Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เทคโนโลยีด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพประเทศต่างๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ใช้รักษาอำนาจอธิปไตยและธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในประเทศ การที่มีกองทัพที่เข้มแข็ง ศักยภาพการทหารที่ดีและการที่มีอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ดี ย่อมล้วนแล้วแต่สร้างประโยชน์ต่อประเทศในด้านความมั่นคงของชาติได้ ในทางกลับกัน เทคโนโลยีด้านอาวุธยุทโธปกรณ์อาจกลายมาเป็นสิ่งที่ใช้ในการประหัตประหารหรือห้ำหั่นกัน ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายต่อกองทัพของอริราชศัตรูแล้ว การใช้เทคโนโลยีด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพในบางกรณี ก็ย่อมอาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้ หากผู้ใช้หรือผู้ควบคุมอาวุธดังกล่าวขาดทักษะในการใช้งานอาวุธยุทโธปกรณ์หรือผู้พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์มิได้พัฒนาเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพลเรือนหรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ร่างกายและสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้

เทคโนโลยีทางการทหารอย่างหนึ่งกำลังเป็นที่สนใจสำหรับนักพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และกองทัพของชาติมหาอำนาจหลายประเทศ ที่ทรงประสิทธิภาพ สามารถลดอัตราการสูญเสียกำลังพลของฝ่ายตนนั้น ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับ หรือ ยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicle - UAV) หรืออาจมีชื่อเรียกเป็นสามัญอีกชื่อหนึ่งว่า โดรน (drones) ซึ่งหน่วยทหารที่ปฏิบัติการในสนามรบสามารถควบคุมหรือบังคับอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนได้ในระยะทางไกล โดยที่ไม่ต้องอาศัยกำลังพลในการขับขี่อากาศยานดังกล่าวโดยตรง อาศัยเพียงผู้ควบคุมหรือบังคับในฐานสำหรับบังคับอากาศยานดังกล่าวให้มีทิศทางการเคลื่อนที่หรือปล่อยอาวุธต่อต้านข้าศึกไปยังพื้นที่บริเวณที่ผู้ควบคุมกำหนด

การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนย่อมส่งผลดีต่อกิจการทหารหลายประการในอนาคต เช่น การลดจำนวนทหารประจำการในอนาคตหากมีการผลิตเทคโนโลยีโดรนให้เข้ามาประจำการในกองทัพเป็นจำนวนมาก การลดความสูญเสียของทหารจากการบาดเจ็บและเสียชีวิต และการใช้โดรนของทหารในการสนับสนุนกิจการพลเรือนหรือสำรวจความเสียหายจากภัยทางธรรมชาติ เป็นต้น หากแต่การใช้เทคโนโลยีโดรนในกองทัพย่อมก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมีความแม่นยำในการโจมตี (Precision Guided Munitions - PGMs) มากน้อยเพียงใดหรือการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมีการพัฒนาระบบใช้อาวุธให้เอื้อต่อการฆ่าที่ระบุเป้าหมาย (Targeted Killings) มากน้อยเพียงใด เพราะหากการตรวจจับเป้าหมายด้วยเทคโนโลยีโดรนและการโจมตีจากระยะไกล ไม่มีความแม่นยำแล้ว ก่ออาจส่งผลกระทบต่อพลเรือนหรือประชาชนผู้บริสุทธ์ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายของการสังหารหรือการทำลายล้างได้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเป้าหมายในการสังหารหรือทำลายล้างโดยไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้ นอกเหนือจากนี้ แม้การใช้เทคโนโลยีโดรนสอดแนม (surveillance drones) อาจเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมการสอดแนมข้าศึกของกองทัพ หากแต่การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัว (privacy) ของประชาชนผู้บริสุทธ์ก็เป็นได้

หากพิจารณาถึงเนื้อความตามกฎบัตรของสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) มาตรา 51 ที่ได้บัญญัติสิทธิในการป้องกันตนเอง (rights to self-defense) เอาไว้ว่า “ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะรอนสิทธิประจําตัวในการป้องกันตนเองโดยลําพังหรือโดย ร่วมกัน (inherent right of individual or collective self-defence) หากการโจมตีด้วยกําลังอาวุธบังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติจนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะได้ดําเนิน มาตรการที่จําเป็นเพื่อธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศมาตรการที่สมาชิกได้ดําเนินไปในการใช้สิทธิ ป้องกันตนเองนี้จะต้องรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบโดยทันทีและจะต้องไม่กระทบกระเทือนอํานาจและความ รับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันแต่ประการใด ในอันที่จะดําเนินการเช่นที่เห็นจําเป็นไม่ว่าใน เวลาใด เพื่อธํารงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ”  (โปรดดู http://www.un.org/en/documents/charter/chapter7.shtml) หากพิจารณาตามเนื้อความดังกล่าวการใช้เทคโนโลยีโดรนในการปฏิบัติการทางทหารจึงถือเป็นการกระทำในการใช้สิทธิป้องกันตนเอง (exercise of the right of self-defense) กล่าวคือ รัฐสมาชิกขององค์การสหประชาชาติสามารถกระทำการใช้อาวุธประเภทต่างๆ ในปฏิบัติการทางทหารเพื่อป้องกันตนเองได้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันสหประชาชาติยังไม่ได้กำหนดนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมการปฏิบัติการทางทหารที่อาศัยเทคโนโลยีโดรนที่แน่ชัด ซึ่งสหประชาติไม่ได้มีนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ ในการยับยั้งหรือห้ามไม่ให้ชาติสมาชิกใช้เทคโนโลยีโดรนหรือนำโดรนมาประจำการในกองทัพของตน อนึ่ง แม้ว่าจะมีเอกสารสำคัญหลายฉบับของสหประชาติที่กล่าวถึงประเด็นปัญหาการฆ่าที่ระบุเป้าหมาย (targeted killing) และปัญหาความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการสังหารโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย (extrajudicial killing) ในเอกสารรายงานพิเศษ Report of the Special Rapporteur on extrajudicial, summary or arbitrary executions (โปรดดูเนื้อหาของรายงานฉบับดังกล่าวใน http://www2.ohchr.org/english/bodies/hrcouncil/docs/14session/A.HRC.14.24.Add6.pdf)โดยรายงานดังกล่าวได้กล่าวสรุปถึงกรณีตัวอย่างการใช้โดรนในปฏิบัติการทางทหารในประเทศปากีสถานว่าองค์กรเหนือรัฐหรือองค์กรอิสระเหนือชาติควรบัญญัติมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะ เพื่อควบคุมปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีโดรน โดยรัฐสมาชิกที่ใช้งานหรือมีเทคโนโลยีโดรนเอาไว้ในครอบครองสำหรับปฏิบัติการทางการทหาร ควรปรึกษาหารือเพื่อแสวงหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาการใช้งานเทคโนโลยีโดรนร่วมกันเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพลเรือนหรือประชาชนผู้บริสุทธิ์

นอกจากนี้ พิธีสารเพิ่มเติมแห่งอนุสัญญาเจนนีวาว่าด้วยการคุ้มครองเหยื่อของการขัดกันด้วยอาวุธ ค.ศ. 1977 (Protocol Additional to the Geneva Conventions of 12 August 1949, and relating to the Protection of Victims of International Armed Conflicts (Protocol I), 8 June 1977) มาตรา 36 ได้บัญญัติหลักการเกี่ยวกับ อาวุธชนิดใหม่ๆ (New weapons) ในกิจการสงครามว่า “ในการศึกษา การพัฒนา การซื้อขาย หรือการยอมรับของวิธีการของอาวุธประเภทใหม่ๆ หรือรูปแบบหรือวิธีการของการทำสงครามใหม่ๆ อัครภาคีในอนุสัญญาต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ากิจกรรมต่างๆ ในบางส่วนหรือทั้งหมดว่าต้องห้ามตามพิธีสารฉบับนี้หรืออื่น ๆ กฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆที่ใช้บังคับกับกับอัครภาคีในอนุสัญญา”  (โปรดดู http://treaties.un.org/doc/Publication/UNTS/Volume%201125/volume-1125-I-17512-English.pdf  ) ซึ่งหากพิจารณาตามเนื้อความของพิธิสารเพิ่มเติมแห่งอนุสัญญาเจนนีวาฉบับนี้แล้ว เนื้อความของบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติเพียงว่าให้อัครภาคีในอนุสัญญามีหน้าที่ในการเปิดเผยการยอมรับของวิธีการของอาวุธประเภทใหม่ๆ หรือรูปแบบหรือวิธีการของการทำสงครามใหม่ๆ หากวิธีการของอาวุธประเภทใหม่ๆ หรือรูปแบบหรือวิธีการทำสงครามใหม่ๆ เข้าหลักเกณฑ์ข้อห้ามตามพิธีสารเพิ่มเติมดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันพิธีสารดังกล่าวไม่ได้มีเนื้อความระบุว่าการใช้งานเทคโนโลยีโดรนหรือการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนสำหรับการใช้งานหรือประจำการในกองทัพ ถือว่าเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการขัดกันด้วยอาวุธแต่ประการใด

การไม่มีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีโดรน จึงอาจก่อให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายประการหนึ่ง เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐหรือประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาอาวุธ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางทหาร เพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปฏิบัติการทางทหารหรือสร้างรูปแบบการปฏิบัติการทางทหารประเภทใหม่ๆ ที่ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับรองหรือคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายทางกฎหมายอื่นๆ เกี่ยวกับบทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันด้วยอาวุธหรือปฏิบัติการทางทหารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีโดรนในการโจมตีกองทัพของข้าศึกหรือต่อต้านผู้ก่อการร้าย เช่น ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายในการใช้เทคโนโลยีโดรนสำหรับโจมตีนอกเป้าหมายทางทหารและปัญหาการใช้เทคโนโลยีโดรนพลาดเป้าไปทำร้ายประชาชนที่ถูกนำเอามาเป็นเกราะกำบังในการสู้รบ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ องค์การระหว่างประเทศหรือองค์การอิสระเหนือชาติต่างๆ จึงควรแสวงหาแนวทางในการตรากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการขัดกันด้วยอาวุธ ที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีโดรนในการปฏิบัติการทางทหารเป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการใช้เทคโนโลยีโดรนสำหรับปฏิบัติการทางทหาร ที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือผลกระทบต่อพลเรือนหรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ต่อไปในอนาคต

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net