ไม่ถอนฟ้อง 'เดือนเด่น-ณัฏฐา' สำนักงาน กสทช. ลั่นพิสูจน์กันในศาล

สำนักงาน กสทช.แจงผ่านเว็บ ฟ้องนักวิชาการ-สื่อ เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ชี้ผลกระทบจากการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ทำลายความเชื่อมั่น-ความน่าเชื่อถือองค์กรก ซ้ำทำลายความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โอดถูกกล่าวหาตั้งแต่การจัดประมูล 3จี

สืบเนื่องจากกรณีกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คน ประกอบด้วย พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, สุทธิพล ทวีชัยการ, พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร, ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำที่ 3172/2556 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 โดยมี เดือนเด่น นิคมบริรักษ์  ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ณัฎฐา โกมลวาทิน ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ จากการให้ข่าวและนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz

ต่อมา มีการออกมาแสดงความไม่เห็นจากกลุ่มต่างๆ อาทิ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งใน กสทช. ระบุว่าไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการฟ้องร้องครั้งนี้ เพราะถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อ เสรีภาพนักวิชาการ และเสรีภาพในการนำเสนอข่าวที่ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอิสระภาครัฐจากคนภายนอก พร้อมย้ำ กสทช.ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ควรใช้วิธีดีเบตข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะแทน ด้านองค์กรวิชาชีพสื่อ 4 แห่ง ร่วมกับทีดีอาร์ไอและไทยพีบีเอส ก็ได้ร่วมแถลงข่าวสนับสนุนผู้ถูกฟ้องทั้งสอง โดยชี้ว่าเป็นเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพสื่อในการนำเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นต่อสาธารณะ พร้อมเรียกร้องให้ กสทช.ถอนฟ้องและร่วมเวทีเพื่อชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณะ

ล่าสุด (6 ก.ย.56) สำนักงาน กสทช. เผยแพร่คำชี้แจงผ่านเว็บไซต์ http://www.nbtc.go.th/ ระบุว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้เป็นการปกป้องศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของกทค.ทั้งสี่ และสำนักงาน กสทช. ที่ถูกละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดไว้ มิใช่เป็นการฟ้องร้องเพื่อคุกคามนักวิชาการหรือสื่อมวลชนอย่างที่มีคนพยายามไปบิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจาก กสทช. ไม่ได้ไปข่มขู่หรือใช้อิทธิพลไปห้ามสื่อนำเสนอข่าวการวิพากษ์วิจารณ์ กสทช. เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ยังสามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่ใช่เอาข้อมูลที่ไม่จริงหรือบิดเบือนมานำเสนอก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น การฟ้องคดีนี้แท้จริงแล้วจะส่งผลเป็นการปกป้องสื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายองค์กรใดๆ นอกจากนี้ยังทำให้เป็นการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการของสถาบันวิจัยให้มีมากขึ้น ตลอดจนจะช่วยให้สื่อต้องตรวจสอบความถูกต้องให้รอบคอบและนำเสนอข้อมูลให้รอบด้านโดยไม่เลือกนำเสนอเฉพาะในบางแง่บางมุม ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย

สำนักงาน กสทช. ระบุว่า ที่ผ่านมา กทค. ได้ชี้แจงในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการแถลงข่าว หรือ เผยแพร่ข้อเท็จจริงในรูปแบบของการทำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ถูกฟ้อง (จำเลยที่1) ก็ยังคงให้สัมภาษณ์ที่เป็นข้อมูลตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง แม้กระทั่งภายหลังจากที่มีการยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อที่สวนทางกับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ทั้งห้าได้ชี้แจงออกไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีทางเลือกอื่นใดที่จะพิสูจน์ให้สังคมได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงนอกจากพึ่งกระบวนการยุติธรรมของศาล
 
สำนักงาน กสทช. ระบุด้วยว่า ตามคำฟ้องได้ชี้ให้เห็นว่า การใช้สิทธิของจำเลยที่หนึ่งซึ่งเป็นนักวิชาการสังกัด TDRI เป็นการใช้สิทธิเกินเลยและมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเนื่องจากมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้แตกต่างจากมติและรายงานของคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 MHz ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าคณะอนุกรรมการฯได้เสนอให้ กทค. เร่งประมูลคลื่น 1800 MHz ก่อนสัมปทานสิ้นสุดแต่ กทค. ไม่ยอมเชื่อ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงคือ คณะอนุกรรมการดังกล่าวไม่เคยมีมติหรือไม่เคยมีรายงานเสนอเช่นนั้น รวมทั้งการนำข้อมูลความเสียหายที่เกิดจากการเลื่อนประมูล 3 จี โดยไปใช้ตัวเลขมากล่าวหาว่ากทค. เลื่อนประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ทำให้ชาติเสียหายกว่า 1.6 แสนล้านบาท เป็นการเอาข้อมูลที่แตกต่างกันทั้งข้อเท็จจริง ปัจจัยต่างๆ และสถานการณ์การใช้งานคลื่นความถี่มาใช้สรุปโดยที่ผู้ใส่ความเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และเป็นอนุกรรมการของ กสทช. เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นดังกล่าว รู้ข้อมูลภายในเป็นอย่างดี แต่กลับนำข้อมูลไปบิดเบือนทำให้เกิดความเสียหาย ต่อ กทค. ทั้งสี่และสำนักงาน กสทช.

"แต่ถ้าจำเลยที่ 1 มีข้อแก้ตัวใดๆ ก็ควรไปนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นศาลให้ความจริงปรากฏ ถ้าไม่ผิดก็ไม่ต้องกลัว แต่ในชั้นนี้จากพยานหลักฐานที่กทค. มี มั่นใจว่ามีพยานหลักฐานครบองค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยที่มิอาจอ้างข้อยกเว้นเรื่องการใช้สิทธิโดยสุจริตได้"

ส่วนการฟ้องผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ Thai PBS” นั้น สำนักงาน กสทช. ระบุว่า แม้จะมีการนำเสนอบทสัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 โดยสื่อต่างๆ ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 นำข้อความที่มีการหมิ่นประมาทมาเผยแพร่ ทั้งๆ ที่ กทค. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.แถลงข่าวโต้แย้งกรณีที่จำเลยที่ 1 หรือ ดร. เดือนเด่น ใส่ความเอาเรื่องไม่จริงมากล่าวหากทค. แล้ว โดยมีสื่อลงเผยแพร่หลายฉบับ แต่หลังจากนั้นสกู๊ปข่าวที่ไทยพีบีเอสนำมาเผยแพร่กลับเสนอข้อมูลในเชิงลบเพียงด้านเดียวในส่วนข้อมูลที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อความที่ใส่ร้ายกทค. ทั้งสี่ให้เกิดความเสียหายด้วยการโฆษณา ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง

"กทค. ไม่ได้ฟ้องสถาบัน แต่ฟ้องนักวิชาการสังกัด TDRI เป็นการส่วนตัว ส่วนไทยพีบีเอสก็เป็นการฟ้องผู้ดำเนินรายการเป็นการส่วนตัว ในความผิดฐานหมิ่นประมาท หากผู้ถูกฟ้องเห็นว่าตนไม่ผิดก็มีสิทธิโดยชอบที่จะนำเอาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ในชั้นศาลได้เช่นกัน"

สำนักงาน กสทช. ระบุว่า การให้ความเห็นในทางวิชาการในเรื่องใดที่มิได้มีการศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ย่อมส่งผลกระทบและสร้างความสับสนต่อสาธารณะอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการโทรคมนาคมของประเทศที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่การแข่งขันโดยเสรี และอยู่ในระหว่างเตรียมการเพื่อประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศมหาศาล โดยผลกระทบจากการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงดังกล่าว ไม่เพียงแต่มีผลเป็นการทำลายความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือในองค์กรกำกับดูแลซึ่งเป็นผู้หน้าที่ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ หากแต่ยังทำลายความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมถึงระบบการกำกับดูแลของประเทศเป็นอย่างยิ่ง

สำนักงาน กสทช. ชี้ว่า ที่ผ่านมา มีการโจมตีตั้งแต่ครั้งประมูล 3 จี ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงต่อโจทก์ทั้งห้าอย่างมาก ในครั้งนั้นก็เคยคิดจะฟ้องร้อง แต่สุดท้ายเมื่อหลายเรื่องคลี่คลายจึงอโหสิกรรมให้ แต่เหมือนคนกลุ่มนี้ไม่เคยหยุด จึงจำเป็นต้องใช้ศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่งในครั้งนี้ พร้อมระบุว่า การที่ กทค.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของนักวิชาการหรือสื่อไปใช้สิทธิฟ้องร้องตามกติกาที่กฎหมายกำหนด ก็ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบที่สามารถทำได้ภายใต้กรอบกฎหมาย โดยไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และมิได้เป็นการข่มขู่หรือลิดรอนสิทธิของนักวิชาการหรือสื่อแต่อย่างใด ขณะที่การห้ามไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดใช้สิทธิของเขาในการฟ้องร้องตามกฎหมายหรือกดดันให้มีการถอนฟ้องเพื่อมิให้มีการใช้สิทธิในการฟ้องร้องตามกฎหมายต่างหากคือการลิดรอนสิทธิของผู้อื่น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท