Skip to main content
sharethis

นัดพร้อมคดี ‘เกรียงไกร คำน้อย’ เหยื่อกระสุนรายแรก 10 เม.ย. 53 ไต่สวนนัดแรก 7 ต.ค.นี้ ขณะที่คดี สมชาย พระสุพรรณ เหยื่อกระสุน 16 พ.ค.53 ถูกยิงย่านบ่นไก่ พยานเบิกความผู้ตายและผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธยิงตอบโต้ทหารที่ใช้ M16 เบิกนัดหน้า 8 พ.ย.

26 ส.ค.56 ข่าวสดออนไลน์ รายงาน ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีที่พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายสมชาย พระสุพรรณ ช่างซ่อมรองเท้า ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณเชิงสะพานลอยคนข้าม ใกล้ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี ย่านชุมชนบ่อนไก่ ถนนพระราม 4 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553

นางอนงค์พร พระสุพรรณ ภรรยานายสมชาย เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ เวลา 06.00 น. เศษ สามีขอเงิน 500 บาท ไปซื้ออะไหล่รองเท้าที่คลองเตย ก่อนขับขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านในซอยลาดพร้าว 30 ต่อมาเวลา 08.00 น.เศษ สามีโทรศัพท์มาบอกลูกสาวว่าซื้อของเสร็จแล้ว แต่ขอดูเหตุการณ์การชุมนุมก่อน แล้วจะกลับไปกินข้าวที่บ้าน กระทั่งเวลา 09.00 น.เศษ พยานเห็นว่าสามียังไม่กลับ จึงโทรศัพท์ไปหา แต่ไม่มีคนรับ จึงเรียกรถแท็กซี่ไปตามหาที่บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 เนื่องจากมีการชุมนุมในบริเวณดังกล่าว

นางอนงค์พรเบิกความ ต่อว่า เมื่อไปถึงก็เห็นเจ้าหน้าที่หลายนายสวมชุดลายพรางและถือปืน อยู่บริเวณสนามมวยลุมพินี และมีบังเกอร์ตั้งอยู่ สักพักได้ยินเสียงปืนดังมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ พยานวิ่งไปหลบกระสุนที่ป้อมตำรวจใต้ทางด่วนพระราม 4 ส่วนผู้ชุมนุมและประชาชนต่างก็วิ่งหลบกระสุนเช่นกัน ระหว่างนั้นพยายามโทรศัพท์ติดต่อสามี แต่ไม่มีคนรับสาย ผ่านไป 5 นาที มีโทรศัพท์จากเครื่องสามีเข้ามา แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ร.พ.เลิดสิน และบอกว่าสามีประสบอุบัติเหตุที่ขาเล็กน้อย พยานจึงนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไป ร.พ.

พยานเบิกความอีกว่า เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่แจ้งว่าสามีถูกยิงบริเวณศีรษะ นอนแน่นิ่งอยู่บนเตียง และมีผ้าก๊อซสีขาวพันอยู่ที่ศีรษะ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเพิ่งเสียชีวิต แต่ยังไม่สามารถนำศพกลับไปได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องชันสูตรพลิกศพก่อน ต่อมาวันที่ 17 พ.ค. 2553 พยานกลับไปดูศพสามีที่ห้องเก็บศพ พบว่าไม่มีผ้าก๊อซพันที่ศีรษะแล้ว และเห็นบาดแผลถูกยิงที่ขมับด้านซ้าย จึงถ่ายภาพไว้ ก่อนจะนำศพสามีกลับไปฌาปนกิจที่บ้านใน จ.ยโสธร เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553

ส่วน นายฐาวร บุญณะสาร เบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 เวลา 18.00 น. พยานพร้อมกับเพื่อนชวนกันไปดูเหตุการณ์การชุมนุม เห็นผู้ชุมนุมอยู่ใต้ทางด่วนพระราม 4 ประมาณ 200-300 คน เห็นเจ้าหน้าที่ชุดลายพรางใส่หมวกจำนวนมาก ถือปืนเอ็ม 16 เดินไปเดินมาอยู่ทั้ง 2 ฝั่งถนนพระราม 4 ตั้งแต่สนามมวยลุมพินี และสะพานไทย-เบลเยี่ยม มีบังเกอร์ตั้งอยู่ห่างจากกองยางของผู้ชุมนุมประมาณ 150 เมตร ระหว่างที่พยานอยู่บริเวณดังกล่าว ได้ยินเสียงปืนดังอย่างต่อเนื่องมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่

นายฐาวรเบิกความต่อว่า กระทั่งรุ่งเช้า วันที่ 16 พ.ค. ก็ยังมีการยิงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และได้ยินเสียงระเบิดเอ็ม 79 ตกลงหน้าแนวกองยาง โดยผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการจุดประทัดใส่เจ้าหน้าที่ เวลา 09.00 น. เศษ ขณะที่พยานอยู่บริเวณปากซอยงามดูพลี ใกล้กับธนาคารกสิกรไทย ได้ยินเสียงคนตะโกนบอกว่าพวกเราถูกยิง จึงวิ่งข้ามถนนไปช่วยที่หน้าซอยปลูกจิต ตรงเชิงสะพานคนข้าม ใกล้กับธนาคารไทยพาณิชย์ เห็นผู้บาดเจ็บมีบาดแผลถูกยิงที่ศีรษะ พยานจึงร่วมกับเพื่อนนำผู้บาดเจ็บไปขึ้นรถพยาบาล และเดินทางกลับ ภายหลังทราบว่าผู้บาดเจ็บที่ช่วยเหลือคือนายสมชาย พระสุพรรณ

จาก นั้นพนักงานอัยการถามพยานว่า ทราบได้อย่างไรว่าเจ้าหน้าที่ถือปืนเอ็ม 16 พยานเบิกความว่าเคยเป็นทหารเกณฑ์มา 2 ปี จึงมีความรู้เรื่องอาวุธปืน ขณะที่ทนายญาติผู้ตายถามพยานว่า ผู้ตายและผู้ชุมนุมมีอาวุธยิงตอบโต้ เจ้าหน้าที่หรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่มี

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ในช่วงท้ายของการไต่สวน พนักงานอัยการขอนำพยานเข้าเบิกความ จำนวน 14 ปาก ส่วนทนายญาติผู้ตายขอนำพยานเข้าเบิกความ จำนวน 1 ปาก ศาลจึงนัดไต่สวนจำนวน 5 นัด ได้แก่ วันที่ 8, 13, 14, 19 และ 20 พ.ย. เวลา 09.00 น.

 

นัดพร้อมคดี ‘เกรียงไกร คำน้อย’ เหยื่อกระสุนรายแรก 10 เม.ย. 53 ไต่สวนนัดแรก 7 ต.ค.นี้

วันเดียวกันที่ศาลอาญา ศาลนัดพร้อม เพื่อกำหนดนัดพิจารณาไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของนายเกรียงไกร คำน้อย คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณทางเท้าถนนราชดำเนินนอก ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 โดยนายเกรียงไกรเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่เมื่อถึง เวลานัด ศาลพิจารณาเห็นว่า คดีนี้ระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป ยังไม่สามารถแต่งตั้งทนายความได้ทัน จึงเลื่อนวันกำหนดนัดพิจารณาไต่สวนคดี เป็นวันที่ 7 ต.ค. โดยในเบื้องต้นมีพยานทั้งหมดที่จะขึ้นเบิกความ 53 ปาก และเน้นประจักษ์พยานเป็นหลัก

นายถาวร คำน้อย อายุ 58 ปี บิดานายเกรียงไกร กล่าวว่า มีลูก 3 คน นายเกรียงไกรเป็นคนสุดท้อง ครอบครัวอยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด นายเกรียงไกรมาขับรถตุ๊กตุ๊กอยู่ในกรุงเทพฯ กลับบ้านเดือนละครั้ง ไม่รู้ว่านายเกรียงไกรมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มนปช.ด้วยหรือไม่ กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. 2553 เพื่อนลูกชายโทรศัพท์ไปบอกว่าลูกชายถูกยิงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์หน้า กระทรวงศึกษาธิการ ถามอาการก็ไม่บอก จึงให้ลูกสาวเดินทางมาหา หลังจากนั้นไม่นานลูกชายก็เสียชีวิต เสียใจมาก และ ไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ จึงอยากให้นำคนสั่งการมาลงโทษให้ได้

พี่สาวมั่นใจไม่ใช่คนเสื้อแดงยิงกันเอง

ส่วนน.ส.ธัญกมล คำน้อย อายุ 32 ปี พี่สาวนายเกรียงไกร กล่าวว่า ช่วงเย็นวันที่ 10 เม.ย. รีบเดินทางมาดูน้องชายที่ร.พ.วชิรพยาบาล เดิมทีเพื่อนของน้องบอกว่าไม่เป็นอะไรมาก แต่พอมาเห็นก็คิดว่าอาการแย่แล้ว เพราะถูกยิงที่สะโพก ตอนแรกเห็นรอยกระสุนปืนเพียงนัดเดียว แต่พอดูรายงานการชันสูตรศพ พบว่า มีแผลถูกยิงที่หน้าอกด้วย ขณะที่ไปถึง โรงพยาบาลน้องชายไม่รู้สึกตัวแล้ว และเสียชีวิตช่วงเวลา 03.00 น. วันที่ 11 เม.ย. 2553

พี่สาวนายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า สอบถามจากเพื่อนทราบว่าวันเกิดเหตุหลังจากส่งรถตุ๊กตุ๊กเสร็จแล้ว น้องชายกลับบ้านมาดูโทรทัศน์ เห็นว่าเจ้าหน้าที่จะสลายการชุมนุม จึงเข้าไปดูบริเวณที่เกิดเหตุ สักพักกลุ่มผู้ชุมนุมบอกให้ถอยกันออกมา น่าจะเพราะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแล้ว สักพักน้องชายก็ถูกยิง ทางญาติคิดว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพราะขณะถูกยิงน้องชายหันหน้าไปทางนั้น และไม่มีอาวุธ มีแค่ไม้ไผ่ที่ใช้เคาะ ขวดน้ำ และผ้าปิดจมูก แม้ว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่จะปฏิเสธมาตลอด แต่ญาติมั่นใจว่าไม่ใช่คนเสื้อแดงยิงกันเอง เพราะเขาไม่มีอาวุธ และปกติแล้วน้องชายมีนิสัยสนุกสนาน ร่าเริง ไม่ใช่อันธพาล อยากให้ดำเนินคดีนี้จนถึงที่สุด และเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net