Skip to main content
sharethis
ชัยอนันต์ชี้ภาพ ‘ชนชั้นนำใหม่’ ความสัมพันธ์ที่นำสู่ความขัดแย้ง สู้แบบ ‘ซีโร่ซัมเกม’ ปัญหาของการเมืองไทย ‘ผาสุก’ เตือน ‘พรรคฝ่ายค้าน’ ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ สร้างบทบาทในทางบวก  ‘นิธิ’ เสนอก้าวข้ามความขัดแย้ง ต้อง ‘จัดการพื้นที่ทางการเมือง’ ให้เป็นธรรม
 
 
วันที่ 7 ก.ย.56 ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนสอบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) จัดเสวนา หัวข้อ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง กับ กระบวนการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย’ ที่โรงแรมวิคทรี พหลโยธิน 3 โดยมี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดยภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
 
ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าวถือเป็นห้องเรียนสุดท้ายในโครงการโรงเรียนนักข่าวคุณภาพ (The New Journalism School) เพื่อผลิตคนทำงานข่าวมืออาชีพ โดย TCIJ
 
 
000
 
 

ความขัดแย้งที่ร้าวลึก ในวันที่คนต้องการรัฐเพื่อประกันความเสี่ยง

 
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวอธิบายว่า ความขัดแย้งที่เกิดในสังคมไทยเวลานี้เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่กว้างและลึก อย่างที่สังคมไทยไม่เคยเผชิญมาก่อน
 
ยกตัวอย่าง ในด้านการศึกษา ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยมีการศึกษาเพิ่มขึ้น เราอยู่ในโรงเรียนนานขึ้น มีคนทำงานเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมากกว่าภาคเกษตร พูดได้ว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรมอีกต่อไปแล้ว รายได้ของคนที่อยู่ในภาคบริการและอุตสาหกรรมใน 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 40-50 เพิ่มขึ้นถึง 74.4 เปอร์เซ็นต์ คนไทยไม่ได้ยากจนข้นแค้นอย่างแต่ก่อนอีกแล้ว เราเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้มากขึ้น เกือบทุกครอบครัวมีโทรทัศน์ ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยเวลานี้ต้องการรัฐ
 
“รัฐนี่มันเป็นของเฮงซวยนะครับ เมื่อ 50 ปีที่แล้วไม่มีได้ก็ดี ไม่เกี่ยว แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว คนไทยจำนวนมากต้องการรัฐเพื่อทำให้ความเสี่ยงของเขาลดลง เพราะกลไกป้องกันความเสี่ยงที่เราเคยมีมาในสมัยโบราณเมื่อ 50 ปีที่แล้วมันหายไปหมดแล้ว”
 
ชีวิตมนุษย์ซึ่งอยู่ในความเสี่ยงที่มากขึ้นในโลกปัจจุบัน ต้องการให้รัฐมาช่วยดูแล ช่วยประกันความเสี่ยงไม่ให้มากเกินไป อย่างไรก็ตาม ความสามารถของรัฐในการมาช่วยตรงนี้กลับมีไม่มากนัก เพราะเหตุผลสำคัญ คือ 1.การเมืองการปกครองไม่เอื้ออำนวยในการทำให้เกิดกลไกของสังคมแบบใหม่ที่จะป้องกันความเสี่ยง เช่น ไม่มีการปกครองส่วนท้องถิ่น มีแต่การปกครองส่วนกลาง จึงยากที่ประชาชนจะไปกดดันให้เกิดนโยบายของท้องถิ่นที่ช่วยประกันความเสี่ยง
 
2.การเปลี่ยนผ่านสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการเวลานี้ค่อนข้างอ่อนด้อย โดย 94.3 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรมไทย เป็นโรงงานขนาดเล็ก ดังนั้นการตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานที่มีพลังต่อรองจึงทำได้ยาก ขณะที่ในภาคเกษตรเองก็มีความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยรัฐก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปช่วยอย่างไร
 
ส่วนชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและอยู่ในเมืองเองก็มีความเสี่ยงมากขึ้น แม้ยังไม่เคยเห็นงานศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของชนชั้นกลางมากนัก แต่คาดเดาจากการขยายตัวของระบบเสรีนิยมใหม่ พบว่า ชีวิตของคนในชนชั้นกลางทั้งโลกมีความเสี่ยงมากขึ้นไม่ใช่เฉพาะในสังคมไทย ยกตัวอย่าง การเกิดภาวะเงินเพ้อทำให้คนต้องคิดมากขึ้นว่าจะทำอย่างไรกับเงินที่สะสมมา หรือการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ชนชั้นกลางหวังว่าลูกตัวเองจะได้เรียน ถูกทำให้เป็นกึ่งเอกชนและเอกชนที่มีราคาแพงขึ้นๆ ทำให้ไม่แน่ว่าอนาคตจะสามารถส่งลูกเรียนได้
 
เพราะฉะนั้นตรงนี้ จึงนำไปสู่ความขัดแย้งที่ลึกไปกว่าระดับบุคคล สถาบัน หรือระบบ และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มากในสังคมไทย ขณะที่ส่วนอื่นๆ ไม่ได้ปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้
 
 

‘ปฏิรูปการเมือง’ ครั้งใหม่ ความสั่นคลอนที่ชนชั้นนำไม่อาจรับได้

 
ศ.ดร.นิธิ กล่าวต่อมาถึงการปฏิรูปการเมืองว่า มีการพูดกันมายาวนาน แต่โดยสรุปแล้วการปฏิรูปการเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาถึงปัจจุบัน มีลักษณะสำคัญประการหนึ่ง คือ แม้มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่กลับคงไว้ซึ่งโครงสร้างอำนาจในสังคมหรือช่วงชั้นทางสังคม สิ่งที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชไทยสืบต่อมาจนถึง 2475 ไม่พยายามจะเปลี่ยนเลยนั่นคือช่วงชั้นทางสังคม นิ้วก้อย นิ้วหัวแม้โป้งยังคงเดิม
 
อย่างไรก็ตาม ชนชั้นนำไทยเก่งพอที่จะยอมรับคนหน้าใหม่ที่เข้ามา ยกตัวอย่าง ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือคนที่มีการศึกษาแล้วเข้ารับราชการ ยิ่งหลัง 2475 ชนชั้นนำยิ่งเก่งในการกลืนคนเหล่านี้เข้ามาในชนชั้นนำของสังคม เช่นเดียวกันในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม้จะปิดประตูในทางการเมือง แต่ก็เปิดให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า social mobility (การเปลี่ยนสถานภาพทางสังคม) และแช่แข็งโครงสร้างอำนาจไว้
 
หลัง 14 ต.ค.2516 พบอย่างหนึ่งว่า เสรีภาพของสื่อกลายเป็นศาสนาอีกอันหนึ่ง เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยนับถือว่าต้องมีเอาไว้ สิ่งนี้เกิดเพราะคนงานคอปกขาวเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น และมีการเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้ แต่ขอให้สังเกตว่าคนหน้าใหม่ที่สามารถแทรกเข้ามาในระบบได้มีจำนวนเพียงหยิบมือ ไม่เหมือนครั้งนี้
 
ครั้งนี้คนที่อยากจะโผล่หน้าเข้ามาต่อรองในทางการเมืองของประเทศ เพราะต้องการรัฐมากขึ้น อยากเข้ามากำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐมากขึ้น คนเหล่านี้มีความผิดปกติ 2 อย่าง คือ 1.มีจำนวนมหาศาลไม่ใช่คนเพียงหยิบมือเหมือนแต่ก่อน 2.เป็นพวกค่อนข้างป่าเถื่อน ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ซึ่งขอเข้ามามีส่วนกำหนดนโยบายสาธารณะเท่าๆ กันกับคนที่รู้จักที่ต่ำที่สูงแล้ว ต่างจากสมัย 14 ต.ค.ซึ่งคนที่พยายามแทรกเข้ามาเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา ผ่านการกล่อมเกลาทางความคิดให้ยอมรับชนชั้นนำในระบบของวัฒนธรรมไทยมาจนเคยชิน
 
เพราะฉะนั้น การปรับตัวในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ยากมาก และเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้วิธีเก่า ไม่สามารถที่จะผนวกเอาคนหน้าใหม่เหล่านี้เข้ามาแล้วให้ทุกอย่างอยู่คงเดิมอย่างนี้ต่อไป
 
“ถ้าคุณก้าวข้ามครั้งนี้ได้ สังคมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างมโหฬาร เพราะว่าช่วงชั้นทางสังคมที่มีมาแต่ก่อน มันจะไม่อยู่อย่างเก่าอีกแล้ว มันต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะคนเหล่านี้จะไม่ยอมรับในการนับช่วงชั้นแบบเก่าอีกต่อไป”
 
กลุ่มคนหน้าใหม่ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เขาต้องการบทบาทอย่างเท่าเทียมกับชนชั้นนำที่เคยมีมาแต่ก่อน เป็นสังคมที่มีความเสมอภาคมากขึ้น ซึ่งระบบการปกครองไทยที่ผ่านมาแม้พูดถึงประชาธิปไตย พูดถึงเสรีภาพ แต่เราไม่ค่อยพูดถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค
 
“ถามว่าในประเทศไทยจะก้าวข้ามไหม ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะก้าวข้ามหรือก้าวไม่ข้าม แต่ที่แน่ใจอันหนึ่งก็คือว่า ถ้าก้าวข้ามกลับไปหาอันเก่า ก็ไม่รู้จะก้าวไปทำไม คนจำนวนไม่น้อยในเวลานี้ที่พยามยามผลักดันอะไรต่างๆ นานา ก็หวังว่าตัวจะข้ามไปสู่ภาวะใหม่ที่ตัวรับได้ ตรงนี้ต่างหากที่มันยากแสนยาก”
 
 

เสนอก้าวข้ามความขัดแย้ง ต้อง ‘จัดการพื้นที่ทางการเมือง’ ให้เป็นธรรม

 
การจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้อย่างไรนั้น ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า ปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งคือปัจจัยทางการเมือง ที่ผ่านมาการปรับตัวเกิดขึ้นด้วยแรงบีบทั้งทางสังคมและทางการเมือง ซึ่งโดยรวมแล้วก็คือเรื่องอำนาจ ดังนั้นพื้นที่ทางการเมืองจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่ที่ผ่านมาเมื่อคิดถึงการปฏิรูปในเมืองไทย การปฏิรูปการเมืองคือสุดท้ายที่คิดถึง ไม่มีใครคิดว่าจะทำอย่างไรให้อำนาจกระจายกันไปอย่างเป็นธรรม ทั้งที่ตรงนี้คือหัวใจสำคัญ
 
“ถ้าอยากจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ต้องกลับมาจัดการพื้นที่ทางการเมืองใหม่ให้มันเกิดความเป็นธรรมขึ้นตรงนี้ แล้วสิ่งที่เราคิดกันไม่ว่าการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบภาษี มันมาเอง เพราะคนมันไม่โง่ เมื่อเขามีอำนาจแล้วเขาก็จะรู้เองว่าเขาควรทำอะไร”
 
ส่วนตัวเชื่อว่าความขัดแย้งทุกอย่างในโลกนี้ก้าวข้ามไปได้ โดยการส่งเสริมให้ขัดแย้งกันมากขึ้น แต่เป็นการขัดแย้งในพื้นที่แห่งความสงบ และเป็นความขัดแย้งในพื้นแห่งความเป็นธรรมด้วย ทุกฝ่ายที่เข้ามาขัดแย้งจะไม่เสียเปรียบกันและกันจนเกินไป เช่น การมีศาลที่ทุกคนเชื่อได้ว่า หากทะเลาะกัน เมื่อขึ้นศาลแล้วจะไม่ถูกตัดสินเพราะสีเสื้อ เป็นต้น
 
นอกจากนั้นยังมีพื้นที่อื่นๆ เช่น พรรคการเมือง ซึ่งประเทศต่างๆ ในโลกถือเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดที่ประชาชนจะสามารถผลักดันข้อเสนอไปสู่ระดับนโยบายของรัฐได้ รวมทั้งเข้าไปต่อสู้กับอีกพรรคหนึ่งซึ่งก็มีอีกพื้นที่หนึ่งในการเผชิญหน้ากัน แต่พรรคการเมืองไทยไม่เคยทำอย่างนั้น
 
อีกทั้งเราต้องมีสื่อที่มีกึ๋นกว่านี้ ไม่ใช่สื่อที่รายงานปรากฏการณ์โดยไม่สนใจสืบค้นต้นตอของปัญหาต่างๆ เพราะสื่อคือพื้นที่ของความขัดแย้งอย่างสงบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ต้องช่วยกันสร้าง และผลักดันให้เกิดพื้นที่แห่งความขัดแย้งที่สงบและเป็นธรรมขึ้นมา 
 
 

มองประวัติศาสตร์ ‘ความกลัว’ นำสู่การเปลี่ยนแปลง

 
ศ.ดร.นิธิ กล่าวต่อมาว่า ปัจจุบันคนในสังคมกำลังเผชิญความกลัวการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่วิธีการรับมือคือ อย่าปลอบประโลม เพราะความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่ผ่านมาในอดีตเกิดจากความกลัวทั้งสิ้น เช่น การที่รัชกาลที่ 5 ทำการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องเพื่อขจัดคนที่ขี่สถาบันหวังเอาผลประโยชน์ใส่ตัว ความกลัวนั้นไม่เป็นไร แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่ากลัวแล้วจะเอาอำนาจกองทัพมาจัดการ ต้องขจัดเอาความคิดตรงนี้ออกไป
 
ในกรณีที่พรรคลิเบอรัลสู้กับพรรคคอนเซอร์เวทีฟในอังกฤษ ก็กลัวว่าพรรคตรงข้ามจะได้เปรียบในการแข่งขันทางการเมือง แต่ก็รู้ว่าไม่สามารถดึงเอาพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษหรือกองทัพมาทำร้ายประชาชนได้ จึงใช้วิธีขยายสิทธิเลือกตั้งให้ประชาชนที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น เพื่อเรียกคะแนนเสียง    
 
กรณีกลุ่มคนใส่หน้ากากไปประท้วงในที่ต่างๆ แม้ส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วย แต่นี่คือการต่อสู้ความกลัวอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะพื้นที่การต่อสู้ที่สร้างสรรค์กว่านี้ไม่มีในการเมืองและสังคมไทย เขาจึงต้องออกไปสู้ในรูปแบบนี้ อย่างน้อยที่สุดต้องดึงตัวเองที่ไม่ทำอะไรออกมาท้าทาย และมันได้ผล
 
ถ้าถามว่ารัฐบาลเพื่อไทยที่ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งในสภาฯ กลัวกลุ่มหน้ากากขาวไหม ส่วนตัวคิดว่ากลัว แม้คนที่ใส่หน้ากากขาวออกมาเคลื่อนไหวอาจไม่มากนัก แต่ถ้าคุณทำอะไรบางอย่างมันอาจจะขาวหมดทั้งเมืองก็ได้ ถือเป็นการถ่วงดุลที่ดี อีกทั้งถึงเวลานี้กลุ่มหน้ากากขาวยังไม่ได้นำสู่ความรุนแรง ดังนั้น ตรงนี้ต้องมาคิดกันว่าจะเปิดพื้นที่การต่อรองโดยสงบให้เพิ่มขึ้นในสังคมได้อย่างไร
 
ส่วนเรื่องซีโร่ซัมเกมนั้น ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า เป็นเกมที่เล่นกันมาในเมืองไทยตลอด ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 และในการยึดอำนาจอย่างยาวนานของกองทัพกว่า 16 ปี ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ มายุคจอมพลถนอม ถึง 14 ต.ค.16 ซึ่งผลประโยชน์ของกองทัพที่ไปผูกพันกับรัฐวิสาหกิจและเอกชนก็มีลักษณะเหมาหมดจนน่าตกใจ มาถึงปัจจุบันนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่ ดังนั้น ซีโร่ซัมเกมจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
 
 

หวั่นอนาคต ‘ประชาธิปไตย’ ทำรัฐไร้พลังคุ้มครองประชาชน

 
นอกจากนี้ ศ.ดร.นิธิ ยังเสนอเรื่องปฏิรูปพรรคการเมืองว่า เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมา เราไม่มีพรรคการเมืองที่ดี จึงเสนอ กกต.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผลักดันการออกกฎหมายเพื่อบังคับให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องทำไพรมารี่โหวต (Primary vote) ส.ส.ทุกคนต้องผ่านการรับรองของสมาชิกพรรคที่เป็นประชาชนธรรมดาก่อน ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองต้องตอบสนองประชาชนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้กับประชาชนเข้ามาเล่นในการเมืองระบบพรรคมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องสมัคร ส.ส.และกำกับ ส.ส.ได้มากขึ้น
 
ศ.ดร.นิธิ แสดงความเห็นด้วยว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชาธิปไตยจะมีความมั่นคงขึ้นในสังคมไทย เพราะมันเป็นทางเลือกที่เสียหายน้อยที่สุดแก่ทุกฝ่าย และในที่สุดชนชั้นนำเดิมเองจะต้องตระหนักได้เองว่าอันนี้ดีกว่า เพราะแม้จะเป็นประชาธิปไตยแล้ว เชื่อว่าชนชั้นนำเดิมก็ไม่สูญเสียมากนัก หากเริ่มหันมาคิดว่าจะไม่รัฐประหารแล้ว หันมาคิดถึงการรักษาเกียรติยศ อำนาจ ทรัพย์สินด้วยวิธีการอื่นๆ ที่มีมากมาย
 
แต่สิ่งที่ฝันร้ายก็คือว่า ประชาธิปไตยนั่นเองที่จะทำให้รัฐไม่มีพลังในการคุ้มครองประชาชน เพราะเกรงว่าประชาธิปไตยที่เรากำลังเผชิญข้างหน้าจะตกเป็นเหยื่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งทำให้รัฐไม่คุ้มครองใครเลยนอกจากนักธุรกิจขนาดใหญ่
 
000
 
 

‘ชนชั้นนำใหม่’ กับความสัมพันธ์ที่นำสู่ความขัดแย้ง

 
ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปมากคือลักษณะชนชั้นนำของไทยที่แตกต่างออกไป จากเดิมเป็นเรื่องเจ้านายและชนชั้นสูง โดยในระยะ 40-50 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำในชนบทและเมืองหลวง ในแง่ที่ว่าชนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีนที่เคยถูกกีดกันจากวงการเมือง เริ่มเข้ามามีอำนาจทางการเมืองเต็มรูปแบบ
 
ตรงนี้น่าสนใจที่จะศึกษาวิเคราะห์ว่าชนชั้นที่เคยถูกกดขี่มาก่อนนี้ เมื่อเข้ามาสู่วงการเมืองแล้วมีพฤติกรรมทางการเมืองแตกต่างไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ซึ่งการปกครองท้องถิ่นขณะนี้เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนพ่อค้าจีน ที่มีความคิดความเชื่อต่างจากชนชั้นปกครองสมัยก่อน
 
อย่างน้อยในแง่ที่ว่า การเข้าไปเกี่ยวข้องกับราชการหรือการเมืองไม่ต่างจากการประกอบธุรกิจประเภทหนึ่ง ต่างจากในอดีตที่คนมีความเชื่อว่าการรับราชการเป็นการรับใช้ประเทศชาติ ทำเพื่อคุณค่าบางอย่าง ตรงนี้ทำให้ลักษณะของประชาธิปไตยไทยเปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับบนและระดับล่าง
 
สำหรับชนชั้นล่าง ส่วนตัวคิดว่าเขาถูกเปลี่ยนความสัมพันธ์ จากนายกับไพร่ซึ่งเป็นระบบอุปถัมภ์ สู่ความสัมพันธ์แบบต่างตอบแทนในลักษณะของการซื้อ-ขาย กับชนชั้นนำใหม่ ดังนั้นจึงจะเห็นว่าชนชั้นล่างเปลี่ยนสภาพจากการเป็นไพร่ที่ขึ้นอยู่กับระบบอุปถัมภ์ มาเป็นไพร่เพราะเป็นทาสของเงิน
 
ส่วนอำนาจการต่อรองเป็นไปในลักษณะการแลกเปลี่ยน เป็นการแลกเปลี่ยนเสียงหรือการสนับสนุนที่จะให้กับชนชั้นนำใหม่ เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ในระบบทุนนิยม ขณะที่ในระบอบเก่า ชนชั้นไพร่มีจิตสำนึกที่ยอมรับนับถือเจ้าขุนมูลนาย ยอมรับและเกรงกลัวแม้จะไม่ได้รับเงิน        
 
ทั้งนี้ สำหรับเขา ชนชั้นนำเก่าหมดอำนาจไปแล้ว จะหลงเหลืออยู่เฉพาะอิทธิพลและอยู่ในวงแคบมาก แต่ชนชั้นนำใหม่กุมอำนาจเต็มที่ เพราะระบบทุนนิยมโลก ทุนนิยมเสรีเปิดโอกาส
 
 

วิเคราะห์ปมขัดแย้ง สู้แบบ ‘ซีโร่ซัมเกม’ ปัญหาของการเมืองไทย

 
ศ.ดร.ชัยอนันต์ อธิบายถึงสาเหตุความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นด้วยว่า เป็นความแตกต่างกันในเรื่องความเชื่อและจิตสำนึก ซึ่งยังมีการหลงเหลืออยู่ของผู้ที่เชื่อในระบบเก่า มีคนพยายามใช้คุณค่าแบบเก่ามาต่อสู้ในระบบแบบใหม่ ดังนั้นความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น เพราะคนในระบบใหม่ไม่ได้เชื่อในคุณค่าแบบเก่า
 
อีกทั้งมีปัจจัยของความรุนแรงที่ต่างจากอดีตคือ 1.มีพื้นฐานของความไม่พอใจที่คุกรุ่นอยู่ 2.ตัวจุดฉนวนความขัดแย้งที่เป็นชนชั้นล่าง ไม่มีอะไรต้องสูญเสีย และไม่มีอะไรที่จะมาใช้ต่อรอง นอกจากการใช้กำลัง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในอดีตหากคู่ขัดแย้งไม่เป็นชนชั้นสูงด้วยกันก็จะเป็นคนที่ประเมินได้ถึงความสูญเสียที่จะตามมา
 
นอกจากนั้น ในอดีตที่ความขัดแย้งไม่รุนแรง เพราะผลประโยชน์ที่จะได้เสียไม่มากเท่ากับสมัยนี้และมันสามารถทดแทนกันได้ แต่อีกด้านหนึ่ง ความขัดแย้งในปัจจุบันบางแห่งก็เป็นเรื่องความขัดแย้งทางความคิดร่วมด้วย ไม่ใช่เรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างเดียว เช่นในกรณีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ส่วนการต่อสู้ทางการเมือง จะเห็นว่าในตอนหลังคนที่ได้อำนาจทางการเมืองจะพยายามทำลายคู่ต่อสู้ฝั่งตรงข้าม ทั้งกีดกันจากงบประมาณแผ่นดิน ส่งคนตรวจสอบบัญชีภาษี รวบเอาการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ไปเป็นอำนาจของตัวเองโดยสิ้นเชิง เป็นต้น ตรงนี้เป็นลักษณะการเมืองของซีโร่ซัมเกม (ZERO SUM GAME) ได้หมดเสียหมด จึงต้องมีการสู้กัน ตรงนี้เป็นปัญหาของการเมืองไทย แต่การเมืองของประเทศอื่นยังตกลงต่อรองกันได้
 
“ในสมัยก่อนอำนาจทางการเมืองมันแยกตัวกับอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่สมัยนี้มันไปอยู่รวมศูนย์ เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเกิดปัญหา”
 
ภาพที่เห็นคือการพยายามกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ และใช้อำนาจทางการเมืองเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจด้วย และแนวโน้มแย่ลงเพราะขยายขอบเขตมากขึ้น ในระดับบนสู่ระดับล่าง และยังพบว่ามีการอาศัยงบประมาณแผ่นดินเพื่อทำนโยบายซื้อเสียงประชาชนด้วย
 
ศ.ดร.ชัยอนันต์ แสดงความเห็นต่อมาว่า หากมีการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่ายและจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกัน อาจช่วยยุติปัญหาความขัดแย้งได้ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากการตัดรอนผลประโยชน์ทั้งหมดของฝ่ายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดเวทีพูดคุยที่มีในปัจจุบันยังไม่เข้าใจว่าเป็นการคุยกันเรื่องอะไร วัตถุประสงค์ที่แท้จริงไม่ชัดเจน คลุมเครือ
 
“อยากเห็นว่าสังคมไทยสามารถที่จะอาศัยการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาทางสังคมลงได้ และที่สำคัญคือมีสันติสุข มีความรุนแรงน้อยลง ซึ่งความรุนแรงไม่ได้หมายถึงความรุนแรงในท้องถนน แต่รวมความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงในเรื่องอื่นๆ ด้วย” ศ.ดร.ชัยอนันต์กล่าวถึงความคาดหวังต่ออนาคต
 
000
 
 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จาก ‘อาการคับข้องใจ’ สู่ชนวนขัดแย้ง

 
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวในมิติเศรษฐกิจว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างมหาศาล และนำสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนกลุ่มต่างๆ ยกเว้นกลุ่มคนที่อยู่ในระดับนำหรือคนที่อยู่ในแวดวงของความมีอภิสิทธิ์
 
ขณะนี้ไทยอยู่ในระดับเศรษฐกิจรายได้ขั้นกลางถึงสูง ไม่ได้เป็นประเทศยากจนอีกต่อไปแล้ว ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมารายได้ต่อหัวของประชากรทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่า มีความหมายว่า คนรุ่นปัจจุบันมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าพ่อแม่ประมาณ 3 เท่า แต่ช่องว่างระหว่างคนกลุ่มต่างๆ กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย หากใช้ค่าจีนี่เป็นตัววัดความเหลื่อมล้ำ ค่าจีนี่รายได้ประชากรของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 0.49 สูงกว่าจีน มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนทั้งหมด ถือว่าอยู่ในเกณฑ์อันตราย
 
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวด้วยว่า การที่ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น หมายถึงว่าคนไทยขณะนี้ได้เปลี่ยนทัศนคติไปมาก ทั้งทัศนคติต่อตนเอง ความคาดหวังเกี่ยวกับชีวิต ความคาดหวังในสังคม และความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลก็สูงขึ้นด้วย ที่สำคัญในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาประชาชนได้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ทางการเมือง ทั้งในชีวิตประจำวัน การเมืองท้องถิ่น การเมืองระดับประเทศ ดังนั้น ในแง่ความคิดคนไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง และเขาได้อ่านข่าวสารเกี่ยวกับสังคมอื่นที่ประชาชนได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่า รัฐบาลให้บริการที่ดีกว่า
 
แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทางรายได้ที่สูงกลายมาเป็นปัญหา แม้โดยตัวของมันเองไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของความขัดแย้ง แต่ได้ส่งผลไปถึงความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ เช่น ความมั่งคั่ง การมีทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำด้านสังคม ความเหลื่อมล้ำด้านการเมือง การเข้าถึงสินค้าและบริการ เช่น การศึกษา ความยุติธรรม การได้รับการยอมรับนับถือ ซึ่งเหล่านี้เป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้งได้
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในแวดวงนักวิชาการยังมีการถกเถียงกันว่า ความเหลื่อมล้ำนี้เป็นต้นเหตุของปัญหาจริงหรือไม่ โดยนักวิชาการบางคนอ้างถึงการสอบถามจากผู้คนแล้ว ซึ่งได้คำตอบที่ตีความได้ว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา แต่เมื่อถามว่า ‘คุณมีความคับข้องใจอะไร’ คำตอบกลับตรงกันข้าม
 
“คนอีสานมีความรู้สึกว่า ถูกดูถูกเหยียดหยาม ถูกดูแคลนว่ายากจน เป็นคนชั้นต่ำกว่าคนในเมืองโดยเฉพาะในสายตาคนกรุงเทพฯ และพูดถึงสังคมที่มีปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน มีเรื่องเงินใต้โต๊ะ เรื่องเส้นสาย ที่กรุงเทพฯ มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มาจากต่างจังหวัดให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับเขา ประชาธิปไตยคือความยุติธรรมทั้งด้านกฎหมาย การเมือง และการศึกษา คำพูดเหล่านี้มันมีนัยเรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมชัดเจนที่สุด” 
 
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อมาถึงความเหลื่อมล้ำในเรื่องการศึกษาว่า จากกรณีซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าคะแนนของนักเรียนไทยในระดับระหว่างประเทศต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม แต่หากดูในรายละเอียดจะพบว่า นักเรียนโรงเรียนสาธิตในกรุงเทพฯ มีคะแนนการอ่านสูงกว่านักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในกำกับกระทรวงศึกษาธิการเกือบ 2 เท่า และสูงกว่านักเรียนของ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) นี่คือตัวอย่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สูงมากของไทย
 
ส่วนความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สิน ศ.ดร.ผาสุก ให้ข้อมูลว่า ค่าจีนี่ของการถือครองที่ดินที่มีโฉนดในไทยของคนประมาณ 15 ล้านคน ถือครองที่ดินประมาณเกือบ 100 ล้านไร่ อยู่ที่ 0.89 และคนที่มีที่ดินมากที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ มีที่ดินรวมกันคิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินมีโฉนดทั้งประเทศ ส่วนคนที่มีที่ดินระดับล่างขึ้นไป 50 เปอร์เซ็นต์ มีที่ดินรวมกันเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินมีโฉนดทั้งประเทศ นอกจากนี้ ปัจเจกและนิติบุคคลเพียง 837 ราย มีที่ดินโฉนดมากกว่า 1,000 ไร่ขึ้นไป และในจำนวนนี้ ปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง มีที่ดินมากที่สุด 631,263 ไร่ (ข้อมูลจากงานศึกษาของดวงมณี เลาวกุล)
 
อีกทั้งผู้มีหุ้นมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ 10 ราย มีมูลค่าหุ้นรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท เกือบเท่ากับงบประมาณประจำปีที่ใช้ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและในผู้ที่มีหุ้นมากที่สุดนี้ 5 ราย ครองแชมป์มาตั้งแต่ปี 2552-2554 
 
“ข้อมูลเหล่านี้ชี้ว่า ที่จะปฏิเสธว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหา คือ มีปฏิกิริยาเหมือนเต่า ภัยมาแล้วหัวหด หรือเหมือนนกกระจอกเทศที่ภัยมาแล้วหัวไปซุกไว้ที่ใต้ทราย จะไม่ทำให้ปัญหาเหล่านี้หายไป”
 
 

ชี้แก้ความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ ‘เก็บภาษีคนรวยมาให้คนจน’

 
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวต่อมาว่า สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมักขาดสันติสุข และจะมีความขัดแย้งสูง เป็นสิ่งที่ตระหนักกันทั่วโลก พร้อมยกคำพูดของ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลที่กล่าวว่า ผู้คนไม่อาจรู้สึกเป็นชุมชนเดียวกันได้อย่างสนิทใจเพราะความแตกต่างที่มีมากมาย นอกจากนั้นความคับข้องใจมักปะทุขึ้นมาเมื่อคนเริ่มมีฐานะทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ยังไม่ถึงจุดที่เป็นที่น่าพอใจ แล้วกลับรู้สึกว่ากำลังถูกกีดกันหรือเผชิญขีดจำกัดอย่างไม่สมเหตุสมผล โดยผู้มีอำนาจในสังคมกดทับเอาไว้ด้วยวิธีต่างๆ 
 
สำหรับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของการเก็บภาษีจากคนรวยมาแบ่งให้กับคนจน แต่ใช้วิธีอื่นๆ ที่ได้ผลและไม่กระทบคนรวย เช่น การบริหารงบประมาณประจำปีของประเทศให้เป็นธรรมมากขึ้น ยกตัวอย่างการนำงบประมาณสุขภาพประจำปีที่จัดไว้แล้วมาบริหารใหม่ จัดเป็นระบบสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งงบในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปีที่ผ่านมา 1.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ของงบประจำปี สามารถช่วยคนไทย 2 แสนกว่าคน ให้หลุดพ้นจากรายจ่ายด้านสุขภาพที่มากเกินไป หรือการลดคอร์รัปชั่น ลดงบประมาณทหาร เพื่อนำเงินมาช่วยทุนการศึกษาเด็กที่ครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอซึ่งมีอยู่จำนวนมาก
 
“จริงๆ แล้วเราสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ หากทำให้คนมีความรู้สึกว่าสังคมจะมีความยุติธรรม มีการแบ่งปัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน และความคับข้องใจทั้งหลายจะได้รับการปัดเป่าไปสู่อนาคตที่แฟร์และยุติธรรมมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าสังคมจะต้องยอมรับความจริงเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ เปลี่ยนทัศนคติและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้ได้”
 
 

มองกระบวนการเปลี่ยนผ่าน มองความเปลี่ยนแปลงชนชั้นนำไทย

 
กรณีที่ในต่างประเทศแม้ความเหลื่อมล้ำจะมีสูงมาก แต่ไม่ปะทุเป็นความขัดแย้งรุนแรงเหมือนกับไทย ศ.ดร.ผาสุกอธิบายว่า เป็นเพราะประเทศอย่างตะวันตก มีวิธีการในเรื่องระบบสวัสดีการ มีเสรีภาพในทางการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่าไทย
 
ในกรณีของไทยเอง ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ที่เพิ่งมาปะทุตอนนี้เพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 10-15 ปี ที่นำไปสู่ความตื่นตัวทางการเมือง เกิดการเรียนรู้ในกระบวนการเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการออกเสียงเลือกตั้ง หรือการเข้ามามีบทบาททางการเมืองทำให้เขาสามารถดึงงบประมาณมาสู่ท้องถิ่นได้ และเกิดความตระหนักว่าหากไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องก็จะไม่ได้อะไร
 
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตรงนี้คงอยู่ ไม่หายไปไหน และมันทำให้ความคับข้องใจกับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่เขารับไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
 
สำหรับกระบวนการเปลี่ยนผ่านของประเทศต่างๆ มีความคล้ายคลึงกัน โดยชนชั้นนำมีการปรับตัวและหลายประเทศปรับตัวค่อนข้างรุนแรง แต่ในสังคมไทยการเปลี่ยนแปลงขั้นรุนแรงไม่เคยเกิดขึ้น แม้แต่เมื่อ 2475 ก็ไม่ได้ทำลายชนชั้นนำเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการถือครองทรัพย์สินและในระยะต่อมาก็สามารถกลับมาอยู่ในระบอบแบบเดิมๆ ได้ ทำให้กลุ่มคนชั้นนำต่อต้านที่จะปรับทัศนคติหรือเปลี่ยนแปลง แม้ชนชั้นนำรุ่นใหม่จะเกิดขึ้น แต่ชนชั้นนำรุ่นเก่าไม่ได้ถูกลดทอนอำนาจอย่างเต็มที่ ยังคงมีบทบาท จึงยากที่จะเปลี่ยนแปลง
 
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวด้วยว่า การก้าวเข้ามาในระบบรัฐสภาประชาธิปไตยของพลังประชาชนทำให้กระดานการเมืองเปลี่ยน กลายเป็นตัวแปรใหม่ที่สร้างความตระหนกตกใจให้ชนชั้นนำทั้งเก่าและใหม่ และความกลัวพลังประชาชนทำให้กลุ่มคนเหล่านี้พร้อมที่จะไปจับมือกับทหารหรือใครก็ได้เพื่อมาช่วยให้สภาวะเดิมก่อนปี 2544 กลับมา ดังนั้นการก้าวข้ามความขัดแย้งโดยวิธีเจรจาอาจไม่เป็นผล เขาอาจไม่อยากเข้าร่วม เพราะยังมีความไม่ไว้ใจและความกลัวอยู่
 
ดังนั้น ชนชั้นนำต้องก้าวข้ามความกลัวการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และยอมรับว่าขณะนี้การเมืองไทยได้พลิกกระดานไปแล้ว ต้องคิดว่าจะทำอะไรในฐานะใหม่ และอย่าคิดว่าซีโร่ซัมเกมเป็นสิ่งที่ยังใช้ได้อยู่ นอกจากนั้นยังมีอีกตัวแปรสำคัญคือกองทัพที่อาจเข้ามาแทรกแซงได้ทุกเมื่อ หากกองทัพไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง อาจทำให้กระบวนการที่จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติเกิดขึ้นได้เร็วกว่านี้ 
 
“ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงที่พลิกผัน ผู้ที่มีอำนาจอยู่เดิมต้องพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและปรับทัศนคติ แต่ถึงขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่าความเข้าใจนี้เกิดขึ้นกับคนที่มีอำนาจอยู่เดิมหรือแม้กระทั่งในระดับคนชั้นกลาง ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงและอาจต้องมาช่วยกันคิด”
 
นอกจากนั้น ความกลัวที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงเรื่องการกลัวเสียผลประโยชน์ที่จับต้องได้ แต่มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมความเสมอภาคเท่าเทียมกันที่เกิดขึ้น แต่คนที่อยู่สูงกว่าไม่สามารถจะยอมรับได้
 
 

เตือน ‘พรรคฝ่ายค้าน’ ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ สร้างบทบาทในทางบวก

 
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวถึงการพูดคุยว่า ควรมี แต่สถานการณ์โครงสร้างทางการเมืองปัจจุบัน พรรคการเมืองมีการปฏิเสธกันตลอดเวลา ตรงนี้ไม่เป็นนิมิตหมายที่ดี หากจะก้าวต่อไปหลังการพูดคุยต้องมีความร่วมมือ และความเชี่ยวชาญจากคนที่มาร่วมคิดที่มากไปกว่าคนของรัฐบาลหรือพรรคที่อยู่ในอำนาจเท่านั้น ต้องมาจากฝ่ายค้านด้วย แต่พรรคฝ่ายค้านดูเหมือนจะปฏิเสธทุกอย่าง จนทำให้เกิดความติดขัด
 
“อยากให้พรรคฝ่ายค้านใหญ่ปัจจุบัน ได้ฉุกคิดว่าเขามีบทบาทสำคัญในการที่จะทำให้เมืองไทยก้าวข้ามพ้นจุดอับตรงนี้ เขาจะมีบทบาทในทางบวกได้อย่างไร และจะยิ่งทำให้ประชาชนอาจชอบเขามาก เลือกเขามากขึ้น แทนที่จะเลือกไปอยู่ในจุดอับ”
 
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งครั้งล่าสุดรุนแรงและสร้างบาดแผลที่ลึกมากจนไม่สามารถเยียวยาได้ในระยะเวลาอันใกล้ และความใจร้อนที่อยากให้ความขัดแย้งหายไป กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วเป็นไปไม่ได้ ต้องใจเย็น ช่วยกันคิด ไม่ผลีพลาม
 
อีกเรื่องที่ต้องช่วยคิด คือเมื่อกำหนดกติกาแล้วอย่ารำนอกม่าน ให้เล่นตามกติกาที่กำหนดร่วมกันให้ตลอดรอดฝั่ง อย่ามีรัฐประหารหรือเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาช่วยจัดการ เพราะกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางด้านสถาบันต้องใช้เวลา และต้องมีกระบวนการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เพราะไม่ใช่ว่าเมื่อมีระบบรัฐสภาประชาธิปไตยแล้วทุกอย่างจะไปได้สวย ไม่มีปัญหา แต่มันขรุขระ หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
 
“ถ้าเราจะเป็นประชาธิปไตยกัน ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำความเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร มันไม่ใช่ซีโร่ซัมเกมนะ มันไม่ใช่ว่าฉันเป็นใหญ่แล้วฉันได้อะไรทุกอย่าง มันมีเรื่องของการประนีประนอมต่อรอง”  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net