Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความเรื่อง “ปฏิบัติการแห่งอำนาจทางกฎหมายในชีวิตประจำวันฯ” นี้เป็นความพยายามของผู้เขียนในการแสดง “ปัญหา” และ “เงื่อนไข” ที่ได้จากความขัดแย้งในชีวิตประจำวันของสามัญชนไทย ที่มักถูก “มองข้าม” หรือ “เก็บกด” ซ่อนเร้นไว้ภายใต้วาทกรรม “เมืองไทยนี้ดี คนไทยมีน้ำใจ รู้รักสามัคคี”  ว่าแท้ที่จริงแล้ว   หากค้นหาความจริงที่ปรากฏอยู่ในชีวิตธรรมดาของประชาชนนั้นล้วนแต่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งหลากหลายรูปแบบ   แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ความขัดแย้งเหล่านั้นมิได้ถูกยกระดับเข้าสู่การรับรู้ของสาธารณชน หรือแม้กระทั่งคนจำนวนไม่น้อยที่ตกในสถานการณ์เหล่านั้นก็จำต้อง “ยอม” รับเอาผลในการระงับข้อพิพาทไปด้วยใจที่คลางแคลง หรือเจ็บแค้น   ซึ่งมีส่วนไม่น้อยในการประกอบสร้างประสบการณ์ทางการเมืองและนำไปสู่การแสวงหา บุคคล สถาบัน นโยบาย หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่จะมาตอบสนองต่อสภาพปัญหาทางกฎหมายที่ต้องเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวันของตนที่เต็มไปด้วย “ความเสี่ยง”   ด้วยเหตุที่ตนนั้นมีอำนาจด้อยกว่า  

จากงานวิจัยเรื่อง “สภาพปัญหาทางกฎหมายในชีวิตประจำวันของประชาชน และแนวทางการใช้หลักกฎหมายเบื้องต้นในการแก้ไข” ของข้าพเจ้าก็ให้ข้อสรุปได้บางประการว่า   อำนาจที่น้อยของประชาชนนั้นมิได้มีเพียงอำนาจทาง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่น้อยกว่าคู่กรณี คู่พิพาท หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น   แต่อาจหมายถึงความด้อยกว่าด้าน “ความรู้” และ “ภาพลักษณ์”   นั่นหมายความว่า งานวิจัยและหนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสะสม ความรู้ทางกฎหมายและแนวทางในการใช้กระบวนการทางกฎหมาย เสริมสร้างอำนาจของตน เพื่อนำไปเสริมกลยุทธ์ในการต่อสู้ ต่อรอง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นแก่ตน   ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาของหนังสือจะแสดงให้เห็นทั้งภาพรวมของ ข้อพิพาททางกฎหมายในชีวิตประจำวันของประชาชน   ตัวอย่างกรณีศึกษาที่สะท้อนให้เห็นรายละเอียดที่น่าสนใจบางคดี   และแนวทางในการนำ “ความรู้ทางกฎหมาย” เบื้องต้น มาใช้เสริมสร้างอำนาจในการต่อสู้ ต่อรอง ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยอำนาจ ด้อยทุนทั้งหลาย   เพราะข้อดีประการหนึ่งของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการระงับข้อพิพาทก็คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมได้รับรองสถานะอย่างเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย   เพียงแต่ต้องประยุกต์ใช้กฎหมาย และกระบวนการทางกฎหมายให้กลายเป็นเครื่องมือของตนให้ได้

ข้อพิพาทหลักของเรื่องว่าเกี่ยวเนื่องกับประเด็นทางกฎหมายด้านต่างๆ สามารถจำแนกออกได้เป็นประเภทต่างๆดังต่อไปนี้

โดยประเด็นที่มีความถี่สูงสุด 10 อันดับแรก   ได้แก่

1.                  นิติกรรมสัญญา 329 ประเด็น                                           คิดเป็น 10.19%

2.                  ความผิดต่อทรัพย์/ฉ้อโกง 325 ประเด็น                              คิดเป็น 10.06%

3.                  คดีจราจรทางบก 277 ประเด็น                                          คิดเป็น 8.58%

4.                  ทรัพย์/ทรัพย์สินทางปัญญา 241 ประเด็น                           คิดเป็น 7.46%

5.                  เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 211 ประเด็น                คิดเป็น 6.53%

6.                  คดีผู้บริโภค 181 ประเด็น                                                 คิดเป็น 5.60%

7.                  ละเมิด/จัดการงานนอกสั่ง/ลาภมิควรได้ 167 ประเด็น          คิดเป็น 5.17%

8.                  ปัญหากระบวนการทางอาญา 157 ประเด็น                        คิดเป็น 4.86%

9.                  หนี้ 156 ประเด็น                                                                        คิดเป็น 4.83%

10.              ความผิดต่อร่างกาย 149 ประเด็น                                     คิดเป็น 4.61%

 

ผลการวิเคราะห์ในเชิงลึกจากกรณีศึกษาที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นว่าว่า หากต้องเผชิญกับปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของประชาชน การไร้ความรู้เบื้องต้นทางกฎหมายจะทำให้ประชาชนต้องเสี่ยงต่อความเสียเปรียบและด้อยอำนาจต่อรองอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ว่าหากไร้ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายหรืออำนาจรัฐในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาทั้งหลายเสียแล้ว   ประชาชนในสังคมไทยจำเป็นต้องมีทุนใดบ้างในการแก้ปัญหาทางกฎหมายในชีวิตประจำวันของตน   ดังจะมีการวิเคราะห์ตามกรณีศึกษาที่ปรากฏในชีวิตจริงของบุคคลทั้งหลายที่ผู้เขียนได้รวมรวมจากงานวิจัย แต่ในส่วนของ “แนวทางแก้ไข” จะเป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์เพิ่มเติมหลังจากได้วิเคราะห์สภาพปัญหาและวิธีการแก้ไข


ชื่อเรื่อง...เจ้าพนักงานเข้าค้นโดยมิชอบ

บ่ายวันหนึ่งมีตำรวจพร้อมหมายศาลขอค้นที่พักอาศัยของคนงานที่ทำงาน โดยให้เหตุผลว่ามี คนงานคนหนึ่งมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ด้วยความที่พ่อแม่ข้าพเจ้าเชื่อใจในตัวคนงานมาก  จึงปล่อยให้ตำรวจคนหนึ่งเข้าไปค้นห้องเพียงคนเดียว ตำรวจคนหนึ่งเดินออกมาพร้อมยาบ้าครึ่งเม็ด และขอจับกุมคนงานทุกคนตรวจปัสสาวะ ซึ่งผลออกมาก็ไม่มีผู้ใดที่บ่งบอกว่าติดยา จึงปล่อยทุกคนกลับบ้านและขอคุมตัวคนงานเจ้าของห้องที่พบยาบ้าไว้ก่อน ซึ่งในตอนแรกพ่อกับแม่ขอประกันตัวไว้แต่ก็ไม่ได้รับการยินยอม  แล้วมีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเดินออกมาพร้อมกล่าวหาว่าแม่ขัดขวางการทำงานเจ้าพนักงานและพยายามปกปิดความผิดคนงาน  นายตำรวจบอกให้แม่เอาเงินให้เขาจำนวน 50,000 บาทแล้วคดีก็จะสิ้นสุดลง แต่แม่ไม่ยอมให้ นายตำรวจคนนั้นจึงขู่ว่าจะสั่งปิดกิจการทางบ้านและขออายัดทรัพย์สิ้นทั้งหมด  ทั้งนี้ตำรวจคนนั้นยังจับแม่ไว้และให้เหตุผลว่ากลัวแม่จะหนีความผิด

ซึ่งมองอย่างไรก็ดูเหมือนว่าตำรวจผู้นั้นต้องการแค่เงินของแม่ และเรื่องที่เกิดขึ้นก็ยังทำให้กิจการของทางบ้านจำเป็นต้องหยุดชะงักลงอีกด้วย


แนวทางแก้ไข

ใช้หลักการตรวจค้นและตั้งข้อหาตามกระบวนการทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกรณีนี้การตรวจค้นกระทำได้ตามหมายค้น แต่ยังมีข้อต่อสู้เรื่องการพบยาเพียงครึ่งเม็ดแต่ไม่พบสารเสพติดในร่างกายของผู้ใด ส่วนเรื่องการโต้เถียงเป็นการใช้สิทธิธรรมดาที่กระทำได้ไม่ถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกเงินถือเป็นความผิดทางอาญาของเจ้าพนักงานสามารถฟ้องต่อศาลอาญาได้ โดยอาจร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปปช. หรือแต่งทนายขึ้นสู้คดีเอง

 

ชื่อเรื่อง...ด่านลอย

พี่ชายผมและพี่สะใภ้เดินทางไปบ้านญาติที่อยู่ในซอยค่อนข้างเปลี่ยวแต่ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก ซึ่งพบด่านตำรวจจึงหยุดให้ตรวจตามปกติ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งได้ขอตรวจค้น และพบหนังสือพิมพ์กีฬาฉบับหนึ่งเขาจึงถามว่าเล่นพนันฟุตบอลหรือ พี่ชายผมปฏิเสธไปเพราะไม่มีหลักฐานอื่นได้ เขาจึงเปลี่ยนประเด็น และบอกว่าเป็นบุคคลต้องสงสัยที่มีประวัติเคยค้ายาเสพติด พี่ชายและพี่สะใภ้ผมจึงปฏิเสธอีกครั้ง  ขณะเดียวกันพี่ชายผมกำลังโทรศัพท์กลับมาที่บ้านเพื่อบอกให้แม่ได้ทราบเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ดึงโทรศัพท์ออกและรุมทำร้ายพี่ชายผม พร้อมกับพูดว่า “ มึงหัวหมอนักหรือ” จากนั้นเอาโทรศัพท์ไปคุย และแนะนำตัวว่าเป็น สารวัตกำนัน และบอกแม่ผมว่าพี่ชายถูกจับเพราะมากับผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด  ซึ่งแม่ได้ปฏิเสธ จากนั้นเจ้าหน้าที่คนนั้นรับปากทางโทรศัพท์ว่าจะช่วยดูแลพี่ชายผม ซึ่งจริงๆแล้วได้ทำร้ายพี่ชายผมไปแล้วจากนั้นก็ได้ปล่อยตัวพี่ชายผมและพี่สะใภ้ผมกลับมา หลังจากนั้นแม่จึงรีบไปแจ้งความที่ สภอ.เมือง แต่ สภอ.กลับให้ไปแจ้งที่ สน.ท้องที่ เมื่อไปถึงที่ท้องที่กลับบอกว่าไม่มีการตั้งด่านที่นั้น หากมีการตั้งด่านจะมีแต่ที่ สภอ.เท่านั้น  ซึ่งก่อนกลับได้ไปแวะที่เกิดเหตุหลังจากเดิม 3 ชม. ก็ไม่พบการตั้งด่านใดๆ  เมื่อกลับไปที่ สภอ.เมืองอีกครั้ง จึงได้ลงบันทึกประจำวัน และเจ้าหน้าที่ก็ได้พูดปัดความรับผิดชอบว่าคนทำร้ายเป็นสารวัตกำนันไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ อบต.ให้ไปเอาผิดที่นั้นเอง เช้าวันรุ่งขั้นแม่จึงโทรศัพท์ติดต่อไปแต่ถูกปฏิเสธและถูกพูดเชิงดูถูก

แม่จึงโทรไปหากำนันท้องที่ ซึ่งกำนันคนนั้นก็พูดและถามด้วยความรำคาญทั้งยังเยาะเย้ยและดูถูกโดยไม่สนใจแต่อย่างใด   ซึ่งหลังจากนั้นแม่จึงโทรศัพท์ไปที่ อบต.อีกครั้ง และได้พบนายกฯอบต.   แม่จึงเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง ซึ่งเขายอมรับฟังเหตุผลและสนทนาด้วยพร้อมกับรับปากว่าจะตักเตือนเจ้าหน้าที่ในสังกัด และกล่าวขอโทษแม่  แม่จึงยอมยุติเรื่องไว้เท่านี้ แต่ส่วนผมเห็นว่าเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจที่มิชอบ


แนวทางแก้ไข

ใช้หลักการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานต้องกระทำตามกรอบของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และความผิดต่อร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา   ซึ่งกรณีนี้มีการตั้งด่านลอยโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ร้อยเวรประจำการ และยังมีการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย จึงเป็นการใช้อำนาจนอกกรอบของวีพิจารณาความอาญา และกระทำผิดอาญาต่อร่างกายสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ หากคดีไม่คืบหน้าอาจร้องเรียนไปยัง ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

 

ชื่อเรื่อง...ศอฉ.อายัดเงินในสถานการณ์ฉุกเฉิน

น้าสะใภ้ของนักศึกษาได้เขียนเช็คเงินสดไว้ล้วงหน้าให้แก่ลูกค้าและลูกน้องจำนวน 4-6คน โดยไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงขึ้น และไม่ทราบว่ากลุ่มลูกค้าเหล่านั้นจะนำเช็คเงินสดไปขึ้นธนาคารเป็นช่วงเวลาพร้อมๆกัน จึงทำให้ยอดรวมของจำนวนเงิน ที่เกิดจาการทำธุรกรรมผ่านในวันนั้นเกิดยอดจำกัด 2,000,000 บาท   น้าสะใภ้ของนักศึกษาจึงถูกรัฐสั่งอายัดเงินทั้งหมดในทุกธนาคารของน้าสะใภ้ไม่ให้สามารถทำธุรกรรมใดได้จนกว่ายอดเงินที่เกิดการถ่ายเทในวันนั้นได้รับการตรวจสอบสอบจากทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)  แล้วว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ชุมนุม จนกระทั่ง ณ ขณะนี้ก็เป็นเวลากว่าสองปีแล้วทางรัฐบาลก็ยังตรวจสอบไม่เสร็จ ทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการลง

แม่หาหลักฐานบิลชำระเงินสด ส่งแฟ็กซ์ที่ใช้ทำธุรกิจมารับรองความบริสุทธิ์ และต้องไปขึ้นศาลเพื่อแจ้งความบริสุทธิ์ใจต่อศาลตามการนัดหมายของศาล


แนวทางแก้ไข

ใช้หลักความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาญา ซึ่งต้องใช้หลักกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ  ซึ่งกรณีนี้มีการใช้กฎหมายพิเศษที่มีลักษณะละเมิดสิทธิดังกล่าว และสร้างภาระในการพิสูจน์ให้กับประชาชน จึงต้องมีการฟ้องเพิกถอนการออกคำสั่งอายัดบัญชีของ ปปง. ในศาลยุติธรรมตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542   แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเนื่องจาก พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ตัดสิทธิของประชาชนในการฟ้องศาลปกครองให้ตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมายทั้งสอง   จึงต้องมีการผลักดันให้มีการแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายทั้งสามฉบับ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของประชาชนอีกต่อไป

หลังจากได้นำเสนอแนวทางในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาทางกฎหมายในชีวิตประจำวันของประชาชนไปแล้วจะเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้วการแก้ไขปัญหาด้วยกฎหมายในประเด็นต่างๆโดยเน้นไปที่การใช้วิธีการหรือช่องทางกฎหมายเป็นหลักสำคัญ จะต้องใช้เวลาและการตอบสนองจากองค์กรทางกฎหมายของรัฐเป็นอย่างมาก เพื่อนำหลักกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้ทั้งในเชิง “สาระ” ของข้อพิพาท และ “กระบวนการทางกฎหมาย” ในการระงับข้อพิพาท   การใช้กฎหมายหรือองค์กรทางกฎหมายจึงอาจเป็นแนวทางในการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิและแสวงหาทางเลือกในการระงับข้อพิพาทอย่างสันติสำหรับประชาชนที่ไม่ง่ายสำหรับสามัญชนผู้อำนาจด้อยกว่า

ในทางกลับกัน ผู้ที่มี “เส้นสาย” “ฐานะทางเศรษฐกิจ” “ตำแหน่งแห่งที่” หรือ “ความรู้ทางกฎหมาย” ที่ดีกว่า ก็มักอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าในความขัดแย้งเหล่านั้น   แม้จะมีความชอบธรรมน้อยกว่าหากปรับใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาตามลายลักษณ์อักษร    ความยุติธรรมตามกฎหมายที่ได้เขียนไว้ล่วงหน้า โดยยังไม่ได้นำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริง จึงไม่อาจอำนวย ความยุติธรรมทางสังคม ให้กับ ผู้ที่มีต้นทุนน้อย/อำนาจน้อยในสังคม   และประสบการณ์เหล่านั้นก็ได้ประกอบสร้างสำนึกเรื่อง “สองมาตรฐาน” ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนคนสามัญจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทความ “การประกอบสร้างสำนึก “สองมาตรฐาน” ของประชาชนจากประสบการณ์ปัญหาทางกฎหมายในชีวิตประจำวัน”   ซึ่งจะนำเสนอในงานไทยศึกษา ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงวันที่ 24-25 สิงหาคม 2556   โดยอยู่ภายใต้กรอบการนำเสนองานวิชาการเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของ “ลมตะวันออก” ที่ถาโถมเข้าใส่รัฐไทยมากขึ้นทุกที

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net