iLaw: 'เสรีภาพสื่อ' ซีรีส์ดัง 'ฮอร์โมน' กับร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ กสทช.

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 56 เวลา 13.00 น. คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานเสวนาเรื่อง สิทธิเสรีภาพสื่อกับพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์: เสรีภาพสื่อในวันที่ไร้ฮอร์โมนส์ เพื่อวิพากษ์ถึงปัญหาในร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ....(ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ) และจัดทำข้อเสนอเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข

 

อ.กุลนารี เสือโรจน์ คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

อ.กุลนารี อธิบายก่อนว่า ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ขยายความความกำกวมของมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยร่างนี้ประกอบด้วยสามหมวด หมวดแรกว่าด้วยการนิยามเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศ หมวดที่สองว่าด้วยแนวทางของเนื้อหาที่กสทช.จะเข้ามาควบคุมรายการข่าว หมวดสุดท้ายเป็นเรื่องมาตรการการกำกับดูแลที่อ้างอิงมาตรา 37 และ 38 ที่จะให้ผู้รับใบอนุญาตคุมเนื้อหา และกสทช.ควบคุมเนื้อหาอีกชั้นหนึ่ง

อ.กุลนารีกล่าวว่า จากร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯฉบับนี้พบปัญหาเรื่องความกำกวมในการใช้คำ ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อแล้ว คนที่จะมากำกับดูแลสื่อยังมีกลุ่มทุน กลุ่มการเมือง หากกฎเกณฑ์มีความกำกวม คนย่อมตีความไปในทางที่ตนได้ประโยชน์

ตัวอย่างความกำกวมในร่าง เช่น การกำหนดห้ามเนื้อหาที่ "ล้มล้างอำนาจประชาธิปไตยไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน" "การแสดงออกที่จงใจให้เกิดการเกลียดชังหรือลดคุณค่า" "การห้ามนำเสนอเรื่องน่ารังเกียจและขัดต่อศีลธรรม" คำเหล่านี้เป็นคำที่ต้องใช้ดุลพินิจ และเป็นเรื่องอัตวิสัยมาก

อ.กุลนารีเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกฎเกณฑ์ในต่างประเทศ จะกำหนดเนื้อหาที่ห้ามเสนอโดยมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ชัดเจนด้วย "คำที่ไม่เหมาะสม" บางกรณีก็สามารถระบุออกมาเป็นคำได้ อย่างคำว่า fuck มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ว่าจะพูดออกสื่อไม่ได้เฉพาะในบริบทที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ แต่พูดได้ในกรณีที่เป็นการสบถ นอกจากนี้ มีกลุ่มคำที่ให้ออกอากาศทางวิทยุได้ แต่ห้ามออกอากาศทางโทรทัศน์ หรือคำคำเดียวกัน บางครั้งออกอากาศในรายการข่าวได้แต่ออกอากาศในรายการบันเทิงไม่ได้

อ.กุลนารียังเห็นว่า ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ฉบับนี้เน้นควบคุมมากกว่ากำกับ ซึ่งกสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล มีหน้าที่กำกับดูแลการออกอากาศให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์ภายใต้บรรยากาศที่ดี แต่เห็นได้จากร่างฉบับนี้ว่า กสทช.ข้ามอำนาจมาคุมเนื้อหาสื่อมากเกินไป

อ.กุลนารียังให้ความเห็นถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า กระบวนการของกสทช.ที่ผ่านมามักให้การมีส่วนร่วมอยู่ที่ปลายทาง แค่การทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้าย ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ควรเปิดกระบวนการมีส่วนร่วมให้ประชาชนตั้งแต่ขั้นต้นของการยกร่าง

นักวิชาการจากคณะวารสารศาสตร์เสนอว่า กสทช.ต้องระมัดระวังการใช้อำนาจขององค์กรกำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จ หากการออกระเบียบเกี่ยวกับการกำกับดูแลสามารถผลักอำนาจไม่ให้อยู่เพียงแค่องค์กรใดองค์กรเดียว น่าจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า วันนี้คนที่อยู่ในสังคมไทยน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าความพยายามจะสร้างกติกาไม่ว่าจะเรื่องอะไรเป็นเรื่องที่ลำบากสุดๆ กติกาในที่นี้หมายถึงว่าเราจะทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง มันยากเพราะคนมีความเห็นต่างกันไม่เห็นพ้องต้องกันในทุกเรื่อง และคนที่ไม่เห็นพ้องต้องกัน ก็มีทั้งพื้นที่และเครื่องมือในการแสดงความไม่เห็นพ้องต้องกันที่ว่านี้ด้วย

ความไม่เห็นพ้องต้องกันทำให้ไปไหนค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะกติกาว่าอะไรบ้างสมควรนำเสนอในที่สาธารณะผ่านสื่อได้ เพราะมันกระทบหลักใหญ่ว่าด้วย "เสรีภาพในการแสดงออก" เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้จะต้องมีการลุยกันอย่างหนักหนาสาหัสเป็นธรรมดา

การใช้คำแต่ละคำในร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ พอเอาไปใช้จริงก็ยากหมด เช่น คำว่า "ความมั่นคง" ตีความได้ต่างกันมากขึ้นอยู่กับว่าคนตีความโฟกัสไปที่ไหน ความมั่นคงที่ว่านี้คือความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงของระบบการเมือง หรือความมั่นคงของมนุษย์ เพราะคำตอบที่ได้จะเป็นคนละเรื่อง หรือแม้โฟกัสไปที่เรื่องเดียวกันก็ยังคิดเห็นต่างกันได้ "ความสงบเรียบร้อย" "ศีลธรรมอันดีงาม" คำต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่โตมาก จะยิ่งเห็นต่างกันเยอะมาก เพราะฉะนั้น มันก็จะเกิดการโต้เถียง เพราะคนมีพื้นและก็มีข้อมูลในการโต้เถียง ในที่สุดเรื่องเหล่านี้จะไม่มีทางนิ่ง และจะอันตรายที่จะทำให้มันนิ่ง

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เชื่อว่า ถ้าจะตัดสินว่าอะไรควรหรือไม่ควรปรากฏ ในที่สุดจะตัดสินไม่ได้ทุกอย่าง แท้ที่จริงแล้วมันคลุมเครือ และต้องอาศัยการตีความของคน ซึ่งบังเอิญคนที่ใช้อำนาจรัฐไทยในขณะนี้ช่วยคิดแทนเรา เอารสนิยมของท่านมาบอกเราว่าอะไรที่เราควรดูไม่ควรดู เพราะฉะนั้น ซีรียส์เรื่อง "ฮอร์โมน" จึงโดนไปด้วยเต็มๆ

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าทุกคนคิดเหมือนกันหมดในเรื่องเพศก็คงไม่เป็นไร แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าเรื่องไหนๆ คนก็คิดไม่เหมือนกัน สุดท้ายเมื่อหลักมันคลุมเครือ จึงต้องอาศัยการตีความ แต่จะเอาการตีความของใครเป็นตัวตั้งก็คงจะต้องถกเถียงกันอย่างมาก เรายินดีหรือไม่ที่จะให้คนบางคนมาตีความแทนเรา ซึ่งเดาว่าชนชั้นกลางจะไม่เอา จะขอเลือกเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องถกเถียงกันไปอีกยาวไกลมาก

นอกจากนี้ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ยังเห็นว่า สิ่งที่น่ากลัวมากก็คือวิธีคิดของพวกเราที่ว่าอะไรควรหรือไม่ควร จะทำให้เราจะหลีกเลี่ยงเรื่องบางเรื่องเพราะเรารู้สึกว่าคนอื่นเขาไม่ชอบ ในที่สุดจะมีบางเรื่องหรือบางความคิดเห็นที่ตายไปเองโดยไม่ต้องถูกนำเสนอเลย

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เชื่อว่า คนที่ควรจะต้องตัดสินว่าอะไรควรจะได้เผยแพร่ต่อไป อะไรจะตายคือพวกเรา ไม่ใช่กำหนดมาตรการว่าอะไรควรจะถูกกันออกเลยตั้งแต่แรกหรือไม่ สิ่งที่ดีที่สุดคือปล่อยให้คนได้เถียงกันอย่างที่เป็นอยู่นี้

"เราเถียงกันมันหยดในเรื่องต่างๆ ทั้งในสภาและนอกสภา เรื่องความสวยความแก่และอื่นๆ อีกมาก เพราะฉะนั้นปล่อยให้เราได้เถียงกันไหม ปล่อยให้เราตัดสินได้ไหมว่าอะไรลามกอานาจารอะไรกระทบความมั่นคงอะไรกระทบความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงาม เราต้องเชื่อมั่นว่าคนในสังคมนี้จะโตขึ้นได้จะเถียงกันได้ และในที่สุดจะเถียงกันไปเรื่อยๆ ว่าอะไรเหมาะและไม่เหมาะ อะไรต่างๆที่เป็นความคิดเห็น เป็นความเชื่อมันจะได้ไม่ถูกกันออกไปจากพื้นที่นี้โดยคนบางคนหรือความเชื่อบางชุดตั้งแต่แรก" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าว

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ในระหว่างที่บางเรื่องยังเถียงกันไม่สะเด็ดน้ำ แต่คนใช้อำนาจจะต้องใช้อำนาจแล้ว จะมีข้อเสนอยังไง รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ตอบว่า ก็คืนอำนาจให้ประชาชนสิคะ ให้เราเป็นคนตัดสิน เปิดพื้นที่ให้มากที่สุดให้คนได้ตัดสิน ให้คนที่พอใจได้พูดให้คนที่ไม่พอใจได้พูด ในที่สุดการตัดสินจะอยู่ที่เรา นั่นไม่ใช่หรือที่จะทำให้สังคมนี้นั้นเติบโตขึ้น

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า แปลว่าก็ยังควรให้ซีรียส์เรื่องฮอร์โมนยังฉายไปเรื่อยๆ ได้ ใช่หรือไม่ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ตอบคำถามว่า "อะไรที่มันไม่เหมาะ พี่ไม่ชอบพี่ก็ไม่ต้องดู คือในที่สุดมันจะ screen ออกไปเองว่าอะไรจะตาย มันต้องเชื่อมั่นในการเลือกของประชาชน คืออย่าคิดว่าคนเป็นอะไรที่โง่บัดซบอยู่ตลอดเวลา"

 

ปฏิวัติ วสิกชาติ กรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ปฏิวัติประกาศว่า ในนามของสี่สมาคมวิชาชีพสื่อ ยืนยันแล้วว่าเราจะทำสงครามต่อร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯฉบับนี้ ร่างนี้สาหัสและโหดเหี้ยมมาก หากร่างนี้ประกาศใช้ คณะนิเทศศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ จะต้องฉีกตำราทิ้งได้เลย และเอาร่างนี้มาเรียนกันแทนหากใครทำตามได้รายการก็ได้ออกอากาศ 

ปฏิวัติ ซึ่งเป็นอดีตกบฎไอทีวีสะท้อนภาพปัญหาในอดีตว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อนมีความพยายามของผู้ประกอบการที่จะเข้าแทรกแซงเนื้อหา ลักษณะไม่ต่างจากที่ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ของกสทช. เขียนเอาไว้ ที่มีทั้งความกำกวมและก้าวก่ายกัน

"ผมเป็นห่วงว่าร่างนี้จะทำให้ผู้รับใบอนุญาต (เจ้าของสถานี) เป็นผู้ตัดสินในเรื่องทั้งหมดทีเกี่ยวข้องกับกฎหมาย จากนี้ไปจะเกิดการกระทบกระทั่งกันแน่ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพกับผู้รับใบอนุญาต ร่างนี้จะทำให้รายการคุยข่าวหายไปเลย อย่าลืมนะครับ รายการคุยข่าวเป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด มันเป็นเส้นทางหนึ่งของวิชาชีพ" นายปฏิวัติกล่าว

ตัวแทนจากสมาคมวิชาชีพเสนอว่า การดูแลเนื้อหาสื่อเป็นเรื่องที่ควรให้องค์กรวิชาชีพกำกับดูแลกันเอง ไม่ใช่ให้กสทช.มากำกับเนื้อหา แต่ร่างฉบับนี้โยนทุกอย่างกลับไปที่เจ้าของสถานี จะเซ็นเซอร์กลางอากาศก็ยังทำได้

 

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวเนชั่นแชนแนล

นภพัฒน์จักษ์ กล่าวว่า ในฐานะคนทำงาน ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ฉบับนี้ก็เป็นกฎที่ดี แต่การทำงานข่าวมีความท้าทายคือต้องแข่งกับเวลาเพราะต้องออกอากาศ 24 ชั่วโมง กฎนี้่เหมือนกฎที่วางไว้ให้นักศึกษาปริญญาตรีที่มีเวลาทำสัก 4 เดือน ซึ่งต้องครบถ้วนมากในทุกๆ อย่าง

สำหรับประเด็นเรื่องการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง นภพัฒน์จักษ์มองว่า คำว่า "ครบถ้วน" มีปัญหาคือ เวลาตรวจสอบรายงานข่าว 1 ชิ้นจะตรวจสอบเวลาไหน บางครั้งนำเสนอข่าวออกไปแล้วสถานการณ์เปลี่ยน เราอาจจะมีรายงานข่าวชิ้นอื่นเพื่อมาให้ความเป็นธรรมในภายหลัง แต่ผู้บังคับใช้กฎจะเลือกใช้เฉพาะจุด บางกรณีออกอากาศรายงานข่าวผ่านไป 1 ปีมีคนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเราก็ค่อยออกอากาศใหม่ก็ได้

สำหรับประเด็นเรื่องการนำเสนอข่าวด้วยความเป็นกลาง นภพัฒน์จักษ์มองว่า คำว่า "เป็นกลาง" มีปัญหาคือ เป็นคำที่ยากว่าคืออะไร ถ้าเป็นเรื่องของการเมืองสองพรรคก็พอจะมีเส้นแบ่งได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เรื่องน้ำมัน เรื่องพระ เรื่องทางเพศ เรื่องตัดผม ก็อาจจะยาก การกำหนดว่าต้องไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่อันตรายเพราะถึงเวลาจริงอาจมีการเลือกปฏิบัติ ฝ่ายที่นำเสนอข่าวช่วยกันก็ไม่ทำอะไร พออีกฝ่ายหนึ่งนำเสนอทางตรงกันข้ามก็เอากฎไปบังคับใช้ ซึ่งกลัวว่าคนที่มีอำนาจจะเป็นคนเลือกข้างเสียเอง

สำหรับประเด็นเรื่องการห้ามผู้ดำเนินรายการมีความเห็นส่วนตัว นภพัฒน์จักษ์มองว่า ก็เป็นเรื่องยากอีก เรื่องที่ไม่เป็นภัยต่อสังคม เช่น วันนี้ฝนตกไม่อยากขับรถไปเที่ยวเลย จะเป็นความเห็นส่วนตัวที่ต้องห้ามด้วยหรือเปล่า ในทางปฏิบัติจริงๆ สถานีก็ต้องดูรสนิยมของคนดูไม่ได้ให้ผู้ดำเนินรายการออกความเห็นส่วนตัวเยอะๆ ปัญหาที่เรากลัวกันมากไม่น่าจะใช่เรื่องความคิดเห็นส่วนตัวแต่น่าจะเป็นเรื่องของ Hate Speech มากกว่า ซึ่งกระบวนการต่างๆ ก็จัดการตัวเองอยู่ได้โดยไม่ต้องมีกฎ คนทำข่าวก็ตรวจสอบกันเองได้ และไม่ใช่ว่า Hate Speech จะได้ผลตลอดเวลา

สำหรับประเด็นเรื่องการห้ามนำเสนอความเห็นทางการเมือง นภพัฒน์จักษ์มองว่า บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ แต่สุดท้ายเรื่องทรงผม เรื่องเพศ ก็เป็นเรื่องการเมืองได้ สามารถตีความได้เยอะแยะ เขาเคยนำเสนอเรื่องของน้องตุ๊ดคนหนึ่งที่จะฆ่าตัวตายเพราะอาจารย์ห้ามเป็นตุ๊ด สุดท้ายก็โดนเรื่องมองว่ามันเป็นเรื่องการเมืองและเรื่องความมั่นคงว่าไม่ควรนำเสนอเรื่องนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการเป็นตุ๊ดจะมีผลต่อความมั่นคงของประเทศนี้

สำหรับประเด็นเรื่องการระมัดระวังไม่ให้นำรายการไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองใดๆ นภพัฒน์จักษ์มองว่า ถ้ารายงานการทุจริตของนักการเมืองไป แล้วอีก 3 เดือนพรรคฝ่ายค้านเอาไปเปิดในรัฐสภาแปลว่าผิดด้วยหรือไม่? ซึ่งสุดท้ายก็ต้องดูที่ความจริงอยู่ดี ต่อให้นักข่าวเชียร์ข้างหนึ่งข้างใดจริงก็เป็นสิ่งที่น่าจะนำเสนอได้ คนร่างกฎข้อนี้คงนึกถึงช่วงการเมืองปี 52-53 แต่หากสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ก็จะมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือพ.ร.บ.ความมั่นคง ทำให้ร่างกำกับดูแลเนื้อหาของกสทช.กลายเป็นแค่หนูตัวเล็กๆ ไม่รู้ว่าจะบังคับใช้ได้หรือเปล่า

สำหรับประเด็นเรื่องการต้องจัดให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้นำเสนอ นภพัฒน์จักษ์มองว่า อุปสรรคของทีวีก็คือความเร็ว บางครั้งข่าวออกมาตอนบ่ายสาม รายการพูดคุยเริ่มสองทุ่ม จะเชิญแขกรับเชิญมาทุกฝ่ายได้อย่างไร? สุดท้ายก็จะต้องเกิดการเซ็นเซอร์ไม่นำเสนอเรื่องนั้นๆ เลย อย่างเช่นเรื่องน้ำมันรั่ว จะเชิญปตท.ได้ยากมาก ก็ต้องเชิญนักวิจารณ์หรือนักสิ่งแวดล้อมมาก่อน

นภพัฒน์จักษ์ กล่าวโดยรวมว่า การวางกฎแบบนี้ก็ดี แต่ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความสามารถมาก แต่ถ้ามีกฎแบบนี้คนที่มีความรู้ก็คงไม่ทำสื่อแล้วเพราะมันแน่นเกินไป อย่างเรื่องการเมืองถ้าห้ามออกทีวีมากๆ ก็จะไปโผล่ที่อื่น สุดท้ายคนก็ไปดูทางอินเทอร์เน็ตเอาซึ่งก็ควบคุมยาก และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เรื่องบางเรื่องที่อยู่ใต้ดินพอเรายกมาพูดบนจอโทรทัศน์แล้วก็เปิดเผยสู่สาธารณชนและมีการพูดคุยถกเถียงกัน แต่พอปิดเลย คนก็จะไม่พูดถึงเรื่องการเมืองเลย เพราะมันพูดอะไรก็ไม่ได้ พูดข้างเดียวก็ไม่ได้ ก็จะหันไปหาสื่อที่มีความรุนแรงมากกว่านี้ แล้วสุดท้ายข่าวบนโทรทัศน์ก็จะเต็มไปด้วยข่าวขี้หมูราขี้หมาแห้ง เช่น กิ้งก่าออกลูกแปดตัว ต้นไม้ขูดหวย และข่าวพีอาร์ ดารามา เกาหลีมา นักฟุตบอลมา ประกาศแต่งงาน เพราะมันไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อความมั่นคง

เวลาพูดถึงช่องที่เลือกข้างคนอาจจะนึกถึงช่องอย่าง ASTV, Bluesky, Asia update แต่เดี๋ยวนี้คนก็เริ่มตีความแล้วว่า มติชน หรือเนชั่น ก็เลือกข้างเหมือนกัน แล้วถึงเวลาที่กสทช.ตีความจะใช้มาตรฐานอะไร การเลือกข้างบางทีก็ห้ามไม่ได้ การแสดงสีหน้านิดเดียวก็อาจเป็นการแสดงออกได้

"ไม่รู้ว่าจะกลัวอะไรมากมายเพราะถ้ามันได้ผลจริงๆ Bluesky ที่ออกอากาศ 24 ชั่่วโมงแล้วก็สนับสนุนให้มีการชุมนุมที่สวนลุมฯเยอะแยะ ถ้าหากได้ผลจริงคนคงจะไปเป็นหมื่นแล้ว แต่ผมไปทำข่าวก็ไม่มีคน หรือในทางกลับกันที่บอกว่า Asia update น่ากลัวมากเพราะแท็กซี่ฟังกันเยอะ แต่เวลาเราขึ้นแท็กซี่ก็ไม่ได้ว่าจะแดงมากหรือเกลียดอภิสิทธิ์มาก เค้าก็เลือกสื่อที่จะอ่านเหมือนกันเราก็ต้องให้เกียรติเค้าเหมือนกัน ไม่ใช่ไปกลัวอะไรมากมาย ถ้าช่องเหล่านี้มันออกอากาศมากๆ เป็นการดีเสียอีกที่เราจะได้รู้จักการเมืองและนักการเมืองมากขึ้นว่าเค้ากำลังพยายามทำอะไรอยู่" ผู้สื่อข่าวเนชั่นกล่าว

นภพัฒน์จักษ์ ให้ความเห็นถึงกสทช.ด้วยว่า กลัวว่าถ้ากฎที่ออกมาเป็นแบบนี้ ส่วนมากเคสหนักๆ คนที่บังคับใช้กฎหมายก็จะใช้กฎอื่นมากำกับดูแล ส่วนกฎนี้ก็จะใช้กับเคสเล็กๆ หรือการกลั่นแกล้งกัน สุดท้ายคนที่จะได้รับผลกระทบคือ กสทช. เองจะกลายเป็นเสือกระดาษที่ไม่มีใครให้ความสำคัญ

 

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch และอาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

อ.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch กล่าวว่า มีข้อวิจารณ์ว่า กสทช.ทำตัวเป็นกบว. ตัวร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ สร้างความคลุมเครือและไม่ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นจากมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ และไม่ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 39 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ

ถ้าดูหลักเกณฑ์สากลของการกำกับดูแลเนื้อหา ต้องหาสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพกับประโยชน์สาธารณะ เงื่อนไขที่จะเป็นข้อยกเว้นที่จะมาละเมิดเสรีภาพต้องมีความชัดเจนมาก เช่น ความหมายของลามกก็ต้องชัดเจนกว่าการเขียนว่าเนื้อหานั้นๆ จะทำให้เสียประโยชน์สาธารณะ แต่ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ของกสทช.ฉบับนี้ ไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร

ตัวอย่างเช่น การแสดงความเห็นทางการเมืองก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง ผ่านการห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่จะกระทบต่อความมั่นคง กำหนดห้ามดูหมิ่นประเทศชาติ คำถามคือ การห้ามเช่นนี้มันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติจริงหรือเปล่า ในขณะเดียวกัน ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ก็ยังไม่คุ้มครองผู้ที่ต้องมุ่งให้ความคุ้มครอง เช่น เด็กและเยาวชน

"เนื้อหาที่จะละเมิด ต้องชัด กำหนดล่วงหน้า และไม่เปิดให้เกิดการใช้ดุลพินิจมากเกินไป เพราะถ้าไม่ชัด ผู้รับใบอนุญาตจะไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าต้องกังวลอะไรแล้วมันจะทำให้เกิดการตัดสินแบบกว้างๆ ไว้ก่อน" อ.วรพจน์กล่าว

อ.วรพจน์เสนอว่า นอกจากการกำหนดห้ามเนื้อหาบางประเภท ยังมีกลไกอื่นที่ทำได้อีก เช่น  watershed หรือการกำหนดช่วงเวลาการออกอากาศสำหรับเนื้อหาบางประเภท เช่น สังคมห่วงใยเด็กและต้องการป้องกันเด็กจากเนื้อหาเรื่องเพศ แต่ก็ไม่สามารถกีดกันผู้ใหญ่ทั้งหมดได้ ก็อาจทำให้รายการเหล่านี้ไปอยู่ในเวลาค่ำแทน

อ.วรพจน์กล่าวว่า โดยหลักแล้ว การกำกับเนื้อหาสื่อนั้น รัฐควรมีบทบาทในขั้นตอนสุดท้าย แต่ไม่ควรเข้าแทรกแซงในกระบวนการ ซึ่งข้อกำหนดที่มีในร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ มีลักษณะเหมือนหลักจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งควรให้คนในวิชาชีพเป็นคนกำหนดไม่ใช้ให้กสทช.เขียนให้ แต่ในร่างนี้กลับไม่กำหนดถึงกระบวนการกำกับดูแล

อ.วรพจน์เสนอว่า เมื่อสื่อเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าลักษณะต้องห้าม การแทรกแซงและลงโทษโดยรัฐควรเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม นั่นคือ รัฐต้องมีวิธีการลงโทษหลายระดับ คือ มีทั้งการเตือน การปรับ การระงับการออกอากาศ จนถึงการยกเลิกใบอนุญาต ดังนั้น กว่าจะไปถึงขั้นนั้นก็ต้องมีกระบวนการที่่ค่อยเป็นค่อยไป และต้องมีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ และพิจารณาลงโทษ ซึ่งประกาศนี้ไม่ได้พูดถึงเลย

อ.วรพจน์ย้ำหลักการว่า เมื่อเกิดกรณีใดๆ ต้องยึดหลักว่าผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน แล้วค่อยดำเนินการตรวจสอบ ไม่ใช่รีบดำเนินการซึ่งเป็นการละเมิดไปก่อน และรัฐจะเข้าแทรกแซงสื่อได้เมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขสามประการ คือ การแทรกแซงต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ต้องมีความชอบธรรมเพียงพอ และการแทรกแซงนั้นมีความจำเป็นและสังคมส่วนมากก็คิดว่าจำเป็นต้องระงับ แต่เมื่อเอาเกณฑ์เหล่านี้มาวิเคราะห์แล้วก็จะพบว่า ร่างฉบับนี้เปิดอำนาจให้กสทช.ใช้อำนาจสั่งระงับด้วยวาจาได้ทันที ซึ่งขัดกับหลักเรื่องการสมมติฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเอื้อให้กสทช.ใช้อำนาจที่ไม่ชัดเจนและโปร่งใส

อ.วรพจน์ยกตัวอย่างกรณีกสทช.เรียกผู้ผลิตซีรียส์เรื่องฮอร์โมนไปสอบถาม จู่ๆ ก็เรียกมาคุยเฉยๆ กรณีนี้เกิดผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อแน่นอน เพราะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวและใช้อำนาจเกินเลย

 

ขณะนี้กสทช. กำลังเปิดให้ ผู้ประกอบกิจการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคประชาชน หน่วยงานเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง)ประกาศกำกับดูแลเนื้อหาฯ ดังกล่าว ระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็น 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2556 - วันที่ 22 กันยายน 2556

ดังกล่าว โดยผู้สนใจสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นโดยตรง ผ่านช่องทางของกสทช.

1. ทางอีเมล์ regulation.content@gmail.com โดยตั้งชื่อเรื่อง “แสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ...”

2. นำส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ ที่ สำนักงาน กสทช. เลขที่ 87 ถนนพหลโยธิน ซอย 8 (สายลม) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

3. ทางโทรสารหมายเลข 02-2718-4426

ดูรายละเอียดและวิธีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ของกสทช. คลิกที่นี่

 

 ที่มา: http://ilaw.or.th/node/2910

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท