ตัวแทนสวนยางเจรจา รมว.เกษตรฯ รับราคา 80 บ/ก.ก.ไม่ได้ เตรียมม็อบใหญ่ 3 ก.ย.

กป.อพช.ใต้วอน รบ.หยุดใช้ความรุนแรง-แก้ไขจริงจัง ขู่ร่วมม็อบ นายกสั่งรัฐมนตรีรายคนแก้ ด้านตัวแทนเครือข่ายสวนยางหารือ รมว.เกษตรฯ ยันรับราคา 80 บ./ก.ก.ไม่ได้ ขู่หากไม่มีข้อยุติจะม็อบใหญ่ 3 ก.ย.นี้ ย้ำไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง รพ.ชะอวดวอนม็อบเปิดถนน 

28 ส.ค.56 ไทยรัฐออนไลน์ รายงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการเครือข่ายสวนยางพาราแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนชาวสวนยาง 4 ภาค นำโดย นายเทอดศักดิ์ เสริมศรี ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสวนยางพาราแห่งประเทศไทย เข้าหารือ กับนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หลังจากได้ยื่นข้อเสนอ ให้รัฐบาลไปพิจารณา

โดยนายวีระศักดิ์ จันทิมา สินธุวงศ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา 6 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวถึง ข้อเสนอที่ยื่นต่อรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องรับซื้อยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 92 บาทต่อกิโลกรัม  น้ำยางสด 81 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้อนถ้วย หรือ ขี้ยาง 83 ยาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นรมควัน ชั้นสาม 101 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดระบบการซื้อขายให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งหากยางราคาต่ำมาก รัฐจะต้องเข้าไปแทรกแซงราคา

ขณะเดียวกัน ระบุว่า การแปรรูปยางพารา ควรสนับสนุนให้มีการนำยางพารา ไปผสมกับสารเคมี เพื่อทำเป็นยางมะตอยเทพื้นถนน ซึ่งจะทำให้ได้ถนนที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

ส่วนกรณี ที่รัฐบาล ยื่นข้อเสนอ รับซื้อยางแผ่นดิบราคา 80 บาทต่อกิโลกรัมนั้น นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า เกษตรกรไม่สามารถรับข้อเสนอดังกล่าวได้ เนื่องจากขณะนี้ ราคายางแผ่นดิบชั้นสามอยู่ที่ 76 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ตลาดในจีน มีการรับซื้อยางล่วงหน้า 120 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อเปรียบราคาตลาดในไทย กับ ประเทศจีนแล้ว มีความแตกต่างกันมาก

ทั้งนี้ นายเทอดศักดิ์ ยอมรับว่า ปัญหาราคายางพารา มีการสะสมมานาน และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดทำให้มี ปัญหาบานปลาย รวมถึงในรัฐบาลชุดนี้ มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึง 4  คน ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำทำให้เกษตรกรมีการนัดรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา และย้ำว่า การชุมนุมของเกษตรกรสวนยางพารา เป็นเรื่องของความเดือดร้อน ไม่มีการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้อง  ซึ่งหากการหารือในวันนี้ ได้ข้อยุติการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 กันยายน ก็จะไม่เกิดขึ้น

นายกสั่งรัฐมนตรีรายคนแก้ม็อบสวนยาง

วันเดียวกัน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า  นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าฝ่ายประสานงานและเผยแพร่นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ (โฆษกเศรษฐกิจ) เปิดเผยถึงมาตรการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องหามาตรการเยียวยาโดยด่วน โดยให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พิจารณามาตรการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ศึกษาแนวทางลดต้นทุนการผลิตยาง ทั้งในส่วนของปุ๋ยและการจัดเกษตรโซนนิ่ง เนื่องจากข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคา 120 บาทต่อกิโลกรัมเป็นไปได้ยาก ไม่เหมือนโครงการรับจำนำข้าว เพราะถ้ารัฐบาลอนุมัติตามข้อเรียกร้องอาจเกิดปัญหาในการนำยางจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ เพื่อเอาราคาจำนำที่สูงกว่าราคาตลาด

