Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
หลังจากที่รัฐบาลโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจัดตั้ง “สภาปฏิรูปการเมือง” ขึ้น โดยเชิญชนชั้นนำทางสังคม 69 คนเข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลได้ตระหนักว่าสังคมไทยมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงและถึงเวลาต้องปฏิรูปสังคมการเมืองขนานใหญ่ ดังเช่นเมื่อครั้งนายบรรหาร ศิลปะอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เคยดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองขึ้นในปี 2538 และนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในเวลาต่อมา
 
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการเมืองเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ไม่สามารถกระทำได้ตามแบบเดิมที่เอารัฐบาลเป็นศูนย์กลางของการปฏิรูป หรือหวังพึ่งเพียงชนชั้นนำมาร่วมกันแสวงหาทางออกโดยลำพังเท่านั้น แต่จำเป็นต้องให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมโดยตรง เพื่อร่วมกันออกแบบประเทศไทย โดยเป็นวาระแห่งชาติของผู้คนบนแผ่นดิน
 
สิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้คือ การลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการร่วมมือแสวงหาทางออกของประเทศที่แท้จริง โดยรัฐบาลควรปลดล็อคเงื่อนไขที่ปิดกั้นการเข้ามามีส่วนในการปฏิรูปการเมืองของกลุ่มต่างๆ รวมถึงข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มการเมืองที่ร้องขอให้รัฐบาลถอนการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมออกมาจากรัฐสภาก่อน หรือพักการพิจารณา ไม่เช่นนั้นแล้ว อาจถูกกล่าวหาได้ว่า รัฐบาลได้จัดตั้งสภาปฏิรูปการเมืองนอกสภาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง แต่กลับกัน รัฐบาลก็ได้สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเชิงโครงสร้างในสภาในคราเดียวกันไปด้วย ซึ่งทำให้สังคมสับสนและผิดหวังแนวทางของรัฐบาลได้ ดังนั้น ประเด็นที่รัฐบาลควรกระทำได้ในทันทีเพื่ออำนวยการให้เกิดบรรยากาศสมานฉันท์เพื่อร่วมกันหาทางออกของประเทศคือ
 
1)    รัฐบาลควรถอนการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดองฯ ออกมาจากรัฐสภา หรือพักการพิจารณาไว้ก่อน เพื่อรอข้อเสนอของสภาปฏิรูปการเมือง และข้อเสนอของประชาชนในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งต่างๆ เนื่องจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านการรับรองวาระแรกจากรัฐสภาไปแล้วนั้น มีข้อครหาในเรื่องการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินไปเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำให้กฎหมายดังกล่าวไปทำลายกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เนื่องจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ มีถ้อยความบัญญัติคล้ายคลึงกับพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมฯ พ.ศ.2535 กรณีเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่มีการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ทหาร จนไม่เกิดบทเรียนและบรรทัดฐานให้กองทัพเลิกยุ่งเกี่ยวทางการเมืองหรือนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนของตำรวจ โดยร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ ระบุในมาตรา 3 ว่า “ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง....”  และพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมฯ พ.ศ.2535 ได้ใช้ถ้อยคำว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกัน...” ซึ่งคล้ายคลึงกันมากในทางกฎหมาย เมื่อกลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 2535 ได้มีการฟ้องร้องเอาผิดต่อกองทัพ ศาลฎีกาได้พิพากษายืนว่า “มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง” ดังนั้น เท่ากับว่า ถ้อยความในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ มีการนิรโทษกรรมแก่เจ้าหน้าที่ทหารและทุกคนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองอย่างชัดเจนตามความดังกล่าว ดังนั้น รัฐบาลต้องถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวออกมาก่อน เพื่อรอกระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป รวมถึงเพื่อการันตีสังคมและพรรคฝ่ายค้านว่า จุดมุ่งหมายของการเริ่มต้นออกกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้มีเป้าหมายในอนาคตที่จะนิรโทษกรรมแกนนำทางการเมืองทุกกลุ่ม รวมถึงคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการล้างมลทินคดีทุจริตของตนเองด้วย ตามที่มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดองฉบับอื่นๆ คงค้างอยู่ในสภาฯ
 
2)    รัฐบาลสามารถนำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้เสนอทางออกไว้แล้วมาดำเนินการได้ทันที โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนที่ยังติดคุกอยู่ ตามหลักการเรื่องการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ควรใช้หลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการตั้งข้อหาต่อผู้กระทำผิด รัฐสามารถทำได้ทันทีโดยการถอนฟ้องข้อหาทางการเมือง เช่น ข้อหาก่อการร้าย ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นต้น ซึ่งเป็นนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดในประเทศไทย ในคดีในที่ไม่ถอนฟ้อง รัฐควรดำเนินการให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าการอนุญาตให้ประกันตัวได้หรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล แต่อัยการและพนักงานสอบสวนก็สามารถมีบทบาทอย่างสำคัญในการเสนอต่อศาลเพื่อความปรองดองได้ รวมถึงการชะลอการดำเนินคดีไปก่อน การนิรโทษกรรม ถือเป็นมาตรการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่ควรเป็นการนิรโทษกรรมถ้วนหน้าอย่างที่เคยทำมาแล้ว เพราะนอกจากไม่นำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริงแล้ว ยังไม่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก เพราะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ ได้แก่ ญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ประชาชนที่ทรัพย์สินเสียหาย และสาธารณะชนไม่มีสิทธิมีเสียงในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมทางการเมืองแก่แกนนำทุกฝ่ายทางการเมืองแบบเหมารวมรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐในอนาคต ตามหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นสามารถทำได้ เมื่อกระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ความจริงเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนต่อสาธารณะแล้ว เมื่อมีการเปิดเผยความจริงที่ซ่อนเร้น ผู้กระทำผิดยอมรับผิดและขอโทษ เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ความจริงร่วมกัน เพื่อสร้างบรรทัดฐานของการชุมนุมของประชาชนในอนาคตว่าจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และเป็นบรรทัดฐานว่า จะต้องไม่มีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารอีกในอนาคต รวมถึงหากมีการพิพากษาความผิดแก่เจ้าหน้าที่ทหารชัดเจนก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานการเมืองไทย นอกจากนี้ คอป. ได้เชิญผู้มีชื่อเสียงระดับโลกมาให้คำแนะนำมากมาย รวมถึง อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ อดีตประธานาธิบดี เอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและผู้เชี่ยวชาญพิเศษในด้านต่างๆ ด้วย โดยมีคำแนะนำหลายอย่างต่อประเทศไทยและต่อมา คอป.ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลออกมาแล้ว ดังนั้น รัฐบาลควรนำข้อเสนอของ คอป. ซึ่งได้เสนอทางออกและคำแนะนำไว้ไปดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องชะลอเวลา และนำข้อเสนอทุกอย่างไปพิจารณาในที่ประชุมสภาปฏิรูปการเมืองด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการนำข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และรากเหง้าของความขัดแย้งมาเป็นบทเรียนในการสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาปรับใช้ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาลและการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย เป็นต้น เพื่อปฏิรูปสังคมการเมืองไปจากความขัดแย้งและสร้างการปรองดองที่แท้จริง มิเช่นนั้นแล้ว จะเป็นเพียงสภาปฏิรูปการเมืองที่เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองเท่านั้น
 
ความขัดแย้งในการเมืองไทย นับจากรัฐธรรมนูญ 2540 กระบวนการพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยไทยสามารถดำเนินไปอย่างเป็นพลวัตได้ แต่ต้องสะดุดลงด้วยความขัดแย้งทางอำนาจที่ไม่อาจประนีประนอมกันในเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งนำมาแสดงให้เห็นความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยหลายเรื่อง รวมถึงรื้อฟื้นความขัดแย้งแท้จริงหลายประการให้โผล่พ้นผิวน้ำ หากแต่กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ผ่านมานั้น ทุกรัฐบาล ไม่ได้จัดการเรื่องดังกล่าวเลย โดยเฉพาะปัญหาทางโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นความเหลื่อมล้ำมหาศาลในประเทศไทย นอกจากการให้น้ำหนักถึงปัญหาประชาธิปไตยทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว
 
ระหว่างเส้นทางปฏิรูป สิ่งที่พึงระวังคือ การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองนอกวิถีประชาธิปไตย อาจนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ได้ หากศึกษาบทเรียนจากประเทศอียิปต์เพื่อเปรียบเทียบในขณะนี้ อาจจะพอเห็นภาพว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์อาหรับสปริง ประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามถึง 846 คน บาดเจ็บกว่า 6,000 คน กว่าจะยอมออกจากตำแหน่งและอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีความผิดการทุจริตและการสังหารผู้ชุมนุมในปัจจุบัน ซึ่งต่อมาประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ได้เข้าสู่ตำแหน่งผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2555 แต่ระหว่างที่เขามีอำนาจอยู่ ประชาชนหลายกลุ่มวิตกกังวลว่าเขาจะดำเนินนโยบายให้กลายเป็นประเทศอิสลาม ตามแนวทางของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่หนุนหลังเขาอยู่ และการต่อต้านได้ขยายวงกว้างขึ้นภายหลังที่เขาออกประกาศกฤษฎีกาให้อำนาจเหนือการตรวจสอบแก่ตนเองโดยเริ่มรุนแรงขึ้นในกลางปี 2556 เมื่อมีการสั่งหารผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจำนวนหนึ่ง ขณะที่มีผู้ชุมนุมต่อต้านโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่า 10 ล้านคนในเมืองหลวงและอาจยกระดับเป็นการปฏิวัติประชาชน แต่ต่อมากองทัพได้ออกมารัฐประหารในวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 ซึ่งถือเป็นการตัดตอนช่วงชิงชัยชนะของประชาชนเหมือนในเหตุการณ์รัฐประหารของไทย, ผลก็คือ ประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้านรัฐประหารเพราะไม่อาจยอมรับการตัดตอนพลังประชาชนได้ และปัจจุบันกองทัพได้ปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารไปกว่า 1,000 คน จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสลดที่สุดในโลกอาหรับขณะนี้
 
ย้อนกลับมาเปรียบเทียบประเทศไทย กลุ่มประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลในปัจจุบันจากความไม่พอใจต่างๆ ทั้งทางนโยบายและโดยเฉพาะปัญหาการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ย่อมสามารถใช้สิทธิได้ตามรัฐธรรมนูญและรัฐบาลต้องหาทางสนองตอบเรื่องเหล่านั้นตามวิถีแห่งการเมือง หากความไม่พอใจของประชาชนขยายตัวไปอย่างกว้างขวางและรัฐบาลไม่อาจสนองความต้องการได้แล้ว ทางเลือกหนึ่งของระบบรัฐสภาคือรัฐบาลประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ระหว่างนั้นหากมีกลุ่มใดเสนอให้ใช้วิธีนอกกระบวนการประชาธิปไตยแล้วก็อาจนำเข้าการรัฐประหารของกองทัพเหมือนในอียิปต์ได้ ซึ่งหลังจากนั้นก็จะมีประชาชนลุกขึ้นต่อต้านจนบาดเจ็บล้มตายไม่ต่างกัน หรือกระทั่งเกิดสงครามกลางเมือง, นั่นคือบทเรียนที่เราต้องจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของกองทัพไม่ให้เข้ามาก้าวก่ายความขัดแย้งทางการเมืองทุกกรณี
 
คำตอบจากการหลุดพ้นวงจรอุบาทว์แห่งอำนาจนั้น นอกจากรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นภายในแล้ว รัฐบาลและสังคมจะต้องร่วมกันหาทางออกจากความขัดแย้งในกลไกประชาธิปไตย ซึ่งต้องการความจริงใจของทุกฝ่ายที่จะปฏิรูปแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง รัฐบาลสามารถทำการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปเศรษฐกิจ การปฏิรูปสังคม ในระหว่างนี้ได้เลยโดยนำข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) และสมัชชาปฏิรูป ที่มีการจัดตั้งในรัฐบาลก่อนหน้า มาพิจารณาสานต่อร่วมกับสภาปฏิรูปการเมืองโดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ ในขณะเดียวกัน รัฐต้องส่งเสริมภาคประชาชนให้มีสภาปฏิรูปของประชาชนโดยตรงเพื่อการมีส่วนร่วมปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
 
การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปเศรษฐกิจ การปฏิรูปสังคม ที่เป็นประเด็นโครงสร้างเพื่อฝ่าข้ามความขัดแย้ง แก้ไขปัญหาทั้งประเทศอย่างแท้จริงนั้น ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม นับเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งจากผลผลิตทางการเมืองแบบผูกขาดที่ผ่านมา กล่าวคือ
 
ปัญหาที่แท้จริงของสังคมการเมืองไทยนั้น โครงสร้างทางอำนาจถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ ทั้งสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมเสียสมดุล การพัฒนาและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจึงมักเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำทางสังคมเท่านั้น และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลในปัจจุบัน จนประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในเอเชีย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันถึง 15 เท่า ขณะที่อินเดียและจีนซึ่งมีพลเมืองมากกว่า ห่างกันเพียง 8 เท่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าในปี 2553 จำนวนคนจนในประเทศไทย ยังมีอยู่ถึง 5,076,700 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5 % ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำจากเส้นความยากจนที่ 1,678บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่คนรวยที่สุด 10% แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันมากถึง 38.41% ของรายได้รวมทั้งประเทศ กลุ่มคนจนที่สุด 10% แรกของประเทศมีรายได้เพียง 1.69% ของรายได้รวมเท่านั้น ความขัดแย้งจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ คือความขัดแย้งหลักของสังคมที่รอวันปะทุความรุนแรง รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่นำมาสู่ค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างกันด้วย อันเป็นเหตุผลให้รัฐต้องจัดรัฐสวัสดิการการศึกษาอย่างถ้วนหน้าในอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ
 
ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนซึ่งเป็นวิกฤติของสังคมไทยนั้น การผูกขาดอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำมาโดยตลอด ได้ทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจของพวกเขาโดยปริยาย จนธุรกิจและการเมืองเหมือนจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว และคณะรัฐบาลของทหารและกลุ่มทุนที่ผ่านมาก็ไม่เคยเยียวยาปัญหานี้ทางโครงสร้างเพราะกลัวสูญเสียประโยชน์ ประเทศไทยจึงไม่มีการจัดรัฐสวัสดิการและบริการสาธารณะจากรัฐอย่างเต็มที่เหมือนเจตนารมณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตย ความเหลื่อมล้ำมหาศาลของประเทศในขณะนี้นั้น สังคมไทยต้องตั้งคำถามต่อทิศทางการนำพาประเทศด้วยระบบทุนนิยมเสรีที่ใช้กลไกตลาดโดยไม่แยแสต่อทุนผูกขาดใดๆ ที่ควบคุมกลไกตลาดและเอาเปรียบสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการเศรษฐกิจแบบผสมผสานโดยเร็ว และควบคุมการเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติสาธารณะของสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ โทรคมนาคม อากาศ ดิน น้ำ ป่า น้ำมันและพลังงาน หรือสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเองอื่นใด ซึ่งถือว่าควรเป็นกรรมสิทธิ์ของสังคม
 
นอกจากนี้ การผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำดังกล่าวโดยไม่เปิดโอกาสให้โครงสร้างอำนาจได้ขยับตัวเปลี่ยนแปลง ยังทำให้ประเทศไทยสูญเสียบรรทัดฐานทางสังคมการเมืองซ้ำซ้อน  จากวัฒนธรรมทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถทลายวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยมและอุปถัมภ์นิยมในสังคมไทยลงได้ จะด้วยการปฏิรูปกฎหมายหรือการบังคับใช้แก่ทุกฐานะทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันก็ตาม กระบวนการยุติธรรมที่เป็นความหวังและหลังพิงความยุติธรรมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบจึงยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบแก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ต่อทุกความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปมปัญหาเรื่องบทบาทของเครือข่ายเจ้านายและสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตย ยังถูกถกเถียงอย่างจำกัดในวงกว้างถึงบทบาทที่ควรจะเป็นตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังคงรุนแรงและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่
 
วิกฤติสังคมไทยและความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ กำลังสะท้อนถึงทิศทางประชาธิปไตยไทยที่กำลังเดินทางมาสู่ทางแพร่ง และปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างแนวทาง “ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม” หรือประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเก่า (semi democracy) และแนวทาง “ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม” (libertarian democracy) ทั้งสองแนวทางดังกล่าว ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำทั้งกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่แต่อย่างใด และภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้ แนวทางประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม หรือ ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม ทั้งสองแบบต่างก็เติบโตได้ดีในสังคมไทย หากว่าปรองดองกันได้ โดยการแย่งชิงพื้นที่ระบบอุปถัมภ์นิยมเพื่อยึดโยงอำนาจของตนเอง แต่พลังของภาคประชาชนจะไม่สามารถเติบโตได้เนื่องเพราะไม่อาจเป็นอิสระจากรัฐและทุนได้อย่างแท้จริงภายใต้โครงสร้างและแนวทางเหล่านี้  การเมืองในโครงสร้างนี้จึงไม่มีพื้นที่ของประชาชนที่มีที่ยืนที่ชัดเจน และไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางชนชั้นหรือพรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่หลากหลายตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่ชัดเจน เช่น พรรคสังคมนิยม หรือพรรคสังคม-ประชาธิปไตย หรือพรรคทางเลือกทางการเมืองอื่นๆ เมื่อไม่มีพรรคการเมืองทางชนชั้นเข้าไปต่อสู้ในระบบรัฐสภา จึงทำให้เกษตรกร คนงาน ประชาชนชั้นล่างของสังคม ถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า เราจะร่วมกันปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปทางไหน อย่างไร ในอนาคตอันใกล้ จะเดินถอยหลังไปสู่ ประชาธิปไตยครึ่งใบ แบบเก่า หรือเราจะเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อไปสู่ เสรีนิยมประชาธิปไตย (Libertarian Democracy) แบบสหรัฐอเมริกา ที่เน้นเฉพาะสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเท่านั้น หรือว่ายังมีทิศทางอื่น ทางเลือกที่สามในสังคมไทย นั่นคือทิศทางใหม่เพื่อไปสู่ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” (Social-Democracy) แบบหลายรัฐในสหภาพยุโรป ที่ให้ความสำคัญทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR.)
 
ในทางการเมืองนั้น ปัจจุบันประเทศที่ได้ถูกจัดอันดับว่ามีประชาธิปไตยสูงที่สุดในโลก กลับเป็นประเทศที่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย ใช้ระบบเศรษฐกิจผสมเพื่อรัฐสวัสดิการ ตามการวัดดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) โดย Economist Intelligence Unit โดยประเทศที่มีดัชนีประชาธิปไตยสูงที่สุดในโลก คือ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข (Constitution Monarchy) ตามด้วยไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดาและฟินแลนด์ ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 58 แต่ปัญหาการจัดการระบบเศรษฐกิจถูกยกให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในเอเชีย จากการนำพาประเทศด้วยระบบทุนนิยมเสรีที่ใช้กลไกตลาดโดยไม่แยแสต่อทุนผูกขาดใดๆ ที่ควบคุมกลไกตลาดและเอาเปรียบสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายประชานิยมในปัจจุบันของรัฐบาล ที่ใช้แนวทางเสรีนิยมตามลัทธิเศรษฐกิจแบบแทตเชอร์-เรแกนผสมกับสำนักเคนส์ มาตั้งแต่ยุครัฐบาลก่อนไม่ว่าจะเป็นนโยบายรถคันแรกปลอดภาษี การพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ การพักหนี้เกษตรกร บัตรเครดิตชาวนา โครงการรับจำนำข้าวและการขึ้นค่าตอบแทนแต่ไม่ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค รวมถึงโครงการเงินกู้ต่างๆ เพื่อหมุนเวียนเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งใช้แนวทางการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ยกเว้นระบบสวัสดิการด้านการศึกษาและสาธารณะสุขเท่านั้นที่รัฐบาลไทยยังคงให้เป็นสวัสดิการสังคมที่ดี แต่ยังไม่มีคุณภาพ
 
ดังนั้น ประชานิยมในประเทศไทยจึงเป็นประชานิยมแบบทุนนิยม แต่ไม่ใช่ประชานิยมกึ่งสังคมนิยมเหมือนในละตินอเมริกา ซึ่งมีการจัดการระบบเศรษฐกิจกึ่งสังคมนิยมในอุตสาหกรรมหลักๆ และทรัพยากรสาธารณะต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในสังคม ไม่ใช่เพื่อนายทุนหรือผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวจึงไม่อาจแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงในสังคมไทย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำลงได้ การขูดรีดตามระบบยังคงสร้างความรุนแรงเชิงโครงสร้างและรอการพัฒนาความขัดแย้งต่อไปเพื่อรอวันปะทุ
 
คงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องใช้ระบบเศรษฐกิจผสม รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการเศรษฐกิจแบบผสมผสาน (Mixed Economy) โดยเร็ว และควบคุมการเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสาธารณะและทรัพย์สมบัติของชาติและสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ โทรคมนาคม อากาศ ดิน น้ำ ป่า น้ำมันและพลังงาน
 
หากเราพูดถึงการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หัวใจสำคัญคงเป็นเรื่อง “ชนชั้น” ที่มาจากความสัมพันธ์ทางการผลิต และ “ระบบกรรมสิทธิ์” ที่เป็นปัญหาสำคัญ และตามหลักการสังคมนิยมแล้ว สิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถผลิตหรือสร้างสรรค์ขึ้นได้เองไม่ควรนำเข้าสู่ระบบกลไกตลาด เช่น ที่ดิน ทะเลและป่าไม้ ซึ่งควรถือเป็นกรรมสิทธ์ร่วมของสังคม และการต่อสู้เรื่องระบบกรรมสิทธิ์นี้ นโยบายเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของผู้คนเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่พรรคการเมืองทั้งหลายควรต้องพูดให้ชัดเจน
 
ทางออกจากความขัดแย้งที่แท้จริงของประเทศไทยนั้น ต้องแก้ไปที่โครงสร้างทางการเมืองที่ปล่อยให้มีการยึดกุมรัฐสภาและพรรคการเมืองด้วยอำนาจทุน ต้องแก้ที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ปล่อยตามกลไกตลาดให้มือใครยาวสาวได้สาวเอาจนเกิดความเหลื่อมล้ำและความยากจนแปลกแยก ต้องแก้ที่โครงสร้างอำนาจโดยการกระจายอำนาจโดยให้งบประมาณท้องถิ่นมากกว่าส่วนกลาง ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ เพื่อยกระดับจิตสำนึกพลเมืองของประชาชนให้เพิ่มขึ้นพร้อมด้วยความรับผิดชอบ โดยการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่นี้ ชนชั้นนำในสังคมไทย อันประกอบไปด้วย เครือข่ายเจ้านาย เครือข่ายชินวัตร กองทัพ นักการเมือง กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนายทุน ทั้งกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่ ต้องร่วมกันก้าวข้ามผลประโยชน์ตนเองไปสู่ผลประโยชน์ร่วมของสังคม โดยไม่ใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมืองด้วยการใช้ความรุนแรงหรือความตายของประชาชนเป็นเครื่องมือ และสนับสนุนการปฏิรูปสังคมใหม่อย่างสันติผ่านระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองที่หลากหลายทางอุดมการณ์ เพื่อต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภา และสนับสนุนประชาชนในการเสนอทางเลือกใหม่ที่ไปมากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2 กระแสในปัจจุบันไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยที่เน้นสังคม หรือ สังคมประชาธิปไตย ที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองทางเลือกใหม่ของระบอบประชาธิปไตย และเป็นทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งในปัจจุบัน โดยมีข้อเสนอสำคัญที่รัฐบาลและ “สภาปฏิรูปการเมือง” ควรนำไปพิจารณา ดังนี้
 
1)    จากความขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านประชามติแต่มีที่มาจากการรัฐประหาร มีปัญหาความชอบธรรมของระบบนิติรัฐนั้น รัฐบาลและสภาปฏิรูปการเมืองต้องมีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่อนุญาตให้ทบทวนแก้ไขได้ทุก 5 ปี โดยใช้กลไก ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะชอบธรรมและได้รับการยอมรับมากที่สุด ตามหลักประชาธิปไตยและเจตจำนงประชาชนอย่างแท้จริง ในการมีส่วนออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเครื่องมือสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อแก้ไขข้อครหาที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 และผลพวงของการรัฐประหาร 2549 ซึ่งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาจากเจตจำนงค์ของประชาชนส่วนใหญ่ลง โดยรัฐธรรมนูญฉบับอาจไม่ต้องมีมาตรามากมาย แต่สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ตามกติกาสากลระหว่างประเทศ (ICCPR.) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี (2539) และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (2491) จะต้องถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
 
โดยเฉพาะหลักการที่ว่า “ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยผ่านผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ และเจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล โดยเจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง” รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามกติการะหว่างประเทศ(ICESR.) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี (2542) ด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญ ต้องยกเลิกการบังคับ ส.ส. สังกัดพรรคและการกีดกันการเข้าสู่การเมืองด้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะระดับการศึกษา รวมถึงการแก้ไขการบัญญัติระบบเศรษฐกิจที่ให้ขึ้นต่อกลไกตลาดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการทุนนิยม ซึ่งในข้อเท็จจริงรัฐไทยได้ปรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมในระดับหนึ่ง
 
2)    การสนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่แท้จริงนั้น ต้องมีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ปิดกั้นการรวมตัวทางการเมืองของประชาชนและเป็นอุปสรรคให้เกิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา โดยต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบพรรคการเมืองในประเทศไทยให้มีประชาธิปไตยภายในพรรค มีลักษณะพรรคของมวลชนอย่างแท้จริง ที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างเสรี โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองโดยเฉพาะการรวมตัวเป็นพรรคของประชาชน ในเรื่องมูลเหตุการยุบพรรค หรือระยะเวลาในการตั้งสาขาหรือหาสมาชิก เนื่องจากการรวมตัวกันเพื่อเป็นพรรคการเมืองเป็นสิทธิทางการเมืองพื้นฐาน กฎหมายจะไปละเมิดหรือลิดรอนสิทธิ์ไม่ได้ เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนทางนโยบาย, รวมถึงการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้มีการเลือกตั้งจากสถานที่ประกอบการหรือในโรงงานที่ทำงานได้ ตามการเรียกร้องสิทธิแรงงานในเรื่องพื้นที่การเมืองของแรงงานที่แท้จริง
 
การแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว จะสร้างระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้มี พรรคการเมืองที่หลากหลายทางอุดมการณ์ เพื่อต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคเสรีนิยม พรรคอนุรักษ์นิยม หรือพรรคทางเลือกอื่นๆ แต่ในปัจจุบัน ชื่อพรรคการเมืองเช่น สังคมนิยม ไม่สามารถถูกจดทะเบียนได้ โดยความเห็นของ กกต. ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมือง ขณะที่ในสังคมประชาธิปไตยในรัฐอื่นที่มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว เขาอนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางอุดมการณ์ที่หลากหลาย เพื่อแข่งขันนโยบายทางสังคม-เศรษฐกิจอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เช่นรัฐสังคมประชาธิปไตยในสหภาพยุโรปหรือสแกนดิเนเวีย ซึ่งให้สิทธิทางการเมืองอย่างเต็มที่ และรัฐไม่สามารถรอนสิทธินั้นได้ตราบที่ไม่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของเขา แม้แต่กลุ่มอนาธิปไตยก็ยังมีพื้นที่อยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และประชาชนสามารถเรียนรู้อุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายได้เต็มที่และเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้แก่สังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจแบบราชอาณาจักร, สาธารณะรัฐหรือสหพันธรัฐ การจัดการเศรษฐกิจแบบผสม, สังคมนิยมหรือว่ากลไกตลาดในระบบเสรีนิยม แต่ประเทศไทยถูกจำกัดการเรียนรู้ด้าน Civic Education เหล่านี้ จึงเข้าถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างจำกัด ท่ามกลางวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียมและกฎหมายแบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม ที่ชนชั้นนำควบคุมอยู่
 
3)    ในข้อเสนอ 1)และ 2) นั้น ควรให้มีการทำประชามติของประชาชน เพื่อให้มีการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง โดยให้มีการเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรง เพื่อป้องกันระบอบเผด็จการพรรคการเมือง หรือการครอบงำของนายทุนต่อพรรคการเมืองไทย โดยให้มีการเลือกตั้งทางตรงในทุกระดับเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว และเป็นการมอบอธิปไตยคืนแก่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยจัดให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะในระบบประชาธิปไตยทางตรง รวมถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาด้วย เพื่อยึดโยง 3 อำนาจผ่านประชาชน และกำหนดให้มีเพียงสภาเดียวทำหน้าที่นิติบัญญัติ โดยมีสมาชิกสภาราษฎรจังหวัดละ 2 คน ในการเลือกแบบรวมเขต ซึ่งการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทางตรงนี้ จะแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ ทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่น การผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำ รวมถึงการกระทำอันเป็นเผด็จการพรรคการเมืองในอดีตด้วย ทั้งนี้ เป็นเพียงการปฏิรูประบบการเลือกตั้งของเมืองไทย แต่ไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่อย่างใด โดยอาจให้มีการทบทวนปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับประมุขแห่งรัฐให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ซึ่งอาจแก้ไขให้เป็นกฎหมายหมิ่นประมาทที่ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีอำนาจในการฟ้องร้องดังกล่าวตามกฎหมาย ตามข้อเสนอของ คอป. เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำให้ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงฐานะประมุขของประเทศ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งทางการเมือง และยุตินักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดในประเทศไทย
 
นอกจากนี้ ต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยยกเลิกการบริหารราชการส่วน ภูมิภาค ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงให้แก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมาอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถมีอำนาจที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองได้ เพราะมีความลักลั่นและทับซ้อนกันในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของระบบราชการไทย โดยให้มีการรับรองสิทธิการกำหนดอนาคตตนเองของชุมชนท้องที่ และการจัดการเศรษฐกิจตามลักษณะพื้นที่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของชุมชนเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนในท้องที่ได้อย่างแท้จริง โดยไม่ถูกอำนาจแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุนในการผลักดันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไปทำกิจการในพื้นที่โดยไม่ผ่านการประชามติ และอาจให้มี “สภาหมู่บ้าน” ที่กฎหมายรับรองอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุลและถอดถอนผู้แทนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ในกรณีไม่รับฟังเสียงส่วนใหญ่ในชุมชน รวมถึง การกระจายอำนาจสำนักงานตำรวจแห่งชาติสู่ท้องถิ่น โดยการเลือกตั้งผู้กำกับการตำรวจทุกจังหวัด
 
4)    ต้องมีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนและให้เป็นวาระหลักของประเทศไทย โดยมีนโยบายการแก้ไขในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะปัญหาการครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายรายได้และโภคทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำมหาศาลและเป็นปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทย และมีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้มากขึ้น รวมถึงแนวทางแก้ไขการเข้าผูกขาดทรัพย์สมบัติสาธารณะของเอกชน หรือการสัมปทานของเอกชนที่เอื้อผลประโยชน์ต่อรัฐน้อยเกินไป โดยรัฐจะต้องเข้ามาดูแลโภคทรัพย์ส่วนรวมของสังคมและกระจายประโยชน์สู่ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทรัพย์สมบัติของประชาชนด้านพลังงาน โดยยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชน แต่ปฏิรูปการบริหารจัดการใหม่แบบทันสมัยโดยให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วน โดยการออกกฏหมายถือครองหรือซื้อคืนกิจการ ปตท. ให้เป็นของรัฐ 100% การจัดการเรื่องพลังงานของประเทศเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์เต็มที่ การขนส่งมวลชนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อทั้งประเทศ และการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสังคมอื่นๆ ส่งเสริมและซื้อคืนรัฐวิสาหกิจต่างๆ และการให้สัมปทานภาคเอกชนในกิจการที่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพและมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ โดยไม่มุ่งค้ากำไรจากประชาชน เช่น ด้านพลังงาน ไฟฟ้า ประปา และการคมนาคมขนส่ง  ระบบทางด่วนและทางพิเศษ รวมทั้งระบบการศึกษา เป็นต้น เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืน
 
