วัฒนธรรมอาหารแบบใหม่ในกรีซ เมื่อชาวก้นครัวเปิดขายอาหารเย็นในบ้านกับคนแปลกหน้าทางเน็ต

เมื่อพิษเศรษฐกิจในกรีซ ทำให้คนพยายามแสวงหาอาหารโฮมเมดราคาประหยัด จนเกิดวัฒนธรรมใหม่ที่คนครัวมือสมัครเล่นแต่มีใจรักการทำอาหาร โพสต์รูปนำเสนอเมนูประจำบ้านผ่านเว็บที่ชื่อ Cookisto และมีผู้สมัครใจไปนั่งร่วมโต๊ะทานอาหารในบ้านพวกเขาแลกกับการจ่ายค่าธรรมเนียมซึ่งถูกกว่าซื้อทานเอง

ในเว็บไซต์ BBC วันที่ 22 ก.ย. มีการนำเสนอเรื่องราววัฒนธรรมที่เรียกว่า 'คุกกิสโต้' (Cookisto) คนทำอาหารมือสมัครเล่นในครัวเรือน ที่ใช้พื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตในการโพสต์และให้ชาวเน็ตช่วยวิจารณ์ แต่เรื่องนี้กลับดึงดูดชาวเมืองผู้หิวโหยให้มาร่วมโต๊ะอาหารด้วย

เช่นชีวิตของมาริเลนา ซาโชว์ แม่บ้านในกรุงเอเธนส์ผู้ที่ตื่นขึ้นมาชงกาแฟ ทำอาหารให้เด็กก่อนไปโรงเรียน จนกระทั่งเมื่อถึงเวลา 10 โมงเช้าอันเงียบสงบเธอก็จะเข้าครัวทำอาหารอย่างจริงจัง เช่นวันหนึ่งเธอทำมูซากา (Moussaka) อาหารจานอบของกรีก ซึ่งใช้วัตถุดิบอย่างมะเขือเทศ เนื้อแกะบด หอมหัวใหญ่ จากนั้นจึงได้อัปโหลดรูปขึ้นอินเทอร์เน็ตแล้วมีคนในพื้นที่มาโพสต์ข้อความขอ 'แบ่งปัน' จากเธอ

การทำเช่นนี้ทำให้บ้านของเธอไม่มีอาหารเหลือทิ้งเลยในวันนั้น เพราะจะมีคนในละแวกตำบลมารูซีมาร่วมทานอาหารมื้อค่ำด้วย โดยก่อนหน้านี้ในช่วงตอนกลางวันก็จะมีคนสั่งอาหารของเธอและมีการจดที่อยู่ไว้นำส่ง

แต่ไม่เพียงแค่ซาโชว์เท่านั้น คนอื่นๆ ในกรุงเอเธนส์ก็มีวัฒนธรรมแบบ 'ครัวบ้านๆ' เช่นเดียวกับเธอ ซึ่งคนเหล่านี้ชื่นชอบการทำอาหารและมีฝีมืออยู่พอสมควร โดยมีลูกค้าเป็นพนักงานออฟฟิศ นักศึกษา และพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาว่าง จะติดต่อคนทำครัวมือสมัครเล่นเหล่านี้ทางอินเทอร์เน็ต โดยมีค่าธรรมเนียมร่วมโต๊ะอาหารในราคาราว 3-4 ยูโร (ราว 120 - 160 บาท) ซึ่งในเมื่อวัดจากค่าครองชีพในกรุงเอเธนส์ ถือว่าราคาถูกกว่าการทานอาหารที่อื่นๆ

ซาโชว์บอกว่าตัวเธอติดนิสัยทำอาหารเกินความจำเป็นและไม่สามารถคำนวณปริมาณที่ครอบครัวเธอต้องการได้ เธอจึงเข้าสู่เว็บสังคมออนไลน์ที่ชื่อ Cookisto.com เว็บภาษากรีกซึ่งนำพาให้พ่อครัวแม่ครัวมือสมัครเล่นกับชาวเมืองผู้กำลังหิวได้นัดพบปะกัน ซึ่งกำลังจะมีโครงการสร้างเว็บในฉบับของกรุงลอนดอนในเดือนหน้า

พ่อครัวแม่ครัวที่ใช้เว็บนี้ถูกเรียกว่าคุกกิสต้า (Cookista) มีโปรไฟล์อยู่ในเว็บไซต์ โดยอาหารของพวกเขาจะได้รับการให้คะแนนและการแสดงความเห็นจากผู้รับประทานอาหาร เช่น มูซากาของซาโซว์มีคนแสดงความคิดเห็นว่า "อาหารของเธอไม่มีน้ำมันส่วนเกินและมักจะใช้แต่วัตถุดิบคุณภาพดี รสชาติก็สมบูรณ์แบบ"

เดิมทีแนวคิดคุกกิสโต มาจากวิทยานิพนธ์ที่เขียนในรูปแบบของแผนการธุรกิจโดยนักศึกษาสายบริหารธุรกิจชื่อ มิคาลิส กอนตาส ในช่วงที่กรีซกำลังประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งแผนการของเขากลายมาเป็นความจริงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยมีคนครัวในกรุงเอเธนส์เข้าร่วมราว 12,000 คน

กอนตาส เจ้าของแนวคิดและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์บอกว่า มันเป็นเรื่องที่คนทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งคนครัวและผู้ชื่นชอบอาหาร โดยคนครัวจะมีรายได้เพิ่มเล็กๆ น้อยๆ ขณะที่ผู้ทานอาหารจะได้รับประทานอาหารดีๆ ที่ประกอบขึ้นในครัวเรือนซึ่งมีราคาถูกกว่าซื้อกลับไปทานเองที่บ้าน

สภาพเศรษฐกิจของกรีซในช่วงที่ผ่านมาถือว่าย่ำแย่ มีอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 27.9 ภาครัฐเองก็มีการปรับลดขนาดขององค์กรลง

ซาโชว์ได้รับเงินเพิ่มจากการเข้าร่วมคุกกิสโต้เดือนละประมาณ 200 ยูโร (ราว 8,000 บาท) และใช้เงินส่วนนี้ไปกับการจับจ่ายใช้สอยในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เธอก็บอกว่าสำหรับเธอแล้วมันไม่ใช่เรื่องเงินแต่เพียงอย่างเดียว

"ฉันรู้สึกว่าพวกเราต้องร่วมฝ่าฟันวิกฤติไปด้วยกัน มีนักศึกษาจำนวนมากที่ต้องพยายามดิ้นรนเพื่อให้มีเงินใช้ ฉันก็เคยผ่านจุดนั้นมาก่อน เบื่อที่ต้องทานแต่ขนมปังและอาหารซื้อกลับบ้าน มันเป็นเรื่องดีที่ได้ทำอาหารให้เขาราวกับที่พวกเขารู้สึกว่าได้ทานอาหารฝีมือแม่ที่บ้าน แม้สักนิดก็ยังดี"

ราเชล บอทส์แมน ผู้ให้คำปรึกษาด้านนวัตกรรมจากประเทศออสเตรเลียบอกว่าโครงการนี้ถือเป็น "การปฏิวัติ" รูปแบบของ 'การบริโภคร่วมกัน' หรือรูปแบบของเศรษฐศาสตร์การแบ่งปัน บอทส์แมนบอกว่าหลังจากเกิดปัญหาการเงินโลกตกต่ำ ผู้คนก็หันกลับมามีพฤติกรรมในระบบตลาดแบบเก่าที่อาศัยความเชื่อใจ อย่างการแลกเปลี่ยน การแบ่งปัน และการให้เช่า

นิตยสาร Times เคยกล่าวถึงวัฒนธรรมการบริโภคร่วมกัน (collaborative consumption) ว่า สิ่งที่เป็นผลดีอย่างแท้จริงของการบริโภคประเภทนี้คือด้านสังคม ในยุคสมัยที่ครอบครัวแยกกันไปคนละทิศละทางและเราอาจจะไม่รู้จักคนบนท้องถนน การได้แบ่งปันสิ่งต่างๆ แม้แต่กับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ก็อาจกลายเป็นความสัมพันธ์ที่มีความหมายได้

คุกกิสโต้มีส่วนคล้ายกับบริการ Airbnb (บริการห้องพักและอาหารเช้า) Lyft (บริการให้ติดรถส่วนตัวไปด้วย) Liquidspace (บริการให้เช่าพื้นที่ประชุมหรือพื้นที่ทำงาน) และ Taskrabbit (แหล่งจ้างวานงานส่งของหรืองานจิปาถะอื่นๆ) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นบริการในพื้นที่โลกออนไลน์ที่ต้องอาศัยความเชื่อใจและความน่าเชื่อถือในการประสบความสำเร็จ

