Skip to main content
sharethis

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ศึกษาวิจัย และนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายยกเลิกใบกระท่อมเป็นยาเสพย์ติด หวังลดจำนวนผู้เสพย์ยาบ้า ขณะที่ กมธ.วุฒิสภาปี 2546 เคยทำรายงานเสนอให้เลิกใบกระท่อมจากการเป็นพืชเสพย์ติด เพราะสหประชาชาติก็ไม่เคยกำหนดให้เป็นพืชเสพย์ติด

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า นายชัยเกษม  นิติสิริ  รมว.ยุติธรรม  เปิดเผยว่าได้มอบหมายให้ พ.ท.นพ.เอนก ยมจินดา สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และพล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ไปเร่งศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับใบกระท่อมซึ่งมีงานวิจัยว่าไม่น่าจะเป็นยาเสพติด  ไม่ออกฤทธิ์รุนแรงเพราะเป็นพืชท้องถิ่น  ดังนั้นจึงต้องการให้ทั้ง 2 สถาบันนี้ลองนำไปศึกษาข้อมูล อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหายาเสพติดและแนวโน้มจำนวนผู้ติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากปัญหาครอบครัว  ดังนั้นหากมีตัวเลือกอื่นที่สามารถเบี่ยงเบนจากการยาบ้าหรือยาเสพติดที่รุนแรงกว่าได้  บางครั้งครอบครัวและสังคมอาจยอมรับได้ดีกว่า เช่น บางคนที่เครียดแล้วมาดื่มสุรา สูบบุหรี่  หรือในอดีตที่กินหมากแต่เมื่อยกเลิกก็ค่อยๆหายไป เหลือแต่หมากฝรั่ง  หรือเช่นประเทศเนเธอแลนด์ที่อนุญาตให้สูบกัญชาได้ในร้านกาแฟได้

นายชัยเกษม กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะดูแลผู้เสพยาเป็นผู้ป่วย เน้นการบำบัด  หากมีใบกระท่อมมาทดแทนการเสพยาเสพติดที่รุนแรงกว่า ก็เชื่อว่าจะผ่อนคลายปัญหาลงและแก้ปัญหาคนล้นคุกและที่สำคัญน่าจะเป็นการแยกผู้เสพออกมาบำบัดดูแลในลักษณะผู้ป่วยได้ดีขึ้น   อย่างตนโตมาก็เห็นใช้ใบกระท่อมแล้ว ที่เป็นพืชท้องถิ่น เชื่อว่าสากลไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดแต่ขึ้นอยู่กับการกระแสยอมรับของสังคมว่าจะเห็นด้วยอย่างไร

“ปัจจุบันมีการระบุให้ใบกระท่อมเป็นยาเสพติด ทำให้มีราคาสูงถึงใบละ 3-5 บาท  ซึ่งก็ยังมีการปลูกมากในพื้นที่ภาคใต้ เช่น จ.สงขลา รวมทั้งพื้นที่กทม. เขตมีนบุรี  หนองจอก หากยกเลิกไม่ให้กระท่อมเป็นยาเสพติดอาจช่วยลดจำนวนผู้ที่จะเสพยาบ้าได้” รมว.ยุติธรรม กล่าว

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ตนต้องการให้สื่อเสนอความเห็นนี้เพื่อรับฟังเสียงตอบรับจากสังคมด้วย  หากได้รับการยอมรับจากสังคมและมีผลวิจัยสนับสนุนว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าตนก็จะเสนอให้รัฐบาลผลักดันต่อไป

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ในเดือนพฤศจิกายนปี 2546 "คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อม เพื่อเป็นแนวทางในการเสนอว่าควรยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่" ของวุฒิสภา ได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษาพืชกระท่อม โดยระบุว่า

"จากการศึกษาหางานทางวิชาการ การเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพืชกระท่อมมาชี้แจง แสดงความคิดเห็นและตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญ การตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ปรากฏว่าทางองค์การสหประชาชาติและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติด และจากการศึกษาข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งที่บริโภคและไม่บริโภคใบกระท่อม เจ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ แพทย์พื้นบ้าน แพทย์แผนปัจจุบัน และอื่น ๆ สรุปโดยภาพรวมไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงของประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการเมือง และด้านกฎหมายแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า “ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับผลดีตอบแทนที่คุ้มค่ายิ่งจากการนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์"

"มีข้อสังเกตบางประการของคณะกรรมาธิการฯ พบว่าตั้งแต่ได้พิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว ไม่พบว่ามีสื่อมวลชนแขนงใดวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนี้ฝ่ายปกครองก็ต้องการให้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษเช่นกัน เนื่องจากมิอาจทวนกระแสข้อเท็จจริงในสังคมได้"

"ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะประโยชน์ในการที่จะทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาให้ใช้เป็นยารักษาโรคทั้งแผนโบราณ และแผนปัจจุบัน ผลการวิจัยใช้เป็นประโยชน์เพื่อการประกอบอาชีพ คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นสมควรที่จะให้ยกเลิก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ โดยเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ในมาตรา 7 (5) มาตรา 75 วรรค 2 มาตรา 76 วรรค 2 มาตรา 76/1 วรรค 3 และวรรค 4 และมาตรา 92 วรรค 2 และแก้ไขบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ" (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

 

 

ที่มาของภาพประกอบ: กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานอาหารและยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net