อัศโตรา ชาบัต : เรียนรู้อียิปต์เข้าใจปัญหาตะวันออกกลาง

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2556 โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้หรือ DSJ เปิดห้องเรียนการเมือง บรรยายพิเศษเรื่อง “วิกฤติความรุนแรงในอียิปต์” เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังเหตุรุนแรงในประเทศอียิปต์ โดยเชิญนายอัศโตรา โต๊ะราแม หรืออัศโตรา ชาบัต อดีตคอลัมนิสต์และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ UTUSAN MALAYSIA เคยร่ำเรียน ใช้ชีวิตและทำข่าวในประเทศอาหรับหลายประเทศมาเป็นวิทยากร
 
 
ภูมิหลังการเมืองโลกอาหรับ
 
อัศโตรา ระบุว่า หากจะติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศอียิปต์ ก็ต้องทำความเข้าใจการเมืองการปกครองในภูมิภาคอาหรับเสียก่อน โดยรูปแบบการปกครองในโลกอาหรับสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ การปกครองโดยเผด็จการทหารและการปกครองโดยเผด็จการกษัตริย์
 
ประชาชนชาวอาหรับถูกปกครองในสภาวะกดดันมาเนิ่นนาน จนทำให้ชาวอาหรับจำนวนไม่น้อยลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อการโค่นล้มการปกครองที่ไม่เป็นธรรมขึ้นมา
 
เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นที่ประเทศตูนีเซีย เป็นการโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีไซนัล อาบิดิน บินอาลี (Zine El Abidine Ben Ali) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า การปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution)
 
การลุกฮือของชาวตูนีเซียครั้งนั้น เกิดขึ้นหลังจากการจุดไฟเผาตัวเองของนายมุฮัมมัด อัลบูอะซีซี (Mohamed Al-Bouazizi) เขาได้จุดไฟเผาตัวเองเพราะไม่พอใจการความไม่เป็นธรรมที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตูนีเซีย
 
ถึงแม้ว่าการจุดไฟเผาตัวเองนั้นจะถือว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามถือว่าการตัวตายเป็นบาปหนัก ถึงขั้นถูกจองจำในนรกตลอดไปและไม่มีสิทธิ์เข้าสวรรค์ได้
 
แต่ในกรณีของอัลบูอะซีซีนั้น มีผู้รู้ทางศาสนาหลายท่านออกมาให้ทัศนะว่า การกระทำของเขาถือเป็นการต่อสู้ที่น่ายกย่อง รวมถึง ดร.ยุซุฟ ก็อรฎอวีย์ ปราชญ์ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ก็ออกมายกย่องการกระทำของอัลบูอะซีซีเช่นเดียวกัน จนทำให้ชาวตูนีเซียสามารถโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีบินอาลีได้สำเร็จ
 
เชื้อการปฏิวัติเข้าสู่อียิปต์
 
จากความสำเร็จในการปฏิวัติที่ประเทศตูนีเซีย เริ่มทำให้ชาวอียิปต์จำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวได้รวมตัวชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ลงจากตำแหน่ง
 
ในช่วงแรกของการชุมนุมที่อียิปต์นั้น ถือว่ายังเป็นพลังบริสุทธิ์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ในช่วงหลังเริ่มมีกลุ่มการเมืองเข้ามาแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและกลุ่มอื่นๆอีกหลายกลุ่ม รวมถึงการถูกแทรกแซงจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นซาอุดิอาระเบียและกาตาร์
 
กว่าที่มูบารัค จะลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีได้ การชุมนุมประท้วงก็ดำเนินไปเป็นแรมปี
 
หลังจากมูบารัคลงจากตำแหน่ง เขาเองก็ไม่ได้เลือกที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ แต่เขายอมถูกจับกุมในข้อหาสั่งฆ่าผู้ชุมนุมประท้วง
 
การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ โอกาสของอิควาน
 
หลังจากนั้นไม่นานอียิปต์ก็มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ขึ้น ซึ่งผลคะแนนที่ออกมาปรากฏว่า กลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่นำโดย ดร.มูฮำหมัด มุรซีย์ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเฉียดฉิว 51.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลภราดรภาพมุสลิมไม่ค่อยมีความเข้มแข็งเท่าไหร่
 
รัฐบาลกลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้เข้าไปยึดครองตำแหน่งสำคัญในกระทรวงต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มผู้รู้ทางศาสนาของอิควาน ต่างก็ได้ขึ้นมามีบทบาทในสังคมอียิปต์
 
รวมไปถึงความพยายามสลายอำนาจของทหาร ด้วยการปลดจอมพลโมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ตันตาวี รัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุด และให้ พลเอกอับดุลฟัตตาห์ อัลซีซี เข้ามารับตำแหน่งแทน
 
การกระทำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมสร้างความไม่พอใจกับกลุ่มอำนาจเก่าเป็นอย่างมาก ประกอบกับปัญหาอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจตกต่ำ ความยากจน และอีกหลายปัญหา แต่ที่สำคัญมีกลุ่มการเมืองฝั่งตรงข้ามที่พยายามหาโอกาสโค่นล้มรัฐบาลอิควานอยู่ตลอดเวลา
 
การต่อต้านกลุ่มภารดรภาพมุสลิม
 
ผ่านไปหนึ่งปีกลุ่มมวลชนที่ไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาล ดร.มุรซีย์ ได้ออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่ โดยกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมประท้วงเป็นเครือข่ายกลุ่มอำนาจเก่าร่วมกับกลุ่มการเมืองพรรคฝ่ายค้าน โดยมีประเทศซาอุดิอาระเบียให้การหนุนหลัง
 
เหตุผลที่ซาอุดิอาระเบียหนุนหลัง เนื่องจากต้องการโค่นล้มรัฐบาล ดร.มุรซีย์ เพราะไม่ต้องการให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมมีอำนาจ เพราะปัจจุบันซาอุดิอาระเบียถูกรายล้อมด้วยกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ปาเลสไตน์และกาตาร์ จึงเกรงว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะเข้าไปเผยแพร่แนวคิดต่อต้านกลุ่มซาลาฟีย์และล้มล้างระบอบกษัตริย์ของซาอุดิอาระเบีย
 
ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและกลุ่มมวลชนของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ก็ออกมาชุมนุมเพื่อสนับสนุนการบริหารประเทศของ ดร.มุรซีย์ โดยฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลนั้นมีประเทศกาตาร์ให้การหนุนหลัง เพราะกาตาร์ต้องการให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมครองอำนาจต่อไป
 
อีกเหตุผลหนึ่งคือ กาตาร์ไม่ต้องการให้แนวคิดซาลาฟีย์ของซาอุฯเรืองอำนาจและแทรกซึมเข้าประเทศของตน กาตาร์จึงให้การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม
 
การรัฐประหารยึดอำนาจโดยทหาร
 
ประเทศอียิปต์ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้เพียงปีเดียว กองทัพที่นำโดย พลเอกอัลซีซีก็ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ และนำตัว ดร.มุรซีย์ ไปคุมขังในสถานที่ลับ และแต่งตั้ง นายอัดลี มันซูร์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีรักษาการ
 
การกระทำของกองทัพอียิปต์สร้างความไม่พอใจต่อผู้สนับสนุน ดร.มุรซีย์ เป็นอย่างมาก จึงทำให้กลุ่มมวลชนของภราดรภาพมุสลิมออกมาชุมนุมประท้วงเป็นจำนวนมาก จนนำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินของทหารโดยห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานในยามวิกาล
 
แต่การออกมารวมตัวของกลุ่มผู้สนับสนุน ดร.มุรซีย์ กลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างล้นหลามจนเริ่มเกิดการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหาร กองทัพมีการใช้กระสุนจริงในการล้อมปราบกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตเป็นพันและมีผู้ได้รับบาดเจ็บนับหมื่น
 
สำนักข่าวยักษ์ใหญ่อย่างอัล-จาซีร่าของกาตาร์ได้รายงานเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง และข่าวที่ออกมาค่อนข้างจะเอนเอียงไปทางกลุ่มผู้สนับสนุน ดร.มุรซีย์ เพราะกาตาร์ให้การหนุนหลังกลุ่มภราดรภาพมุสลิม อัลจาซีร่าจึงเป็นกระบอกเสียงอย่างดีของกลุ่มอิควาน
 
ส่วนในฟากของกองทัพอียิปต์นั้นมีสำนักข่าว อัล – อาราบียา ของซาอุดิอาระเบีย คอยเป็นกระบอกเสียงให้ เพราะรัฐบาลซาอุดิอาระเบียหนุนหลังและให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กองทัพอียิปต์อย่างเต็มที่
 
ส่วนที่เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ การออกมาให้ทัศนะของเหล่าผู้รู้ทางศาสนา เช่น เชคของมหาวิทยาลัยอัซฮาร์ที่ออกมาสนับสนุนกองทัพโดยยึดหลักคำสอนที่ว่า
 
“เราจำเป็นต้องสนับสนุนทางการ ถึงแม้ว่าเราจะถูกปกครองแบบไม่เป็นธรรม ตราบใดที่ผู้ปกครองไม่ได้ห้ามปฏิบัติศาสนกิจ เราก็ต้องสนับสนุนและเชื่อฟังผู้ปกครอง การออกมาชุมนุมประท้วงทางการจึงถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม”
 
แต่ที่หนักกว่านั้นคือ ดร.อาลีกูมา อดีตมุฟตีย์ของอียิปต์ ออกมาฟัตวา(ออกคำวินิจฉัยทางศาสนา) ว่าสามารถสังหารและยึดทรัพย์สินของสมาชิกกลุ่มอิควานได้
 
ผู้รู้อีกสายหนึ่งคือ ดร.อาห์หมัด อัลไรซูนีย์ และดร.ยูซุฟ ก็อรฎอวีย์ ได้ออก “ฟิกฮ์เซารอฮ์” หรือฟิกฮ์ปฏิวัติ ซึ่งยึดหลักที่ว่า สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ถ้าหากประเมินแล้วว่า โอกาสปฏิวัติแล้วชนะมีมาก แต่ถ้าหากประเมินแล้วโอกาสจะชนะมีน้อยก็ห้ามปฏิวัติ เพราะจะเกิดผลเสียตามมา
 
ซึ่งฟิกฮ์ปฏิวัตินี้ถือเป็นสิ่งที่สร้างความสะเทือนแก่โลกอาหรับเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียที่กลัวฟิกฮ์นี้มาก เพราะกลัวว่าประชาชนจะลุกฮือขึ้นปฏิวัติ
 
เชคอัซฮาร์และอดีตมุฟตีย์ใช้เหตุผลนี้เช่นเดียวกันในการสนับสนุนกองทัพ เพราะถือว่ากองทัพเป็นผู้มีชัยชนะเหนือรัฐบาลอิควาน
 
สำหรับแนวโน้มความขัดแย้งทางการเมืองในอียิปต์น่าจะยืดเยื้ออีกนาน เพราะกลุ่มอิควานบางกลุ่มเริ่มมีการติดอาวุธและพร้อมจะต่อสู้ด้วยความรุนแรง เพื่อต้อต้านอำนาจของรัฐบาลอียิปต์ที่มีทหารอยู่เบื้องหลัง
 
ส่วนพลเอกอัลซีซี มีแนวโน้มว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป เพื่อสืบทอดอำนาจจากอดีตประธานาธิบดีมูบารัค และหากมีการเลือกตั้งอีกครั้งถ้ากลุ่มอิควาน ชนะอีก ก็จะมีการออกมาชุมนุมประท้วงเหมือนเดิม การเมืองอียิปต์คงจะวนอยู่อย่างนี้ไปอีกหลายปี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท