Skip to main content
sharethis
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมพีมูฟ รวมตัวยื่นหนังสือนายกขอเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ ตามข้อตกลงในการชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาลเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมประกาศชุมนุมใหญ่7 ต.ค.56 เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก
 
 
วันนี้ 24 ก.ย.56 เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 5 เครือข่ายสลัม 4 ภาค และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ รวมตัวเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ช่วยปลัดสำนัดนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ ตามที่ได้ตกลงกับพีมูฟเมื่อการชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาล เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
 
จากนั้น มีการอ่านแถลงการณ์ประกาศชุมนุมใหญ่ในวันที่ 7 ต.ค.56 เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก (Word Habitat Day) ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน และปัญหาที่ดิน ในวันดังกล่าว
 
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ตามที่พีมูฟได้ติดตามประสานงานกับรัฐบาล เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดการชุมนุมระหว่างวันที่ 6-23 พ.ย.56 นำมาสู่การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับตัวแทนพีมูฟ เมื่อวันที่ 22 พ.ย.56 นั้น โดยจะใช้กลไกกรรมการชุดต่างๆ ในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ก็มีอุปสรรคข้อติดขัด ในการดำเนินงาน
 
พีมูฟ ระบุข้อเรียกร้องการเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน และทำให้ปัญหาความเดือดร้อนได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.แนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย (บ้านมั่นคง และคนไร้บ้าน) และแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำกิน (โฉนดชุมชน และธนาคารที่ดิน) ตามนโยบาย ที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา
 
2.แนวทางการแก้ไขปัญหาของกลไกการแก้ไขปัญหา ที่ไม่ดำเนินการ (ปากมูน และโฉนดชุมชน) และกลไกที่ดำเนินการล่าช้า (อนุกรรมการทั้ง 9 คณะ) และ 3.ให้นายกรัฐมนตรีแถลงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยต่อกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล (บริเวณประตูน้ำพุ)
 
 
ทั้งนี้ หนังสือที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี มีรายละเอียด ดังนี้
 
 
ที่ ขปส./๑๑๐/๒๕๕๖
๒๔ กันยายน ๒๕๕๖
 
เรื่อง      การเปิดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
เรียน      ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
อ้างถึง    หนังสือเครือข่ายสลัม ๔ ภาค ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕ เรื่องขอเชิญนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายการแก้              ปัญหาที่อยู่อาศัยเนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล
 
ตามที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม ๔ ภาค , สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) , เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.) , สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) , เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) ,สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ,เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ,เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล อันเป็นปัญหาความเดือดร้อนเรื่อง ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน ปัญหาการไร้สิทธิสถานะและชาติพันธ์ ปัญหาจากเหมืองและโรงไฟฟ้า ปัญหาการทำเกษตรพันธสัญญา รวมทั้งปัญหาความไม่เป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ทั้งจากชนบทและคนจนในเมืองได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
 
เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๕ ท่านนายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาศให้ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล โดยการหารือดังกล่าวเป็นไปในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งไม่สามารถนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนต่อท่านนายกรัฐมนตรีได้ครบถ้วน ท่านนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จึงได้เสนอให้มีการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕
 
ต่อจากนั้นพวกเรา (ขปส.) ได้พยายามติดต่อเพื่อขอเปิดการเจรจากับรัฐบาล โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการเจรจาแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนนำไปสู่การจัดการชุมนุมขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ ๖ – ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา โดยการชุมนุมครั้งดังกล่าว รัฐบาลโดย ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์) และ รมช.มท.ประชา ประสพดี เป็นตัวแทนในการประสานงานและการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จนนำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับตัวแทน ขปส. เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นั้น โดยจะใช้กลไก (กรรมการชุดต่าง ๆ)  เป็นกลไกในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์) เป็นผู้ประสานงานในนามของรัฐบาล
การทำงานร่วมกับตัวแทนรัฐบาลเป็นไปด้วยความราบรื่น และพวกเราเห็นความพยายามของตัวแทนรัฐบาลที่กระตือรือร้นตลอดเวลา แต่ก็มีข้อติดขัด ที่สำคัญ ดังนี้
 
๑. รัฐบาลได้แถลงนโยบายเรื่องที่อยู่อาศัย และนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดิน ไว้อย่างชัดเจนต่อรัฐสภา แต่ท่านนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ยังไม่ได้มอบแนวทางในการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว จึงทำให้การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และปัญหาที่ดินทำกิน ไม่มีความคืบหน้า
 
๒. กลไกการแก้ไขปัญหา มีความล่าช้า และไม่สามารถดำเนินงานได้จริง
 
อนึ่ง เนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยสากล เพื่อให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญและต้องมีมารตการและนโยบายมาสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยให้กับคนจน โดยที่ผ่านมารัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ร่วมกันทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตลอดมา แต่เนื่องจากยังมีอุปสรรคบางประการ
 
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน และทำให้ปัญหาความเดือดร้อนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้รับการแก้ไขลุล่วง เป็นรูปธรรม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)   มีข้อเรียก ในการเจรจา ดังนี้
 
ข้อที่ ๑. แนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย (บ้านมั่นคง และคนไร้บ้าน) และแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำกิน (โฉนดชุมชน และธนาคารที่ดิน) ตามนโยบาย ที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภา (นโยบายข้อ ๔. นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต (ข้อ๔.๕. .....นโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม ข้อย่อยที่ ๔.๕.๒ การให้โอกาสประชาชนที่มีฐานะยากจนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง.....) ข้อ ๕. นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ข้อ๕.๑ ......สนับสนุนการจัดการอย่างมีส่วนร่วมและให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันในลักษณะที่ทำให้คนมีภารกิจดูแลป่าให้มีความยั่งยืน โดยการปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ 5 ฉบับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ.....  ข้อ ๕.๔ สร้างความเป็นธรรมและลดความเลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากร.....  .....ให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย...... .....ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน......))
 
ข้อที่ ๒. แนวทางการแก้ไขปัญหาของกลไกการแก้ไขปัญหา ที่ไม่ดำเนินการ (ปากมูน และโฉนดชุมชน) และกลไกที่ดำเนินการล่าช้า (อนุกรรมการทั้ง ๙ คณะ)
 
ข้อที่ ๓. ให้นายกรัฐมนตรีแถลงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยต่อกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล (บริเวณประตูน้ำพุ)
 
ปัญหาทั้งหมดดังที่กล่าวข้างต้นล้วนเกิดจากความไม่ชัดเจนของรัฐบาล ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเดินหน้าต่ออย่างเป็นรูปธรรม ขปส.ขอเรียกร้องให้เปิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับตัวแทนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขึ้นในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เป็นประธานในการเจรจา
 
โดยในระหว่างนี้พวกเราจะชุมนุมปักหลักรอฟังผลการเจรจาอย่างสงบ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล (ประตูน้ำพุ) ตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำตอบในการดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง ๓ ข้อ อย่างชัดเจน
 
พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)  หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของคนจน ด้วยการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการขึ้นตามวันและเวลา ดังกล่าว
 
            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
                     ขอแสดงความนับถือ                                     ขอแสดงความนับถือ
 
 
                  (นางสาวอัมพร   จำปาทอง)                                          (นายประยงค์  ดอกลำใย)
ประธานเครือข่ายสลัม ๔ ภาค                   ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net