จริงอยู่แม้ว่าความน่าเชื่อถือจะสำคัญในธุรกิจทั่วไป แต่บอทส์แมนก็บอกว่าธุรกิจเล็กๆ แนวนี้ได้เปลี่ยนจากการเน้นความเชื่อถือในองค์กรมาเป็นความเชื่อถือในกลุ่มคนที่ใกล้เคียงกัน

ลูกค้ารายหนึ่งของคุกกิสโต้เป็นพนักงานออฟฟิศชื่อ ดิมิทรีส์ คูสตาส เขามักจะสั่งซื้ออาหารจากคุกกิสโต้อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ คูสตาสบอกว่าคนทำอาหารจะเป็นคนมาส่งถึงที่ด้วยตนเอง บางครั้งก็มีการแถมของหวานให้เพื่อโน้มน้าวให้สั่งอาหารจากที่เดิมอีก หรือมีแม่บ้านที่ถามว่าอาหารของเธอเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับคนอื่น

แม้ว่าเว็บคุกกิสโต้จะไม่สามารถตรวจสอบเรื่องความสะอาดของครัวหรือดูว่าใช้ของสดหรือไม่ แต่ก็สนับสนุนให้ผู้ใช้โพสต์คำวิจารณ์ตามความจริง

คูสตาสบอกว่าในตอนแรกเขาลังเลเล็กน้อยกับการต้องสั่งอาหารจากคนที่ไม่รู้จัก ทำให้กังวลว่ารสชาติจะเป็นอย่างไรและจะทำให้เราป่วยไหม ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความเชื่อใจอย่างมาก

ในประเทศกรีซ ชุมชนคุกกิสโต้เริ่มแผ่ขยายออกไปนอกอาณาเขตอินเทอร์เน็ตแล้ว โดยมีการรวมกลุ่มกันของผู้ใช้และมีช่วงรับฟังความคิดเห็น โดยอิวานเกเลีย ทาฟลาโดรากีบอกว่า การที่เธอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ ช่วยให้เธอมีความมั่นใจอีกครั้งหลังจากตกงาน เธอบอกว่ารู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ได้มีส่วนช่วยเหลือคนอื่นทุกวันและรางวัลตอบแทนที่ดีที่สุดสำหรับเธอคือตอนที่มีคนบอกว่าชอบอาหารของเธอ ไก่หมักเปรี้ยวหวานของเธอขายได้หมดในเวลาไม่กี่นาที แสดงให้เห็นว่าความต้องการอาหารพื้นเมืองในกรุงเอเธนส์มีอยู่มาก

อีกไม่นานเว็บไซต์คุกกิสโต้จะขยายเว็บให้บริการสำหรับชาวอังกฤษ ไม่แน่ว่าคนในพื้นที่อาจจะได้ชิมอาหารของอดีตทนายความที่มีช่องรายการอาหารในยูทูบ อาหารจากแม่บ้านชาวอิตาเลียน หรือนักศึกษาจบใหม่ที่เริ่มเรียนต่อด้านอาหาร

แม้กอนตาสจะบอกว่าการริเริ่มตั้งคุกกิสโต้ของเขาจะมาจากความต้องการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันเรื่องการเข้าถึงอาหารโฮมเมดอร่อยๆ แต่นิกกิ ฟินเนมอร์ ผู้ดำเนินการให้มีเว็บบริการสำหรับชาวอังกฤษได้พูดเน้นย้ำว่าพื้นที่ตลาดแบบนี้เป็นมากกว่าเรื่องอาหาร มันยังเป็นเรื่องของมิตรภาพ การร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น และการแบ่งปันผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงและความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน

"มันเป็นประสบการณ์ของการเชื่อมั่นในคนแปลกหน้าที่ทำอาหารให้คุณ และได้แลกเปลี่ยนพบปะกันแบบตัวต่อตัว" ฟืนเนมอร์กล่าว

 

เรียบเรียงจาก
Cookisto: A new Greek way of getting dinner, BBC, 22-09-2013
http://www.bbc.co.uk/news/magazine-24163742

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท