Skip to main content
sharethis
20 ก.ย. 56 - ที่โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับ โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก จัดการฝึกภาคปฏิบัติในสถานการณ์เสมือนจริงที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากในเหตุการณ์ระเบิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการฝึกการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุในสถานการณ์ความรุนแรง โดยคัดเลือกบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการปะทะ เช่น จังหวัดสุรินทร์ ให้มาเรียนรู้วิธีการในการปฏิบัติงานช่วยชีวิตฉุกเฉิน ในรูปแบบทางยุทธวิธี หรือ Tactical Combat Casualty Care (TCCC)
 
นายแพทย์ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยที่มีความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากการสู้รบตามแนวชายแดน การก่อการร้าย และการก่อความไม่สงบรวมถึงความรุนแรงทางการเมืองรวมถึงการก่อการจราจลในประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากสถานการณ์ที่รุนแรงเหล่านี้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ออกให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์นี้ อาจได้รับอันตรายในการปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดเกิดเหตุ  จึงมีความจำเป็นที่บุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถจัดการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเหล่านี้ ณ ที่เกิดเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ตั้งแต่ขั้นการประเมินสถานการณ์ในที่เกิดเหตุ การคัดแยก การปฐมพยาบาล และส่งต่อหรือส่งกลับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้ประสานความร่วมมือกับ โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก จัดโครงการการฝึกการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุในสถานการณ์ความรุนแรงขึ้น
 
“การนำทีมบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ดังกล่าว มาเรียนรู้เทคนิคการช่วยชีวิตในรูปแบบทางทหารนั้น ก็เพื่อต้องการให้ทีม มีความรู้และทักษะในเรื่องจัดการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเหล่านี้ในที่เกิดเหตุสถานการณ์ที่รุนแรง  ได้แก่ สถานการณ์ที่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธสงคราม เหตุลอบวางระเบิด และสถานการณ์จราจล อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ตั้งแต่ขั้นการประเมินสถานการณ์ในที่เกิดเหตุ การคัดแยก การปฐมพยาบาล และส่งต่อหรือส่งกลับ ทั้งยังมีแนวทางการปฏิบัติการ เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับทหาร และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์และถ่ายทอดให้กับหน่วยกู้ชีพอื่นๆในพื้นที่ได้” รองเลขาธิการ สพฉ.กล่าว
 
สำหรับการฝึกในครั้งนี้เป็นการฝึกในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการเรียนรู้ภาคทฤษฎีต่างๆ เช่น หลักการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในพื้นที่การรบ การจัดการผู้บาดเจ็บจำนวนมากในที่เกิดเหตุในสถานการณ์ความรุนแรง กลไกการบาดเจ็บจากกระสุนปืนและระเบิด และการรักษาวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net