นายวิม กล่าวต่อว่า เพราะตอนนี้มีรายงานว่าในช่วงที่ราคายางตกต่ำ ผู้ประกอบการยางรายใหญ่ได้กว้านซื้อยางกักตุนเอาไว้จำนวนมาก และใช้วิธีนำมวลชนเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลประกันในราคาที่สูง หากรัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้อง ก็จะมีการเทขายทำกำไรกันออกมา ด้านคมนาคมขนส่งผลกระทบวงกว้าง ล่าสุดทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่าผู้โดยสารที่จะเดินทางไปทางภาคใต้ได้แจ้งยกเลิกตั๋วโดยสารทั้งหมด โดยนายกฯได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม
 
รพ.ชะอวด ยาขาดแคลน-คนไข้เดินทางลำบาก วอนม็อบเปิดถนน
 
แพทย์หญิง อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลชะอวดว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันปิดถนนสายเอเชียที่ 41 แยกควนหนองหงส์ ต.ควนหนองหงส์ และสามแยกควนเงิน ต.บ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ทำให้โรงพยาบาลชะอวดประสบปัญหาไม่ได้รับความสะดวกในการส่งต่อผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช ได้เนื่องจากถนนสายรองที่ใช้สัญจรไปมาเป็นถนนดินลูกรัง ผิวจราจรขรุขระ อาจจะทบกระเทือนต่อผู้ป่วยได้ ดังนั้นจึงต้องแก้ไขโดยให้มีการต่อส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลพัทลุงแทน ซึ่งได้มีการประสานงานกันไว้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยาและเวชภัณฑ์บางตัวเริ่มขาดแคลน บริษัทขนส่งไม่สามารถนำไปส่งที่โรงพยาบาลได้ แต่อย่างไรก็ตามทางแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ยังพร้อมให้บริการผู้เจ็บป่วยตลอด 24 ชั่วโมง
 
ด้าน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชะอวด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ อสม.อำเภอชะอวด ได้ออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือจากผู้ชุมนุมเปิดเส้นทางจราจรด้วย โดยในแถลงการณ์ ระบุว่า ความเดือดร้อนของโรงพยาบาลชะอวด และสาธารณสุขอำเภอชะอวด เราขอประกาศว่าการที่มีผู้ชุมนุมบางคนจากต่างอำเภอต่างจังหวัดได้เข้ามาปิดถนน ปิดทางรถไฟบ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เกิดความเดือดร้อนอย่างรุนแรง ดังนี้ 1.รถพยาบาลฉุกเฉินส่งผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชไม่ได้ 2. ขาดยาและเครื่องมือทางการแพทย์ และรถเข้ามาส่งไม่ได้ 3 คนไข้ที่แพทย์นัดหมายมาและไปตรวจตามกำหนดไม่ได้ และ 4 แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ต้องเดินทางไป-กลับ ได้รับความเดือดร้อน.
 
ชมรม อสม.ชะอวด แถลง สนับสนุนข้อเรียกร้อง แต่ไม่เห็นด้วยกับการปิดถนน
 
เช่นเดียวกับชมรม อสม.ชะอวด ได้ออกแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่มีการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรพี่น้องประชาชนชาวอำเภอชะอวด และอำเภอ/จังหวัดใกล้เคียง ในอำเภอชะอวดจำนวน 2 จุด คือ สี่แยกบ้านควนหนองหงส์ และแยกทางข้ามรถไฟบ้านตูล และมีการปิดถนนบริเวณดังกล่าวนั้น ทางชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อำเภอชะอวด เห็นด้วยกับการเรียกร้องของผู้ชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลขึ้นราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมันที่มีราคาตกต่ำในครั้งนี้ แต่ทางชมรม อสม. อำเภอชะอวด ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมแล้วมีการปิดถนนในเส้นทางที่มีการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเดือดร้อนในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจประจำวัน มีความเดือดร้อนในการเดินทางไปรับริการรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ยามเจ็บป่วย หรือตามแพทย์นัด หรือกรณีส่งตัวผู้ป่วยไปรับบริการฉุกเฉิน ทางชมรม อสม. อำเภอชะอวด จึงขอความร่วมมือมายังแกนนำผู้ชุมนุมชาวอำเภอชะอวดและผู้ชุมนุมจาก อำเภอ/จังหวัดใกล้เคียงขอให้เปิดถนนเส้นทางจราจรในจุดที่มีการชุมนุมดังกล่าวด้วย

พท.ซัด ปชป.หยุดชักใยม็อบสวนยางล้มรัฐบาล

วันเดียวกัน 11.00 น. เนชั่นแชลแนล รายงาน ที่รัฐสภา นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย และนายวรชัย เหมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงเรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์ อย่านำการเมืองเข้าไปสู่การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ปักหลักปิดถนน และทางรถไฟ ที่บ้านควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช โดยนายก่อแก้ว กล่าวว่า ขณะนี้มีชาวสวนยางพาราบางส่วนยอมรับข้อเสนอที่รัฐบาลจะประกันราคายางพาราอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่ยอมรับและจะปิดถนนเพิ่ม ทั้งที่รัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด และจะมาเทียบกับการแก้ปัญหาราคาข้าวไม่ได้ เนื่องจากยางพาราไม่ใช่สินค้าพรีเมียมกำหนดราคาตลาดโลกเองไม่ได้ และตนก็เป็นลูกชาวสวนยางคนหนึ่งคิดว่าราคา 80 บางต่อกิโลกรัมอยู่ได้สบาย ๆ

นายวิภูแถลง กล่าวว่า จากการลงตรวจสอบในพื้นที่ อ.ชะอวด พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการใช้ม็อบสวนยางในการโค่นล้มรัฐบาล โดยการขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุมของ 3 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คือ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายอภิชาต การิกาญจน์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่ประกาศว่าไม่ใช่ผู้อยู่เบื้องหลังแต่เป็นผู้อยู่เบื้องหน้าการชุมนุมครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลสถานการณ์ อย่าให้มีมือที่ 3 เพราะถ้าวันนี้เกิดเลือดตกยางออกมีคนเสียชีวิตก็จะเข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ ขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ หยุดพฤติกรรมดังกล่าวอย่าให้การเมืองเข้าไปแทรกการชุมนุมไม่เช่นนั้นจะจบลำบาก เพราะทราบว่ามีการขนคนจากจังหวัดอื่นมาร่วมด้วย

 

ผวจ.นครศรีฯยันไม่คิดสลายม็อบสวนยาง

วันเดียกัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันภาคใต้ ที่ยังคงรวมตัวปิดถนนบริเวณสี่แยกควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ รวมทั้งที่บริเวณแยกบ้านตูล ทำให้รถยนต์ และรถไฟไม่สามารถผ่านได้ โดยนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าตำรวจออกหมายจับแกนนำ 15 รายว่า ตนเองยังไม่เห็นหมายจับ

อย่างไรก็ตาม ตำรวจคงจะไม่รีบร้อนจับวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะคดีมีอายุความ และวันนี้ สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย และตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้ง จ.นครศรีธรรมราช จะไปช่วยชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านชะอวด เจรจากับผู้ชุมนุมอีกรอบ เพราะชาวบ้านเดือดร้อน บุตรหลานไม่ได้ไปโรงเรียน ขณะที่โรงพยาบาลชะอวด นำส่งผู้ป่วยไปยังรพ.จังหวัดไม่ได้ การขนส่งต่างๆ รถไฟเป็นอัมพาต
 
ผู้ว่าราชการ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวด้วยว่า ในการเจรจาก่อนหน้านี้ ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งยอมรับราคายางพารา กก.ละ 80 บาท เพราะมองว่าเกินราคาต้นทุนแล้ว แต่มีบางส่วนที่ยังไม่ยอมรับ ซึ่งวันนี้ นายกฯสั่งการให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิญตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง 4 ภาค มาเจรจาที่ กทม.
 
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯนครศรีธรรมราชยืนยันว่า ไม่เคยคิดจะสลายการชุมนุม และคงต้องใช้การเจรจาแก้ปัญหา ส่วนภาพกระทบกระทั่งกัน ในวันที่ 23 ส.ค.นั้น ยอมรับว่า ต้องมีบ้าง เพราะมีการขัดขืนการจับกุม อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ถูกทำร้ายร่างกาย ขอมาแจ้งความ เจ้าหน้าที่พร้อมดำเนินคดีไม่ว่าผู้ที่ทำร้ายจะเป็นตร. หรือ อส
 

ชาวสวนยางนครพนมแถลงเตรียมร่วมชุมนุมกทม. 3 ก.ย.

28 ส.ค. 56 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ พร้อมด้วย นายวิชิต สมรฤทธิ์ อายุ 53 ปี ประธานเครือข่ายยางพารา จ.นครพนม พร้อมด้วย นายสันต์ อยู่บาง อายุ 50 ปี นายกชาวสวนยางนครพนม พร้อมตัวแทน เกษตรกร ยางพาราจังหวัดนครพนม ร่วมกันแถลงข่าว ประกาศจุดยืน ที่จะยกระดับการชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายาง หลังเคยมีการเรียกร้องผ่านระดับจังหวัด ไปยังรัฐบาลหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยมีการประกาศจะระดมเกษตรกรชาวสวนยางนครพนม ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน เดินทางไปร่วมชุมนุมครั้งใหญ่ที่ กทม. ในวันที่ 3 ก.ย. 56 เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ทำให้ราคายางตกต่ำ แลปัจจุบันต้องขายยางพาราในราคาขาดทุน

นายศุภชัย กล่าวว่า ในการออกมาประกาศจุดยืนในการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือปัญหาอื่น แต่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจากยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมหาศาล ที่รัฐบาลเคยสนับสนุนส่งเสริม แต่พอเกิดปัญหาราคาตกต่ำ กลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยทางคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแห่งชาติ มีการกำหนดราคายางแผ่น ต่ำกว่า 70 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ถือว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจกับเกษตรกร รวมถึงการเสนอจัดงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแก้ไข เป็นเรื่องอนาคต ที่ต้องเสนอ ครม.พิจารณา

"ส่วนตัวเชื่อว่าในการแก้ปัญหาราคายาง ไม่สามารถจะดำเนินการเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ รัฐบาลต้องหันมาร่วมกันแก้ไขจริงจัง เพราะยางพาราไม่ใช่สินค้าที่บูดเน่า สามารถเก็บสต๊อกได้ ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ส่วนการที่จะเอาแนวทางรัฐบาลชุดเดิมมาแก้ไข ในส่วนที่เป็นประโยชน์ เชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องเสียหาย อยากให้รัฐบาลแยกให้ออก ระหว่างการเมืองกับความเดือดร้อนของเกษตรกร" อดีต รมช.เกษตรฯ กล่าว

ด้านนายสันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันชาวสวนยางนครพนมมีความเดือดร้อนไม่แพ้พื้นที่อื่น เนื่องจาก จ.นครพนม ถือเป็นพื้นที่ปลูกยางพารามากเป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน รองจากพื้นที่ จ.บึงกาฬ ปัจจุบันในพื้นที่ จ.นครพนม มีเกษตรกรชาวสวนยาง ประมาณ 15,000 ราย มีพื้นที่ปลูกราว 2.5 แสนไร่ มีการผลิต มูลค่าส่งขายประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันต้องแบกรับภาระต้นทุนสูง บางรายต้องเป็นหนี้สินจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จึงต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะปัจจุบันราคายางแผ่นตกกิโลกรัมละ 70 บาท ถือเป็นราคาต้นทุน เคยเรียกร้องให้รัฐบาลมาแก้ไข แต่ไม่ได้รับความจริงใจ ทั้งที่ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของอีสาน จึงอยากให้มีการแก้ไขเร่งด่วน หากไม่แก้ไข ก็ได้การประกาศจุดยืนที่จะระดมเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ไปร่วมชุมนุมที่ กทม.แน่

นายสันต์ กล่าวอีกว่า จากการหารือทางคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยาง ต้องการให้รัฐบาลกำหนดราคายางพารา ดังนี้ ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 กิโลกรัมละ 101 บาท ยางแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคากิโลกรัมละ 93 บาท น้ำยางสด 100 เปอร์เซ็นต์ ราคากิโลกรัมละ 81 บาท และยางก้นถ้วย 100 เปอร์เซ็นต์ จะต้องไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 83 บาท แต่มติแนวทางการแก้ไขคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแห่งชาติ ยังไม่ตรงตามความต้องการของเกษตรกร จึงไม่รับพิจารณา และยืนยันที่จะเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง

 

สวนยางเมืองเลยเตรียมเคลื่อนไหว 2,000 คน ร่วมกดดันรัฐบาล

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายชัยยุทธ พิศฐาน แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.เลย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเกษตรกรชาวสวนยาง จ.เลยได้ประชุมแกนนำไปแล้วเพื่อจะหารือและรวมพลที่จะเดินทางไปยังอำเภอสีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยจัดตัวแทนจากกลุ่มชาวสวนยาง จ.เลย กลุ่มละ 30 คน ซึ่งทางเกษตรกรชาวสวนยาง จ.เลยมีกลุ่มทั้งหมด 80 กลุ่ม รวม 2,400 คน เดินทางไปยังอำเภอสีคิ้ว

"อยากเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีว่าให้เข้ามาดูแลราคายางพารา ซึ่งไม่อยากจะให้ช่วยแต่ราคาข้าวในภาคกลาง ส่วนในภาคเหนือและอีสานก็เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ตนยอมรับว่าเป็นคนพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้ก็ต้องยอมรับกับคนหมู่มากที่ปลูกยางพาราในพื้นที่เลย ซึ่งได้รับความเดือดร้อน ซึ่ง จ.เลยนั้นปลูกยางพาราลำดับ 2 ในภาคอีสาน รองจาก จ.บึงกาฬ ถึง 700,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนยาง จ.เลยนั้นเดือดร้อนจริงจากราคายางที่ตกต่ำ" นายชัยยุทธกล่าว

นายชัยยุทธกล่าวยืนยันว่า กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง จ.เลยกว่า 2,000 คนจะระดมพลเพื่อเข้าไปสมทบที่อำเภอสีคิ้วอย่างแน่นอน ถึงแม้จะมีปัญหาหรืออุปสรรคใดก็ตาม ตนก็จะพาพี่น้องที่เดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำไปสมทบกับเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสานกว่า 60,000 คนอย่างแน่นอน

 

กป.อพช.ใต้ วอน รบ.หยุดใช้ความรุนแรง-แก้ไขจริงจัง ขู่ร่วมม็อบยาง

27 ส.ค.56 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ภาคใต้) ออกแถลงการณ์เรื่อง “หยุดใช้ความรุนแรง และหันมาแก้ไขปัญหาชาวสวนยางอย่างจริงจัง” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

ปัญหาราคายางตกต่ำตลอดมาที่ขาดการเหลียวแลจัดการอย่างเป็นธรรม ทำให้มีการจัดชุมนุมของพี่น้องชาวสวนยางในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคายาง ถือเป็นการแสดงออกจากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง และเป็นไปตามสิทธิพื้นฐานของประชาชน รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และปราศจากอาวุธ

โดยชาวสวนยางจำนวนหนึ่งต้องปิดถนนเพชรเกษม 41 บริเวณแยกควนหนองหงส์ อำเภอชะอวด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา และในวันเดียวกันนั้น นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม จนเกิดการปะทะระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ได้รับบาดเจ็บนับสิบราย ถือเป็นเหตุการณ์ที่รับรู้โดยทั่วกันในสื่อกระแสหลัก และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสังคมภาคใต้ เป็นผลให้ชาวสวนยางจากจังหวัดอื่นๆ เริ่มทยอยเดินทางเข้ามาชุมนุมสมทบกับกลุ่มดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนี้

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่รวมตัวกันทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ มีความเห็นว่า การรวมตัวกันของประชาชนเพื่อเรียกร้องถึงความเดือดร้อนของตัวเองถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าหากรัฐบาลสนใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริงตั้งแต่ต้น ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้

1. รัฐบาลต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อปัญหาของชาวเกษตรกรในภาคใต้ ทั้งเรื่องยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอื่นๆ โดยจัดตั้งคณะทำงานร่วมจากตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วม

2. ต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวสวนยางที่ได้เสนอในขณะนี้ รัฐจะต้องแสดงความจริงใจตั้งแต่ผู้มารับข้อเรียกร้องต้องเป็นผู้มีอำนาจ จนถึงการนำข้อเสนอดังกล่าวสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

3.รัฐต้องไม่สร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความรุนแรงจากการชุมนุมของชาวสวนยางที่รวมตัวกันอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการสลายมวลชน หากแต่ควรหาทางออกที่สร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขความเดือดร้อนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามข้อเสนอดังกล่าว กป.อพช.ใต้ จะประสานให้เครือข่ายภาคีเข้าร่วม และสนับสนุนการเรียกร้องของพี่น้องชาวสวนยางต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท