คุยกับ ‘ดาบชิต’ ทำไมแดงเชียงใหม่ ร่วม FTA Watch และมองพลวัตแดงท้องถิ่น

 

19 กันยายนปีนี้ กลางเมืองเชียงใหม่คึกคักเป็นพิเศษ เมื่อในบริเวณไม่ไกลกัน มีทั้งการจัดชุมนุมและรณรงค์จับตาการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป โดยเครือข่ายประชาชนหลากหลายองค์กร เดินทางมาจากทั่วประเทศ มารวมตัวกันบริเวณประตูท่าแพ และในเย็นวันเดียวกัน ยังมีการกิจกรรมรำลึกครบรอบ 7 ปี เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

กระแสข่าวเล็กๆ ก่อนหน้านั้น คือความกังวลของทางฝ่ายผู้จัดชุมนุมจับตาการเจรจาเอฟทีเอ ถึงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นในช่วงเดือนพฤษภาคม เคยเกิดกรณีการเคลื่อนไหวต่อต้านการจัดกิจกรรมคู่ขนานกับการประชุมผู้นำเรื่องน้ำโลก ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ โดยกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่ปะทะกับกลุ่มหน้ากากขาว ในช่วงเดือนมิถุนายน   

จากความกังวลดังกล่าวนี้เอง การประชุมเตรียมงานของเครือข่ายเอฟทีเอก่อนหน้านี้ จึงมีการชักชวนคนเสื้อแดงบางกลุ่มในจังหวัดเชียงใหม่ ไปเข้าร่วมรับฟังปัญหา ทำความเข้าใจการเคลื่อนไหว และกระทั่งเข้าเป็นแนวร่วมด้วย

พิชิต ตามูล หรือ “ดาบชิต” หนึ่งในแกนนำกลุ่ม นปช.แดงเชียงใหม่ และเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมพูดคุยกับเครือข่ายเอฟทีเอ จึงพอรับทราบปัญหาของเครือข่ายเอฟทีเอ แม้จะไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้โดยตรงก็ตาม แต่ก็ผ่านมาสังเกตการณ์ชุมนุมบริเวณประตูท่าแพในวันนี้ด้วย (18 กันยายน)

 


 

นอกจากนั้น พิชิตยังเป็นหนึ่งในแกนนำในการจัดรำลึกเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน ในระดับท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ประชาไทพูดคุยกับพิชิตก่อนหน้า 19 กันยายนหนึ่งวัน ทั้งมุมมองต่อการจัดชุมนุมเอฟทีเอ, 7 ปี การรัฐประหาร และความเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงในท้องถิ่น

 

เข้าไปร่วมพูดคุยกับเครือข่ายที่เคลื่อนไหวเรื่องเอฟทีเอได้อย่างไร

ไปคุยกันครั้งแรกคือได้รับเชิญจากทางพี่สวิง ตันอุด เราเข้าใจว่าข้อห่วงใยเขา เขาก็กลัวเรื่องความไม่เข้าใจของมวลชน ถามว่ามันเกิดไหม มันก็มีเล็กๆ นะ คือมีคนโทรมาถามพี่ก็พยายามอธิบายว่ามันไม่ใช่การประท้วงรัฐบาลนะ ดูเจตนาเขาและหลักการที่คุยกันมาแล้ว ไม่ได้ไปดูหน้างาน มองว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดี ในการให้ข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงให้กับผู้แทนที่เจรจาการค้า

เรามองว่า ถ้าเราจะต้องไปเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของยุโรปเนี่ย มันก็น่าห่วง โอเค เราก็ร่วมมือประชาสัมพันธ์ให้เขา และแจ้งพี่น้องเสื้อแดงว่าอันนี้ไม่ใช่การประท้วง เป็นการมายื่นข้อท้วงติงข้อเสนอแนะให้ทางรัฐบาล สิ่งที่เขากังวลคือ มวลชนเสื้อแดงจะไปออกแนวเกเรหรือเปล่า ประมาณนั้น เราก็รับรองให้เขาในระดับหนึ่ง เท่าที่พอจะรับรองได้ แต่ถามว่าจะได้ทั้งหมดเลยไหม มันก็คงไม่

รู้เรื่องเอฟทีเอมาก่อนไหม

ไม่นะ แต่เราก็ดูในระดับหนึ่ง ข้อมูลที่เขาให้มา ไม่ว่าประเทศต่างๆ ไม่ว่ามาเลเซียหรืออินเดียที่ทำเอฟทีเอร่วมกับทางอียูหรืออเมริกา เลยมองประเด็นตรงที่ถ้าเราไม่มีพลังในการต่อรองเขา เราก็เหมือนรัฐบาลเองจะถูกบีบโดยประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย โอเค ถ้าเป็นลักษณะของพลังมวลชนกระตุกนิดๆ หน่อยๆ ให้เขาเห็นภาพว่ามันไม่ใช่อะไรก็ได้อย่างที่คุณต้องการนะ คือการทำสัญญาต่างๆ  ถ้าจะร่วมกัน เป็นความร่วมมือ มันต้อง win-win ทั้งคู่ ไม่ใช่ win ยุโรป แต่เรา lose  แต่เราก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องเอฟทีเอเป็นเรื่องเป็นราวหรอกนะ

แต่ก็ไปช่วยประชาสัมพันธ์ให้

ใช่ ก็เอาไปออกวิทยุ (ชุมชน) เอาสปอร์ตที่เขาฝากมาสองสามตัวไปออกให้

แล้วได้สื่อสารด้วยตัวเองด้วยไหม

ก็เฉพาะคนที่โทรมา กับคนที่ว่าเราพอสื่อสารได้อย่างผู้ประสานในเมือง เรามีตัวบุคคลอยู่ เราก็ชี้แจงพี่น้องในกลุ่มต่อ พวกที่โทรเข้ามา เขาก็คิดว่าเป็นการประท้วงนั่นแหละ แต่ทางเราก็ให้ข้อเสนอแนะกับเครือข่ายเขาไปตอนประชุมร่วมกันว่า อย่าให้มีลักษณะของการด่าทอรัฐบาล ถ้ามันเป็นลักษณะด่าทอ เราคุมไม่อยู่ แต่ถ้ามายื่นข้อเสนอ ไม่มีปัญหา

เรามองว่ากลุ่มเอ็นจีโอไม่ว่าสายไหนก็ตาม กับคนเสื้อแดง มีความห่วงประเทศชาติบ้านเมืองไม่ต่างกันหรอก เพียงแต่ห่วงในจุดไหน จุดที่ใครเข้าถึงมากกว่า อย่างคนเสื้อแดง ไม่ค่อยเข้าถึงเรื่องพวกนี้ เพราะเราไปฝักใฝ่มุ่งมั่นแต่เรื่องภาคการเมือง เราไม่ได้ย่อยลงมาในเรื่องที่เป็นปัจเจกเล็กๆ ว่าไปก็เหมือนคนเสื้อแดงเราจับฉ่าย คือเอาหม้อใหญ่ๆ มา แต่ให้ไปรู้จักคะน้าเป็นเรื่องเป็นราวไหม ไม่รู้จัก รู้จักแครอทไหม ก็ไม่

แล้วเรื่องเอฟทีเอนี้ได้เอาเข้าไปคุยในกลุ่มไหม

คุย คือหลังจากที่ได้ไปคุยกับเขามาก็เอามาชี้แจงในกลุ่มว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร ที่เรารับข้อมูลมา แล้วทุกคนก็มาวิเคราะห์ร่วมกันว่าความน่าจะเป็นควรจะเป็นอย่างไร มีการแจ้งในที่ประชุมว่าในส่วนตัว ทำไมเราเห็นด้วย เราเห็นด้วยในหลักการเบื้องต้น สอง เราเห็นด้วยในการที่ทุกคนจะต้องมี space มีพื้นที่ ถามว่ากลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี หรือเครือข่ายยาทั้งหลายที่ออกมาเล่นเรื่องนี้ เราก็มองว่าต้องมีพื้นที่ให้ทุกกลุ่มมีพื้นที่สาธารณะในการแสดงออก

แต่จะให้เราไปร่วม เราก็ไปร่วมเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้หรอก หนึ่ง คือเราไม่รู้ เราไม่ได้มีองค์ความรู้ของมันโดยเฉพาะ เพียงแต่เราก็สนับสนุนเขาได้ในเรื่องของความห่วงใย ความห่วงกังวลที่เขามี เขากลัวเรื่องการที่คนมาแล้ว มีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ต่อกัน เราก็ไม่อยากให้เกิด เราก็ช่วยเขาตรงนี้ แม้แต่พันธมิตรฯ เองเมื่อก่อน เราก็เคยคุยว่าจัดกิจกรรมได้นะ แต่ให้เป็นเชิงสร้างสรรค์

คนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง ระดับหนึ่ง ไม่เข้าใจว่าคำว่าเอ็นจีโอคืออะไร หลายๆ คนก็ยังมีความเข้าใจเอาเองว่า คำว่าเอ็นจีโอคือกลุ่มที่ล้มล้างรัฐบาล ทั้งๆ ที่ในเสื้อแดง ก็มีเอ็นจีโออยู่หลายคน แต่คนก็เริ่มเข้าใจในระดับหนึ่งแล้วว่าการทำเพื่อชุมชน เพื่อปากเพื่อท้อง เพื่อท้องถิ่นตนเอง มันก็คือการเคลื่อนไหวภาคเอกชน ภาคประชาชนอย่างหนึ่ง หลายคนก็รับได้

เวลาเราเลือกว่าจะร่วมอะไรหรือไม่ ในกลุ่มมีกระบวนการคิดกันอย่างไร

มันก็หลากหลายนะ ส่วนตัวก็มองว่า หนึ่ง ประโยชน์ร่วมเกิดกับชุมชนไหม ในการขับเคลื่อนแต่ละเรื่อง อย่างชาวนา ออกมาเรียกร้องเรื่องจำนำข้าวคราวที่แล้ว เราเห็นด้วย เราก็ไป เรื่องไหนที่ว่าเราไม่เห็นด้วย ก็แค่ว่าเราไม่ไปแค่นั้นเอง ถามว่าจะไปขัดขวางเขาไหม ก็ไม่ การเคลื่อนไหวทุกเรื่องเกี่ยวกับมวลชน คำว่าประชาธิปไตยที่เราพูดกัน มันต้องมีพื้นที่ให้ในการแสดงออกของทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มทำมาหากิน กลุ่มเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ มันต้องพื้นที่ให้เขา เพื่อที่จะสื่อถึงรัฐบาลให้ได้ ถามว่าให้เขาไปนั่งเรียกร้องอยู่ในบ้าน ก็คงไม่มีใครได้ยิน

ในทางกลับกัน สำหรับเอ็นจีโอหรือคนทั่วไปแล้ว ภาพเสื้อแดงในเชียงใหม่จะมีภาพในทางลบเยอะ คิดอย่างไร

ใช่ เขามองเราเป็นอย่างนั้นนะ เท่าที่นั่งคุยกับเขามาสองรอบ เขาฉายภาพตรงนั้นไว้ก่อนว่าแดงเกเรมาแล้ว เขาถึงมีความกังวลนิดๆ เขาจึงประสานเรามาว่าเขาจะทำกิจกรรมตรงท่าแพนะ เขากลัวภาพที่เขาคิด ภาพที่จินตนาการว่าเสื้อแดงจะไปเกเร ทั้งที่จริงๆ มันไม่ไง

ในเสื้อแดง กลุ่มเกเรกลุ่มหนึ่งมีไหม มันก็มี คือคนมันหมู่มาก เหมือนกับที่มีตีกับพวกหน้ากากขาว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ควบคุมกันได้ยาก เพียงแต่ว่าในตัวเราเอง power ในการยับยั้งหรือชี้นำจะมีมากขนาดไหน แต่การชี้นำพวกนี้หรือว่าจะไปห้ามปรามพวกนี้ เราไม่สามารถที่จะไปแจ้งเป็นรายบุคคลได้ มันเหมือนกับเราแจ้งไปกลุ่มนี้ กลุ่มนี้เชื่ออยู่ หรือกลุ่มนี้ หัวๆ ของกลุ่มเชื่อ แต่ลูกกลุ่ม กูไม่เกี่ยว

ได้คุยกับกลุ่มเชียงใหม่ 51 บ้างไหม

ไม่ได้คุยเลย หนึ่งคือเราก็จินตนาการของเราไปแล้วว่าภาคปฏิบัติที่ผ่านมา คุณไม่ค่อยรับอะไรง่ายๆ แล้วช่วงหลังจะกลายเป็นว่าการติดต่อประสานงานกันทำคล้ายๆ เป็นหน่วยงานภาครัฐไปแล้ว ต้องมีหนังสือ ต้องเป็นลายลักษณ์อักษรไป โห กระบวนการต่อสู้ภาคประชาชน ถ้าต้องมาเป็นขั้นตอนแบบระบบอำมาตย์อีกก็แย่

ถามว่าทุกวันนี้ พฤติกรรมเก่าๆ ตอนนี้มันจะมาใช้ได้ไหม ก็ไม่ได้ ถ้าคุณไม่เปลี่ยนแปลง มันก็เดินไม่ได้เพราะโดยส่วนตัวมองว่า กระบวนการขับเคลื่อนภาคประชาชนเราทุกวันนี้ ไม่ใช่ปี 49-50 บางทีนั่งคุยกับพรรคพวกว่า คำว่า “นปช.” ใจเรายังอยากจะเปลี่ยนด้วยซ้ำ เพราะชื่อมันคือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถ้าเราไปตีความหมายภาษาไทยตรงตัว มันก็ เฮ้ย รัฐบาลนี้เป็นเผด็จการหรือ จะไปต่อต้านมันอยู่หรือ

แล้วมองอย่างไรที่ว่าคนเสื้อแดงตอนนี้ปกป้องรัฐบาลอย่างเดียว

คนเสื้อแดงในระดับหนึ่งนะ เราก็มองว่าทุกรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องเพื่อไทย ผิด เราต้องท้วงติง ถูก เราก็สนับสนุนพรรคไหนก็ได้ที่มาบริหารประเทศ ทุกรัฐบาลในนามของคนเสื้อแดง หรือเสื้อสีไหนก็ตาม หรือใครก็ตาม ถ้าเราเน้นเรื่องประชาธิปไตย ใครก็ตามมันต้องตรวจสอบได้

ถามว่าข้อเท็จจริงเรื่องการปกป้องรัฐบาลเป็นอย่างนั้นไหม ส่วนหนึ่งมันก็ใช่ แต่ถามว่าทำไมต้องปกป้องรัฐบาล ส่วนหนึ่งเราก็เข้าใจไปแล้ว ใช้คำว่าเข้าใจไปแล้ว ในพรรคการเมืองตอนนี้ เราจะหาพรรคไหนที่มาเป็นรัฐบาลดีกว่านี้ยังไม่มี สอง เรื่องกระบวนการที่มาของรัฐบาล เรามองว่ามันถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตยที่เราอ้างกันมา ไม่รู้ว่าจะอ้างกันลอยๆ หรืออ้างโดยมีหลักการก็ตาม อย่างพรรคเพื่อไทยเข้ามาตอนนี้ เขามาถูกต้องตามครรลองทุกอย่าง ถ้าจะมีการล้มในลักษณะที่ว่าเป็นอวิชชา เราก็ต้องปกป้องเต็มที่

แต่กรณีไหนก็ตาม ที่มันมีการทุจริต ฉ้อโกง หรือไม่ชอบมาพากล มองว่ากระบวนการเสื้อแดงก็มีการตรวจสอบกันในระดับหนึ่งนะ ช่วยสอดส่องดูแลกัน อย่างเราไปติดตามการทำงานของภาครัฐ หลายๆ เรื่องเราเห็นว่าไม่ใช่ เราก็เข้าไปในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไปท้วงติง สอบถาม  ถามว่าปกป้องรัฐบาลเพื่อไทยไหม ก็ใช่ในระดับหนึ่ง แต่ถามว่าจะหัวเด็ดตีนขาดไหม มันก็คงไม่ในระดับของภาคปฏิบัติ

อย่างเรื่องสภาปฏิรูปประเทศนี่ ก็ยังมองแย้งอยู่ ไม่ใช่มองแย้งว่าไม่ดี แต่ว่ามันมีความขัดแย้งในตัว ถ้าส่วนตัวเรามีปัญญาหรือมีอำนาจที่จะทำ เราจะขอเป็นการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปในความหมายของเราคือเอาอันเดิมมาแต่งทาสีใหม่ โครงสร้างยังคงเดิม คำว่าโครงสร้างองค์กรภาครัฐต่างๆ ไม่ว่าหน่วยงานราชการต่างๆ ก็ยังมองว่าคือโครงสร้างอำนาจนั่นแหละ ที่เขาวางมาตั้งแต่ต้น ถามว่าโครงสร้างมันไม่เปลี่ยน เอาไอ้แก้วไปใส่ยังได้เลย

ครบรอบ 7 ปีรัฐประหาร ผ่านมาหลายปีแล้ว ทำไมยังจำเป็นต้องรำลึกหรือจัดงานกันอยู่ เข้าใจว่าทาง นปช.ส่วนกลางก็ไม่ได้จัดแล้ว

อย่างที่คุยกันใน 17 จังหวัดภาคเหนือ เขตเหนือเรามีมติร่วมกันในการทำเชิงสัญลักษณ์ เราไม่ได้ไปนึกถึงคุณงามความดีมันหรอก เราจัดปี 53 คำว่า “19 กันยาตาสว่าง” ก็เพื่อที่จะบอกว่าความระยำต่ำช้าของกระบวนการอำมาตยาทั้งหลาย มันมีจริงๆ คือชาวบ้านบางส่วนอาจจะไม่เห็น เพราะไม่ได้ติดตามสื่อเป็นเรื่องเป็นราวอย่างพวกเรา คนเสื้อแดงมันสนใจเฉพาะเรื่อง ถ้าเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ มันเป็นผู้ชำนาญการพิเศษไปแล้วในเรื่องพวกนี้

ถามว่ามันเป็นการอุปโลกน์ไหม ไม่ใช่แล้วไง คือในความรู้สึกของคนเสื้อแดง มันลึกไปแล้ว มันเข้าใจและเชื่อว่าไปแล้วว่ากระบวนการตัดตอนประเทศมันมี นั่นคือทำไม 19 กันยา ถึงต้องจัดทุกปี มันต้องจัดไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนอย่าลืมว่าประเทศนี้ถูกฉีกถูกทำลายมา ด้วยน้ำมือของกระบวนการอำมาตย์

พี่ยังไม่เคยเห็นตาคำ ออกมาเป็นผู้นำปฏิวัติ ผู้นำรัฐประหาร ยังไม่เคยมี อย่างที่บอกว่าโครงสร้างระบบอำมาตย์ ก็คือแบบโครงสร้างข้าราชการเรานี่แหละ ที่ผ่านมาเราก็เห็นแต่ข้าราชการทหารที่ทำการรัฐประหาร เพียงแต่เขาแค่ว่ารัฐประหารเพื่อจะเปลี่ยนตัวบุคคลมาไว้ในโครงสร้างเดิม โครงสร้างเดิมที่ทำไว้แน่นแล้ว เอาคนในโครงสร้างออกมาทำรัฐประหาร เพื่อจะเปลี่ยนตัวคนไปนั่งอยู่ในโครงสร้างเดิมนี่แหละ เปลี่ยนตัวเล่นแค่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างไปไหนเลย

ทุกวันที่ 19 มันจะตรงกับวันอะไรก็ตาม คนจะมากจะน้อย เราไม่สน ก็พยายามจัด

มีการทบทวนการเคลื่อนไหวในหมู่เสื้อแดงไหม หลังผ่านมา 7 ปีการรัฐประหาร

ก็มี อย่างที่บอกไปแต่ต้นว่าถ้าคุณไม่ปรับ คุณอยู่ไม่ได้ ตัวคนเสื้อแดง คุณจะอยู่ไม่ได้เอง เคยคุยกับหลายๆ คนว่าถ้าวันหนึ่งสภาปฏิรูปเกิดขึ้นจริง ซึ่งยังมองว่าเป็นเรื่องของระหว่างอำมาตย์กับคนที่ไปอยู่ในโครงสร้างอำมาตย์ ถ้ามันมีความร้าวฉาน ปีนเกลียวกันต่างๆ ในตัวโครงสร้างเอง มันก็ต้องมีการต่อรอง การต่อรองทุกอย่าง ม่ว่าธุรกิจหรืออำนาจ มันต้องมีเงื่อนไขห้อยท้าย ยังจินตนาการว่าถ้ากระบวนการภาคการเมืองเราต่อรองกับภาคอำมาตย์ เชื่อได้เลยว่าติ่งห้อยท้ายหรือเงื่อนไขในการตกลงคือขบวนการคนเสื้อแดง เสื้อแดงอยู่ในเงื่อนไขแน่ เราเข้าใจว่าอย่างนั้นนะ

มันเหมือนกับระดับใหญ่แต่ละที่ แต่ละฝั่ง มีเงื่อนไขแบบนี้ ตกลงกันอย่างนี้ ถ้าคำว่าปฏิรูปนั้นทั้งสองฝั่งรับได้ เสื้อแดงต้องสลายนะ ถามว่าคุณจะสลายอย่างไร เพราะเสื้อแดงไม่ใช่องค์กรจัดตั้งที่มีกฎหมายรองรับ จะยุบ จะสลาย จะย่อย อะไรได้ง่ายๆ เพียงแต่ความสำคัญอาจจะลดน้อยถอยลง คนเสื้อแดงก็ต้องปรับขบวนล่ะ

อย่างที่ทำเรื่องของ “เหนือฟ้า เชียงใหม่” ขึ้นมา (กลุ่มเคลื่อนไหวในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา) ก็อยากค่อยๆ เล็มไปว่า คนเสื้อแดงยังอยู่นะ แต่ว่าวิธีการอะไรต่างๆ อาจจะต้องเปลี่ยนระดับหนึ่ง โอเค  หนึ่ง คงไว้เรื่องการเมืองการปกครอง สอง ที่ย่อยลงมาคือไปศึกษาหาความรู้เรื่องชุมชน การนำเสนอข่าวต่างๆ หรือการเข้าช่วยเหลือชุมชน ไม่ว่าน้ำท่วม ฝนแล้ง หรือแม้แต่คลองแม่ข่าในบ้านเราเป็นคลองน้ำครำ เรื่องขุดลอกคูคลองทั้งหลาย เราเห็นมันมีกระบวนการยักย้ายถ่ายเทงบประมาณพอสมควร หรือการตรวจสอบองค์กรภาครัฐก็จะต้องทำ นี่คือกระบวนการคนเสื้อแดงที่มันจะต้องเปลี่ยน หลายๆ ที่ก็เริ่มเปลี่ยนแล้วนะ

คือเราอยากจะให้คนเสื้อแดงมามีแนวทางการขับเคลื่อนอีกรูปแบบหนึ่ง รูปแบบคล้ายๆ อันเดิม แต่เพิ่มในเรื่องของรายละเอียด จากที่เพียงแค่ว่าเคยไปเรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหาร หรือว่าไล่ด่าคนนั้นคนนี้ เรามาทำงานสังคมด้านสร้างสรรค์บ้าง อย่างเรื่องผู้ต้องขัง ถามว่าคนเสื้อแดงมี 3 ล้านกว่า มีคนไปทำเรื่องผู้ต้องขังกี่คน คนที่อ้างว่าเป็นแกนนำทั้งหลายมีใครไปทำเป็นเรื่องเป็นราวไหม เพียงแต่ว่าออกมาแล้วก็ไปรับขวัญกัน

ตอนนี้เท่าที่ได้สัมผัส องค์กรเสื้อแดงระดับหมู่บ้าน ชุมชน มีความเปลี่ยนแปลงอะไรไหม

มี ยกตัวอย่างให้เห็นรูปธรรม อย่างที่พร้าว องค์กรเสื้อแดงเขากลายเป็นกลุ่มคล้ายๆ เศรษฐกิจพอเพียง ชื่ออะไรจำไม่ได้ คือเริ่มมีการให้ความรู้เรื่องการทำมาหากิน เรื่องการไปขอทุนจากภาครัฐ หางบจากรัฐมาลงให้ชาวบ้าน จัดกลุ่มเลี้ยงกบ อย่างสันป่าตองจัดกลุ่มเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ ถือว่าเป็นเรื่องการส่งเสริมอาชีพ ทุกคนก็เดินหน้าด้วยกัน อย่างกศน.ก็มีงบให้

การรวมกลุ่มเพิ่มมากขึ้น อย่างสันทราย มีการจัดตั้งผู้ประสานตำบล ตอนนี้มีทุกตำบล แต่ละตำบลจะมีโครงการของตัวเอง เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปู อะไรต่างๆ ข้อดีของมันอยู่ตรงไหน เราได้คนที่ไม่แดง คนที่ไม่หือไม่ฮือ คนที่กลางๆ ขับรถค่อมเลนเนี่ยมาเอาด้วย

สันทรายเห็นภาพชัด เขาได้คนที่ขับรถค่อมเลนมาเลี้ยงไก่กับเขา ถามว่าเขามารวมกลุ่มแล้ว วันหนึ่งยังไงเขาก็ต้องเป็นคนเสื้อแดง เพราะมันเป็นเรื่องของการออสโมซิสความรู้สึกเข้าไป เขาไปได้พ่อหลวงบ้าน แม่หลวงบ้าน มาเป็นประธานกลุ่มให้เลย โอเค ไปหางบ ของบตรงนั้นนี้ จัดอบรมเลี้ยงไก่ เอาลูกไก่ไปคนละ 50 ตัว ครบ 45 วัน เอาลูกไก่มาคืน ให้คนอื่นต่อ

นี่เป็นการขยายมวลชนที่ดี ถึงเวลามา คุณจะเป็นคนเสื้อแดงหลังตู้เย็นหรือไม่ก็ตาม หรือถ้ายังไม่แดง ก็ขอให้มันส้มเข้ามา เลี้ยงไก่ 45 วัน คุณจะได้เจอกันอย่างน้อยก็ 5-6 ครั้ง เพราะเขาประชุมกลุ่มกันทุกสัปดาห์ เขาทำแบบบ้านๆ ถ้ามีเรื่องวิชาการเข้าไป น่าจะสวยด้วยซ้ำ

เรื่องไพรมารี่โหวต (Primary vote) เป็นอย่างไรบ้าง ยังทำต่อไหม

(กลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่ เคยเสนอและผลักดันพรรคเพื่อไทยเรื่องระบบการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองก่อนล่วงหน้า ในช่วงการเลือกตั้งซ่อมส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 ในช่วงกลางปี 2555)

ทำ แต่ไม่ค่อยไปถึงไหน แต่ตอนนี้ที่คนเอาไปเล่น และเป็นที่โด่งดัง กลายเป็นพรรคพลังประเทศไทย เสีย อลงกรณ์ (พลบุตร) ก็เอาไปเล่น เราอยากเล่น แต่เราไม่มีองค์กรรองรับไง ถามว่าไพรมารี่โหวต ภาคประชาชนคุณจะทำยังไงล่ะ ไม่มีพรรค เราก็ต้องไปเรียกร้องพรรคที่มีอยู่ พรรคไหนก็ได้ที่นำร่อง ที่พลังประเทศไทยหรือแม้แต่ประชาธิปัตย์ เขาเอาไปเล่น มองว่าใครเล่นก็ได้ไง แต่เชื่อว่าสักวันหนึ่ง มันจะเป็นทั้งประเทศ

ที่อลงกรณ์เอาไปเล่นที่อยุธยา คนเอาไปเล่นคือคนที่เคี่ยวแล้ว อย่างแม่ฮ่องสอนเนี่ย ควรทำ ส.ส.คือประชาธิปัตย์ ถามว่าเพื่อไทยทำไมไม่ทำ อย่างน้อยคุณรู้ คุณมีแคนดิเดตอยู่กี่คน แต่ละคน ถ้าคุณบอกว่าเป็นไพรมารี่โหวต ทุกคนรู้ว่าคืออะไร ทุกคนต้องวิ่งไปหาสมาชิก คนหนึ่งต้องวิ่งหาสมาชิกอย่างน้อยเป็นพัน สองสามพัน เพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ชนะในการทำไพรมารี่โหวต คนที่จะได้คือพรรคนะ พรรคได้เต็มๆ

ทำไมอลงกรณ์เอาไปเล่นที่อยุธยา เพราะประชาธิปัตย์ไม่เคยเหยียบอยุธยาได้ ทุกคนก็อยากเป็นตัวแทนพรรค ถามว่า 10 คน ไปหาสมาชิกมาคนละพัน 10 คนก็หมื่นหนึ่ง ผลพลอยได้จริงๆ คือคะแนนปาร์ตี้ลิสต์พรรค

มีความคิดเรื่องจัดตั้งพรรคเองไหม

คิดได้ แต่ทำไม่ได้ คำว่าพรรคการเมือง มันเลี่ยงไม่พ้นเรื่องทุนทรัพย์ ถามว่าคนเสื้อแดงจะเอาทุนที่ไหน ถามว่าโปรไฟล์ของคนเสื้อแดงจริงๆ มันอยู่ที่พวกเราที่ไหน มันกลายเป็นไปอยู่ที่นปช. ใช่ไหม คำว่าคนเสื้อแดงมันเหมือนกลายเป็นโลโก้ของนปช.ไปแล้ว สามเกลอเก่าเนี่ย สมมติตัวพี่เองอยู่ๆ มาประกาศเลย เปิดพรรคเสื้อแดง จะหาสมาชิกได้ 300 ได้ไหมเนี่ย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท