ประชาธรรม : โอฬารเผยผลเจรจา FTA รอบ 2 แจงสหภาพยุโรปรุกไทยด้านจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

 

ที่มา : http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n4_20092013_01

 

วันนี้ (20 ก.ย.56) เวลาประมาณ 13.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ออกมาแถลงผลการเจรจาและให้สัมภาษณ์นักข่าวเผยถึงผลเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปรอบที่ 2 ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2556 ณ จังหวัดเชียงใหม่นั้น

ดร.โอฬาร แถลงว่า การประชุมครั้งนี้มีการประชุมหลายเรื่อง ได้แก่การเปิดตลาดสินค้าและการค้าบริการ การลงทุน มาตรการสุขอนามัยและอนามัยพืชอุปสรรคทางเทคนิคการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐมาตรการเยียวยาทางการค้า และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยแต่ละกลุ่มได้ติดตามความคืบหน้าและผลการดำเนินการตามที่ได้ตกลงกันไว้ในการเจรจารอบแรกที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ณ กรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยี่ยม ตลอดจนได้เริ่มหารือในร่างข้อบทและทำความเข้ามากขึ้นในเรื่องต่างๆรวมถึง มาตรการทางการค้าและ และกฎระเบียบภายในประเทศของแต่ละฝ่าย

"เราคุยไปทั้ง 14 หัวข้อแต่ละหัวข้อมีความก้าวหน้าแตกต่างกันไปบางประเด็นที่มีการคุยทุกครั้งที่มีการเจรจาการค้าเสรีกับทุกประเทศ อย่างเช่นรายชื่อสินค้าที่ทำกันมานาน เราก็จะมีการปรับเงื่อนไขภาษีขาเข้าก็ก้าวหน้าไปจนถึงขั้นที่ว่าคราวหน้าเราจะลงไปถึงกรอบการเจรจา ซึ่งกระบวนการเจรจาทั้งหมดคงไม่เกินปลายปีหน้า จากการเจรจาทั้งหมด 7 ครั้ง"

ดร.โอฬาร กล่าวเพิ่มเติมว่าการเจรจารอบนี้ทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นในประเด็นต่างๆโดยเฉพาะกฎระเบียบของแต่ละเรื่องโดยบางเรื่องได้ตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมระหว่างรอบเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ด้วยเพื่อที่จะได้ก้าวไปสู่การยื่นข้อเรียกร้องของการเปิดตลาด เช่น เรื่องการค้าบริการและการลงทุนในการเจรจารอบต่อไปในเดือนธันวาคม หรืออีก 3เดือนข้างหน้า ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม

"เรื่องที่เข้ามาใหม่ เป็นการหาข้อมูลข้อเท็จจริง เช่น เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ซึ่งทั้งเขาทั้งเรายังไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้โดยเฉพาะฝ่ายไทยที่กำลังจะทำรถไฟความเร็วสูง ก็พยายามจะเปิดโอกาสให้คู่ค้าของเราเข้ามาเสนอขายสินค้าและบริการในสายงานราชการ เป็นต้น ฉะนั้นเหมือนกับแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างความเข้าใจร่วมกัน ฝ่ายไทยต้องเข้าใจว่าหน่วยงานราชการของสหภาพยุโรปมีกี่ระดับ ในทางกลับกันเขาก็ต้องเข้าใจระบบราชการของเราด้วย รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งกว่าจะลงนามเจรจาเป็นลายลักษณ์อักษรคงใช้เวลาอีกนาน"

ส่วนประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่เป็นประเด็นที่อ่อนไหวและหลายฝ่ายแสดงความกังวลนั้น ดร.โอฬาร กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้กำหนดแนวทางการเจรจาที่ยึดหลักการของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า(TRIPs) ภายใต้ WTO และยึดถือความยืดหยุ่นตามปฏิญญารัฐมนตรีโดฮาในส่วนที่เกี่ยวกับ TRIPsและการสาธารณสุขโดยในการประชุมครั้งนี้ฝ่ายไทยได้เสนอให้มีความร่วมมือเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการวิจัยและพัฒนายาซึ่งอาจจะใช้พื้นฐานของโครงการที่สหภาพยุโรปได้ดำเนินการหรือมีความร่วมมือกับไทยอยู่แล้วมาพัฒนาให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจนสามารถผลิตเป็นเภสัชภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่เป็นรูปแบบเฉพาะและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง

"เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาและเรื่องที่จะให้ประชาชนคนไทยเราสามารถเข้าถึงยาได้ในราคาและเงื่อนไขที่สามารถชำระได้เป็นประเด็นหลัก ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะผู้เกี่ยวข้องทางยาเท่านั้นแต่รวมถึงผู้ป่วยไข้ที่ต้องใช้ยาด้วย"

"ส่วนความยืดหยุ่นตามปฏิญญารัฐมนตรีโดฮา หมายความว่าการเจรจาด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับประชาชนคนส่วนใหญ่ของเรานี้หมายถึงประชาชนที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงยาความยืดหยุ่นในที่นี้ถ้าจะออกนอกกรอบ ต้องออกนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ เป็นของใหม่ๆ ทั้งนี้ในประเด็นดังกล่าว ฝ่ายไทยก็ได้ยื่นข้อเสนอไปแล้วว่าจะให้มีความร่วมมือในการลงทุนวิจัยและผลิตยา ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มประเทศอื่นในอาเซียนด้วย ซึ่งเขาก็ยอมรับในเรื่องนี้เป็นหัวข้อที่ไม่เคยมีการเจรจามาก่อน"

หัวหน้าคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ขยายความถึงวิธีการว่า ต้องนำเอาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งผู้ผลิตที่เป็นบริษัทไทย บริษัทต่างประเทศที่มาผลิตในเมืองไทยบ้างแล้ว องค์กรของรัฐที่ผลิตยา องค์กรเภสัชกรรม รวมถึงบริษัทจากยุโรปรายใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้มาผลิตในเมืองไทยให้เข้ามาพิจารณาลงทุนร่วมกันให้ทุกส่วนมีความมั่นใจว่าจะมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีในเรื่องนี้เมื่อผลิตได้สำเร็จแล้ว ก็จะสามารถจำหน่ายจ่ายแจกได้ในราคาพอควร"

ส่วนเรื่องสิทธิเมล็ดพันธุ์ของเราที่จะต้องคุ้มครอง หัวหน้าคณะเจรจากล่าวว่า จะดำเนินการคล้ายกับเรื่องยา แม้สหภาพยุโรปจะกดดันให้เข้าเป็นภาคี UPOV แต่ไทยไม่จำเป็นต้องรับตามเรียกร้อง เพราะจะดำเนินการปรับกติกาให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน และคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยให้มากที่สุด

ขณะที่ด้านการลงทุนที่มีความกังวลว่าจะทำให้อียูสามารถฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐได้ ดร.โอฬารชี้แจงว่า ก็มีการพิจารณาว่าถ้ามีข้อขัดแย้งจะมีกระบวนการอย่างไรเพราะวิธีการแก้ปัญหาไม่ใช่มีแต่การฟ้องเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีวิธีอื่น เช่นหาคนที่ 3 มาไกล่เกลี่ย ฯลฯ และต่อไปในอนาคต เราอาจจะขยายกรอบพูดคุยเรื่องการลงทุนเพิ่มเช่น ภาคก่อสร้าง ฯลฯ

"คาดหวังว่าการเจรจาครั้งหน้าจะมีการยื่นรายชื่อการเปิดบริการการค้าเสรีระหว่างกันเขาก็จะยื่นว่าอยากทำบริการอะไรในบ้านเรา ส่วนเราก็ยื่นว่าอยากทำธุรกิจอะไรในยุโรป"

นอกจากนี้ ดร.โอฬารได้ย้ำถึงความสำคัญของประเด็นความเชื่อมโยงในแต่ละข้อบทซึ่งจะแยกแต่ละเรื่องไม่ได้จะต้องดูภาพใหญ่ทั้งของความตกลงทั้งฉบับเพื่อให้ท่าทีของแต่ละเรื่องไปในทางเดียวกันและส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเจรจาในภาพรวม

ด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ สรุปการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ 2 ว่าโดยรวมไม่มีปัญหาอะไรมาก เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี เท่าที่ฟัง ดร.โอฬาร พูดแล้วเป็นไปตามข้อเสนอทางภาคประชาสังคมย้ำว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยี ต้องไม่แลกกับการรับทริปส์พลัส แบบที่สมาคมบริษัทยาข้ามชาติพยายามเสนอ

"เราเสนอไปว่าฝึกคนของเราให้ทำเป็นจริงและต้องมาผลิตในไทย จากคำพูดก็เป็นแนวนั้น อย่างไรก็ตามเรายังมีความกังวลเรื่องการคุ้มครองการลงทุนกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะที่ดร.โอฬารพูดไม่ฟันธงเท่าไร ต้องไปดูในรายละเอียด ดังนั้น อยากปลัดกระทรวงพาณิชย์เรียกประชุมคณะทำงาน 3 ฝ่ายติดตามการเจรจาเพื่อจะได้หารือทันทีหลังการเจรจารอบนี้"

นอกจากนี้ ภาคประชาสังคม 28 องค์กรได้ทำหนังสือถึง  นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ยืนยันจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาเอฟทีเอเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม

"ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฯยืนยันชัดเจนต่อสาธารณะว่า จะไม่รับข้อเสนอการเจรจาที่มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ทั้งในเรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ ดังนั้น ทางกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายประชาสังคม ที่ติดตามการเจรจาเอฟทีเอ ต้องการทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนอย่างไร ทั้งในภาพรวมการเจรจาที่เกี่ยวกับยาและประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพทั้งหมด และได้กำหนดนโยบาย และมาตรการในการสนับสนุนการเจรจาอย่างไร ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการ และการมอบหมายเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ไปทำหน้าที่เจรจา"

นอกจากนี้กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ทราบมาว่า ทางสหภาพยุโรปพยายามแทรกแซงคณะเจรจาฝ่ายไทย ด้วยการขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจาบางคนโดยพยายามติดต่อโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ผู้ประสานกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า "เราอยากทราบว่า มีการแทรกแซงทีมเจรจาฝ่ายไทยจากสหภาพยุโรปเช่นที่ว่านี้หรือไม่อย่างไร หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น หมอประดิษฐจะมีจุดยืนอย่างไร จะยอมให้มีการแทรกแซงเช่นนี้หรือไม่ พวกเราคาดหวังกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความรับผิดชอบต่อระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจะมีจุดยืนที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย จะดำเนินการเจรจาอย่างอย่างรอบคอบเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และยืนหยัดเจรจาที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม"

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สมาชิกกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวถึงการที่ภาคประชาสังคมไทยจะทำการรณรงค์ร่วมกับภาคประชาสังคมในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่โดนคุกคามจากสหภาพยุโรปในลักษณะเดียวกันผ่านความตกลงการค้าเสรี เพื่อให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้พิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ให้เพิกถอนรางวัลดังกล่าวที่สหภาพยุโรปได้รับไปเมื่อ ค.ศ. 2012 นั้น

"เราไม่ได้ทำอะไรเกินเลยตามที่หัวหน้าคณะเจรจาฯฝ่ายอียูกล่าวหา องค์กรที่จะได้ครอบครองรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพควรประพฤติตัวให้สมเกียรติ ดังนั้น เราจะติดตามดูพฤติกรรมของสหภาพยุโรปในการเจรจาเอฟทีเออย่างใกล้ชิด และเริ่มที่จะสื่อสารกับภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆบ้างแล้ว เมื่อไรที่เราแน่ใจว่า สหภาพยุโรปผลักดันความตกลงระหว่างประเทศที่บ่อนทำลายระบบความมั่นคงของประเทศไทยและประเทศต่างๆอย่างชัดแจ้ง จะทำให้สังคมไทยและประเทศต่างๆโดยรวมอ่อนแอลง คนยากคนจนส่วนใหญ่ยากจนขึ้น แต่คนรวยส่วนน้อยกลับจะรวยยิ่งขึ้นไปอีก เราจะร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการรางวัลโนเบลเพื่อเพิกถอนทันที หากไม่ต้องการให้เราร้องเรียน สหภาพยุโรปก็ควรเลิกเรียกร้องเนื้อหาที่ทำลายล้างเช่นนี้"

อนึ่ง ปัจจุบัน สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 5ของไทยในปี 2555 โดยไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปมูลค่า 21,729 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 6,272.7 ล้านเหรียญสหรัฐโดยนำเข้าจากสหภาพยุโรป มูลค่า 19,933.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแง่ของการลงทุนสหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนอันดับสองของไทย โดยลงทุนมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯขณะที่ไทยออกไปลงทุนในสหภาพยุโรปสูงเป็นอันดับสองรองจากอาเซียนมีมูลค่าการลงทุน1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท