น้ำท่วม ‘บางระกำ-บางบาล-ทุ่งพระพิมล’ ปี'54 เอาอยู่-ปีต่อไปเอาอย่างไร?!?

ฟังคนในพื้นที่รับน้ำเล่าประสบการณ์การอยู่กับน้ำเมื่อปี 2554 ‘จากบางระกำ ผ่านบางบาล ถึงนครปฐม: ประชาชนอยู่ที่ไหน?' พร้อมชง 10 ข้อเสนอบริหารจัดการน้ำภาคประชาชน ก่อนเปลี่ยนพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำสู่พื้นที่ภัยพิบัติ ภายใต้แผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน 
 
จากที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง นำแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ จำนวน 9 โมดุล 10 แผนงาน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบแต่ละแผนงานในแต่ละโมดูล เนื่องจากโครงการบริหารจัดการน้ำทุกสัญญา (โมดูล) มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
 
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้ทำให้เกิดการหยุดชะงัก โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านยังคงเดินหน้าต่อไป และขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด พร้อมเริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นใน 3 เดือนก่อนลงนามสัญญากับเอกชน 
 
ด้านความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็ไม่ได้หยุดนิ่ง หลังจากเมื่อกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสานรวม 78 องค์กร ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการดังกล่าว โดยระบุถึงบทเรียนจากความล้มเหลวและความไม่คุ้มค่าของโครงการโขง ชี มูล จี้รัฐฯ หยุดการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำ (คลิกอ่าน)
 
ล่าสุด มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ศูนย์สันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) และมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ จัดสัมมนาปัญหาน้ำท่วม 2554 ‘จากบางระกำ ผ่านบางบาล ถึงนครปฐม: ประชาชนอยู่ที่ไหน?’ ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ส.ค.56
 
นำเสนอผลศึกษาการปรับตัวของชุมชนเพื่อรับน้ำท่วม ‘จากบางระกำ ผ่านบางบาล ถึงลุ่มน้ำท่าจีน/ทุ่งพระพิมลราชา ภายใต้แผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน’ ในพื้นที่ศึกษา 3 พื้นที่ คือ ทุ่งบางระกำ ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ทุ่งบางบาล ต.บางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และลุ่มน้ำท่าจีนตอนล่าง/ทุ่งพระพิมลราชา จ.นครปฐม
 
 
พื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำ สู่พื้นที่ภัยพิบัติ และอนาคตพื้นที่รับน้ำนอง
 
แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จัดทำขึ้นภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 โดยมีเป้าหายเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เน้นย้ำไม่ให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
 
ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำตามธรรมชาติหลายแห่งในที่ราบภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำอุดมสมบูรณ์ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง เช่น ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ทุ่งพิจิตร-ตะพานหิน จ.พิจิตร ชุมแสง-เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ทุ่งพระพิมลราชา จ.นครปฐม และพื้นที่ตามทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น
 
 
การดำเนินการในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ประกอบไปด้วย
(1) แนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ เจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ปากคลองระพีพัฒน์จนถึงปากแม่น้ำ
เจ้าพระยา
(2) แนวคันกั้นน้ำฝั่งตะวันตกคลองระพีพัฒน์ตั้งแต่ปากคลองระพีพัฒน์จนถึงชายทะเล
(3) การย้ายแนวคันพระราชดำริไปที่คลองรังสิตฯ ฝั่งใต้และคลองเจ็ด
(4) ซ่อมแซมประตูระบายน้ำและติดตั้งสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม
(5) ปรับปรุงคลองระบายน้ำภายในคันปิดล้อมพื้นที่ฝั่ง
วันตก
(6) โครงการขุดลอกแม่น้ำและคลองขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
ฯลฯ
 
 
การดำเนินการในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ประกอบไปด้วย
(1) แนวคันกั้นน้ำด้านแม่น้ำเจ้าพระยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ปากคลองพระยาบันลือจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา
(2) แนวคันกั้นน้ำด้านใต้ตามคลองพระยาบันลือ
(3) แนวคันกั้นน้ำด้านใต้ตามคลองพระพิมล
(4) แนวคันกั้นน้ำด้านใต้ตามคลองมหาสวัสดิ์
(5) แนวคันกั้นน้ำฝั่งตะวันออกริมแม่น้ำท่าจีน จากปากคลองพระยาบรรลือด้านแม่น้ำท่าจีนถึงปากแม่น้ำท่าจีน
(6) จัดทำ Canal Street ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 4
(7) จัดทำ Canal Street ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 5
(8) ขยายทางยกระดับบรมราชชนนีถึงนครปฐม 21 กิโลเมตร
(9) เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองทวีวัฒนา ให้สามารถระบายน้ำลงสู่พื้นที่แก้มลิงมหาชัย
(10) ปรับปรุงคลองระบายน้ำภายในคันปิดล้อมพื้นที่ฝั่ง
ตะวันตก
(11) ซ่อมแซมประตูน้ำและติดตั้งสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม
ฯลฯ
 
 
นอกจากนั้น การดำเนินการในพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแยกย่อย จากแผนงาน 9 โมดุล ซึ่งอนุมัติงบประมาณก่อสร้างโครงการก่อนที่จะเริ่มกระบวนการเพื่อสรรหาเอกชนผู้ชนะการประมูล ทำให้เกิดปัญหาเพราะไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าโครงการแยกย่อยเหล่านั้นแล้วเสร็จหรือไม่ และส่งผลกระทบอย่างไร
 
รวมทั้งเกิดคำถามตามมาว่าโครงการแยกย่อยเหล่านี้ ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แล้วแต่กรณีหรือไม่ อย่างไร
 
สภาพพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยน้ำท่วม ในเขตสหกรณ์คลองโยง จ. นครปฐม ถ่ายเมื่อช่วงเดือน พ.ย.54 
โดย:  เอก ตรัง 
 
หวั่นนครปฐมช้ำหนัก หากทำฟลัดเวย์ตะวันตก
 
ประเชิญ คนเทศ ที่ปรึกษาชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน นครปฐม กล่าวว่า พื้นที่ทุ่งพระพิมลราชา 2.6 แสนกว่าไร่ กินอาณาเขตพื้นที่ไทรน้อย บางบัวทอง บางใหญ่ บางกรวย และพุทธมณฑล ต้องรับมือกับน้ำกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตรเมื่อปี 2554 โดยไม่มีใครสนใจคนตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่ ปีถัดมาจึงมีการเตรียมการรับมือโดยใช้เครื่องสูบน้ำจำนวนมาก โดยใช้งบเร่งด่วน 1.2 แสนล้านที่พ่วงมากับแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท 
 
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดั้งกล่าวอาจไม่ช่วยปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อการทำฟลัดเวย์ตะวันตกตามโครงการรัฐบาลแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้นครปฐมกลายเป็นพื้นที่รับน้ำท้ายสุด หากเกิดความผิดพลาดจะรับผลกระทบหนัก นอกจากนี้ ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบแล้วจากการสร้างถนนสูงเพื่อเป็นคันล้อมป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ  ทั้งที่ พุทธมณฑลสาย 5 นครชัยศรี และบางกรวย    
 
ส่วนข้อเสนอของประเชิญคือการทำให้พื้นที่เป็นฟลัดเวย์ธรรมชาติ มีน้ำหล่อเลี้ยงในขณะเดียวกันก็สามารถระบายน้ำออกไปได้ ไม่ต้องไปทำฟลัดเวย์ขนาดใหญ่ที่แข็งกระด้าง และใช้ระบบเครือข่ายคูคลองที่มีอยู่เดิมในการบริหารจัดการน้ำให้ดี หากทำตรงนี้ได้สำเร็จ ด้วยประสิทธิภาพแม่น้ำท่าจีนจะไม่จำเป็นต้องทำฟลัดเวย์ตะวันตกเลย
 
สภาพพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยน้ำท่วม ในเขตสหกรณ์คลองโยง จ. นครปฐม ถ่ายเมื่อช่วงเดือน พ.ย.54 
โดย:  เอก ตรัง 
 
จวกปรับโครงการจำนำข้าวไม่คิดถึงคนในพื้นที่รับน้ำ
 
ส่วนบุญลือ เจริญมี ประธานสหกรณ์คลองโยง จ.นครปฐม ในฐานะคนพื้นที่ทุ่งพระพิมล กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ว่า อดีตเมื่อน้ำมาคนในชุมชนจะดีใจ เพราะน้ำจะนำเอาทรัพยากรธรรมชาติเข้าสู่ชุมชน เอาตะกอนดินที่เป็นปุ๋ยลงมาในพื้นที่พักน้ำ และมียังวิถีของคนทำอาชีพประมงน้ำจืดที่จะหาปลาในน้ำที่ไหลมาจากทุ่งสองพี่น้อง (ทุ่งพระยาบันลือ) ลงมาทุ่งพระพิมลไปสามพราน ก่อนที่นำจะไหลลงทะเลไป ส่วนเกษตรก็จะเก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย.ก่อนน้ำมา
 
ต่อมาน้ำหายไป วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป ผู้คนเปลี่ยนไปใช้ถนน คลองถูกละทิ้งและถูกบุกรุกทั้งโดยคนทั่วไปและรัฐที่ขยายพื้นที่ถนนเบียดคลอง ทำให้ทางน้ำแคบเล็กลง ส่วนพื้นที่ลุ่มที่เป็นแอ่งก็มีการก่อสร้างเกิดขึ้น ทั้งมหาวิทยาลัย สนามกอล์ฟ และโรงถ่ายหนังซึ่งน้ำเข้าไม่ได้ ทำให้พื้นที่รับน้ำลดขนาดลง ขณะที่น้ำมาเท่ากันทุกปี
 
บุญลือ เล่าว่า เมื่อปี 2518 เกิดน้ำท่วมสูงถึง 1 เมตร ต่อมาปี 2538 น้ำท่วมสูงขึ้นเป็น 1.20 เมตร สังเกตได้ว่าพื้นที่รับน้ำลดน้อยลงเพราะเริ่มมีการตัดถนนมากขึ้น จนมาถึงปี 2554 พื้นที่ทุ่งพระพิมลราชาถนนตัดเต็มพื้นที่ ทำให้น้ำถูกบีบเหมือนถูกทำให้โกรธและแสดงอำนาจขึ้นมาจนทุกคนเดือนร้อน
 
“รัฐต้องการสู้กับธรรมชาติ ต่างจากคนโบราณที่พยายามอยู่ร่วมกับธรรมชาติ คนคิดว่าเก่งบังคับธรรมชาติได้ สุดท้ายจึงเกิดผลกระทบขึ้น” บุญลือกล่าว
 
บุญลือ กล่าวด้วยว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ขณะนี้ ทำให้เกษตรไม่แน่ใจว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร เนื่องจากพื้นที่เกษตรกว่า 140,000 ไร่ เกษตรที่ปลูกข้าวไม่สามารถเข้าโครงการจำนำข้าวรอบใหม่ที่มีการปรับเกณฑ์ได้เลย เพราะชาวบ้านไม่สามารถรอเก็บเกี่ยวในเดือน ต.ค.ได้เพราะน้ำมาแล้ว ดังนั้นโครงการที่รัฐจะช่วยเหลือควรต้องรับฟังคนพื้นที่ด้วย ไม่ใช่ประกาศเพื่อการหาเสียง หรือเพื่อเป้าให้ได้รับเลือกตั้งเท่านั้น
 
สภาพน้ำท่วมที่ จ.พิษณุโลก เมื่อปี 2554
 
‘บางระกำ’ ยืนยันขอเลือกน้ำท่วมมากกว่าน้ำแล้ง
 
“น้ำให้ชีวิต น้ำคือชีวิต ถ้าไม่มีน้ำคนก็ไม่มีชีวิต” วิบูลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบางระกำเมืองใหม่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวถึงความสำคัญของน้ำสำหรับคนในพื้นที่
 
นายกเทศมนตรีตำบลบางระกำเมืองใหม่ นำเสนอมุมมองปัญหาน้ำท่วมจากพื้นที่ว่า น้ำท่วมในบางระกำเกิดขึ้นปกติทุกปีจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนริมแม่น้ำยมตั้งแต่สมัยโบราณ แต่สื่อมวลชนและบุคคลภายนอกมักมองเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นหายนะ และคิดว่าชาวบ้านจะประสบความยากลำบาก ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะน้ำท่วมจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ จนกระทั่งมีการปิดกันมีการบังคับน้ำ
 
วิบูลย์ กล่าวด้วยว่า บางระกำเริ่มมีปัญหาเมื่อเกิดระบบชลประทานขึ้นเมื่อราวปี 2520 ภาครัฐได้ใช้พื้นที่บางระกำในการรองรับน้ำ ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มมากกว่าปกติ ตั้งแต่นั้นบางระกำจึงเกิดน้ำท่วมหนัก นอกจากนั้นเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนโครงการบางระกำโมเดลเพื่อหวังแก้ปัญหาน้ำท่วมแต่นั้นไม่สามารถแก้ปัญหานำท่วมได้เพราะพื้นที่ไม่เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งรัฐบาลไม่เคยถามว่าอะไรคือสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ
 
นายกเทศมนตรีตำบลบางระกำเมืองใหม่ เสนอแนวทางให้ทุกคนรวมถึงสื่อมวลชนปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่าชาวบ้านบางระกำสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเมื่อน้ำท่วม เป็นพื้นที่พิเศษ แต่สำหรับเกษตรกรได้รับความเสียหายนั้น เสนอว่าภาครัฐจะต้องชะลอน้ำไม่ให้เข้าทุ่งก่อนการเก็บเกี่ยวคือ 15 ส.ค.ของทุกปี แต่หลังจาก 15 ส.ค.แล้ว เกษตรกรต้องการน้ำ ฉะนั้นจะต้องเปิดน้ำให้เข้าทุ่งเพื่อกักเก็บตามธรรมชาติจนถึง ธ.ค.เมื่อน้ำยมลดระดับจึงปล่อยน้ำลงมาเพื่อให้คนท้ายน้ำไม่เดือดร้อน ตรงนี้คิดว่าจะช่วยเก็บกับน้ำได้หลายล้านลูกบาศก์เมตรในพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ซึ่งจะถูกน้ำท่วมอยู่แล้ว โดยภาครัฐก็ไม่ต้องเสียงบประมาณจำนวนมากมาดำเนินงาน เพียงแต่ต้องหันมาฟังเสียงประชาชน
 
อีกทั้งเสนอว่า ผังเมืองรวมจังหวัดหรืออำเภอไม่ควรกำหนดเฉพาะพื้นที่สีเขียว พื้นที่สีม่วงแหล่งอุตสาหกรรม หรือพื้นที่ที่อยู่อาศัยเพียงเท่านั้น แต่ควรกำหนดว่าพื้นที่ไหนที่จะไม่ให้มีน้ำเพื่อประชาชนได้อยู่อาศัย และพื้นที่ไหนที่ให้น้ำอยู่ได้ เป็นพื้นที่รับน้ำที่ประชาชนสามารถอยู่ได้อย่างสุขสบาย โดยได้รับความเห็นชอบจากประชาชน และควรมีระบบของการเก็บกักน้ำให้ความอุดมสมบูรณ์ลงสู่ใต้ดิน
 
วิบูลย์ ย้ำด้วยว่า ชาวบ้านไม่ได้อยู่เพื่อหวังพึ่งพาถุงยังชีพตลอดไป แต่อยู่เพื่อพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ฉะนั้นภาครัฐต้องสร้างกระบวนการใหม่ที่รับฟังเสียงของชาวบ้านและต้องปรับทัศนคติว่าน้ำท่วมไม่ใช่สิ่งอันตราย แต่เป็นเป็นโอกาสของเกษตรกร
 
