Skip to main content
sharethis

เปิดตัวสารคดี “เขาชื่ออัสฮารี” ในปัตตานี ผู้ผลิตชี้ต้องการดึงความสนใจสาธารณะไปสู่ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ส่วนเจ้าของเรื่อง “แบเดาะ สะมาแอ” ผู้สูญเสียลูกชายระบุ ยอมให้นำเสนอเรื่องราวเป็นสารคดีเพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่าง เพราะในพื้นที่เหยื่อที่พร้อมสู้มีไม่มากยิ่งทำให้ปัญหาสะสม

ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเมื่อ 23 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ได้มีการฉายสารคดีสั้นสามสิบนาทีเรื่อง “เขาชื่ออัสฮารี” พร้อมกับชมรายการรอมฎอนไนท์ตอนเสียงผู้หญิงจากชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ โดยเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และเสวนาพูดคุยประเด็นบทบาทผู้หญิง โดยมีทีมงานผู้ผลิตสารคดีและแบเดาะ สะมาแอ ผู้ที่เป็นเจ้าของเรื่องราวในสารคดีสั้นไปร่วมเสวนาด้วย

เขาชื่ออัสฮารี เป็นสารคดีเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของแบเดาะและกลุ่มนักกฎหมายและนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่ง หลังจากที่ลูกชายของนางแบเดาะคืออัสฮารี สะมาแอ เสียชีวิตเมื่อหกปีที่แล้ว หลังจากที่ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จากในสารคดี ฮัสฮารีถูกทำร้ายร่างกายร่วมกับบุคคลที่ถูกจับอีก 9 คนเมื่อ 21 กค.2550 ที่อ.กรงปินัง ยะลา  และเสียชีวิตลงในเวลาหนึ่งวันต่อมาในโรงพยาบาล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่นำตัวไปส่งโรงพยาบาลไม่ได้แจ้งว่าอัสฮารีถูกจับกุม ทำให้เส้นทางในอันที่จะแสวงหาความยุติธรรมวกวนและซับซ้อน  การต่อสู้ของครอบครัวสะมาแอมีกลุ่มนักกฎหมายและนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนกลุ่มใหญ่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะนางแบเดาะ มารดาที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับอัสฮารีโดยใช้เวลาถึงห้าปีกว่าที่จะได้ผลของการไต่สวนการตายออกมาเมื่อ 28 มิย. 2555 ว่าอัสฮารีตายขณะอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่และถูกทำร้ายร่างกาย ผลของการเคลื่อนไหวต่อเนื่องทำให้นางแบเดาะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างเช่นหัดขับรถและพูดไทยเป็นต้น

แต่หลังจากผลการไต่สวนออกมาดังกล่าวจนถึงปัจจุบันผ่านไปกว่าปียังมีมีความคืบหน้าในเรื่องคดีอาญา ขณะที่คดีแพ่งที่นางแบเดาะฟ้องสี่หน่วยงานรัฐและศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีจ่ายค่าชดเชยให้ 5 แสนบาทนั้น ทางสำนักนายกรัฐมนตรีอุทธรณ์และคดียังอยู่ในชั้นศาล  อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลมีคำสั่งออกผลการไต่สวนว่าตายในขณะถูกควบคุมตัวและถูกทำร้ายด้วย ศอ.บต.มีมติจ่ายเงีนเยียวยาครอบครัวสะมาแอ 7 ล้านบาท

“ที่ลุกขึ้นสู้ไม่ใช่ว่าจะทำให้อัสฮารีฟื้นขึ้นมาได้ หรือว่าต้องการเงินเยียวยา” แบเดาะ สะมาแอเปิดใจผ่านคนแปล “แต่ต้องการให้เรื่องของเราเป็นกรณีตัวอย่าง” แม่ของอัสฮารีบอกว่า ถึงตอนนี้จะผ่านมาหลายปีแล้วแต่ยังเสียใจกับเรื่องนี้โดยที่เงินเยียวยาไม่สามารถจะช่วยอะไรได้ “เราก็ไม่รู้ว่าใครทำ ถ้ารู้ก็อยากจะไปคุยกับเขาว่าทำไม ทำไมถึงทำอย่างนี้ ทำจนลูกก๊ะตาย” แบเดาะเปิดเผยว่า อัสฮารีเป็นลูกโต เป็นเด็กเรียน เรียนหนังสือใกล้จบและเป็นคนที่พ่อแม่หวังพึ่งพาให้ช่วยเลี้ยงส่งเสียน้องๆ การเสียชีวิตของอัสฮารีทำให้ครอบครัวคขาดคนที่จะมาเป็นที่พึ่ง และเล่าว่าหลังจากเกิดเรื่องลูกตาย ตนพบว่าต้องเจอสภาพอึดอัดใจเพราะสายตาของสังคมในชุมชนรอบๆที่มองว่าเป็นครอบครัวคนทำผิด “เวลาคุยกับเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านไม่ตอบสนองอะไรทำก็เชื่อว่าคนมองในแง่ลบให้ยิ่งรู้สึกแย่ลง” เธอบอกว่า คนที่สามารถเข้าใจกันได้กลายเป็นคนจากหมู่บ้านอื่นที่เจอประสบการณ์คล้ายกัน นอกจากนี้การได้เรียนรู้เรื่องราวของคนอื่นๆทำให้พบว่ามีเพื่อนร่วมชะตากรรมและหลายคนก็เจอหนักเช่นกันทำให้อย่างน้อยรู้สึกดีขึ้นบ้าง

ทางด้านนวลน้อย ธรรมเสถียร แห่งกลุ่มเอฟทีมีเดียซี่งเป็นผู้ผลิตสารคดีเรื่องนี้กล่าวถึงเจตนาในการผลิตว่า ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการเตือนสติสังคมเพื่อให้เห็นว่ามีปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่ชาวบ้านธรรมดาเข้าถึงได้ยาก กรณีของแบเดาะ สะมาแอที่ต่อสู้ได้เพราะมีองค์ประกอบสองสามประการที่หลายๆกรณีขาด เช่นมีผู้เสียหายอย่างนางแบเดาะที่มีความมุ่งมั่นแรงกล้าที่จะแสวงหาความเป็นธรรม ยินดีจะต่อสู้แม้จะใช้เวลาร่วมห้าปีซึ่งหาได้ยากเพราะคนในพื้นที่มักจะถอยทุกครั้งที่เจอเรื่องเช่นนี้  อีกอย่างกรณีนี้มีกลุ่มนักสิทธิและนักกฎหมายกลุ่มใหญ่ที่เข้าไปช่วยเหลือชนิดที่อีกหลายๆกรณีไม่มี แม้การเดินเรื่องในชั้นศาลจะใช้เวลานาน ทนายก็ผลัดหน้ากันเข้าไปทำคดีจนตลอดรอดฝั่ง ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาก็ต้องการทำคดีตัวอย่าง

นวลน้อยกล่าวว่า มีคดีซ้อมทรมาน หรือกรณีที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำจำนวนมาก แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทำให้เรื่องค้างคาใจและกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสะสมเรื่องของความรู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรมในพื้นที่ ผู้ผลิตสารคดีชี้อีกว่า ปัญหาความไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความเป็นพุทธ มุสลิม หรือไทย มลายู แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรมและความถูกต้อง และอยากเห็นสังคมไปไกลมากกว่าการแค่รู้สึกสะเทือนใจกับชะตากรรมของนางแบเดาะ คืออยากเห็นคนที่ประสบปัญหาได้แรงบันดาลใจที่จะต่อสู้เพื่อช่วยพยุงระบบให้ทำงาน ในขณะที่อีกด้านให้สังคมตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมไปด้วยกันเพื่อให้ระบบรับใช้ทุกคนได้และจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายความขัดแย้ง

อีกประการหนึ่งนวลน้อยกล่าวว่า การผลิตสารคดีในเรื่องของเหยื่อจากความรุนแรงกลุ่มต้องใช้ความระมัดระวังมากเพราะไม่ต้องการทำให้เหยื่อตกเป็นเหยื่อซ้ำสองด้วยการถูกแช่ภาพความเป็นเหยื่อตลอดไป การที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนออกมาอาจจะช่วยได้คือทำให้ความรู้สึกของครอบครัวสะมาแอได้รับการเยียวยาทางจิตใจระดับหนึ่งแม้ว่าคดีจะยังไปไม่ถึงที่สุด การที่ผลิตสื่อและนำเสนอต่อสาธารณะ สังคมพูดถึงปัญหานี้ก็น่าจะเป็นการเยียวยาได้อีกส่วนหนึ่งเช่นกัน เพราะเท่ากับว่าสังคมให้ความสนใจในความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net