายนิมิต หาระพันธ์ กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ต้องทนทุกข์ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี มาเป็นเวลา 20-30 ปี จากการที่รัฐบาลในสมัยนั้นโกหกกับชาวบ้านว่าจะทำเป็นฝายยางกั้นแม่น้ำ และบอกว่าจะเอาน้ำมาให้ ในขณะที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลยว่าจะเอาหรือไม่เอาโครงการ
 
“กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านก็แค่เข้าไปเป็นตัวประกอบเพราะโครงการได้ถูกกำหนดมาจากข้างบนแล้ว ทั้งที่ปัญหาเก่ายังไม่ได้รับรับการแก้ไขปัญหาใหม่ก็ยังจะเข้ามาทับถมอีก สิ่งที่รัฐบาลเยียวยามามันก็ไม่คุ้มกับวิถีชีวิตและแหล่งทำมาหากินที่ชาวบ้านสูญเสียไป ซึ่งจะใช้อีกสักกี่แสนล้านมันก็ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาได้”
 
 
ด้านนายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการนิเวศวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า จากเหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรินา พัดถล่มในสหรัฐอเมริกา แล้วเกิดอุทกภัยน้ำท่วมหนักในหลายเมือง ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ จึงทำให้อเมริกาหันมาทบทวนเกี่ยวกับวิศวกรรมการสร้างเขื่อนว่าไม่มีความเหมาะสมกับการจัดการน้ำ ท้ายที่สุดจึงนำมาซึ่งการทุบเขื่อนออก แล้วบทเรียนที่ไม่คุ้มค่าและล้มเหลวแบบนี้ประเทศไทยยังจะนำมาใช้ในบ้านเราอีกหรือ
 
“รัฐบาลควรสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่อันหลากหลายในแต่ละภูมินิเวศของพื้นถิ่น ให้ความสำคัญกับสมดุลของระบบนิเวศลุ่มน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมให้ภาคีต่างๆ ในลุ่มน้ำได้มีส่วนสำคัญร่วมกันในการกำหนดรูปแบบเพื่อให้เกิดการแบ่งปันการใช้น้ำอย่างเหมาะสม และการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม”
 
 
 
แถลงการณ์
 
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน
 
ขอคัดค้านโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน
บทเรียนจากความล้มเหลวและความไม่คุ้มค่าของโครงการโขง ชี มูล
รัฐต้อง หยุด! การใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำ
 
จากที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ในวงเงินมากถึง 3.5 แสนล้านบาท โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ได้เปิดให้เอกชนยื่นประมูลเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบรวม 9 โมดูล (Modules) อนุมัติงบประมาณ 2.85 แสนล้านบาท และโครงการย่อยที่อยู่นอก 9 โมดูล อีกจำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท
 
ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำตามธรรมชาติหลายแห่งในที่ราบภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำอุดมสมบูรณ์ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง เช่น ทุ่งบางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ทุ่งพิจิตร-ตะพานหิน จ.พิจิตร  ชุมแสง-เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์  ทุ่งบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ทุ่งพระพิมลราชา จ.นครปฐม และพื้นที่ตามทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้ชะลอโครงการฯ และให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2550 มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง โดยนำแผนบริหารจัดการน้ำไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ แต่ละแผนงาน ในแต่ละโมดูล เนื่องจากโครงการบริหารจัดการน้ำทุกสัญญา (โมดูล) มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
 
ในพื้นที่ภาคอีสานยังถูกบรรจุในโมดูลของโครงการ ได้แก่ Module B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ เขื่อนชีบน อ.หนองบัวแดง เขื่อนยางนาดี อ.บ้านเขว้า และ อ.หนองบัวระเหว เขื่อนโปร่งขุนเพชร อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ และโครงการฟื้นฟูและบูรณะและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของหนองหาร จ.สกลนคร ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่นอก 9 โมดูล ทั้งนี้ จากบทเรียนการจัดการน้ำของรัฐ ภายใต้การดำเนินโครงการโขง ชี มูล ในพื้นที่ภาคอีสานก็ได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า การจัดการน้ำขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์และการออกแบบก่อสร้างที่ไม่คำนึงถึงความสอดคล้องเหมาะสมกับภูมินิเวศท้องถิ่นแต่ละแห่ง ได้สร้างหายนะมากมายต่อลุ่มน้ำอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเขื่อนบนลำน้ำมูล ชี และลำน้ำสาขา ตลอดช่วง 24 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐเพิกเฉยที่จะให้ความสำคัญกับกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสังคมและชุมชน ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นโครงการที่เพ้อฝันของนักการเมือง แล้วทุ่มงบประมาณลงไปอย่างมหาศาล
 
ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นไปตามคำอวดอ้างที่ว่า “อีสานจะดินดำน้ำชุ่ม แก้ปัญหาความยากจน และการอพยพแรงงาน” โครงการเหล่านี้ได้ทำลายชุมชนท้องถิ่นอีสานอย่างรุนแรง ได้แก่  1) การสูญเสียแหล่งทำมาหากินของชุมชน คือ ป่าบุ่งป่าทามในทุกลุ่มน้ำ 2) เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มน้ำเค็ม 3) การสูญเสียพันธุ์สัตว์น้ำที่เป็นทั้งแหล่งอาหารและรายได้ของชาวบ้าน  4) ที่ดินทำกินของประชาชนหลายแสนไร่ถูกแปรสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำโดยที่ไม่มีแผนในการชดเชย 5) ที่นานอกอ่างเก็บน้ำถูกน้ำท่วมผิดปกติจนนาข้าวเสียหายและไม่มีการรับผิดชอบใดๆทำให้สูญเสียโอกาสในที่ดินของตนเอง และ 6) ความจริงที่ปรากฏชัดก็คือ โครงการโขง ชี มูล เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า  จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาต่อต้าน และเรียกร้องความเป็นธรรม จากการก่อสร้างเขื่อน 14 แห่งในลุ่มน้ำมูล ชี และลำน้ำสาขา เช่น อ่างหนองหานกุมภวาปี ประตูน้ำห้วยหลวง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย และที่เลวร้ายที่สุด คือ สองเขื่อนในแม่น้ำมูล เขื่อนราษีไศล และ เขื่อนหัวนา ที่ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี แต่การตามแก้ผลกระทบ ใช้เวลา 20 ปีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ และมีแนวโน้มจะบานปลายไปเรื่อยๆ รวมถึงโครงการ เขื่อนปากมูล ที่ถือได้ว่าทำลายระบบนิเวศและแหล่งอาหารของชาวบ้านในลุ่มน้ำมูลอย่างรุนแรง   
 
ดังนั้น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน พร้อมด้วยองค์กรภาคี และบุคคลตามรายชื่อลงนามแนบท้าย จึงร่วมกันแสดงจุดยืนในการคัดค้านโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน  และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
 
1)  ให้รัฐบาลยุติโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท อันจะก่อเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นิเวศลุ่มน้ำเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งพวกเราไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านจนถึงที่สุด
 
2)  รัฐจะต้องไม่นำวิธีการแบบเดียวกันนี้มาใช้ในภาคอีสาน โดยเฉพาะโครงการธนาคารน้ำเขื่อนห้วยสามหมอ โครงการผันน้ำตามแรงโน้มถ่วง โขง เลย ชี มูล และ โครงการเครือข่ายจัดการน้ำในพื้นที่วิกฤติ 19 พื้นที่ ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณรวมกันมากมายมหาศาลถึง 9 ล้านๆ บาท
 
3)  รัฐบาลควรสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่อันหลากหลายในแต่ละภูมินิเวศของพื้นถิ่น มุ่งเน้นให้ภาคีต่างๆ ในลุ่มน้ำได้มีส่วนสำคัญร่วมกันในการกำหนดรูปแบบเพื่อให้เกิดการแบ่งปันการใช้น้ำอย่างเหมาะสม การบริหารจัดการที่ประชาชนมีส่วนร่วม และการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม มีความคุ้มค่า การให้ความสำคัญกับสมดุลของระบบนิเวศลุ่มน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการอนุรักษ์ คุ้มครองและฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้ทำหน้าที่สำคัญต่อลุ่มน้ำอย่างสมดุลและยั่งยืน
 
4)  รัฐบาลจะต้องเคารพสิทธิชุมชน และสนับสนุนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง กับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐ
 
5)  ให้รัฐบาลรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูล ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำสาขาอื่นๆ
 
 
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน
14 สิงหาคม 2556
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net