“ถ้ามีทัศนคติต่อเรื่องนี้ใหม่ คนควรจะอยู่ร่วมกับน้ำและน้ำควรให้ประโยชน์กับคน มันจะไม่มีคำว่ามอเตอร์เวย์ มันจะไม่มีคำว่าฟลัดเวย์ด้วย”  นายกเทศมนตรีตำบลบางระกำเมืองใหม่กล่าว
 
ส่วนสงัด มายัง ผู้แทนชุมชนท้องถิ่น พื้นที่บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ชาวบ้านบางระกำพร้อมรับมือและวางแผนกับปัญหาน้ำท่วมในทุกๆ ปีอยู่แล้ว และสภาวะแห้งแล้งเป็นเรื่องที่คนบางระกำวิตกกังวลมากกว่าน้ำท่วม หลักการจัดการน้ำที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตของชาวบ้านบางระกำจึงไม่ใช่การไม่ให้น้ำท่วม สำหรับชาวบ้านบางระกำแล้วยืนยันว่า ขอเลือกน้ำท่วมมากกว่าน้ำแล้ง
 
สงัด กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ชุมชนกำลังมีปัญหาจากการที่รัฐบาลยัดเยียดโครงการหลายๆ โครงการเข้ามาโดยที่ชุมชนไม่รู้เรื่องเลย เช่นการขุดลอกคลองหลายแห่งที่ค่อนข้างสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว มีการปลูกต้นไม้ ปลูกหญ้าริมคลองเอาไว้ มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาดำเนินการหลายหน่วยงานโดยไม่รู้ว่าหน่วยงานไหน
 
ทั้งนี้ โครงการเร่งด่วนในพื้นที่ อ.บางระกำ ขุดลอกบึงประมาณ บึงขี้แร้ง และบึงตะเคร็ง 3 บึงหลักในพื้นที่ รวมเนื้อที่ 3,217 ไร่ งบประมาณ 629 ล้านบาท หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะรองรับน้ำในลุ่มน้ำยมช่วงฤดูหลากนี้ได้ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สำหรับชาวบ้านเห็นว่าแก้มลิง 3 บึงไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่มีส่วนร่วมกับท้องถิ่นร่วมด้วย
 
 
คนบางบาลแฉรัฐมัดมือชก ทำพื้นที่เป็นแก้มลิง
 
ส่วนที่บางบาล ปลายน้ำภาคกลางจากชัยนาถลงมาอยุธยา พื้นที่รับน้ำก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ
 
กระแส บัวบาน กำนันตำบลบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังปี 2500 ที่สร้างเขื่อนเจ้าพระยาเสร็จและมีการทำระบบชลประทานซึ่งมีสร้างคันกั้นน้ำ รวมทั้งการสร้างถนนขวางทางน้ำ ทำให้พื้นที่บางบาลจากเดิมที่เป็นแหล่งรับน้ำปกติต้องเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งและมีระดับน้ำสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการทำนา ชาวนาจึงขายที่ดินให้นายทุนก่อนอพยพเข้ากรุงเทพฯ จนปัจจุบันเหลือชาวนาเพียง 10 % และล้วนเช่าพื้นที่ทำนาจากนายทุน นอกนั้นเป็นชาวนาจากนอกพื้นที่ซึ่งเข้ามาเช่าที่เนื่องจากเห็นประโยชน์ในการทำนาปรัง
 
กำนันตำบลบางบาล กล่าวด้วยว่า หากจะแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือช่วยกันแบ่งเฉลี่ยเกลี่ยน้ำ ควรจัดการน้ำแบบ ‘แก้มลิง’ ที่มานาน แต่สำหรับแก้มลิง 19 จังหวัด ตามโครงการ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลนั้นไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการทำในพื้นที่ข้างล่าง นอกจากนั้นการทำแก้มลิงจะเป็นประโยชน์ในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งด้วย แต่หากทำฟลัดเวย์จะทำให้น้ำไหลลงทะเลหมด
 
ธงชัย อวนกลิ่น ผู้แทนชุมชนท้องถิ่นบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวตั้งคำถามว่าการกำหนดให้พื้นที่บางบาลเป็นแก้มลิงตามแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลนั้นได้สำรวจและวิเคราะห์หรือยังว่ามีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และชาวบ้านอย่างไร ทั้งนี้ รัฐควรประเมินผลกระทบให้ชัดเจนเสียก่อน และควรมีมาตรการชดเชยหรือให้ผลประโยชน์กับชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านสามารถอยู่ได้
 
ธงชัย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบางบาลยังไม่เคยมีช่องทางหรือพื้นที่ในการมีส่วนร่วมและแสดงความเห็นต่อการกำหนดให้พื้นที่อำเภอบางบาลเป็นพื้นที่แก้มลิง ที่ผ่านมาการจัดประชุมที่หน่วยงานรัฐ และบริษัทที่ปรึกษาจัดขึ้นในพื้นที่มีลักษณะมัดมือชก เพราะจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์แผนและโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐมากกว่า แต่กลับถูกนำไปกล่าวอ้างว่าได้รับความยินยอมจากคนในพื้นที่แล้ว
 
น้ำจากอยุธยาทะลักข้ามทุ่งเข้ามายังปทุมธานีเมื่อปี 2554
 
ชง 10 ข้อเสนอบริหารจัดการน้ำภาค ปชช.
 
เวทีเสวนาได้มีการนำเสนอจากข้อสรุปงานวิจัย 'จากบางระกำ ผ่านบางบาล ถึงลุ่มน้ำท่าจีน/ทุ่งพระพิมลราชา ภายใต้แผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน' ดังนี้
 
1.การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การบริหารการกักเก็บน้ำที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่าง และการช่วยชะลอไม่ให้น้ำท่วมก่อนการเก็บเกี่ยว คือ ภายในกลาง ส.ค.ในพื้นที่บางระกำ และกลาง ก.ย.ในพื้นที่ทุ่งพระพิมลราชา
 
2.การทำขั้นบันไดชะลอน้ำจาก จ.ชัยนาทลงมาถึงอยุธยา เพื่อช่วยควบคุมปริมาณการไหลของน้ำไม่ให้หลากท่วมเป็นพื้นที่กว้าง และยังสามารถนำน้ำที่พักไว้มาใช้ในการเกษตรได้ด้วย แนวทางนี้จะช่วยให้สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จากนั้นจึงค่อยๆ ระบายน้ำลงทะเลไป
 
3.การปล่อยให้น้ำไหลผ่านทุ่งตามธรรมชาติในช่วงเวลาที่เหมาะสม และการเกลี่ยน้ำให้กระจายน้ำเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ เช่นเดียวกับในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ การควบคุมการเพาะปลูกข้าวให้เหลือ 2 ครั้งเช่นเดียวกัน
 
4.การเปิดให้มีกลไกหรือช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการบริหารจัดการน้ำภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการมีส่วนร่วมออกแบบและกำหนดแนวทางการจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่
 
5.การศึกษาเพื่อหาแนวทางการชดเชยหรือประกันภัยพืชผลให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่อาจถูกน้ำท่วมที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ และรัฐต้องมีมาตรการพิเศษที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
 
6.การจัดการน้ำด้วยโครงข่ายแนวนอน หรือระบบคูคลอง ในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง โดยใช้ศักยภาพของคลองที่มีอยู่เดิม เพื่อเป็นตัวเชื่อมในการระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ร่วมกับการจัดการประตูระบายน้ำแบบมีส่วนร่วมของประชาชนกับหน่วยงานรัฐ
 
7.การขุดลอกแม่น้ำท่าจีนบริเวณที่เป็นแหลมตลอดริมฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งกำจัดเศษวัสดุที่สะสมใต้ท้องน้ำบริเวณตอหม้อสะพาน เพื่อให้แม่น้ำท่าจีนสามารถระบายน้ำลงทะเลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
8.การจัดทำระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ของรัฐ เพื่อเป็นระบบรองรับการเดินทางให้ชุมชนอยู่ได้ในภาวะน้ำท่วม เช่น การยกถนนสูงเพื่อใช้สัญจรในช่วงน้ำท่วม
 
9.การจัดสรรงบประมาณเพื่อการมีส่วนร่วมในการรับมือน้ำท่วม เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อสำรวจและจัดทำแผนผังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมของชุมชน การวางระบบของชุมชนในภาวะฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
 
10.การทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนและสาธารณะ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนว่าปรับตัวอยู่กับน้ำท่วมได้อย่างไร 
 
 
นักวิชาการตั้งคำถาม ‘น้ำท่วม’ ปัญหาหรือวิถีชีวิต
 
ชัยยุทธ สุขศรี ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แลกเปลี่ยนในหัวข้อ ‘โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน จะสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวได้เพียงใด’ ว่า คำถามเมื่อพูดเรื่องน้ำท่วมคือการป้องกันปัญหา แต่ในระดับพื้นที่ไม่ได้มองว่าน้ำท่วมเป็นปัญหา กลับมองเป็นวิถีชีวิต อีกทั้งน้ำท่วมเป็นสภาพธรรมชาติที่หลายพื้นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ยกตัวอย่าง สภาพน้ำท่วมในปี 2554 น้ำท่วมลงมาตลอด และพอถึงใกล้ชายทะเลปรากฏว่า พื้นที่โซนนั้น น้ำกลับไม่ท่วม เพราะจริงๆ แล้ว น้ำเอ่อชะลอตัวอยู่ แล้วก็ค่อยๆ ระบายลงทะเลในจังหวะที่น้ำลง ซึ่งในลักษณะแบบนี้ ไม่ได้เรียกว่าน้ำท่วม แต่เป็นการขึ้นลงของน้ำตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นทุกคนแถบนั้น ก็จะมีการปรับวิถีของเขาให้อยู่ได้ อีกทั้งการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำนั้นมีมานาน แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่เฉพาะบางคน บางกลุ่ม ซึ่งบางคนก็ทำได้ บางคนก็ทำไม่ได้
 
ดังนั้น วิธีจัดการเรื่องน้ำท่วมจึงมี 2 รูปแบบคือ 1.วิธีที่ใช้โครงสร้าง คือ การสร้างเขื่อน ฝายกั้นน้ำ ฟลัดเวย์ ฯลฯ และ 2.วิธีไม่ใช้โครงสร้าง คือ การปรับสภาพการการใช้ชีวิต เช่น ยกบ้านเรือนให้สูงขึ้นให้น้ำไหลผ่านได้ซึ่งเป็นวิธีที่ทำมาแต่โบราณ เป็นวิถีชีวิตของคนดั้งเดิม แต่จะนำมาปรับใช้กับคนบางบัวทองที่ซื้อบ้านในหมู่บ้านจัดสรร อาจทำได้ยาก เขาจะปรับตัวเองให้ไปอยู่กับน้ำต่อไปอย่างไรเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งนี้ภาครัฐอาจจะช่วยได้บ้างในเรื่องของการดูแลโครงสร้าง เทคนิค และวิชาการต่างๆ นอกจากนั้นจะมีการจัดการในลักษณะของการปรับวิถีชีวิตชั่วขณะในจังหวะที่น้ำมา โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งมีตัวอย่างในต่างประเทศ
 
ชัยยุทธ กล่าวด้วยว่า เรามักจะได้ยินที่รัฐบาลพูดแต่ว่าการป้องกันน้ำท่วม และเรื่องของปัญหาน้ำท่วม แต่หากจะถามรัฐบาลกลับ รัฐบาลได้สอบถามผู้คนที่แท้จริงหรือเปล่า ชาวบ้านมองเป็นปัญหาหรือเป็นสภาพ กระบวนการหรือวิธีจัดการเรื่องน้ำท่วมจริงๆ มันต้องเหมาะกับทั้งเวลาและสถานที่ จะใช้วิธีเดียวกันตลอดเส้นทางอาจไม่ถูกต้อง เพราะกระบวนการทำมันต้องแตกต่างจากสภาพธรรมชาติ และสิ่งที่ห่วงกังวลคือมันจะยั่งยืนหรือไม่ จะมีผลต่อระยะยาวอย่างไร
 
“ที่รัฐบาลบอกจะแก้ไขหรือป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน แต่รัฐบาลไม่ได้ตอบคำถามเลยว่าระบบนิเวศ หรือวิถีชีวิตสำหรับคนที่ต้องการอยู่กับน้ำซึ่งเขาจะต้องถูกเปลี่ยนในระยะยาว เราจะมีวิธีการในการดูแลอย่างไร” ชัยยุทธตั้งคำถาม
 
 
แนะวิพากษ์โครงการ ดูที่ธรรมาภิบาลของรัฐ
 
ชัยยุทธ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือความไม่แน่นอนกับความเสี่ยง เนื่องจากเรากำลังพูดเรื่องธรรมชาติที่ไม่แน่นอน และในขณะเดี่ยวกันก็มีความพยายามในการควบคุม อะไรก็ตามที่ทำวันนี้อีก 50 ปีต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำฝนก็เปลี่ยน แล้วระบบที่ทำยืดหยุ่นเพื่อเตรียมรับตรงนี้หรือไม่ หากไม่ยืดหยุ่นก็มีความเสี่ยง ทั้งนี้ใน 9 โมดุลแม้มีเขียนตรงนี้ไว้บ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างกว้างๆ ไม่ระบุอย่างชัดเจน
 
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ ชัยยุทธเสนอว่า สิ่งที่รัฐบาลเขียนไว้ในเรื่องธรรมาภิบาลที่ดีในการบริหารจัดการ 6 ข้อ คือ หลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบและตรวจสอบได้ ความคุ้มค้า ตรงนี้น่าจะเป็นเกณฑ์ที่ภาคประชานใช้ในการตั้งคำถามกับรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การมีส่วนร่วม และความรับผิดชอบและตรวจสอบได้ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของการดำเนินโครงการนี้ โดยขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องเอง รัฐก็บอกว่าต้องดูแลคนส่วนใหญ่
 
นอกจากนี้ รัฐบาลไม่เคยเปิดว่าการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดในปี 2554 เป็นเช่นไร ทั้งที่ กรณีเมื่อปี 2549 ก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้นและมีรายงานการศึกษาของกรมชลประทาน โดยมีข้อเสนอ 55 ข้อ ซึ่งขณะนี้สังคมก็อยากรู้ว่ากระบวนการบริหารจัดการที่ผิดพลาดเป็นอย่างไร เพราะไม่ใช่เฉพาะรัฐที่ผิดพลาด แต่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่ผิดพลาดของชุมชนด้วย ทังนี้ในระยะยาวต้องมองอย่างเปิดกว้างในทุกฝ่าย จะให้รัฐจัดการฝ่ายเดียวโดยรวมอำนาจสั่งการระบบรวมศูนย์เป็น Single Command ในระดับปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ คนในพื้นที่ต้องรู้ภูมินิเวศน์และต้องมีส่วนเป็นผู้ร่วมกระทำด้วย
 
สำหรับการเดินหน้าต่อไป ชัยยุทธ กล่าวว่า มองในมุมนักวิชาการแล้วดูเหมือนเวทีการพูดคุยในเรื่องนี้ถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือเวทีของภาครัฐและเวทีของภาคประชาชน แต่ละฝ่ายนั่งพูดแต่ฝั่งตัวเอง ข้อมูลไม่ครบถ้วน วิพากษ์วิจารณ์ตามความรู้สึก บางคนมีการลงพื้นที่แล้วนำปัญหามาเล่าต่อแต่ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่คนในพื้นที่ต้องประสบได้ ดังนั้นอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท