‘วิทยุม.อ.ปัตตานี’ กับบทบาทสื่อเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

สื่อวิทยุม.อ.ปัตตานีกับบทบาทสื่อที่ติดตามกระบวนการสันติภาพที่ชายแดนใต้ ถึง 3 รายการ มองผ่าน “พัชรา ยิ่งดำนุ่น” นักจัดรายการประจำสถานี ย้ำ “สันติภาพต้องเริ่มที่หัวใจของความเป็นมนุษย์ก่อน”

 

สัมภาษณ์นางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น ผู้สื่อข่าวและนักจัดรายการวิทยุประจำสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี 107.25 Mhz เป็นอีกหนึ่งผู้ทำงานด้านสื่อสารมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พยายามเน้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ผ่านรายการของทางสถานี

เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นหลังจากมีความพยายามในสร้างสันติภาพโดยผ่านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นความหวังให้คนในพื้นที่ไม่น้อย ที่ไม่อยากเห็นความรุนแรงและการสูญเสียอีกต่อไป

 

วิทยุม.อ.ปัตตานีกับกระบวนการสันติภาพ

พัชรา ระบุว่า มี 3 รายการที่สถานีวิทยุม.อ.ปัตตานี พยามรายงานข่าวและติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกระแสของบกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ ซึ่งทั้ง 3 รายการตนเองเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเป็นรายการที่จัดขึ้นในช่วงเวลาบริการสาธารณะตามนโยบายของทางสถานี

ทั้ง 3 รายการ ได้แก่ รายการ “รักกันช่วยกันชายแดนใต้” ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.10-14.00น. และรายการ “ร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.35-17.00 น.

เฉพาะรายการร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ จะมีรายการซ้อนรายการอยู่คือ รายการ “เสียงวานีตา ผู้หญิงชวนคุย” ซึ่งออกอากาศเฉพาะวันจันทร์-อังคาร โดยความร่วมมือของกลุ่มผู้หญิงเพื่อยุติความรุนแรง ซึ่งจะมีการสรุปทั้งภาษาไทยและภาษามลายู

 

กระบวนการทำงานและรูปแบบรายการ

ทั้ง 2 รายการ ตนเป็นคนจัดรายการเอง แต่ในการทำงานจะทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะเรื่องการตั้งประเด็นในแต่ละวันที่จะออกอากาศในรายการ ควบคู่กับการรายงานข่าวจากพื้นที่ด้วย

สำหรับรูปแบบรายการ “รักกันช่วยกันชายแดนใต้” ช่วงแรกเริ่มที่มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับฝ่ายขบวนการ BRN มีการติดตามพัฒนาการของกระบวนการสันติภาพมาตลอด

มีการสัมภาษณ์นักวิชาการในพื้นที่ รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของภาครัฐว่ามีมุมมองต่อกระบวนการสันติภาพอย่างไร เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นต้น

รวมถึงติดตามการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในพื้นที่ อย่างกลุ่มสตรี กลุ่ม Deep Peace และกลุ่ม V Peace เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ว่า มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรและเกิดจากปัจจัยใดบ้าง มีการวิเคราะห์สถานการณ์กันในทีมงานและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันก็ติดตามฐานข้อมูลจากการเก็บสถิติเหตุการณ์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เช่นกัน และการตั้งประเด็นต่อกระบวนการสันติภาพว่า มีการเปิดพื้นที่อย่างไรบ้าง

 

กลุ่มเป้าหมายของแต่ละรายการ

กลุ่มเป้าหมายของแต่ละรายการ อย่างรายการ “เสียงวานีตา ผู้หญิงชวนคุย” กลุ่มเป้าหมายก็จะเป็นกลุ่มผู้หญิง ส่วนรายการ “รักกันช่วยกันชายแดนใต้”และ “ร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” กลุ่มเป้าหมายมีความหลากหลาย ทั้งคนไทยพุทธ-มุสลิม หน่วยงานราชการ รวมทั้งประชาชนทั่วไป

 

การมีส่วนร่วมของผู้ฟัง

แต่ละรายการมีการสัมภาษณ์สดในรายการ หรือการถ่ายทอดเสียงของสถานี โดยเราลงพื้นที่สัมภาษณ์หลากหลายมุมมองของแต่ละคน เช่น ภาครัฐ ทหาร ตำรวจ ประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ สตรี นักศึกษา และคนทำงานด้านกระบวนการสันติภาพ ถือเป็นการทำงานที่ครบทุกองค์ประกอบ แต่ต้องอยู่ในกรอบเชิงนโยบายของสถานีวิทยุภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบ

นอกจากนี้ หากมีการจัดเวทีต่างๆ ก็จะเข้าด้วยเพื่อให้เข้าถึงข้อมูล เพื่อให้ผู้ฟังสามารถรับฟังข่าวสารที่หลากหลาย รวมไปถึงการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อให้เห็นกระบวนการของทุกฝ่ายว่ามีการขับเคลื่อนอย่างไร และมองในภาพรวมว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป

 

เนื้อหาที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือประชาชน

ส่วนเนื้อหารายการที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของสถานีนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามเหตุการณ์ในพื้นที่ ไม่ได้แยกเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น รายการ “ร่วมแรงร่วมใจ” เราจะมีส่วนช่วยกันอย่างไรกับสถานการณ์นั้นๆ ทั้งเรื่องสถานการณ์ไม่สงบ กระบวนการสันติภาพ เศรษฐกิจ ปากท้องชุมชน

เรามุ่งเน้นการสื่อสารที่นำไปสู่สันติภาพ ทั้งความสงบสุข ความเข้าใจ การงดใช้ความรุนแรง โดยเริ่มจากการเป็นต้นแบบสื่อสาธารณะเพื่อเพื่อนมนุษย์ เกาะติดสถานการณ์ความรุนแรงที่ประชาชนเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือหากเกิดวิกฤติ อาทิเช่น พยากรณ์อากาศ พายุ ไฟฟ้าดับ เป็นต้น

 

ประเด็นที่น่าสนใจและส่งผลต่อสันติภาพ

ในช่วงนี้ประเด็นที่น่าสนใจและนำเสนอ การติดตามประเด็นราคายางพาราตกต่ำที่ส่งผลต่อความสงบสุขของประชาชน การชุมนุมประท้วงของเกษตรกรชาวสวนยางที่ส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งความมั่นคงในชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่แค่เหตุการณ์สงบอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องอื่นแฝงอยู่ด้วย

มองแบบองค์รวมว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่เริ่มจากหัวใจของคนก่อน ตราบใดที่คุณภาพชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจในพื้นที่ยังมีปัญหาอยู่

เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร แทนที่จะมองกลไกตลาดโลก ก็ควรหันกลับมาสร้างเศรษฐกิจในประเทศ โดยนโยบายต้องมีความชัดเจนในระยะยาว ลดปัจจัยการผลิต เร่งกระตุ้นตลาดภายในประเทศอย่างไร เรามีต้นทุนการผลิตที่ดีอยู่ แต่ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง

 

มุมมองกระบวนการสันติภาพ

ส่วนมุมมองต่อกระบวนการสันติภาพนั้น มองว่าเป็นทางออกที่จะคลี่คลายปัญหาและยุติความรุนแรงได้ หากต่างฝ่ายต่างยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน ไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา ยศถาบรรดาศักดิ์ อาชีพ

ต้องเชื่อมั่นว่า ตราบใดที่คนไม่จับอาวุธ พยายามหาจุดร่วมในการหาทางออก มองจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่เป็นพี่น้องกัน อยากเห็นความสงบสุขที่เพื่อนมนุษย์ไม่ล้มตายจากสถานการณ์ความขัดแย้ง สันติภาพก็จะเกิดขึ้นได้

กรณีการเจรจาสันติภาพระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐกับBRN ซึ่งเป็นการการพูดคุยกันภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน แม้ว่าทุกฝ่ายคิดต่างกัน แต่หากมองเป้าหมายเดียวกัน หยุดอุดมการณ์ที่ใช้ความรุนแรง โดยการปลุกพลังของคนในพื้นที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องของส่วนรวม ใช้หัวใจของความเป็นมนุษย์สื่อสารกัน ไม่ใช้อารมณ์ตำหนิหรือวิจารณ์ผู้อื่น เริ่มจากตนเองก่อน ใช้หัวใจความเป็นมนุษย์ไปคลี่คลายปัญหา ก็จะทำให้การขับเคลื่อนสันติภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท