Skip to main content
sharethis

เปิดอ่านกฎหมาย พ.ศ. 2487 "พ.ร.บ.พาสีชายโสด" เก็บภาษีชายผู้มี "ภาวะเปนโสด" ปีละ 5 บาท หลังเกิดกรณีที่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ผุดไอเดีย "นโยบายลูกคนแรก" "เก็บภาษีคนโสด" จนเกิดเสียงวิจารณ์ ร้อนไปถึงโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาล

ตามที่เมื่อวานนี้ (5 ก.ย. 56) เดลินิวส์ นำเสนอข่าว นายเทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการอภิปราย "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและนโยบายการรองรับในสองทศวรรษหน้า" เสนอว่าประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงขาดแคลนแรงงาน โครงสร้างประชากรไม่สมดุล และต้องเสียงบประมาณดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก ประชากรในวัยรุ่นวัยทำงานมีแนวโน้มเพิ่มต่ำลง สวนทางกลับกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มต่อเนื่อง อัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.6 ต่อครอบครัวหรือ 1 คู่สมรส มีลูกเพียง 1 คน และเสนอแนวทางแก้ไขให้ภาครัฐควรออกนโยบายสนับสนุนให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้น เช่น โครงการลูกคนแรก โดยรัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย การเลี้ยงดูให้กับครอบครัวที่มีลูกคนแรก รวมถึงให้เงินอุดหนุน หรือลดภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูกคน 2 และ 3  นอกจากนี้ควรเรียกเก็บภาษีคนโสด ภาษีคนไม่มีลูก กระตุ้นให้มีครอบครัวเพื่อลดภาระงบประมาณ การใช้สวัสดิการดูแลของภาครัฐในอนาคตนั้น

ต่อมาได้มีกระแสวิจารณ์ตามาจำนวนมาก ทำให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธีรัตน์ รัตนเสวี โพสต์ปฏิเสธข่าวดังกล่าวในเฟซบุ๊คว่าไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาล "เป็นอีกวันที่รู้ว่าคนไทยอ่านข่าวเฉพาะ Headline เพราะเรื่องการเก็บภาษีคนโสด เป็นแนวคิดของนักวิชาการคนหนึ่ง รัฐบาลยังไม่มีนโยบายเรื่องภาษีอะไรแบบนั้นทั้งสิ้น - feeling tired."

 

อ่านกฎหมายเก็บภาษีชายโสดสมัยจอมพล ป. 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2487 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายปรีดี พนมยงค์ เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 เคยมีการออกกฎหมาย "พระราชบัญญัติพาสีชายโสด พุทธสักราช 2487" ตีพิมพ์ใน ราชกิจจานุเบกษา 18 มกราคม 2487 มีเนื้อหาว่า ชายที่มี "ภาวะเปนโสด" หรือผู้ที่ไม่มีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือมีภรรยาโดยชอบด้วยกดหมายแต่ขาดจากกันแล้ว และเป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีละ 960 บาทขึ้นไป ให้เก็บ "พาสีชายโสด" เป็นเงิน 5 บาท หรือในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

โดยกฎหมายดังกล่าว ยกเว้นการเก็บภาษีชายโสดที่เป็นพระภิกษุ ผู้ที่มีลูก ผู้ต้องโทษอาญาอยู่ในเรือนจำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ทำการสมรสไม่ได้โดยมีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ เป็นบุคคลวิกลจริต หรือรับราชการทหารกองประจำการ หรือตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร โดยเนื้อหาของกฎหมายมีดังนี้ (รูปตัวสะกดเป็นไปตามยุคนั้น)

"โดยที่สภาผู้แทนราสดรลงมติว่า สมควนเก็บพาสีชายโสด จึงมีพระบรมราชโอกาสไห้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราสดร ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ไห้เรียกว่า "พระราชบัญญัติพาสีชายโสด พุทธสักราช 2487"
มาตรา 2 ไห้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาสไนราชกิจจานุเบกสาเปนต้นไป

มาตรา 3 ไนพระราชบัญญัตินี้
"ปี" หมายความว่า ปีปติทิน

"ภาวะเปนโสด" หมายความว่า ภาวะที่ไม่มีภรรยาโดยชอบด้วยกดหมาย หรือมีภรรยาโดยชอบด้วยกดหมายแต่ขาดจากกันแล้ว

"ชาย" หมายความว่า ชายมีสัญชาติไทย และมีอายุตั้งแต่ 25 ปีบริบูรน์ แต่ไม่เกิน 45 ปีบริบูรน์ ไนวันต้นของปีที่ล่วงมาแล้ว

มาตรา 4 ไนการประเมินพาสีเงินได้ตามประมวนรัสดากรจำนวนซึ่งถึงคราวประเมินเรียกเก็บไนปี 2488 และปีต่อไปถ้าปรากตแก่เจ้าพนักงานประเมินว่า ผู้ยื่นรายการผู้ไดเปนชายซึ่งหยู่ในภาวะเปนโสดตลอดปีที่ล่วงมาแล้ว มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีละ 960 บาทขึ้นไป ไห้เจ้าพนักงานประเมิน ประเมินเรียกเก็บพาสี เรียกว่าพาสีชายโสดเงิน 5 บาท หรือไนอัตราร้อยละ 10 ของพาสีเงินได้ที่ต้องเสีย แล้วแต่หย่างไดจะมากกว่า และแจ้งจำนวนพาสีให้ผู้ยื่นรายการดังกล่าวซาบเช่นเดียวกับพาสีเงินได้

มาตรา 5 ไห้ผู้ยื่นรายการที่ได้รับซาบจำนวนพาสีตามมาตรา 4 มีหน้าที่ต้องเสียพาสีชายโสด และให้เสียพายไนกำหนดเวลาเช่นเดียวกับพาสีเงินได้

มาตรา 6 ในการปฏิบัติจัดเก็บพาสีชายโสดนี้ ไห้นำบทบัญญัติแห่งประมวนรัสดากรมาไช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 7 ผู้ที่สแดงหลักถานเปนที่พอไจได้ว่า ตลอดปีที่ล่วงมาแล้ว
(ก) เปนพระภิกสุ
(ข) มีลูกที่ยังมีชีวิตอยู่
(ค) ต้องรับอาญาหยู่ไนเรือนจำ
(ง) เปนโรคติดต่อหย่างร้ายแรง
(จ) ทำการสมรสไม่ได้โดยมีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรน์
(ฉ) เปนบุคคลวิกลจริต หรือ
(ช) รับราชการทหานกองประจำการ หรือตำหรวดตามกดหมายว่าด้วยการรับราชการทหาน

ไห้ได้รับยกเว้นพาสีชายโสด

มาตรา 8 ไห้รัถมนตรีว่าการกะซวงการคลังรักสาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม"

โดยกฎหมายดังกล่าว มีการยกเลิกไปในสมัยนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการออกพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีชายโสดขึ้นมาแทน โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 9 มกราคม พ.ศ. 2488

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net