คนงานสตาร์บัคส์ถูกไล่ออกหลังเก็บของเหลือทิ้งจากถังขยะมากิน อ้างผิดนโยบาย

บาริสต้าจากร้านกาแฟแฟรนไชส์ชื่อดังในซีแอตเทิลที่ไม่มีอันจะกินจนต้องพึ่งแสตมป์อาหารของรัฐเสียดายแซนด์วิชในร้านถูกทิ้งถังขยะเพราะหมดอายุจึงนำมาทาน แต่ต่อมาถูกผู้จัดการเรียกคุยและไล่ออกหาว่า "ขโมย" ขณะเดียวกันก็ชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำและลักษณะการจ้างงานของร้านกาแฟแห่งนี้

27 ส.ค. 2013 - เว็บไซต์ The Stranger นำเสนอเรื่องราวของบาริสต้าอายุ 21 ปีชื่อ เคาสัน ล็อปมานน์ ซึ่งทำงานอยู่ที่สตาร์บัคส์สาขาซีแอตเทิล สหรัฐฯ มากว่า 1 ปี ถูกไล่ออกหลังจากพบว่าเขาทานแซนด์วิชของร้านที่ถูกทิ้งไป

เช่นเดียวกันร้านกาแฟอื่นๆ ร้านกาแฟยักษ์ใหญ่อย่างสตาร์บัคส์จะกำจัดของที่หมดอายุแล้ว มีบางส่วนที่อาจจะมีการให้เปล่าและจะทิ้งของที่อาจจะเน่าเสียได้

ล็อปมานน์ บอกว่าตัวเขาได้รับค่าจ้างรายชั่วโมงน้อยเกินกว่าจะรับภาระรายจ่ายและต้องอาศัยแสตมป์แลกอาหารของรัฐเพื่อประทังชีวิตเป็นครั้งคราว เขากล่าวถึงสาเหตุที่เขาทานอาหารซึ่งควรถูกทิ้งว่าวันนั้นเขาไม่ได้กินอะไรเลยทั้งวันและกำลังทำงานกะ 7 ชั่วโมงอยู่ ในวันนั้นเพื่อนร่วมงานของเขาเพิ่งจะทำเครื่องหมายให้นำแซนด์วิชอาหารเช้าบางส่วนออกจากสต็อก ทำให้เขาคิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไรถ้าเขาจะนำแซนด์วิชไส้กรอกที่ถูกห่อด้วยพลาสติกออกมาจากถังขยะ

ในวันนั้นเพื่อนร่วมงานของล็อปมานน์กำลังจะนำแซนด์วิชที่หมดอายุแล้วทิ้งแต่ก็เปรยออกมาว่า "น่าเสียดาย" ก่อนจะโยนทิ้งถังขยะ ล็อปมานน์อ้างว่าเขาเห็นว่ามันมีพลาสติกห่ออยู่จึงคิดว่าน่าจะยังทานได้

แต่สตาร์บัคส์ก็คำนึงถึงเรื่องนี้ เมื่อผู้จัดการของล็อปมานน์คุยกับเขาว่าได้ทราบเรื่องแซนด์วิชและพิจารณาว่าการกระทำของเขาเข้าข่ายการลักขโมยซึ่งผิดหลักนโยบาย และแจ้งให้เขาออกจากงานทันที

สื่อได้ทราบเรื่องนี้เมื่อพนักงานฟาสต์ฟู้ดเตรียมตัวนัดหยุดงานประท้วงชวนให้เหล่าบาริสต้าเช่นล็อปมานน์เข้าร่วมด้วย โดยการประท้วงด้วยการวอล์กเอาท์ในร้านอาหารในเมืองซีแอตเทิลสัปดาห์นี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และองค์กรจัดตั้งการประท้วง Good Jobs Seattle ก็สนับสนุนให้คนงานรายได้ต่ำในร้านกาแฟออกมาเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

ทางด้านของบริษัทสตาร์บัคส์ โฆษกแซค ฮัทสัน กล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถกล่าววิจารณ์ลูกจ้างเป็นรายบุคคลได้เนื่องจากเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัว แต่เขายืนยันว่า "การบริโภคของซึ่งถูกคัดออกถือเป็นการละเมิดนโยบายของพวกเขา" อย่างไรก็ตามฮัทสันบอกว่ามันไม่ถึงขั้นเป็นการขโมย นโยบายนี้มีไว้เพื่อตัวลูกจ้างเอง

"พวกเราไม่ต้องการให้ผู้ร่วมงานของเราบริโภคสินค้าที่อาจจะเน่าเสียและเกิดการเจ็บป่วย" แซคกล่าว เมื่อถามว่ามีคนถูกไล่ออกเพราะละเมิดนโยบายจริงหรือไม่ ฮัทสันกล่าวว่าโดยทั่วไปแล้วบริษัททำเช่นนั้น แม้ว่าการละเมิดนโยบายเล็กๆ น้อยๆ อาจจะไม่ถึงขั้นไล่ออก แต่การละเมิดนโยบายแบบที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานเช่นนี้อาจจะถูกให้ออกได้

กล่าวในอีกแง่หนึ่งคือพนักงานสตาร์บัคส์ที่มีชีวิตอยู่ด้วยแสตมป์แลกอาหารอาจจะถูกไล่ออกได้จากการกินแซนด์วิชที่ถูกทิ้งถังขยะ

แต่ล็อปมานน์ยืนยันว่าเขาไม่ได้มีปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงานช่วงก่อนเกิดเหตุหรือก่อนถูกผู้จัดการเรียกพูดคุยเลย เขายืนยันอีกว่านโยบายของบริษัทไม่เคยพูดถึงการห้ามเขากินของเหลือทิ้งและผู้จัดการก็พูดถึงเขาว่าเป็นขโมยไม่ได้กล่าวถึงความกังวลด้านสุขภาวะของเขา ล็อปมานน์เชื่อว่าที่เขาถูกให้ออกเพราะบริษัทไม่ต้องการให้มีคนฉวยโอกาสขีดฆ่าสินค้าออกแล้วนำไปทาน เขาบอกอีกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของตัวผู้จัดการเองเพราะเธอก็ทำไปตามหน้าที่

ก่อนหน้านี้ในปี 2012 ล็อปมานน์ได้รับจ้างงานเป็นลูกจ้างเต็มเวลา แต่หลังจากสองเดือนถัดมาก็เริ่มถูกตัดจำนวนชั่วโมงทำงานจนเหลือราว 23 - 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยได้รับค่าจ้าง 9.94 ดอลลาร์ (ราว 300 บาท) ต่อชั่วโมง รวมกับทิปราว 30 ดอลลาร์ (ราว 900 บาท) ต่อสัปดาห์ กับตารางงานที่เขาเรียกว่า "มีการสับเปลี่ยนไปมาอย่างมาก" แม้ว่าเขาจะถูกกำหนดตารางงานแต่เขาก็อาจถูกส่งกลับบ้านถ้าร้านมีคนเข้าน้อย

ล็อปมานน์กล่าวอีกว่าบางวันเขาก็ต้องใช้แสตมป์อาหาร และแค่จะมีพอสำหรับอาหารกลางวันก็ยังยากบางวันเขาเลี้ยงตัวเองด้วยอาหารสวัสดิการจากสตาร์บัคส์ที่ให้กาแฟฟรีวันละสองแก้วและส่วนลดอาหารอื่นๆ ร้อยละ 30 เท่านั้น

ทางด้านปัญหาตารางงาน ฮัทสันกล่าวว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ "จำนวนของผู้ร่วมงานที่ร้านต้องการในขณะนั้น" และยอมรับว่าลูกจ้างจะถูกส่งตัวกลับบ้านหากร้านมีลูกค้าน้อยและจะได้รับจำนวนค่าจ้างตามชั่วโมง โดยโฆษกของสตาร์บัคส์อ้างว่าผู้ร่วมงานส่วนใหญ่มาทำงานกับสตาร์บัคส์เพราะต้องการงานแบบพาร์ทไทม์และพวกเขาชอบระบบที่ยืดหยุ่นแต่ก็ได้รับสิทธิประโยชน์จากข้อเสนอ

อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์เหล่านั้นอาจเป็นแค่การปลอบใจคนงานรายได้ต่ำ แคโรไลน์ ดูรอเชอร์ คนงานซับเวย์ผู้จัดการประท้วงหยุดงานที่พยายามชวนกลุ่มบาริสต้าประท้วงกล่าวว่า เรื่องการประกันสุขภาพก็แพงเกินกว่าที่ใครจะจ่ายให้ได้ ล็อปมานน์เองก็จ่ายค่าประกันสุขภาพแต่มันทำให้เขาไม่มีเงินใช้จ่ายอย่างอื่นเช่นอาหาร

ในเรื่องการประท้วงหยุดงานวันพฤหัสฯ นี้ ฮัทสัน โฆษกของสตาร์บัคส์กล่าวว่าพวกเขาสนับสนุนความตั้งใจของแต่ละคนที่ต้องการให้ชาวอเมริกันมีค่าจ้างที่เหมาะสมและพัฒนาไปตามการแข่งขัน แต่ขณะเดียวกันฮัทสันก็บอกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขา

 

 

เรียบเรียงจาก

Starbucks Fires Employee on Food Stamps for Eating a Sandwich from the Garbage, The Stranger, 27-08-2013
http://slog.thestranger.com/slog/archives/2013/08/27/starbucks-fires-employee-on-food-stamps-for-eating-a-sandwich-from-the-garbage

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท