Skip to main content
sharethis

(12 ก.ย.56) ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ "คดีฟ้องร้องนักวิชาการกับบทบาทหน้าที่สาธารณะ" ต่อกรณีกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คน และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เดือนเด่น นิคมบริรักษ์  ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ณัฎฐา โกมลวาทิน ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในคดีหมิ่นประมาท จากการให้ข่าวและนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz

นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แม้ มาตรา 50 รัฐธรรมนูญ 2550 จะเขียนถึงเสรีภาพทางวิชาการไว้ แต่ก็เขียนไว้กว้างมาก ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" ซึ่งการตีความเป็นเรื่องดุลพินิจ ซึ่งยากจะกำหนดกรอบว่าอะไรคือเสรีภาพทางวิชาการ เพราะหากกระทบกับองค์กรหรือบุคคลอื่น อาจถูกเปลี่ยนประเด็นว่าขัดต่อหน้าที่พลเมืองได้

นันทวัฒน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ แม้ว่า เสรีภาพทางวิชาการ จะถูกรับรองในรัฐธรรมนูญหลายประเทศ และอยู่ในสังคมนาน จนน่าจะกลายเป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่งได้ไม่ยาก แต่กลับยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจน ซึ่งเขามองว่าเป็นเพราะบ้านเราพยายามมีทุกอย่างที่ต่างประเทศมี แต่ไม่ได้สานต่อ เช่น รับรองการมีส่วนร่วมของประชาชน เสรีภาพในการชุมนุม แต่ไม่มีกติกา ไม่มีการขยายความหรือวางกรอบให้ชัดว่าคืออะไร ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการจึงเคว้งคว้าง แม้แต่นักวิชาการก็บอกไม่ได้ว่าคือใครบ้าง

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวต่อว่า ตามหลัก นักวิชาการมีเสรีภาพทางวิชาการตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ให้การใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองกระทบกับเรื่องส่วนตัวของผู้ที่ตนเองวิจารณ์มากเกินไป ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ก็ต้องใจกว้างพอสมควร กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่นักวิชาการพูดนั้น ทำได้หลายทาง แต่การฟ้อง เป็นขั้นสุดท้ายกว่าสุดท้าย

นันทวัฒน์ กล่าวว่า ถามจริงๆ ว่ารัฐควรจะเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน ซึ่งใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ส่วนตัวมองว่า ไม่ถูกต้อง โดย กสทช. ควรตระหนักว่า เงินเดือนที่ได้จำนวนมหาศาลมาจากภาษีของประชาชน ดังนั้น จึงควรตั้งโต๊ะเจรจา โต้กันในเวทีสาธารณะ หากบอกว่ามีข้อมูลผิดก็แถลงข่าว ชี้แจงกัน ทุกคนมีโอกาสพลาดได้

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า สื่อเอง หากเผยแพร่ข่าวออกไปโดยที่ฐานข้อมูลทางวิชาการยังไม่ชัดเจน สื่อก็ต้องรับผิดชอบด้วย

พิรงรอง รามสูตร ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ผู้ถูกฟ้องทั้งสองคนเป็นกลไกของการตรวจสอบผู้มีอำนาจ โดยการจะกำหนดนโยบายสาธารณะจากภาคประชาสังคม ทำได้โดยนักวิชาการร่วมกับสื่อ เพื่อทำข่าวไม่เป็นข่าวให้เป็นข่าว เนื่องจากการสร้างวาระข่าวสารนั้นทำได้ยาก เพราะเมื่องบโฆษณาจำนวนมากลงไป ก็ทำให้สื่อเกิดความเกรงใจ

พิรงรอง กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อสำรวจในต่างประเทศ พบว่า องค์กรกำกับดูแล เช่น ออฟคอม ของอังกฤษ หรือ แอคมา ของออสเตรเลีย ไม่มีการฟ้องสื่อ ถ้ามี จะเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลแล้วไม่ปฏิบัติตาม 

พิรงรอง กล่าวว่า การทำงานของนักวิชาการ โดยเฉพาะนักวิชาการที่ทำวิจัยประเด็นสาธารณะอย่างเดือนเด่น หรือทีดีอาร์ไอ อาจไม่เป็นประโยชน์ ขัดประโยชน์องค์กรรัฐและเอกชน ซึ่งมีความเสี่ยง หากปล่อยให้เกิดการฟ้องร้องนักวิชาการเหล่านี้ขึ้น อาจทำให้นักวิชาการที่กล้าตรวจสอบหายไป นอกจากนี้ แม้การฟ้องร้องเป็นสิทธิตามกฎหมายของ กทค. แต่ตั้งคำถามด้วยว่ามันถูกต้องตามหลักจริยธรรมหรือไม่

วีระ สมบูรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กรณีนี้ทำให้นึกถึง SLAPP (Strategic Lawsuits Against Public Participation) คือ การใช้คดีความเป็นกลยุทธ์คุกคามการมีส่วนร่วมสาธารณะ  ซึ่งเป็นเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป และเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ

วีระ กล่าวว่า การ SLAPP เป็นการฟ้องร้องโดยไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยงานรัฐ อาจเป็นเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐ หรือส่วนตัว เมื่อมีข้อสงสัยข้อขัดแย้ง ชิงฟ้ิองก่อน หรือเมื่อมีการหยิบยกมาก็ฟ้อง เพื่อปิดไม่ให้ให้ประเด็นที่เกิดขึ้นไปสู่พื้นที่ของสาธารณะ

แม้จะมีการอ้างเรื่องเสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาท แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือ การเซ็นเซอร์ คุกคามไม่ให้มีการนำเสนอ โดยผลลัพธ์ไม่อยู่ที่การชนะคดี แต่คือผลต่อบรรยากาศการดีเบต และวัฒนธรรมการเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องสาธารณะที่จะถูกทำให้หายไป รวมถึงทำให้ผู้ที่เสนอข้อมูลความเห็นต้องมีต้นทุนสูงมาก เพราะการถูกฟ้องร้อง นำมาซึ่งการเสียขวัญ ไม่มั่นใจ เรื่องเงิน เวลา ทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะหากทำกับคนธรรมดา คนทั่วไปรู้สึกไม่คุ้มที่จะสู้

ในต่างประเทศ มีความพยายามหาทางป้องกันเรื่องนี้ เช่น ในสหรัฐฯ มีกฎหมาย Anti SLAPP law ซึ่งออกมาและเรียกร้องการฟ้องร้องในกรณีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเชิงสาธารณะให้ละเอียดขึ้น ต้องเร่งรัดให้ยุติการรับฟ้องเร็วที่สุด มีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่เข้าสู่กระบวนการนี้ ค่าใช้จ่าย ทนายความ บางรัฐบอกว่า ถ้าทำให้เสียงบประมาณ ทรัพยากรสาธารณะ หน่วยงานที่ฟ้องต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และในอังกฤษ มีพ.ร.บ.ว่าด้วยคดีหมิ่นประมาท ที่กำหนดให้ผู้ฟ้องต้องพิสูจน์ว่า เสียชื่อเสียงต้องเสียหายอย่างหนักโดยพิสูจน์ได้

กรณีนี้ ตั้งคำถามว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคุ้มครองพื้นที่สาธารณะ กำลังใช้อำนาจหน้าที่้นั้นทำในสิ่งที่ตรงข้ามหรือไม่ โดยตนเองมองว่า  กทค. มีหน้าที่คุ้มครองสามส่วน หนึ่ง ต้องเคารพในสิทธิเสรีภาพ สอง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สาม เติมแต่งหรือพยายามยกระดับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าปล่อยให้ SLAPP เกิดขึ้น โดยที่ กทค. ทำเสียเอง มองว่าน่าเป็นห่วงมาก

กรณีที่มีการอ้างว่าผู้ถูกฟ้องทำให้เสียเกียรติภูมินั้น เขามองว่า ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของหน่วยงานนั้น ไม่ใช่ของ กทค. ไม่มีใครเป็นเจ้าของ จะเอาเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้องไม่ได้ นอกจากนี้ มองว่า กรณีนี้เป็นเรื่องทางสาธารณะ ซึ่งควรพิสูจน์กันในพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่ศาล และหากมีผลกระทบส่วนบุคคล ก็ใช้พื้นที่ส่วนบุคคลฟ้อง ค่าใช้จ่ายและการดำเนินการต้องทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่ใช้ทรัพยากรสาธารณะมารับผิดชอบความเสียหายส่วนบุคคล

นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า การฟ้องร้องเป็นกลยุทธ์ทำให้เกิดความกลัว และภาคประชาสังคมถดถอย ทั้งนี้ เป็นไปไม่ได้ที่เมื่อทำประเด็นสาธารณะ แล้วจะไม่แตะต้องใครเลย ไม่เช่นนั้น วิธีที่แก้ปัญหาที่สุดก็คือไม่แตะต้องใครเลย และในประเด็นสาธารณะนั้น มองว่าต้องแสดงให้เห็นการตัดสินใจที่โปร่งใส

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ในอดีต หลายหน่วยงานของรัฐแสดงท่าทีเรื่องนี้ได้ดีกว่าในปัจจุบัน ยกตัวอย่างตนเองเคยทำวิจัยเรื่องความไม่โปร่งใสของกรมแห่งหนึ่ง ปรากฏว่า อธิบดีกรมฯ เรียกไปเพื่อขอให้อธิบาย แต่เมื่อไปถึง ตนเองต้องนั่งฟังผู้บริหาร ระบายว่า ถูกทำลายศักดิ์ศรีเกียรติภูมิองค์กรอย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อฟังจบ ก็ได้อธิบายส่วนของตนเอง เรื่องนี้จบโดยไม่มีการฟ้องร้อง จะเห็นว่าไม่ว่าผู้บริหารจะนำงานไปใช้หรือไม่ แต่ก็ยังรับฟัง หรือกรณีเร็วๆ นี้ ตนเองทำงานวิจัยหนึ่ง ซึ่งแตะต้องสถาบันหลายแห่ง สถาบันหนึ่งในนั้น ได้เชิญไปพูด และเสนอว่าจะต้องปรับแก้อย่างไร ซึ่งการทำเช่นนี้นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

นวลน้อย ชี้ด้วยว่า กสทช. เป็นผู้ได้รับสิทธิจัดสรรผลประโยชน์สาธารณะมหาศาล เมื่อมายืนอยู่ตรงนี้ ต้องยอมรับว่า เมื่อเป็นสมบัติสาธารณะ สาธารณะมีสิทธิถาม และ กสทช. ต้องตอบ ทำทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net