โดยเฉพาะระบบการศึกษา รัฐต้องทำให้การศึกษาเป็นเสรีภาพของประชาชนที่เข้าถึงเพื่อสร้างองค์ความรู้ ได้โดยเสมอภาค เป็นบริการสาธารณะและไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างแท้จริง ไม่ใช่การศึกษาคือธุรกิจการค้าและการลงทุนในปัจจุบัน โดยมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา โดยพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ตอบสนองต่อสังคมและชุมชนท้องที่อย่างเต็มที่ มากกว่าการผลิตบัณฑิตตอบสนองกลไกตลาดอย่างเดียว โดยรัฐบาลควรยุติการนำมหาวิทยาลัยของรัฐเข้าสู่ระบบตลาดและแปรรูปไปเป็นของคณะบุคคล การศึกษาต้องเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ ตามหลักด้านเสรีภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่ใคร่ศึกษาหาความรู้ควรได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างเสมอภาค มิใช่เพียงเปิดโอกาสอย่างจำกัดทางด้านการศึกษาเท่านั้น โดยอาจผลักดันให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศเป็นการให้การบริการสาธารณะด้านการศึกษาแก่ทุกคนที่สนใจ และมีการเปิดการเรียนรู้พลเมือง หรือ Civic Education อย่างเปิดกว้างโดยไม่ปิดกั้น มีการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองอย่างกว้างขวาง โดยสนับสนุนการศึกษาทางเลือก                                                      
 
ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐมีงบประมาณในการสร้างรัฐสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องออกกฎหมายให้มีการปฏิรูประบบ ภาษีทั้งระบบ โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ทำให้โครงสร้างภาษีไม่มีความเป็นธรรม ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี ภาษีทางตรงคือภาษีรายได้และนิติบุคคล ที่ปัจจุบันรัฐบาลได้ลดภาระทางภาษีลง แต่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ ทรัพย์สินและรายได้ของบุคคลที่สั่งสมเพิ่มขึ้นจากการรีดมูลค่าจากคนสังคม สมควรแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยให้รัฐจัดการในส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความสะดวกปลอดภัยของชีวิตตลอดจนคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ พลเมืองในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราที่สูงในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมนี้ และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง ดังนั้น ภาษีทรัพย์สิน คือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ควรมีนโยบายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ทั้งจากสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เหมือนภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศ ไม่ใช่จากอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว รวมถึงการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม และเป็นหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เพื่อให้รัฐและท้องถิ่น นำมาใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสวัสดิการทางสังคม เช่น การขนส่งมวลชนสาธารณะ การศึกษาและการสาธารณะสุข เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพปลอดพ้นจากความอดอยากแร้นแค้น โดยเฉพาะชนชั้นล่างทางสังคม ซึ่งหากภาษีที่รัฐเก็บมา ใช้จ่ายไปในกลุ่มที่เป็นกลุ่มรายได้ระดับล่างมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะสามารถลดช่องว่างของคนในสังคมได้มากยิ่งขึ้น
 
5)    ต้องมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบและจำกัดการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง โดยมีการแบ่งแยกโซนพื้นที่คุ้มครองทางเกษตรกรรมและพื้นที่อุตสาหกรรมให้ชัดเจน ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีที่ดินประมาณ 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติประมาณ 25% คงเหลือประมาณ 240 ล้านไร่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ซึ่งจะเฉลี่ยได้เพียงคนละประมาณ 4 ไร่เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากของเอกชนจนเกิดการกระจุกตัว โดยไม่มีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ที่ดินไม่ควรเอาเข้าสู่ระบบกลไกตลาดเลย ประเทศไทยจึงต้องมีนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง โดยการรื้อฟื้นปรับปรุง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังอาจร่วมกันปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวให้ทันสมัยขึ้น โดยมีมาตรการจำกัดการถือครองเพิ่มขึ้นไม่เกิน 100 ไร่ หรือตามความจำเป็น เป็นต้น และสนับสนุนนโยบายการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจจะปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ครอบคลุมมาตรการดังกล่าว เพราะหากรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องนี้ เกษตรกรและชาวนาไทยอาจจะกลายเป็นเพียงแรงงานในท้องไร่ที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ของนายทุนไร้สัญชาติในอนาคต ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ยังเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญไทยที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เก็บ นอกจากเป็นมาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบภาษีที่ดิน และสามารถพัฒนาโครงสร้างทางการคลังเพื่อนำไปสู่ภาวการณ์กระจายรายได้ที่ดีขึ้นได้แล้ว ยังเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวอีกขั้นหนึ่ง เพราะเป็นรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรทรัพยากรและกระจายการพัฒนาสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องเพราะประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่จัดเก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริงเช่นนี้ นอกจากฐานรายได้ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงสร้างภาษีที่ไม่มีความเป็นธรรม แม้ว่าในอดีตถึงปัจจุบัน เราจะมีการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ แต่ก็ไม่ได้เก็บจากมูลค่าของทรัพย์สินอย่างแท้จริง เพราะเป็นการคำนวณภาษีบนฐานรายได้ โดยคำนวณจาก “ค่ารายปี” หรือค่าเช่าที่เจ้าของได้รับในแต่ละปี ถ้ามีการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นภาษีทางตรงที่เก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริง
 
หมายเหตุเพิ่มเติม:
            -การถอนการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดองฯ ออกมาจากรัฐสภาหรือพักการพิจารณาไว้ก่อน เพื่อนำทางไปสู่การปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปประเทศร่วมกันของทุกฝ่ายนั้น ไม่ใช่เงื่อนไขในการไม่ช่วยเหลือประชาชนที่ติดคุกหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองอยู่ แต่รัฐบาลสามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้เลย โดยการถอนฟ้องข้อหาทางการเมือง เช่น ข้อหาก่อการร้าย ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นต้น ซึ่งเป็นนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดในประเทศไทย ในคดีอาญาอื่นๆ ที่ไม่ถอนฟ้อง รัฐสามารถดำเนินการให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าการอนุญาตให้ประกันตัวได้หรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล แต่อัยการและพนักงานสอบสวนก็สามารถมีบทบาทอย่างสำคัญในการเสนอต่อศาลเพื่อความปรองดองได้ รวมถึงการชะลอการดำเนินคดีไปก่อน หากไม่มีการนิรโทษกรรมแบบเหมารวม และมีการพิพากษาความผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐในอนาคต จะเป็นบรรทัดฐานในการสร้างสังคมประชาธิปไตย และหากปรากฎมีกลุ่มบุคคลผู้ใช้อาวุธสงครามในการต่อต้านรัฐบาล ก็จะเป็นบรรทัดฐานในการประกันสิทธิการชุมนุมโดยไม่ใช่อาวุธตามหลักสิทธิมนุษยชน
            -มีการถกเถียงกันเรื่อง ประชาธิปไตยควรเป็นรูปแบบไม่ใช่เป็นเนื้อหา โดยวางโครงสร้างประชาธิปไตยให้เป็น “รูปแบบ” แล้วใส่ “เนื้อหา” ให้น้อยที่สุด เพื่อรองรับคนที่หลากหลาย, แนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย เสนอให้ประเทศไทยมีรูปแบบประชาธิปไตยทางการเมืองที่มีเสรีภาพตามหลักการดังกล่าว เพื่อให้ทุกกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองสามารถมีที่ยืนในสังคมและต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างเสรีในอนาคต แต่เนื่องด้วยประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตยทางการเมืองที่เสรีดังกล่าว พื้นที่ความคิดสังคมนิยมทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้ถูกรองรับในรูปแบบของประชาธิปไตยในระบบสภาดังกล่าวด้วย  ดังนั้น การต่อสู้ทั้ง 2 เรื่องไปพร้อมกันๆ เนื่องจากรูปแบบระบอบประชาธิปไตยในกระแสโลกาภิวัตน์ถูกผูกติดชี้นำทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางการผลิต จนถูกทำให้เหลือเพียงแนวทางระหว่าง “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ของชนชั้นนายทุน และ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ของชนชั้นแรงงาน เป็นทางเลือกเท่านั้น ข้อเสนอเนื้อหาของสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ จึงผูกติดกับรูปแบบประชาธิปไตยไปด้วย และเชื่อว่า ความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบเศรษฐกิจ สร้างวิถีความคิดและค่านิยมของคน.
 

[i]  อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2544, ประธานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) 2545-2550, เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (2550-2552), อนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณี 1-5 ในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
   ปัจจุบันเป็น เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลาและกรรมการสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank)
[ii]   สถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank) มีแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นโครงการจัดตั้งเพื่อทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการ Think Tank ของเครือข่าย/แนวร่วมสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทย ดำเนินการจัดเวทีสร้างองค์ความรู้/อภิปรายสาธารณะ รวมถึงการจัดตั้ง/สร้างนักสังคมนิยมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่อุดมการณ์ทางสังคมและสร้างเครือข่าย/แนวร่วมสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป
     เครือข่าย/แนวร่วมสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมและทำหน้าที่ผลักดันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการเมืองบนแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy/Democratic Socialism) ประกอบไปด้วยคณะบุคคล-ประชาชนทั่วไปที่เห็นว่า ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง คือทางออกของประเทศไทย มีเป้าหมายที่จะทำงานเป็นภาคีความร่วมมือทางการเมืองร่วมกับองค์กรประชาชนต่างๆ ทุกสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นคนงาน เกษตรกร นักศึกษา ปัญญาชนและนักวิชาการ, กลุ่มขบวนการคนจนต่างๆ กลุ่มสหพันธ์/สหภาพแรงงานต่างๆ รวมถึงแรงงานนอกระบบ และกลุ่มเยาวชนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ โดยสนับสนุนองค์กรเยาวชน (Youth Wing) ของขบวนการให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) สหภาพเยาวชนแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนขบวนการคนหนุ่มสาวในประเทศไทย ให้เป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่เข้มแข็งต่อไป รวมถึงเชื่อมความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นภาคีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Socialist International(SI), The Party of European Socialists (PES) ฯลฯ
     ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) เป็นสมาชิกของ International Union of Socialist Youth (IUSY) ซึ่งมีเยาวชนของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย, พรรคสังคมนิยม, พรรคแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นสมาชิกมากกว่า 100 องค์กรในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และ Young Progressives South East Asia (YPSEA) องค์กรเยาวชนซึ่งมีสมาชิกกว่า 16 องค์กรในกลุ่มประเทศอาเซียน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net