ภาคประชาสังคมร้องรัฐนำคนผิดเหตุยิงผู้ชุมนุมสวนยางมาลงโทษ

องค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง และกป.อพช. ประณามความรุนแรงต่อเหตุการณ์ยิงผู้ชุมนุมที่นครศรีธรรมราช ร้องรัฐต้องแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา

2 ก.ย. 56 - องค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)  และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้ออกแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ทำร้ายผู้รักษาความปลอดภัยผู้ชุมนุมสวนยาง ณ อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เมื่อกลางดึกของวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย นั้น
 
ทางองค์กรประชาสังคม มีความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า การชุมนุมไม่ว่าจะโดยฝ่ายใด เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย โดยรัฐบาลจำเป็นต้องรับฟังต่อปัญหาและข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้รัฐบาลเข้าประกันราคายางและปาล์มน้ำมัน และรับมือโดยไม่ให้เกิดเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุม นอกจากนี้ ต่อเหตุการณ์การเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ทางองค์กรดังกล่าวได้เรียกร้องให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษด้วย 
 
 
0000
 
แถลงการณ์  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
 
เรื่อง ขอให้เร่งสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมชาวสวนยาง
 
จากข่าวที่ปรากฏเหตุการณ์ลอบทำร้ายผู้ดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมชาวสวนยางบริเวณจุดชุมนุมแยกบ้านตูล ตำบลบ้านตูล อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อคืนกลางดึกของวันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีก 1 รายนั้น
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มีความเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้
 
1. สิทธิในชีวิตและร่างกายเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ติดตัวทุกคนมาแต่เกิด และไม่อาจพรากไปจากมนุษย์ได้ ไม่ว่ามนุษย์คนนั้น กลุ่มนั้น จะมีความคิดความเห็น ความเชื่อ หรือฐานะทางสังคมที่แตกต่างไปจากผู้คนในสังคมสิทธิดังกล่าวจึงเป็นเอกสิทธิติดตัวของมนุษย์และย่อมได้รับการคุ้มครองจากรัฐและประชาชนทุกคน
 
2. สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าผู้กระทำผิดเป็นฝ่ายใดย่อมต้องได้รับการประณามจากสังคม การใช้อาวุธ ต่อผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ย่อมเป็นการแสดงถึงความโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม อันมิใช่วิสัยของการกระทำที่ได้รับการยอมรับในสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะเป็นการกระทำ ต่อการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเป็นเสรีภาพของประชาชนที่รัฐต้องให้ความคุ้มครอง เพราะบุคคลย่อมมีสิทธิที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้
 
3.  เจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่สุดในการคุ้มครองความสงบเรียบร้อยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งดำเนินการค้นหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมโดยเร็วเพื่อเป็นการแสดงว่ารัฐบาลโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะธำรงไว้ซึ่งการเคารพและเคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม (Rule of Law) หรือนิติรัฐ (Legal State) อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการกระทบกระทั่งกันเองในหมู่ประชาชนที่เดือดร้อนและไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม
 
4. ขอให้ผู้ชุมนุมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการหาตัวผู้กระทำผิด เพื่อแสดงให้เห็นว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าประชาชน ที่คิดเห็นแตกต่างจากรัฐ มิได้มีความเกลียดชังต่อภาครัฐหรือเหมารวมว่าภาครัฐเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในครั้งนี้
 
ทั้งนี้สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ขอให้ทุกฝ่ายอดทนต่อแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมและระหว่างการค้นหาความจริง เพื่อจะได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนสืบไป
 
                                                             ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
                                                               สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
 
0000
 
แถลงการณ์ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) 
 
แถลงการณ์ เรื่อง ขอประณามการใช้ความรุนแรง กับเกษตรกรชาวสวนยาง สวนปาล์ม และ เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อชีวิตและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทั้งเร่งแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตที่ตกต่า วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๕ 
 
ตามที่ได้มีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน ได้ทำการชุมนุมที่ถนนสายเอเชีย บริเวณแยกควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายางแผ่น เศษยาง (ขี้ยาง) และประกันราคาปาล์มน้ามัน ที่กำลังตกต่ำอย่างมาก นั้น ความเป็นมาของการชุมนุมของพี่น้องชาวสวนยางและสวนปาล์ม เกิดขึ้นจากเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไปแล้ว ๔ ข้อ โดยในครั้งนั้นนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผวจ.นครศรีธรรมราช ได้เข้าไปเจรจาและรับหนังสือของชาวสวนยาง และขอให้เปิดถนนซึ่งชาวบ้านได้ยินยอมสลายการชุมนุม และระบุว่าจะขอรับคำตอบในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ และเมื่อ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมาชาวสวนยางได้นัดรวมตัวกันที่ อ.จุฬาภรณ์ เพื่อฟังคำตอบแต่ไม่ได้รับคำตอบเป็นที่พึงพอใจจึงได้นำมาสู่การชุมนุมในครั้งนี้ 
 
ดังนั้นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์ม ได้เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากความล่าช้า และความไม่จริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางและปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำ และสุดท้ายได้นำมาสู่การเผชิญหน้า การปะทะกัน และในครั้งนี้ถึงขั้นใช้อาวุธยิงใส่ผู้ชุมนุมเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าว 
 
ดังนั้น เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนที่รวมตัวกัน ๕๘๐ ชุมชนทั่วประเทศ มาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๙ ในการเรียกร้องเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง เรื่องที่ดินทำกิน เรื่องสิทธิชุมชนชาวเล เรื่องสัญชาติของคนไทยพลัดถิ่น ปกป้องสิทธิชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล และการพัฒนาในเครือข่าย จึงมีข้อเรียกร้องกับรัฐบาลและข้อเสนอต่อสังคมดังนี้ 
 
๑.เครือข่ายฯ ขอสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
 
๒.เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้เครือข่ายประชาชนและทุกฝ่ายในสังคม ใช้โอกาสในการเรียนรู้และทำความเข้าใจสังคมไทยและระบอบประชาธิปไตยที่มีความหลากหลายอย่างแท้จริงโดยใช้ปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นที่ตั้ง 
 
๓.เครือข่ายฯ ขอคัดค้านการใช้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เป็นบันไดเพื่อเอาชนะทางการเมือง ของทุกฝ่ายโดยเด็ดขาด 
 
๔.เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และปาล์มน้ามัน โดยเน้นการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมอย่างเท่าเทียม 
 
๕.เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรง และเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจากการชุมนุม ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยต้องยุติการใช้ความรุนแรงใดๆจากทุกฝ่ายโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง อย่างสันติ และยุติธรรม โดยต้องไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)
๑ กันยายน ๒๕๕๖
 
 
 0000
 
แถลงการณ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
 
เรื่อง ขอประณามการใช้ความรุนแรงกับพี่น้องชาวสวนยาง ภาคใต้ และขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา
 
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำเมื่อเช้ามืดวันนี้ เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเป็นห่วงและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้มีเสียงของภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ตักเตือนไปยังรัฐบาลเฝ้าดูแล อย่างระมัดระวังกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเข้มข้น เพื่อมิให้นำไปสู่ความรุนแรงใดๆ  ขึ้นอีก และควรที่จะเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อมิให้ความเดือดร้อนแผ่ขยายวงกว้างไปกว่านี้  หากไร้เสียงตอบรับที่ชัดเจน แต่กลับหวาดระแวงกับกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องถึงความเดือดร้อนของตนเองด้วยความชิงชัง โดยอ้างว่าเป็นม๊อบการเมือง ม๊อบไร้แกนนำ ม๊อบคนนอกพื้นที่ และอีกต่างๆนาๆ เป็นเหตุผลให้รัฐบาลไม่ยอมส่งคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจลงมาดูแลความทุกข์ร้อนของประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น ถือเป็นความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาลเป็นอย่างมาก
 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ทั้งสี่ภาค ได้เฝ้าติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการออกแถลงการณ์ผ่านสื่อมวลชนของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนส่วนภาคใต้ไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อเสนอสำคัญที่ให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และไม่ควรสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่ความรุนแรง  หากแต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับไม่ได้รับความสนใจประการใด และกลับนำไปสู่ความรุนแรงและก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตของประชาชนที่ร่วมชุมนุมตามมา และหากยังปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินเช่นนี้อีกต่อไป เชื่อว่าจะไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน ในนามของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) ทั่วประเทศขอประณามการกระทำของผู้ที่เจตนาก่อให้เกิดความรุนแรงดังกล่าว และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้
 
1. รัฐบาลจะต้องแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาด้วยการส่งผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่างแท้จริง เพื่อไปรับฟังปัญหาและรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่
 
2. รัฐบาลจะต้องมีมาตรการ และต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเพื่อมิให้เกิดเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรงใดๆกับผู้ชุมนุมในพื้นที่
 
ด้วยความเชื่อมั่นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เพื่อเรียกร้องถึงเรื่องทุกข์ร้อนของตนเอง เราจึงขอสนับสนุนการรวมกลุ่มดังกล่าว และจะเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิด  หากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ ตามข้อเสนอดังกล่าว เราจะประสานเครือข่ายภาคประชาชนทั่วทุกภาคเพื่อให้มีการสนับสนุนการชุมนุมของพี่น้องในภาคใต้อย่างถึงที่สุด
 
                         คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
วันที่  ๒  กันยายน ๒๕๕๖
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท