ศาลพิพากษาคดีดีเจหนึ่ง ผิด ม.116 แต่ให้รอการกำหนดโทษ 3 ปี

คดี "ดีเจหนึ่ง" ชุมนุมปิดถนนแยกดอยติ จ.ลำพูน ปี 52 ศาลชี้การลงโทษทางอาญาทันทีในคดีที่มีมูลเหตุทางการเมือง ไม่ใช่หนทางเยียวยาแก้ไขปัญหา จึงให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้เป็นเวลา 3 ปี และให้จำเลยไปรายงานตัวคุมประพฤติ และให้บำเพ็ญประโยชน์ ด้านจำเลยไม่ขออุทธรณ์คดีต่อไปเพราะเป็นแค่คนธรรมดา และต้องการกลับไปมีชีวิตตามปกติ

5 ก.ย. 56 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดฟังคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1970/2554  ซึ่งมีนายจักรพันธ์ บริรักษ์ หรือ “ดีเจหนึ่ง” เป็นจำเลยในข้อหาปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  จากการออกอากาศวิทยุชุมชนของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 คลื่นความถี่ 92.5 MHz กรณีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงปิดถนนที่บริเวณสามแยกดอยติ จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552  

การนัดพิพากษาในครั้งนี้เลื่อนมาจากในช่วงเดือนสิงหาคม (ดู เลื่อนพิพากษาดีเจหนึ่งคดีคลื่นรักเชียงใหม่ 51 ประกาศปิดถนนดอยติ เมษา 52) โดยได้มีการย้ายห้องที่ทำการพิพากษามายังห้องพิจารณาที่ 2

ศาลได้อ่านคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่วินิจฉัยว่าเนื่องจากไม่ปรากฏชัดเจนว่าเหตุการณ์การปิดถนนมาจากการกระทำของจำเลยโดยตรง หรือมาจากเหตุอื่นๆ อีกทั้งศาลเห็นว่าการลงโทษทางอาญาทันที ในคดีที่มีมูลเหตุทางการเมือง ไม่ใช่หนทางเยียวยาแก้ไขปัญหา ศาลจึงให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้ เป็นเวลา 3 ปี และให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมความประพฤติ 9 ครั้งในเวลา 2 ปี และให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานโดยสรุปถึงรายละเอียดของคำพิพากษา โดยศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีว่า จำเลยได้พูดออกอากาศทางสถานีวิทยุคลื่น 92.5 MHz มีเนื้อหาตอนหนึ่งให้ประชาชนชุมนุมปิดถนนบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11  สายเชียงใหม่-ลำปาง บริเวณแยกดอยติ ในวันที่ 12 เมษายน 2552 ระหว่างเวลา 9.21-9.23 น. ตามหลักฐานในบันทึกการถอดเทปเสียง การที่จำเลยพูดข้อความดังกล่าวกระจายเสียงไปยังประชาชนเป็นการทั่วไป ย่อมเป็นการทำให้ประชาชนที่ฟังรายการวิทยุทราบข้อความที่จำเลยพูด ถือเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนอย่างหนึ่ง แม้เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่จำเลยก็ได้พูดเชิญชวนซ้ำไปมาหลายรอบ มีรายละเอียดวิธีการปฏิบัติ และมูลเหตุจูงใจว่าเป็นการชุมนุมร่วมกันกับกลุ่มลำพูน 51 เพื่อปิดถนน โดยเป็นมาตรการของผู้ชุมนุมกดดันให้รัฐบาลในขณะนั้นลาออก และย้ำการปิดถนนถึง 3 ครั้ง ย่อมเป็นการแสดงถึงเจตนาต่อผลให้ประชาชนปิดถนน มิใช่เป็นเพียงการเรียบเรียงข้อความไม่ถูกต้อง ตามที่จำเลยนำสืบ

แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 63 จะบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมไว้ แต่ในวรรคสองของมาตราดังกล่าว ก็ได้ระบุด้วยว่าการจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และเมื่อพิเคราะห์พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เห็นได้ว่ามีเจตนารมณ์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 34 บัญญัติคุ้มครอง โดยทางหลวงเป็นทั้งพื้นที่สาธารณะและเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้ในการเดินทางไปสู่ที่สาธารณะอื่นๆ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าว มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองความสะดวกของประชาชน ที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นข้อยกเว้นให้จำกัดเสรีภาพการชุมนุม บุคคลไม่สามารถอ้างเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดตามพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ การชุมนุมโดยมีเจตนาปิดถนนย่อมเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 38,39 ซึ่งมีโทษอาญาตามมาตรา 62 และพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108, 110, 114

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชน โดยวิธีอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยได้กระทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีประเพณีรดน้ำดำหัวที่ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันมากกว่าปกติ เป็นเทศกาลท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่มากเป็นพิเศษ โดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 อันเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับจังหวัดต่างๆ ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้การจราจรในเส้นทางดังกล่าวคับคั่งกว่าปกติหลายเท่าตัว ดังปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนทุกปี อันเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่โดยทั่วไป

ดังนี้การที่จำเลยชักชวนให้ประชาชนชุมนุมเพื่อปิดถนนดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผลให้มีการกีดขวางปิดกั้นทางหลวงและกีดขวางการจราจร ฝ่าฝืนต่อพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ อันเป็นความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการปิดถนนดังกล่าวทำให้การจราจรติดขัดอย่างรุนแรง ขยายเป็นวงกว้าง เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน ถึงขั้นที่จะก่อความไม่สงบให้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรได้

แต่การนำสืบโดยฝ่ายโจทก์ มิได้นำสืบว่าสถานีวิทยุ 92.5 MHz มีกำลังส่งกระจายเพียงใด ได้ถึงจังหวัดลำพูนหรือไม่ หรือมีผู้ฟังรายการของจำเลยในท้องที่อื่น แล้วเดินทางไปร่วมชุมนุมในสถานที่เกิดเหตุ และตามพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการชุมนุมปิดถนนบริเวณที่เกิดเหตุเกิดจากการชักชวนของจำเลยดังกล่าว ตรงกันข้ามการนำสืบของโจทก์ยังเจือสมกับฝ่ายจำเลยด้วยว่ามีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ ซึ่งในจังหวัดลำพูนมีการชุมนุมของกลุ่มลำพูน 51 และกลุ่มดังกล่าวได้ไปชุมนุมในที่เกิดเหตุในเวลา 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลาหลังจากจำเลยออกอากาศหลายชั่วโมง ทำให้ไม่อาจยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นเป็นผลจากการกระทำของจำเลย กลับทำให้เห็นว่าอาจเป็นผลมาจากเหตุอื่นๆ ด้วย

แต่ด้วยเหตุที่องค์ประกอบของมาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3 มีความหมายว่าเมื่อได้กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน โดยมีมูลเหตุจูงใจเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้น หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลว่าได้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจฟังได้ว่าการปิดถนนเป็นผลจากการกระทำของจำเลย หรือเป็นผลมาจากเหตุอื่น ก็หาได้ทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดอาญาในการกระทำของตน

ศาลจึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อนุมาตรา 2 และ 3 แต่พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่ามูลเหตุการกระทำผิดของจำเลยสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ทราบโดยทั่วไปว่ามีความรุนแรงและเรื้อรังสั่งสมเป็นเวลาหลายปี ส่งผลกระทบต่อความเป็นปกติในการดำเนินชีวิตของประชาชนตลอดมา โดยจำเลยกระทำผิดครั้งเดียวเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่น่าจะส่งผลในวงกว้าง ทั้งไม่ปรากฏโดยแจ้งชัดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการกระทำของจำเลย หรือผลจากเหตุอื่นด้วย ทั้งการลงโทษทางอาญาโดยทันที มิใช่วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขเยียวยาผู้กระทำผิดที่มีมูลเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้ ประกอบกับจำเลยมิเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้ ปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวในระยะเวลา 3 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 9 ครั้ง ภายในเวลา 2 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมความประพฤติและจำเลยเห็นสมควร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56

ภายหลังการพิพากษา นายจักรพันธ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าในเบื้องต้น ตนคิดว่าจะไม่อุทธรณ์คดีต่อไป เนื่องจากตนเองก็เป็นประชาชนธรรมดา ที่ผ่านมาก็ทำการต่อสู้คดีด้วยตนเองเพียงลำพังทั้งหมด โดยไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือ มีแต่เพียงกลุ่มทนายความที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องการประกันตัว และต้องการกลับไปมีชีวิตตามปกติ  จึงคิดว่าจะไม่ดำเนินการอุทธรณ์อีก

 

 

หมายเหตุ: อ่านรายละเอียดคดีและบันทึกการสืบพยานเพิ่มเติมได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/437#detail จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท