Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2013 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน เปิดเผยเรื่องการที่แรงงานอพยพชาวเนปาลถูกใช้แรงงานอย่างหนักในการเตรียมการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ของประเทศกาตาร์

สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ระบุว่าในช่วงไม่มีกี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีแรงงานชาวเนปาลหลายสิบคนเสียชีวิตและอีกหลายพันคนอยู่ในสภาพการทำงานที่ถูกกดขี่ข่มเหง มีหลายคนที่เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน โดยทีมข่าวสืบสวนของเดอะการ์เดียนเปิดเผยว่า พวกเขามีหลักฐานชี้ว่าแรงงานชาวเนปาลในกาตาร์ถูก "ใช้งานเยี่ยงทาส" ตามนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)

ข้อมูลจากเอกสารของสถานทูตเนปาลในกรุงโดฮาระบุว่า มีคนงานอย่างน้อย 44 คนเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. ถึง 8 ส.ค. โดยครึ่งหนึ่งเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หรืออุบัติเหตุในที่ทำงาน

ทีมข่าวสืบสวนสอบสวนของเดอะการ์เดียน เปิดเผยอีกว่าพวกเขาพบหลักฐานการบังคับใช้แรงงานในโครงการวางระบบโครงสร้างขนาดใหญ่ มีชาวเนปาลบางคนบอกว่า พวกเขาไม่ได้รับค่าแรงมาหลายเดือนแล้ว และใช้การไม่จ่ายเงินเดือนเพื่อไม่ให้พวกเขาหนีไป แรงงานบางคนถูกยึดหนังสือเดินทางหรือไม่มีการออกบัตรประจำตัวให้ ทำให้พวกเขาอยู่ในสถานะคนข้ามชาติผิดกฏหมาย นอกจากนี้บางคนก็ถูกห้ามไม่ให้ดื่มน้ำฟรี ทั้งที่ทำงานกลางความร้อนของทะเลทรายระดับ 50 องศาเซลเซียส มีชาวเนปาลราว 30 คนหนีไปอยู่ที่สถานทูตในกรุงโดฮาเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพความโหดร้ายในการจ้างงานนี้

"พวกเราอยากจะหนี แต่ทางบริษัทไม่ยอมให้พวกเราหนี" แรงงานข้ามชาติชาวเนปาลคนหนึ่งกล่าว เขาถูกจ้างโดยบริษัทพัฒนาเมืองลูซาอิล ที่ใช้เงินทุน 45 พันล้านดอลลาร์ไปกับการสร้างสนามกีฬา 90,000 ที่นั่ง เพื่อใช้ในงานเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

"ผมรู้สึกไม่พอใจกับวิธีการที่บริษัทนี้ปฏิบัติกับเรา แต่พวกเราก็ไร้ที่พึ่ง ผมเสียดายที่มาที่นี่ แต่จะทำอย่างไรได้ พวกเราถูกบีบให้มาทำงานนี้เพราะต้องการสร้างฐานะ แต่พวกเราโชคไม่ดีเสียเลย" แรงงานคนเดิมกล่าว

คณะกรรมการระดับสูงของการจัดงานฟุตบอลโลกปี 2022 กล่าวว่า ยังไม่มีโครงการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลกโดยตรง อย่างไรก็ตามพวกเขาบอกว่ารู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องข้อกล่าวหาบริษัทรับเหมาที่ทำงานให้กับสถานก่อสร้างของลูซาอิล และคิดว่าควรต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง พวกเขาบอกอีกว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนกำลังตรวจสอบเรื่องนี้

ทีมข่าวของเดอะการ์เดียน เปิดเผยว่าคนงานชาวเนปาลต้องนอนรวมกัน 12 คนในห้องเดียวและมีคนป่วยจากสภาพที่พักไม่สะอาด บางคนไม่ได้รับค่าจ้างจนต้องออกไปขออาหาร

ราม คูมาร์ มหารา หนึ่งในคนงานบอกว่าพวกเขาต้องทำงานโดยไม่มีอะไรตกถึงท้องตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เวลาทำงาน 12 ชั่วโมง โดยที่ตอนกลางคืนก็ไม่มีอาหารเลย และเมื่อเขาร้องเรียนเรื่องนี้ ผู้จัดการก็ทำร้ายเขา ไล่เขาออกโดยไม่ยอมจ่ายค่าจ้างใดๆ ทำให้เขาต้องขออาหารจากคนงานคนอื่นๆ

คนงานจากเนปาลแทบทุกคนในที่นี้ยอมติดหนี้สินจำนวนมากในบ้านเกิดเพื่อจ่ายให้กับพนักงานจัดหางาน ทำให้พวกเขาได้งานทำ สภาพต่างๆ เช่น การมีข้อผูกมัดต้องจ่ายหนี้สินคืน การไม่ได้รับเงินค่าจ้าง การถูกยึดเอกสารประจำตัว และการไม่สามารถออกจากงานได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น 'ทาสในยุคสมัยใหม่' โดยมีประชากรราว 21 ล้านคนทั่วโลกอยู่ในสภาพนี้ โดยมายา คูมารี ชาร์มา เอกอัครราชทูตเนปาลประจำกาตาร์บอกว่า สภาพของที่ทำงานแรงงานเหล่านี้เปรียบเสมือน 'คุกเปิด'

ไอดาน แมคเควด ประธานองค์กรต่อต้านระบบทาสสากลซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1839 บอกว่า หลักฐานที่ได้รับจากเดอะการ์เดียน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามีการบังคับใช้แรงงานอย่างเป็นระบบในกาตาร์ แมคเควดบอกอีกว่า สภาพการจ้างงานและอัตราการเสียชีวิตของคนงานอาจนับว่าเป็นยิ่งกว่าการบังคับใช้แรงงาน แต่เป็นระดับเดียวกับแรงงานทาสในสมัยก่อนที่คนถูกทำให้เป็นเหมือนแค่วัตถุ

ประเทศกาตาร์มีอัตราแรงงานข้ามชาติเทียบกับประชากรในประเทศมากที่สุดในโลก แรงงานร้อยละ 90 เป็นผู้อพยพ โดยประเทศกาตาร์วางแผนใช้คนงานเพิ่งอีก 1.5 ล้านคน ในการสร้างสนามกีฬา ถนน ท่าเรือ และโรงแรม เพื่อใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก ชาวเนปาลถือเป็นแรงงานข้ามชาติร้อยละ 40 ในกาตาร์ โดยเมื่อปี 2012 มีผู้อพยพชาวเนปาลเข้าไปยังกาตาร์มากกว่า 100,000 คน

ชาวเนปาลมายังกาตาร์โดยอาศัยช่องทางนายหน้าตลาดมืดในเอเชียและผู้รับเหมาในกาตาร์ เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาถูกกดขี่ แต่ทางคณะกรรมการระดับสูงยืนยันว่า จะผลักดันให้มีการปรับมาตรฐานความเป็นอยู่ของแรงงานที่ทำงานให้กับฟุตบอลโลก แต่การควบคุมดูแลของพวกเขาต้องผ่านด่านหลายด่าน ทั้งส่วนของผู้จัดการโครงการหลายคน บริษัทรับเหมาก่อสร้าง และผู้จัดหาแรงงาน

ฮาลโครว บริษัทวิศวกรรมของอังกฤษซึ่งเป็นที่ปรึกษาหลักของโครงการก่อสร้างที่มีลูซาอิลเป็นผู้รับเหมากล่าวว่า พวกเขามีนโยบายไม่ยอมรับการบังคับใช้แรงงานหรือวิธีการเชิงค้ามนุษย์ นอกจากนี้ พวกเขายังมีบทบาทในการควบคุมดูแลเพื่อให้คนงานมีระบบจัดการสุขภาพ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แต่ขณะเดียวกันเรื่องข้อตกลงการจ้างงานของผู้รับเหมาไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของพวกเขาโดยตรง

สภาพของแรงงานข้ามชาติชาวเนปาลเจอทั้งภาระหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยมากถึงร้อยละ 36 แต่พวกเขากลับไม่ได้รับค่าจ้าง การถูกยึดเอกสารราชการ ทำให้พวกเขาหนีไปไหนไม่ได้เนื่องจากกลัวถูกจับในสถานะคนต่างชาติผิดกฏหมายและขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองทางกฏหมายด้วย นอกจากนี้ระบอบ 'อุปถัมภ์' ของรัฐที่เรียกว่าคาฟาลา (Kafala) ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนงานหรือออกจากประเทศได้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทผู้อุปถัมภ์

กระทรวงแรงงานของกาตาร์กล่าวว่า พวกเขาได้บังคับใช้กฏหมายเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างตามเวลาและหากบริษัทไม่ทำตามกฏก็จะมีการดำเนินคดีในเรื่องนี้

ทางด้านบริษัทลูซาอิลได้กล่าวตอบหลังทราบเรื่องที่ถูกกล่าวหา โดยยืนยันว่าพวกเขาได้กำชับให้ผู้รับเหมาและผู้รับเหมาช่วงต่อปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยเรื่องสุขภาพของคนงานและความปลอดภัยเสมอ พวกเขายอมรับข้อกล่าวหาจากเดอะการ์เดียนอย่างจริงจังและบอกว่าได้มีการแจ้งเรื่องตามที่ถูกกล่าวหาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และเมื่อตรวจสอบแล้วก็จะมีการดำเนินการตามความเหมาะสมกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฏข้อบังคับ

 


เรียบเรียงจาก

Revealed: Qatar's World Cup 'slaves', The Guardian, 25-09-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/sep/25/revealed-qatars-world-cup-slaves

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net