สาธารณะ VS ความเป็นส่วนตัว สถานการณ์โลกออนไลน์ไทย ครึ่งปี 56

เครือข่ายพลเมืองเน็ตเปิดผลสำรวจการละเมิดความเป็นส่วนตัวออนไลน์ สังคมไทยเข้าใจเรื่องนี้แค่ไหน? นักมานุษยวิทยาระบุสังคมไทยไม่มีพื้นที่ส่วนตัวให้คนสาธารณะ นักกฎหมายชี้ไทยยังไม่มี กม.คุ้มครองความเป็นส่วนตัว คนถูกถ่ายภาพกลับไม่มีสิทธิเรียกร้อง ซ้ำยังคุ้มครองลิขสิทธิ์ภาพอีก

(21 ส.ค.56) ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต จัดการสัมมนา เรื่อง "คน อินเทอร์เน็ต และความเป็นส่วนตัว: สำรวจสถานการณ์การละเมิดความเป็นส่วนตัวออนไลน์ไทย ครึ่งปีแรก พ.ศ.2556" ที่ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. 

ในการสัมมนา มีการเสนอความคืบหน้างานวิจัยและสำรวจการละเมิดความเป็นส่วนตัวในสังคมออนไลน์ ระหว่าง ม.ค.-มิ.ย.56 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Thai Online Services' Privacy Policy and Security Measures: Evalution and Public Understanding ซึ่งจะสำรวจนโยบายความเป็นส่วนตัว มาตรการรักษาความปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบริการออนไลน์ในประเทศไทย และนำเสนอข้อค้นพบ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการ โดยงานวิจัยมีระยะเวลา 2 ปี ระหว่างปี 56-58
 

ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์
นักวิจัยโครงการสิทธิความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต

ในการเก็บข้อมูล จะสุ่มสำรวจตามเว็บไซต์ต่างๆ ดูเว็บบอร์ดว่ามีการพูดถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างไรบ้าง เช่น เว็บพันทิป ซึ่งคนมักเข้ามาระบายปัญหา รวมถึงปรากฏการณ์ในสังคมออนไลน์ เช่น เพจเฟซบุ๊ก "CMU cute ยาม"

โดยแบ่งปัญหาที่พบจากการสำรวจออกเป็น 3 แบบคือ การละเมิดความเป็นส่วนตัวของธุรกิจเอกชน การละเมิดความเป็นส่วนตัวของหน่วยงานรัฐ และการละเมิดความเป็นส่วนตัวระหว่างผู้ใช้บริการออนไลน์ด้วยกันเอง

1. การละเมิดจากธุรกิจเอกชน ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการจัดเก็บและจัดการข้อมูลส่วนตัวจำนวมากของผู้ใช้บริการ แบ่งเป็น
- การเผยแพร่อีเมลของลูกค้าโดยไม่ได้ตั้งใจ ยกตัวอย่างกรณีบริการเพย์สบาย ส่งอีเมลประชาสัมพันธ์ถึงลูกค้า โดยใส่ในช่อง to ทำให้ผู้รับทุกคนเห็นอีเมลของคนอื่นๆ ไปด้วย เวลาที่อีเมลผิดและตอบกลับอัตโนมัติ ทุกคนในกลุ่มก็จะได้รับอีเมลพร้อมๆ กัน ซึ่งลูกค้าถูกรบกวนมาก

- การส่งต่อข้อมูลให้บุคคลที่สาม เช่น ห้างสรรพสินค้านำเอาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าที่เป็นสมาชิกให้บริษัทประกัน โดยเมื่อมีการสอบถาม ทางห้างก็รับว่า มีการทำแคมเปญร่วมกับบริษัทประกันอื่น กรณี้นี้พบในบริการออนไลน์จำนวนมาก

คำถามคือ
-ตกลงแล้วข้อมูลส่วนตัวเป็นของใคร ผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการ
-เราควรมีสิทธิรู้ไหมว่าข้อมูลของเราจะเคลื่อนที่ไปอย่างไร
-ผู้ใช้บริการไม่เข้าใจระบบการจัดเก็บข้อมูลของผู้ให้บริการ หรือ ผู้ให้บริการไม่เคยอธิบายการนำไปใช้

2.การถูกละเมิดจากรัฐ ขณะนี้ยังหากรณีที่ชัดเจนไม่ได้ เท่าที่พบ มีกรณีที่เว็บสำนักทะเบียนของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเข้าถึงฐานข้อมูลได้ง่าย เพียงรู้รหัสนิสิตนักศึกษาก็สามารถเข้าไปในฐานข้อมูลเพื่อเอารูปถ่ายออกมาได้ โดยการจะหารหัสนิสิตก็ไม่ยาก เพียงแค่พิมพ์ชื่อ-นามสกุล ก็เจอแล้ว กรณีนี้ทำให้เห็นความอ่อนแอของระบบฐานข้อมูลของสำนักทะเบียนฯ ซึ่งนำมาสู่คำถามถึงความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูลของรัฐด้วย

3. การถูกละเมิดโดยผู้ใช้บริการด้วยกันเอง เช่น การถ่ายภาพบุคคลอื่น แล้วนำมาโพสต์โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น กรณีการถ่ายรูป รปภ. มช. มาลงในเฟซบุ๊ก ขณะที่คนอื่นไม่รู้สึกว่าได้ทำอะไรให้เสียหาย แต่ผลออกมาว่า รปภ.คนดังกล่าวระบุว่า กระทบกับความสัมพันธ์ของเขากับแฟน นอกจากนี้ ยังมีการใช้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อกลั่นแกล้ง จากความขัดแย้งส่วนตัว หรือความขัดแย้งทางการเมือง เช่น กรณีเพจยุทธการณ์ลงทัณฑ์ทางสังคม ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน มักนำข้อมูลส่วนตัวของคนมาประจานบนเฟซบุ๊กและเกิดการส่งต่อ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เพจดังกล่าวลงข้อมูลส่วนตัว คือ ชื่อและตำแหน่งของหมอคนหนึ่งซึ่งทางเพจเห็นว่าทำสิ่งที่ไม่สมควร แต่ลงรูปผิดคน ทำให้เจ้าของรูปได้รับความเสียหายและไปแจ้งความ ซึ่งต่อมา เพจดังกล่าวประกาศปิดตัวเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ขณะที่เจ้าของรูปก็ถูกสังคมตำหนิไปแล้ว

โดยสรุป ข้อมูลส่วนตัวที่พบในออนไลน์มีตั้งแต่ ชื่อ-นามสกุล ภาพถ่าย บัญชีธนาคาร รหัสผ่าน ประวัติการศึกษา เบอร์โทร อีเมล ที่อยู่ ข้อความสนทนา คุกกี้ไอพีแอดเดรส สถานที่ที่เคยอยู่ ซึ่งหลายครั้ง ผู้ใช้ก็เป็นผู้นำเข้าด้วยตัวเอง ส่วนผลจากการละเมิด มีทั้งที่เกิดกับทรัพย์สิน อาชีพ ความสัมพันธ์ ความปลอดภัยของร่างกาย และชื่อเสียง

จากการสำรวจ ทำให้เกิดคำถามต่อความเป็นส่วนตัว ดังนี้
-ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ นามสกุล การศึกษา เป็นปัญหาอย่างไร มันยังคงมีความเป็นส่วนตัวหรือไม่ และข้อมูลใดบ้างที่ควรจะเป็นข้อมูลส่วนตัว เพราะแม้เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป แต่เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้กลั่นแกล้งได้ โดยเมื่อเอาข้อมูลต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในออนไลน์มารวบรวม ก็อาจหาตัวและทำร้ายกันได้

-การคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว ผู้ใช้เว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์รู้ตัวมากแค่ไหนว่ากำลังทำอะไรอยู่ เช่น รู้ไหมว่าเฟซบุ๊กเอาข้อมูลไปใช้ได้ ด้วยเหตุผลว่าเพื่อการโฆษณา หรือทวิตเตอร์ มีปุ่มที่อนุญาตให้บอกตำแหน่งที่โพสต์ได้

-โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะกันแน่ ความหมายของความเป็นส่วนตัวนั้นไม่แน่นอนขึ้นกับหลายปัจจัยและบริบท เช่น คนต่างวัฒนธรรม ต่างอาชีพ ต่างสถานะทางสังคม อาจมีความเห็นต่อเรื่องความเป็นส่วนตัวไม่เหมือนกัน

-ความเป็นส่วนตัวสำคัญไหม และควรคุ้มครองหรือไม่

-ทุกวันนี้ ผู้ใช้บริการเข้าใจกระบวนการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในเน็ตแค่ไหน มีผู้ให้บริการที่เปิดเผย-โปร่งใสแค่ไหน ทั้งนี้ ขึ้นกับกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งจะบังคับเรื่องนี้ เช่น เว็บสายการบินแห่งชาติ อาจหาเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายความเป็นส่วนตัวไม่เจอ ขณะที่เว็บของสายการบินโลว์คอสของต่างชาติ กลับเขียนเนื้อหาละเอียดมาก ยาว 10 หน้า กระดาษเอสี่ เพราะกฎหมายของประเทศนั้นๆ เข้มงวดเรื่องนี้ 

อ่านงานวิจัยได้ที่ 
https://thainetizen.org/2013/08/human-internet-privacy-thailand-2013-h1-research-report/

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.

เมื่อพูดถึงความเป็นส่วนตัว สนใจใน 3 ประเด็นคือ 1.ความเข้าใจเรื่องความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ 2.ระเบียบสังคมของความเป็นส่วนตัว และ 3.ระดับของความเป็นส่วนตัว

1.ความเข้าใจเรื่องความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ 
จากตัวอย่างงานวิจัย จะพบว่ามีคนสองแบบคือ คนสาธารณะ ซึ่งแทบไม่มีความเป็นส่วนตัวหรือมีน้อยมาก พวกเขาถูกคาดหวังจากสังคมให้เปิดเผยหมด แง่นี้น่ากลัว เหมือนวัฒนธรรมไทยเห็นว่า ถ้าเป็นคนสาธารณะต้องถูกตรวจสอบตลอดเวลา หมดจด ควบคุมตัวเอง วางระเบียบให้กับตัวเอง ไม่มีพื้นที่ไหนที่ไม่ถูกสังคมควบคุม ขณะที่คนทั่วไปมีพื้นที่ส่วนตัว

สังคมไทยไม่ให้พื้นที่ส่วนตัวกับคนสาธารณะ ขณะที่ในตะวันตก การรุกล้ำบางพื้นที่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว และในทางกลับกัน ในไทยก็มีคนสาธารณะบางกลุ่มได้รับการพิทักษ์ความเป็นส่วนตัวมากกว่าคนอื่น แม้คนจะเห็นเรื่องส่วนตัวแล้วก็พูดไม่ได้ เปิดเผยแล้วผิดได้ เพราะได้รับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวเป็นพิเศษ เป็นการคุ้มครองทางวัฒนธรรม นั่นคือ กรณีกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่คุ้มครองคน 4 คน และถูกใช้ในลักษณะพิเศษคือไม่ใช่แค่การดูหมิ่น แต่รวมถึงการเปิดเผยความเป็นส่วนตัวของคนเหล่านี้

นอกจากคนสาธารณะที่สังคมไทยยอมให้เปิดเผยมากในระดับหนึ่งแล้ว ยังมีคนที่มีผลต่อสาธารณะ ที่จะถูกละเมิดได้ สองแบบ แบบหนึ่งคือ คนที่มีผลในทางเสียหาย จะถูกประณาม ประจาน เช่น การถ่ายคลิปเจ้าหน้าที่ที่ทำไม่ดี เหมือนกับว่าสังคมไทยยอมให้มีการเปิดโปง เปิดเผยเรื่องส่วนตัวกรณีที่คนๆ นั้นรบกวนระเบียบของสังคม เมื่อนั้นจะมี social sanction ขึ้น ขณะที่ทางหนึ่งมี social favour ให้รางวัลทางสังคมกับคนที่ดูดี ทำความดี ภาพของเด็กที่ดูแลพ่อแม่แก่ชรา จะถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เท่ากับเด็กจะถูกรบกวนความเป็นส่วนตัวในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตหรืออาจจะตลอดไป น่าสนใจว่าทำไมสังคมไทยถึงคิดถึงความเป็นสาธารณะมากกว่าความเป็นส่วนตัว และยอมให้มีการคุกคามความเป็นส่วนตัวได้ในบางลักษณะ

อีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่มีอำนาจต่อรองในสังคม บางครั้งถูกละเมิดได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่่อ เช่น ผู้ทุพพลภาพทางจิตใจหรือสมอง ภาพของคนบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือคนที่อยู่ในสถานะที่ต่ำในสังคม

นอกจากนี้แล้ว แง่หนึ่ง ความเป็นส่วนตัวยังดูลึกลับ เซ็กซี่ สร้างอำนาจให้กับผู้ใช้ได้ หากเลือกใช้เป็น ในทางกลับกัน หากใช้ไม่เป็น ก็อาจคล้ายการเดินล่อนจ้อนตลอดเวลา และที่สุดจะไม่มีคนสนใจ

โดยสรุป มองว่า เรื่องความเป็นส่วนตัวมีอะไรที่ยอกย้อนซับซ้อน มากกว่าการละเมิดทางกฎหมาย

2.ระเบียบสังคมของความเป็นส่วนตัว
หากเข้าใจระเบียบสังคมของความเป็นส่วนตัว อาจช่วยขยายความเข้าใจนอกเหนือกฎหมาย หรือเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมคนมีแนวโน้มละเมิดกฎหมาย หรืออาจทำให้ไม่ต้องใช้กฎหมายบางลักษณะ เพราะสังคมอินเทอร์เน็ตมีระเบียบสังคม จัดการกันเองได้ เป็นการตีขอบวงปริมณฑลของการที่สังคมจะดูแลกันเองหรือการที่รัฐจะเข้ามายุ่งกับสังคม ทั้งนี้ที่ผ่านมา เราเห็นแนวโน้มที่รัฐตื่นตระหนกและร่างกฎหมายละเมิดสิทธิเอกชน สิทธิส่วนตัว สิทธิชุมชน หรือสิทธิของประชาสังคมมากขึ้น

สำหรับกฎหมายนั้น แม้ว่าจะใช้กับทุกคนเสมอกัน แต่ด้านกลับ กฎหมายก็อาจละเมิดทุกคนอย่างเสมอกัน หรือเปิดโอกาสให้รัฐละเมิดปัจเจกทุกคนอย่างเสมอกันได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังอาจอยู่ในมือคนที่ใช้อย่างคับแคบ หรือใช้ในช่วงสถานการณ์คับแคบได้  

มีงานวิจัยของต่างประเทศที่ทำให้เห็นว่าระเบียบสังคมของสังคมออนไลน์แต่ละปริมณฑลไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกัน อาจมีบางสังคมเป็นแบบปิด โดยแอดมิน 1-2 คน มีอำนาจเด็ดขาด หรือมีแอดมินที่นั่งดูเฉยๆ ให้มากที่สุด ปล่อยให้ควบคุมกันเอง เช่น ชุมชนวิกิพีเดีย

แง่นี้ พื้นที่เหล่านั้นมันรวมพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว เช่น เฟซบุ๊ก มีคำถามว่าการโพสต์แบบ public คืออะไร เป็นสาธารณะขนาดไหน บางครั้งเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยอ้างว่าข้อมูลนั้นๆ เป็นสาธารณะแล้ว ใครก็เอาไปเผยแพร่ได้ อย่างไรก็ตาม มองว่าความเป็นสาธารณะ บางครั้งถูกสร้างโดยมีบริบทของมัน ไม่ได้เป็นสาธารณะอย่างแท้จริงหรือเป็นสากล และอาจกลายเป็นเครื่องมือทำให้ถูกละเมิดได้ เช่น ถูกเอาไปหากิน ใช้ในสื่อ เช่น นสพ.ออนไลน์ ซึ่งมีรายได้จากโฆษณา เป็นการเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะเป็นสมบัติส่วนตัวของบางพื้นที่ จึงน่าสนใจว่าระเบียบสังคมในโลกออนไลน์ไม่ได้รัดกุมและเปิดให้ละเมิดได้ง่าย แล้วกฎหมายจะเข้ามาอย่างไร หรือเราต้องนั่งอ่านนโยบายหลายพันตัวอักษร

3.ระดับของความเป็นส่วนตัว ไม่ได้จำกัดหน่วยการละเมิดแค่ระดับปัจเจก แต่รวมถึงชุมชนและสังคมด้วย เช่น นักข่าวพลเมือง ที่แม้จะเขียนข่าวด้วยความปรารถนาดี แต่แง่หนึ่งอาจละเมิดความเป็นส่วนตัวของชุมชนหรือสังคมนั้น กรณีนี้จะเห็นว่ามีความเป็นส่วนตัวในระดับชุมชนอยู่

สังคมไทยบอกว่าเรื่องบางคนควรถูกเปิดเผยเพราะกระทบสาธารณะ ถามว่าเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ว่าการกระทำของคนๆ นี้มีผลเสียต่อสังคม และบนบรรทัดฐานของใคร สังคมไทยซับซ้อนมากขึ้น ไม่สามารถบอกได้ว่า ดี เลว มีแบบเดียว ทำให้ต้องคิดต่อว่า ในการควบคุมการละเมิด การควบคุมการบุกรุกความเป็นส่วนตัว แม้กฎหมายจะมีประโยชน์ แต่ทำอย่างไรให้กฎหมายไม่แข็งเกินไป หรือเปิดให้ละเมิดปัจเจกและภาคประสังคมเข้าไปอีก

คณาธิป ทองรวีวงศ์
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น

ความเป็นส่วนตัว พิจารณาจากศาสตร์เดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้หลายศาสตร์ประกอบกัน มีนักวิชาการบอกว่า ความเป็นส่วนตัวมันสัมพัทธ์และมีพลวัต โดยต้องดูเทียบกับสิทธิอื่นในทางตรงข้าม เช่น สิทธิความเป็นส่วนตัว กับสิทธิที่จะรู้ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งกฎหมายต้องพยายามหาจุดสมดุล

การทำความเข้าใจความเป็นส่วนตัวต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ซึ่งมีความขัดแย้งในตัวเอง คือ อยากมีความเป็นส่วนตัว ขณะที่ก็อยากแชท แชร์ แฉ ขึ้นอยู่กับว่าเขาต้องการอะไร

ปัญหาของกฎหมายไทยต่อประเด็นความเป็นส่วนตัว
-ด้านเนื้อหา ไม่มีกฎหมายโดยตรงมาบังคับใช้ ต้องปรับใช้กับกฎหมายที่มีอยู่ โดยยกตัวอย่างหากถูกรบกวนทุกช่องทางจากการขายตรง ทั้งสแปมเมล หน้าเฟซบุ๊ก โทรศัพท์ เอสเอ็มเอส เมื่อไปแจ้งความ ตำรวจก็อาจไม่รับแจ้งได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ  อีกตัวอย่างคือ การถ่ายรูป ไม่มีกฎหมายไทยสักฉบับที่บอกว่าการถ่ายรูปผู้อื่นผิด ตำรวจจะรับแจ้งความเพียงกรณีถ่ายภาพลามกอนาจารเท่านั้น ภาพในลักษณะอื่นไม่คุ้มครอง หรือไม่ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเสียชื่อเสียงอย่างไร  กรณีนี้ เคยมีชาวต่างชาติถ่ายภาพคนนั่งหลับบนรถไฟฟ้า แล้วไปขายได้เป็นพันดอลลาร์ แต่ประชาชนกลับไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไร ขณะที่คนถ่ายรูปได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ภาพถ่าย

อยากให้มี social sanction โดยช่วยกันดูแล ในต่างประเทศ มีความพยายามให้เกิดการกำกับกันเอง เช่น ในสหรัฐฯ อัยการเรียกเฟซบุ๊กมาพูดคุย และทำข้อตกลงกัน ให้คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

-ด้านการบังคับใช้ ยกตัวอย่างกรณีผู้หญิงคนหนึ่งเคยถูกนำภาพและข้อมูลในเฟซบุ๊กไปเปิดบัญชีชื่อใหม่ ทำให้เจ้าตัวเสียหาย ปรากฏว่า เมื่อไปแจ้งตำรวจ ตำรวจบอกให้ไปที่กระทรวงไอซีที ทั้งที่ตำรวจมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว เมื่อไปถึงไอซีที ไอซีทีก็ประสานเฟซบุ๊กให้เอาออก ผลคือแม้จะประสานงานให้เอาออกได้ แต่อาชญากรยังลอยนวลอยู่ ถ้าเป็นอย่างนี้คนทำก็ยังสามารถนำข้อมูลและภาพถ่ายไปใช้สร้างเพจได้อีก ถามว่า ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างนี้ทุกครั้งหรือ

เสนอให้มีการวิจัยเพิ่มเติมในประเด็น
-cybey stalking การเฝ้าติดตามคุกคามออนไลน์ กฎหมายไทยยังไม่มีเรื่องนี้ มาให้ความสนใจตอนที่ถูกฆ่าไปแล้ว
-cybey harassment การคุกคามออนไลน์ ส่วนใหญ่มีมูลเหตุจากเรื่องเพศ
-cyber bullying การกลั่นแกล้งออนไลน์ ในต่างประเทศ พบกรณีเด็กนักเรียนฆ่าตัวตายเพราะถูกกลั่นแกล้งออนไลน์จำนวนมาก ขณะที่ของไทยยังไม่มีการสำรวจเรื่องนี้

กฎหมายไทยยังไม่มีคอนเซ็ปท์เรื่องคนสาธารณะบัญญัติชัดเจน ในสหรัฐฯ พัฒนาจากคำพิพากษา แบ่งได้เป็น บุคคลสาธารณะแบบสมัครใจ, ไม่สมัครใจ และสถานการณ์บังคับ ขณะที่ของไทย ศาลก็พยายามพัฒนาจากกฎหมายอาญาเรื่องการหมิ่นประมาท โดยคนสองกลุ่ม คือ นักการเมือง และนักแสดง ให้แฉได้ หากเป็นประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ตาม คอนเซ็ปท์นี้ก็ยังไม่ชัดเจน ขึ้นกับแต่ละคดีไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท