ติดตาม “ไลน์” สิทธิการสื่อสารส่วนบุคคลในสังคมออนไลน์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ช่องทางการสื่อสารมีความหลากหลาย ความสะดวกรวดเร็วในการรับส่งข้อมูลมีมากขึ้น กระแสสังคมเทคโนโลยีที่รวดเร็วนี้ถูกใช้ทั้งในทางที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง การหาแนวทางป้องกันการกระทำความผิดจะต้องเป็นอย่างไรในกระแสสังคมประชาธิปไตย กรณี “ตรวจสอบการกระทำความผิดผ่านการสื่อสารทาง Line (ไลน์)” พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ยืนยันว่าจะตรวจสอบการใช้ไลน์เฉพาะบุคคลที่กระทำความผิดเท่านั้น พร้อมทั้งติดต่อบริษัทแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อดูแค่แอ็กเคานท์ว่าคนนั้นคือใคร มาจากไหน เพื่อนำข้อมูลมาสืบสวน จับกุม ผู้กระทำความผิดต่อไป

 

(ภาพจาก: http://www.cubrid.org/files/attach/images/220547/690/355/line_app_android.jpeg)
 
“ไลน์เปรียบเสมือนถนนไฮเวย์ มีรถวิ่งเต็มไปหมด เป็นพันเป็นหมื่นคันต่อวัน แล้วมีรถคันหนึ่งเป็นโจร ตำรวจคงไปดักจับรถคันนั้นคันเดียว ไม่ไปดักจับรถเป็นหมื่นเป็นพัน เราแค่จะจับโจรเท่านั้น” ทำให้เห็นว่าเป้าหมายและเจตนาของเจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้ต้องการให้เกิดการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่ใช้บริการไลน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกระทำภายใต้กรอบกฎหมายที่มุ่งไปยังผู้ที่กระทำความผิดโดยตรง พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “การหมิ่นประมาทเป็นเรื่องระหว่างคน 2 คน ตำรวจไม่สามารถดำเนินการใดได้”
 
เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสื่อสาร ประชาชนหลายฝ่ายคัดค้านการตรวจสอบดังกล่าวนี้  นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ระบุว่า “การตรวจสอบการใช้งานของประชาชน เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายฉบับใดในประเทศไทยที่รองรับการกระทำนี้ ซึ่งหาก ปอท. ผลักดันการตรวจสอบข้อมูลในไลน์จริง ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่ใช้วิธีการนี้ แต่คาดว่าบริษัทผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นไลน์ ในญี่ปุ่น ไม่น่าจะให้ความร่วมมือกับ ปอท.”
 
ขณะเดียวกัน ปอท. ยังยืนยันที่จะทำการตรวจสอบต่อไป พร้อมทั้งย้ำว่าการตรวจสอบไลน์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยมุ่งไปที่การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ของกลุ่มค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ และละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนการตรวจสอบเนื้อหาทั่วไปนั้นจะกระทำต่อเมื่อมีการกระทำความผิดแล้ว ปอท.จะไม่ทำการดักฟังข้อมูลอื่นของประชาชน 
เจตจำนงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มุ่งไปสู่คนที่กระทำความผิด ซึ่งในความจริงนั้นเป็นไปได้ลำบากที่จะสามารถทราบได้ว่าใครคือผู้กระทำความผิดตามกรณีที่มุ่งตรวจสอบ หากมีชื่อผู้ใช้จากการลงทะเบียนแล้วจะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่ทำความผิดนั้นได้หรือไม่ถ้าไม่มีการละเมิดดักฟังข้อมูลของคนที่ใช้บริการเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถทราบได้อย่างไรว่ามีการกระทำความผิดตามกรณีที่ตำรวจวางไว้  
 
กระแสคำถาม “ถ้าไม่ได้กระทำความผิด แล้วจะกลัวการตรวจสอบทำไม เพราะมีการกระทำความผิดจึงต้องซุกซ่อนความผิดเอาไว้ หากไม่ได้กระทำความผิดก็มิจำเป็นที่จะต้องรักษาความเป็นส่วนตัวเอาไว้” เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้
 
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “สื่อออนไลน์กับความมั่นคงของชาติและรัฐบาล” ทำการสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,232 หน่วยตัวอย่าง ที่ใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.54 ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการรับรู้ข่าวสาร ขณะที่ ร้อยละ 20.29 เห็นด้วย เพราะถ้าเป็นข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงจริง ก็ควรจะมีการตรวจสอบ และร้อยละ 0.08 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ แสดงให้เห็นอัตราความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นดังกล่าวนี้ และประชาชนอีกบางส่วนก็สนับสนุนให้ตรวจสอบหากมีการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐจริง
 
ด้วยสังคมประชาธิปไตยการให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการดำเนินชีวิต และความเสมอภาคที่ไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงการสนับสนุนและยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคม การตรวจสอบไลน์เป็นการกระทำที่จะนำไปสู่การละเมิดความเป็นส่วนตัวนั้น ย่อมเป็นการสร้างความเห็นต่างและความกลัวการถูกดึงความเป็นส่วนตัวให้หลุดไป 
 
ประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่าง หากรัฐมุ่งดำเนินการโดยที่ไม่รับฟังความต้องการของประชาชนนั้น จะทำให้เกิดความไม่พอใจที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง รัฐจะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นสำหรับประชาชน แสดงความต้องการที่จะให้มีการตรวจสอบตามข้อเท็จจริงหรือไม่ โดยหลักการประชาธิปไตยที่ทำตามเสียงส่วนใหญ่ เคารพเสียงส่วนน้อย การปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่จึงจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันหากกลไกการมีส่วนร่วมทำให้ทราบถึงความต้องการของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบดังกล่าว รัฐจะต้องยอมรับและปิบัติตามอย่างมิอาจปฏิเสธ เพราะด้วยอำนาจของรัฐเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ออกแบบเพื่อปราชนเอง รัฐจะต้องกระทำตัวเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือให้เกิดการดำเนินตามความประสงค์ของประชาชน ซึ่งการสำรวจความต้องการของประชาชนในประเด็นนั้นจะต้องสำรวจให้ทั่วถึงกลุ่มที่ใช่บริการไลน์จะทำให้ทราบความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี หากสำรวจบคคลที่ไม่เคยใช้บริการไลน์อาจทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่ตอบโจทย์ความต้องการ
 
ทั้งนี้ ความเป็นส่วนตัวของประชาชนในไลน์นั้นมีมากกว่าเฟสบุ๊ค หากจะดำเนินการตรวจสอบจะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวมากกว่าเช่นกัน ถ้าประชาชนไม่อยากให้เกิดการตรวจสอบดังกล่าวนั้น การสร้างการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ควรเป็นไปอย่างเหมาะสมและเคารพกติกาของสังคม 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท