Skip to main content
sharethis

กรณีอาวุธเคมีในซีเรียซึ่งเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ในตอนนี้มีความพยายามทำข้อตกลงให้รัฐบาลทำลายอาวุธเคมีทั้งหมด เรื่องนี้อาจทำให้สงสัยว่าการกำจัดอาวุธเคมีมีวิธีการอย่างไรบ้าง และทำแบบใดไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชากรและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

แม้จะมีการทำข้อตกลงกับรัฐบาลซีเรียเรื่องคำสั่งให้กำจัดอาวุธเคมีที่มีอยู่ในประเทศภายในปี 2014 แต่ประเทศซีเรียยังตกอยู่ภายใต้สงครามกลางเมือง กระบวนการกำจัดอาวุธเคมีก็อาจประสบกับความยุ่งยาก สำนักข่าว BBC ได้เปิดเผยเกร็ดความรู้เรื่องวิธีการทำลายอาวุธรวมถึงกล่าวถึงรายละเอียดในส่วนประกอบ

มีเทคนิคหลายอย่างที่นำมาใช้ในการทำลายอาวุธเคมี และสารเคมีที่อยู่ภายใน เช่น วิธีการเผาทำลายด้วยอุณหภูมิสูง (Incineration) ซึ่งเป็นการใช้ความร้อนเพื่อทำลายความเป็นพิษในสารเคมี อีกวิธีหนึ่งคือการทำให้สารเคมีเป็นกลางโดยการเติมน้ำและสารอื่นๆ อย่างเช่นโซดาไฟ

แต่การทำลายอาวุธเคมีที่มีชนวนระเบิดติดอยู่ด้วยมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ ซึ่งวิธีการหนึ่งคือการใช้หน่วยทำลายอาวุธเคลื่อนที่ซึ่งสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ค่อนข้างไว ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงอันตรายในการลำเลียงอาวุธผ่านพื้นที่สงคราม

หน่วยทำลายอาวุธเคลื่อนที่บางส่วนจะทำลายอาวุธเคมีด้วยการระเบิดโดยรอบอาวุธและนำอาวุธเข้าไปใน 'รัง' ที่ถูกหุ้มด้วยเกราะเหล็กที่เรียกว่า "แบงบ็อกซ์" (bang box) หรือรังระเบิด เพื่อใช้ระเบิดทำลายตัวอาวุธรวมถึงสารเคมีที่อยู่ในอาวุธ

กองทัพของสหรัฐฯ ได้พัฒนาหน่วยเคลื่อนที่ที่เรียกว่า ระบบกำจัดอาวุธระเบิด (Explosive Destruction System) ซึ่งใช้สารเคมีในการทำลายฤทธิ์ของสารพิษ มีการใช้หน่วยนี้ในการกำจัดอาวุธเคมีมาแล้ว 1,700 ชิ้นในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2001 และสามารถกำจัดอาวุธได้ 6 ชิ้นต่อครั้ง


ขั้นตอนการกำจัดอาวุธเคมี

BBC ยังได้เผยแพร่ภาพจากหน่วยงานด้านวัตถุเคมีของกองทัพสหรัฐฯ เผยให้เห็นการทำงานของเครื่องมือกำจัดอาวุธเคมี โดยแสดงภาพโครงสร้างของขีปนาวุธบรรจุอาวุธเคมีซึ่งมีการใส่ตัวสารเคมีไว้ภายในหัวรบ ขั้นตอนต่อมาคือการนำประจุระเบิดติดกับตัวหัวรบและครอบไว้ใน รังที่หุ้มด้วยเหล็ก จากนั้นจึงนำทั้งหมดใส่ในกล่องเหล็กกล้าก่อนจุดระเบิดจากภายในเพื่อปล่อยสารพิษออกมาจากตัวอาวุธก่อนที่จะเติมสารเคมีลงไปในกล่องเพื่อกำจัดสารพิษภายใน

อีกระบบหนึ่งที่อาจถูกใช้ในซีเรียคือเทคโนโลยีการระเบิดด้วยความร้อนระดับสูง ที่มีการให้ความร้อนราว 550 องศาเซลเซียสในรังบรรจุอาวุธ ซึ่งถือเป็นความร้อนที่มากพอจะทำลายทั้งตัวอาวุธและสารเคมี วิธีการนี้พัฒนาโดยบริษัทไดน่าเซฟ (Dynasafe) ของสวีเดน ซึ่งเคยถูกนำมาใช้กำจัดอาวุธเคมีในจีน เยอรมนี และสหรัฐฯ

โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวว่า ทางการสหรัฐฯ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้เทคนิคใดในการทำลายอาวุธเคมีในซีเรีย เนื่องจากทางซีเรียยังไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดของโครงการอาวุธเคมีทั้งหมด

ส่วนสารเคมีอันตรายที่ยังไม่ถูกบรรจุในอาวุธสามารถทำลายได้ง่ายกว่าแค่ใช้ความร้อนจัดในเตาหลอมก็สามารถทำให้สารเคมีอันตรายน้อยลงและสามารถจัดการได้ในศูนย์รับจ้างทำลายสารเคมีอันตรายที่มีอยู่ทั่วไป แต่การใช้ความร้อนเผาผลาญก็ทำให้เกิดความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้การใช้วิธีทำให้สารพิษกลายเป็นกลางโดยเติมน้ำและโซดาไฟได้รับความนิยมมากกว่า ซึ่งทำให้ได้สารที่เป็นพิษน้อยลงจากระดับอาวุธเคมีเป็นระดับของเสียอันตราย (hazardous waste)  หรือสามารถนำมากำจัดรอบสองด้วยการให้ความร้อน


สถานที่กำจัดอาวุธเคมี

สถานที่กำจัดอาวุธเคมีอาจเป็นแบบหน่วยเคลื่อนที่หรือเป็นการเคลื่อนย้ายกำลังคนไปเรื่อยๆ เพื่อตั้งโรงงานกำจัดขนาดใหญ่ก็ได้

ราล์ฟ แทรปป์ อดีตสมาชิกองค์การห้ามอาวุธเคมี (OPCW) ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าตรวจสอบอาวุธเคมีในซีเรียปัจจุบันกล่าวว่า  สิ่งที่เขาบอกได้ตอนนี้คือพวกเขาจะไม่ใช้วิธีการปกติทั่วไปซึ่งต้องมีการรวบรวมคลังอาวุธซึ่งจะใช้เวลาสองสามปีและทางการซีเรียก็มีเวลาไม่มากขนาดนั้น

ราล์ฟบอกว่าซีเรียอาจจะใช้วิธีการปลดอาวุธโดยการนำชนวนออกและบรรจุด้วยคอนกรีต หรือใช้การฝังไว้ด้วยคอนกรีต

โดยตามอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีไม่อนุญาตให้มีการทิ้งสารเคมีลงทะเลหรือฝังไว้ใต้ผืนดิน รวมถึงวิธีการทำลายโดยการระเบิดในหลุมลึกซึ่งเคยใช้ในอิรักเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 ก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นนั้นเนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อประชากรที่อาศัยอยู่โดยรอบ

ดร. แพทริเซีย ลิวอิส ประธานฝ่ายวิจัยขององค์กรกิจการนานาชาติแชทแฮมเฮาส์เสนอว่า ซีเรียควรส่งอาวุธเคมีออกนอกประเทศเพื่อให้ประเทศอย่างรัสเซียเป็นผู้จัดการ เนื่องจากประเทศซีเรียยังไม่มีอะไรยืนยันว่าเหตุการณ์จะสงบลงและมีการปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว และเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้เสนอให้ดำเนินการเรื่องอาวุธเคมี ทางการรัสเซียจึงควรมีส่วนรับผิดชอบในการทำให้ข้อตกลงสำเร็จ

รัสเซียมีฐานทัพเรือในเมืองทาร์ทัส ชายฝั่งประเทศซีเรีย ที่สามารถใช้ขนอาวุธเคมีไปยังแหล่งอื่นได้ แต่อาจมีความกังวลเรื่องอนุสัญญาอาวุธเคมีว่าด้วยการขนส่งอาวุธเคมีออกไปยังน่านน้ำต่างชาติ โดยก่อนหน้านี้รัสเซียเคยมีโครงการกำจัดอาวุธเคมีและสามารถทำลายอาวุธเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ก่อนหน้านี้เคยมีการกำจัดอาวุธเคมีที่ใดบ้าง

ทั้งในอิรักและลิเบียเคยมีการกำจัดอาวุธเคมีมาก่อน โดยในอิรัก เจ้าหน้าที่สหประชาชาติได้ตรวจสอบโรงงานอาวุธเคมีและสั่งปิดโดยไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อีก

อลาสแตร์ เฮย์ ศาตราจารย์ด้านความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยลีดส์ กล่าวว่า รูปแบบที่ปฏิบัติในอิรักคือทางเลือกที่เป็นไปได้ ซึ่งถ้าหากมีการสั่งปิดแล้วจะถือเป็นการการันตีในขั้นแรกก่อนดำเนินการทำลายอาวุธต่อไป

ในลิเบีย มีจำนวนอาวุธเคมีอยู่ไม่มากนักจึงมีการตั้งโรงงานกำจัด แม้ว่า ต่อมาจะพบว่ายังคงมีแก๊สมัสตาร์ด (อาวุธเคมีจำนวนหนึ่ง มีฤทธิ์ทำให้แสบร้อนและเป็นแผลพุพอง) หลงเหลืออยู่หลังจากที่โค่นล้มการปกครองของกัดดาฟีไปแล้ว


กำหนดเวลาการกำจัดอาวุธเคมีในซีเรีย

ตามอนุสัญญาฯ กำหนดเวลาให้ซีเรีย 9 เดือนในการกำจัดอาวุธเคมีทั้งหมด แต่ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด บอกว่าต้องใช้เวลา 1 ปี

เฮย์กล่าวว่า ทางการซีเรียควรได้รับความยืดหยุ่นเรื่องเวลาบ้างเล็กน้อย และแม้จะไม่สามารถกำจัดอาวุธได้ทั้งหมดทันตามกำหนด แต่ถ้าผลงานการกำจัดอาวุธอยู่ในเกณฑ์ดีและเห็นว่าซีเรียไม่ได้จงใจประวิงเวลาก็ควรมีการยืดเวลาเส้นตายออกไป


ปริมาณอาวุธเคมี

สหรัฐฯ และรัสเซียเป็นประเทศที่มีอาวุธเคมีอยู่ในคลังมากที่สุด โดยข้อมูลขององค์การห้ามอาวุธเคมี (OPCW) เมื่อเดือน ก.ค. 2013 ระบุว่า ในจำนวนอาวุธเคมีที่ตรวจพบว่ามีอยู่ทั้งหมดในตอนนี้มีอยู่ร้อยละ 81 ที่ถูกทำลายไปแล้ว โดยทางการสหรัฐฯ ได้ทำลายไปแล้ว 25,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 90 จากที่มีอยู่ทั้งหมด ส่วนรัสเซียได้ทำลายไปแล้ว 29,500 ตัน หรือร้อยละ 74 ของทั้งหมดในประเทศ

โดยที่ทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ก็ได้รับการผ่อนผันระยะเวลาการกำจัดอาวุธเคมีทั้งหมดออกไป ซึ่งทางการรัสเซียให้สัญญาว่าจะกำจัดให้หมดในปี 2015 ส่วนสหรัฐฯ สัญญาจะกำจัดหมดในปี 2023

ทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ได้ลงนามในอนุสัญญาอาวุธเคมี ภายใต้การตรวจสอบขององค์การห้ามอาวุธเคมี โดยทางองค์กรยังได้ส่งนักวิทยาศาสตร์ไปตรวจสอบอาวุธเคมีในกรุงดามาสกัสและอาจจะมีส่วนในการกำกับดูแลโครงการทำลายอาวุธเคมีในซีเรียด้วย แผนภาพขององค์การห้ามอาวุธเคมีระบุว่าซีเรียมีอาวุธเคมีที่ถูกตรวจพบอยู่ที่ 1,000 ตัน

โอเก เซลสตรอม หัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบการใช้อาวุธจากสหประชาชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะค้นหาและทำลายอาวุธเคมีในซีเรียได้ทั้งหมด ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดยืนของทั้งฝ่ายรัฐบาลซีเรียและฝ่ายกบฏว่าจะมีการเจรจากันได้มากน้อยขนาดไหน



เรียบเรียงจาก

How to destroy Syria's chemical arsenal, 20-09-2013, BBC
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-24116042

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net